นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงการทำงานในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แม้กระทั่งการตั้งคำถามว่า ตำแหน่ง ‘โฆษก’ นั้น กรอบ มาตรฐาน หรือจรรยาบรรณ ควรจะเป็นเช่นไร โดยเฉพาะการให้ ‘ความคิดเห็น’ (ส่วนตัว) ต่อ ‘ข้อเท็จจริง’ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่อ่อนไหว เปราะบางเช่นนี้ การเป็นโฆษกที่ดี ที่กำลังพูดกับประชาชนทั้งประเทศ ทุกระดับชั้น ในทุกมิติ ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา สังคมนั้น ควรจะต้องเป็นเช่นไร
แต่ที่แน่ๆ คงไม่เป็นดังเช่นที่ นพ.ทวีศิลป์ ได้กระทำมา
ความคลางแคลงแรกในการทำงานในฐานะโฆษก ศบค. ของ นพ.ทวีศิลป์ก็คือ เมื่อเขากล่าวถึงเงินเยียวยา 5 พันบาทว่า ‘อยู่ได้สบาย’ เพราะประเทศเรามีผักสวนครัว รั้วกินได้ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า เราทุกครัวเรือนมีผักสวนครัวถ้วนหน้าจริงหรือ เราทุกครัวเรือนมีริมรั้วที่สามารถเก็บดอกออกผลมารับประทานได้จริงหรือ และหากเราไม่มีเช่นนั้น มันเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะที่ตัวเราเองที่ขี้เกียจปลูกผักสวนครัว ไม่รู้จักการใช้ชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือเป็นเพราะเราทุกคนใช่ว่าจะมีที่ดิน มีรั้ว หรือกระทั่งเรื่องนี้มันเป็นเหตุเป็นผลกับเงิน 5 พันบาทอย่างไร ตรงไหน
และที่สำคัญหมอทวีศิลป์ใช้ ‘แว่นสายตา’ แบบไหนมองประชาชน
ประชาชน ‘ความเป็นอื่น’ ในสายตาของรัฐ
ความพยายามใส่ความคิดเห็นส่วนตัวที่มองจากมุมมองทั้งการเป็นหมอที่มองคนไข้ในมุมมองผู้ไร้ความรู้ การศึกษา ไม่รู้จักดูแลตัวเองและกลายมาเป็นภาระการจัดการของหมอหรือรัฐ เป็นตัวแทนรัฐ ที่มองประชาชนเป็นผู้ที่ไร้ระเบียบ ไม่มีวินัยและความรับผิดชอบที่รัฐต้องคอยกวดขันดุด่า เป็นชนชั้นกลางระดับสูงที่มองชนชั้นล่างทั้งด้วยมายาคติ ทั้งสายตาความโรแมนติกปนไปด้วยการดูถูกดูแคลน ของหมอทวีศิลป์สวมลงบนการเป็นโฆษก ศบค. ในครั้งนี้ ยังมีให้เห็นเรื่อยมา
ทั้งประเด็นที่กล่าวว่า คนไปหาหมอกันเยอะในช่วงธรรมดา (ที่ไม่ใช่ช่วงโควิด-19) เพราะมีประกันสังคม และมีระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ใช้ การกล่าวเปรียบเทียบตัวเลขผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งไม่มีการจัดงานสงกรานต์และไม่ได้ประกาศเป็นวันหยุดเพราะวิกฤตโควิด-19 กับช่วงเวลาเดียวกันของทุกปีที่ผ่านมาว่ามีผู้เสียชีวิต จากการใช้รถใช้ถนนน้อยลง ตัวเลขเมาแล้วขับลดลงอย่างมาก อีกทั้งยังมีการพูดทีเล่นทีจริงเสริมต่อว่าอยากให้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงนี้ทุกๆ ปี
การกล่าวถึงผู้ที่ไปต่อแถวรับของแจกที่ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อตำหนิติเตียนการทำงานและนโยบายของรัฐบาล ว่าคนเหล่านี้ไม่เชื่อฟังมาตรการของรัฐ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อและเป็นพาหะไวรัส หรือแม้กระทั่งการกล่าวว่าสุขภาพต้องมาก่อนเศรษฐกิจ “เงินทองเดี๋ยวก็หาใหม่ได้ ถ้ายังมีชีวิตอยู่”
กรอบ ‘ความคิดเห็น’ ของหมอทวีศิลป์ในการให้ความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่ยกมานั้น เป็นกรอบความคิดเห็นที่มองผ่านความเป็นแพทย์ที่ขาดไร้ซึ่งความเข้าใจ หรือความพยายามจะทำความเข้าใจมิติความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ผสมผสานกับความเป็นชนชั้นกลางระดับสูงที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีที่อาจไม่ได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจากพิษภัยโควิดจนถึงขั้นกระทบกับการดำรงชีวิต
