ในช่วงการระบาดของโควิด-19 บนพื้นที่โซเชียลมีเดียต่างท่วมท้นไปด้วยข้อมูลทั้งที่จริง มีประโยชน์และเฟคนิวส์ สื่อต่างๆ ให้ความสำคัญกับการรายงานประเด็นเรื่องโควิด-19 กันมากขึ้น รวมไปถึงบุคคลที่ไม่ได้เป็นสื่อ หรือแม้กระทั่งบางครั้งเราก็จะได้เห็นความคิดเห็นหรือการให้ข้อมูลจากบรรดาแพทย์จำนวนมากมาย

หนึ่งในการให้ข้อมูลของแพทย์ที่น่าสนใจก็คือเพจ พี่หมอออนไลน์ ปรึกษาได้ทันทีที่มีการนำเสนอทั้งในเชิงการแพทย์ที่น่าสนใจ พร้อมข้อมูลและการอัปเดตเรื่องโควิดตลอดเวลา นอกจากนั้นยังมีการตั้งคำถามหรือชวนเราให้ตั้งคำถามไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งตัวเลขของการตรวจในประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อ นโยบายต่างๆ ฯลฯ ราวกับเป็นผู้สื่อข่าว ซึ่งทำให้การทำงานของเพจ พี่หมอออนไลน์ ปรึกษาได้ทันทีนั้นน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเดินทางเข้าสู่เฟส 3

The Momentum สนทนากับ นพ.ภาณุสัณห์ ธีระกุล จากเพจ ‘พี่หมอออนไลน์ ปรึกษาได้ทันที’ แพทย์ปฏิบัติการโรงพยาบาลสิริเวช จังหวัดจันทบุรี ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ทั้งที่กำลังเป็นอยู่ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทำไมคุณหมอถึงทำเพจนี้ขึ้นมา

ปกติผมเป็นแพทย์อยู่โรงพยาบาลสิริเวช จังหวัดจันทบุรี เพจ พี่หมอออนลไน์ ปรึกษาได้ทันทีเป็นการทำเป็นกลุ่มกับเพื่อนครับ เริ่มทำมาได้กว่าหนึ่งเดือนแล้วซึ่งอยู่ในช่วงโคโรนาไวรัสพอดี ตอนทำเพจ เราไม่ได้คิดถึงเรื่องโคโรนามาก่อน แต่เราอยากทำประเด็นเรื่อง การแพทย์ทางไกล หรือที่เรียกว่า telemedicine เพราะสมัยนี้เทคโนโลยีมันไปไกลมากแล้ว แต่ประเทศไทยยังหยิบเอาเทคโนโลยีพวกนี้มาใช้น้อยมาก เราหิวข้าวเราสั่ง Grab ได้ เราจะซื้อของเราสั่งใน Shopee หรือ Lazada ได้ เราอยากจองตั๋วเครื่องบิน เราก็จองผ่านเว็บ Expedia แต่ว่าการแพทย์ของเมืองไทยเรายังต้องเดินไปหาหมอกันอยู่เลย

ผมก็เลยคิดว่า เอ๊ะ ถ้าเราผลักดันตรงนี้ได้ มันน่าจะลดเวลาการเดินทางของคนไข้ ลดทั้งการรอคิวของคนไข้ ลดเวลาการทำงานของหมอ คนไข้ก็ไม่ต้องลาทั้งวันเพื่อมาหาหมออีกต่อไป หากเราสามารถติดต่อหมอคลิกเดียวได้ มันน่าจะทำให้สะดวกสบายขึ้น แล้วรัฐก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลได้เยอะ โรงพยาบาลก็จะไม่มีความแออัด พอคิดอย่างนี้ผมก็เลยลองโทรถามเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันมาว่า สนใจไหม คุยแล้วมีความเห็นตรงกันก็เลยลองมาทำเพจกันดู ว่า การแพทย์ทางไกลมันจะเกิดขึ้นได้ไหมในประเทศไทย เพราะว่าที่ต่างประเทศมันเกิดขึ้นเยอะมากแล้ว

ช่วงแรกๆ ที่เปิดเพจ โดยมากลูกเพจมักถามเกี่ยวกับเรื่องอะไร

ก่อนที่โควิดจะแพร่ระบาด ก็จะถามอาการป่วยทั่วไป เพราะตอนแรกเราทำเหมือนเป็นที่ปรึกษาแพทย์ทางไกล สิ่งที่เขาอยากรู้ก็มี ปวดหลัง ปวดข้อ เป็นหวัด ไอ น้ำมูก หรือเรื่องการป้องกันทางเพศ เราเป็นเหมือนคลินิกแห่งหนึ่ง ที่มีคนไข้หลากหลายมาปรึกษาอาการต่าง

ถ้าเป็นเรื่องโควิด-19 ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวของเขาเองว่า เขาต้องรู้อะไรที่ช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อตัวเขาได้ เช่น อาการแบบนี้เป็นโควิดไหม ใช้หน้ากากผ้าได้ไหม หน้ากากอนามัยป้องกันได้ไหม ต้องล้างมืออย่างไร ถ้านั่งคุยกันอย่างนี้ติดต่อกันได้ไหม หรือว่ามันจะต้องสัมผัสหน้าโดยตรงอย่างเดียว

เข้าใจว่าสมัยนี้การหาข้อมูลนั้นง่าย แต่ว่าข้อมูลทางการแพทย์เป็นข้อมูลที่ย่อยค่อนข้างยาก หมายถึงว่าบางทีเราต้องมีพื้นฐานความเข้าใจระดับหนึ่ง ถ้าอ่านตรงไปตรงมา ตีความตรงไปตรงมา บางครั้งอาจทำให้ตีความผิดได้ เช่น เราท้องเสีย หรือมีอาการปวดท้อง เสิร์ชไปเสิร์ชมาเราก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้ ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่เขาเชื่อข้อมูลที่ได้จากการค้นหาในเสิร์ชเอนจินต่างๆ มากกว่า ก็ตอบได้ว่ามีความเป็นไปได้ แต่ในฐานะหมอเราก็ต้องพยายามอธิบายให้เขาเข้าใจให้ได้ ย่อยข้อมูลออกมาให้อ่านง่ายเข้าใจง่าย

เริ่มตั้งแต่ช่วงไหนที่คุณหมอเริ่มรู้สึกว่าเพจนี้ต้องรายงานเรื่องโควิด-19 อย่างสม่ำเสมอ

น่าจะตอนที่ทำเพจมาได้ประมาณสองสัปดาห์ ตอนแรกเราก็เขียนเรื่องการแพทย์ทั่วๆ ไป เพราะคิดว่าเรื่องโควิดมีสื่อหลายๆ สื่อช่วยอัปเดตกันเยอะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางรัฐหรือเอกชน แต่สักพักหนึ่งเราก็คิดว่า เฮ้ย เรื่องโควิดนี่มันใหม่มากเลยนะ มันมีข้อมูลเยอะแยะหลากหลายแง่มุมมาก เลยคิดว่าเราก็อยากเป็นอีกสื่อหนึ่ง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คอยรายงานคอยอัปเดตเรื่องนี้ในแง่มุมของเรากันไหม ความรู้ทางการแพทย์ในเรื่องนี้ยังค่อนข้างน้อย และสถานการณ์มันเปลี่ยนทุกวัน เราเลยอยากเป็นสื่อเล็กๆ อีกสื่อหนึ่งที่คอยอัปเดตเรื่องโควิดให้คนไทย

ช่วงแรกก็จะทำว