ซึ่งทำให้มองการดิ้นรนการมีชีวิตรอดทางเศรษฐกิจของผู้อื่นที่อาจจะส่งผลกระทบต่อมาตรการสาธารณสุขว่าเป็นการฝ่าฝืน การไร้ระเบียบ ไม่มีความรับผิดชอบ หรือแม้กระทั่งมองว่าอันใดอันหนึ่งต้องมาก่อนอีกอันหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการกล่าวโทษ ที่ละเลยปัจจัยความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ของผู้อื่นที่ไม่เหมือนกับตนเอง โดยใช้ฐานของการเป็นแพทย์ผู้ต้องคงไว้ซึ่งมาตรการทางสาธารณสุขและความเป็นชนชั้นกลางระดับสูงผู้ที่ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดจากการมีกินมีใช้ มีงานทำก่อน
จากบทความ เราต้องรับผิดชอบต่อสุขภาพของตัวเองแค่ไหน ของธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์ ในเว็บไซต์ The Momentum ซึ่งกล่าวถึงแนวความคิดในการมองปัญหาด้านสุขภาพส่วนบุคคล โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ‘ฉันยังทำได้เลย ทำไมเธอถึงทำไม่ได้’ ว่าเป็นวิธีคิดที่ละเลยความซับซ้อนและหลากหลายของชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะหากมองในกรอบความคิดแบบ Facticity Model คือ ความเข้าอกเข้าใจในความทุกข์ยากของผู้อื่น ซึ่งความเข้าใจไม่ใช่แค่ความสงสาร แต่เป็นความรู้สึกเชื่อมโยง รู้สึกร่วม แบบที่คิดได้ว่าถ้าเราอยู่ตรงนั้น เราจะเป็นอย่างไร เราจะทำได้ดีกว่าเขาหรือเปล่า และมีความต้องการเปลี่ยนแปลง ช่วยเหลือ เพื่อสร้างสังคมที่ทำให้มนุษย์มีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีได้มากกว่าที่เป็นอยู่
แก่นเรื่องความเข้าอกเข้าใจภายใต้ กรอบความคิดแบบ Facticity Model จะนำไปสู่ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและโครงสร้างของชุมชนและสังคม เพื่อส่งเสริมให้คนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะต่างจากการมุ่งเน้นแก้ไขที่ตัวบุคคลที่มักจะมาพร้อมกับทัศนคติการกล่าวโทษตัวบุคคลเสมอ
ความคิดเห็นของ นพ.ทวีศิลป์ ในฐานะโฆษก ศบค. อันถือเป็นตัวแทนรัฐนั้น แสดงให้เห็นถึงการมองประชาชนที่นอกจากจะปราศจากความเข้าอกเข้าใจในความทุกข์ยากของประชาชนที่ความซับซ้อนและหลากหลายในความเป็นมนุษย์แล้ว ยังมองประชาชนด้วยสายตา ‘ความเป็นอื่น’ ทั้งการเป็นศัตรูของรัฐ ในแง่ที่ไม่เชื่อฟังรัฐ ตำหนิติเตียนรัฐ หรือในแง่ความเป็นมนุษย์ที่ไ้ร้ประสิทธิภาพความรับผิดชอบที่ทำให้รัฐต้องมาคอยเป็นคุณครูถือไม้เรียวดุด่ากล่าวโทษ รวมไปถึงทำให้รัฐทำงานยากลำบากมากขึ้นอีกด้วย
เมื่อไรก็ตามที่ความหมายของคำว่า ‘ประชาชน’ จะทำให้รัฐเกิดความยากลำบาก ถูกตำหนิติเตียนหรือถูกหาว่ามีความผิด ประชาชนก็จะถูกขยับฐานะสร้าง ‘ความเป็นอื่น’ ให้โดยทันที และในกรณีของหมอทวีศิลป์ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หรือทำให้เห็นสายตาของรัฐในการมองประชาชนด้วยความเป็นอื่น
‘ความตาย’ ของประชาชน ความเป็นอื่นในสายตารัฐ
หากย้อนไปยังการทำหน้าที่ของโฆษกรัฐบาลอีกคนที่กลายเป็นตำนานไปแล้วอย่าง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ ‘ไก่อู’ ซึ่งเริ่มมาจากการเป็นโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อครั้งเหตุการณ์วิกฤตการเมืองปี 2553 จนมาถึงการได้ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกฯ ในเวลาต่อมา
กรณีที่คล้ายกันและแสดงให้เห็นถึงการผลักประชาชนให้กลายเป็นอื่นเมื่อจะกระทบต่อเสถียรภาพ ความมั่นคงหรือภาพลักษณ์ของรัฐก็คือการฆ่าตัวตายของศุภกิจ ปั้นแปลก ชาวนาจังหวัดพิจิตร ซึ่งผูกคอตายหลังจากราคาข้าวตกต่ำ แต่ต่อมา พล.ท.สรรเสริญ หรือโฆษกไก่อูก็ออกมาให้ข่าวว่า ผู้ตายนั้นไม่ได้มีอาชีพเป็นชาวนาแต่เป็นช่างแอร์และมีหนี้สินส่วนตัวและการฆ่าตัวตายของเขาไม่ได้มีสาเหตุมาจากราคาข้าวตกต่ำอันจะพัวพันไปถึงการทำงานของรัฐบาล จนภรรยาของผู้ตายออกมาท้าให้พล.ท.สรรเสริญลงมาถามคนในพื้นที่ว่าสามีของเธอทำนาจริงหรือไม่
ในกรณีของหมอทวีศิลป์ นอกจากการกล่าวเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัวในเรื่องตัวเลขผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ปีนี้และปีก่อนๆ แล้ว ล่าสุดกับการกล่าวถึงประเด็นการฆ่าตัวตายในช่วงโควิด-19 ที่มีเพิ่มมากขึ้นจนก่อให้เกิดความห่วงใย และต้องการแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่หมอทวีศิลป์ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า
“คนฆ่าตัวตายจากภาวะโควิด ไม่เหนือความคาดหมาย และน้อยกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งการนำมาเพียงประโยคเดียวอาจจะทำให้เกิดการตีความแบบเหมารวมรวบรัด โดยประโยคเต็มๆ ที่นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวถึงเรื่องนี้ก็คือ
“ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ได้มีเพียงประเทศไทยที่เผชิญปัญหานี้ แต่ประเทศอื่นในโลกก็มีเช่นกัน และการพยากรณ์เรื่องนี้ก็เหมือนพยากรณ์เรื่องการติดโรค ที่ต้องพบตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้ผิดไปจากการคาดหมาย โดยในช่วงปี 2540 ช่วงที่ไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจ เรามีอัตราคนฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8.3 คน ต่อประชากร 1 แสนคน แต่ครั้งนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเรายังมีมาตรการที่ป้องกันทำให้ตัวเลขลดลงได้ พร้อมแนะนำว่า หากใครพบผู้ใกล้ชิดมีสัญญาณของการจะฆ่าตัวตาย ให้ร้องขอความช่วยเหลือมาทางสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง”
จะเห็นได้ว่า หากมองโดยตัดปัจจัยรอบด้านของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นออก การกล่าวให้ข้อมูลของหมอทวีศิลป์เรื่องนี้ ไม่ได้มีความคลาดเคลื่อน ตรงตามข้อเท็จจริง และ (แทบจะ) ไม่ได้ใส่ความคิดเห็นจากแว่นสายตามายาคติของตนเหมือนดังเช่นที่ผ่านมา
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไร้ซึ่งการมองปัญหาเชื่อมโยงไปยังการทำงานของรัฐ หรือความรับผิดชอบของรัฐ มองการตายเป็นเพียง ‘จำนวน’ ที่ไม่ได้ผูกพันกับความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชนเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะประโยคที่ว่า ‘ไม่ผิดไปจากความคาดหมาย’
เพราะหากมองประกอบด้วยสถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นว่า ‘จำนวน’ ของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย มันเป็นสายธารที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงจากการบริหารจัดการวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาดของรัฐ โดยเฉพาะประเด็นปัญหานี้ที่เกิดมาเป็นคำถามให้โฆษก ศบค. ต้องตอบก็มาจากเหตุการณ์อันสะเทือนใจ ทั้งการพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยาฆ่าตัวตายของหญิงคนหนึ่งหน้ากระทรวงการคลัง หรือการฆ่าตัวตายของหญิงที่ทิ้งภาพวาดและบทกลอนไว้ และอีกหลายกรณีก่อนหน้านี้ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ที่พอกพูนเป็น ‘จำนวน’ แม้ว่ามันจะ ‘ไม่เหนือความคาดหมาย และน้อยกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง’ ก็ตาม
แต่ความคาดหมายของประชาชนต่อรัฐนั้น คือการป้องกันด้วยนโยบายที่รัดกุมและครอบคลุม เพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส ไม่ว่าอัตราการเสียชีวิตนั้นมีเท่าไร จะไม่เกินความคาดหมายในทางการพยากรณ์หรือน้อยกว่าวิกฤตครั้งที่ผ่านมาก็ตาม แต่การเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย มันไม่ได้ก่อให้เกิดแค่ ‘จำนวน’ ในการนับ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับการพยากรณ์หรือวิกฤติครั้งอื่นใด แต่มันยังหมายถึงการสูญเสีย ทั้งในแง่ชีวิตและยังรวมไปถึงจิตใจทั้งต่อผู้ที่มีความสัมพันธ์กับผู้เสียชีวิต หรือต่อสังคมโดยรวมที่อยู่ภายใต้ภาวะวิกฤตเดียวกัน
การมองการเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย เป็นเพียงแค่ตัวเลข สถิติ การเปรียบเทียบ การพยากรณ์นี้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนอกจากจะไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจในความเป็นมนุษย์ด้วยกัน การตัดขาดตนเองออกจากความเป็นมนุษย์ที่ต้องสัมพันธ์กับความสูญเสียทุกข์ร้อนของผู้อื่นในสังคมแล้ว ในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐ ยังแสดงให้เห็นถึงการตัดขาด ‘ความรับผิดชอบ’ ต่อการสูญเสียชีวิตของประชาชน โดยมองชีวิตที่ร่วงหล่นเหล่านั้นเป็นเพียง ‘ตัวเลข’ ที่ต้องมาคำนวณพยากรณ์ในการทำงานเพียงเท่านั้น แต่กลับไม่ได้มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเชื่อมโยงโดยตรงต่อหน้าที่ของรัฐที่พึงมีต่อประชาชน
ความตายของประชาชนจึงกลายเป็นอื่น ในสายตาของรัฐเสมอมา ทั้งในครั้งนี้ หรือเหตุการณ์การสูญเสียจากความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นจากรับโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น 6 ตุลา พฤษภา 35 หรือแม้แต่ประโยคอันลือลั่นของอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ BCC ว่า “Unfortunately, Some People Died” (โชคร้ายหน่อย ที่มีบางคนต้องเสียชีวิต) จากเหตุการณ์ในช่วงเดือนเมษายน–พฤษภาคม 2553
ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นการมองประชาชน ความตายของประชาชน ที่อาจจะก่อให้เกิดการตำหนิติเตียนต่อรัฐหรือทำให้รัฐถูกหาว่ามีความผิด เป็นเพียง ‘จำนวน’ ‘ความโชคร้าย’ เป็น ‘คนอื่น’ ที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับความรับผิดชอบของรัฐ และสำหรับรัฐไทย มันก็เป็นเช่นนี้เสมอมา
และมันจะเป็นเช่นนี้ต่อไป หากผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็น ‘ตัวแทน’ รัฐ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในภาคส่วนใด ยังมองว่ารัฐเหนือประชาชนอยู่เสมอ หรือการทำงานในนามแห่งรัฐคือการทำงานเพื่อ ‘รัฐบาล’ ไม่ใช่เพื่อประชาชน ผู้ที่จะได้รับการปกป้องคือรัฐบาล หาใช่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อาจทำให้ภาพลักษณ์ เสถียรภาพของรัฐบาลต้องเสียหาย ด่างพร้อย กลายเป็นจำเลยของสังคม ประชาชนเหล่านั้นก็จะถูกผลักดันให้กลายเป็นคนอื่นในสายตารัฐเสมอ และถึงแม้จะเสียชีวิต ก็จะกลายเป็นศพที่เป็นอื่น ไร้ซึ่งความผูกพันใดๆ กับรัฐในทันที
เช่นเดียวกันกับสิ่งที่ออกมาจากปากของโฆษก ศบค. ในครั้งนี้ ที่ทำให้เห็นว่าทั้งในฐานะส่วนบุคคลและในฐานะตัวแทนแห่งรัฐ เขาใช้สายตาในการมองประชาชนเช่นไร เขามองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างไร เป็นประชาชนที่มีเลือดเนื้อ มีความเป็นมนุษย์ที่พึงจะมองด้วยความเข้าอกเข้าใจเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่ดีขึ้น หรือเป็นเพียงจำนวนเอาไว้ให้นับเชิงสถิติ แม้ว่าจะเป็นศพแล้วก็ตาม
Tags: โคโรนาไวรัส, โควิด-19, ศบค., ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน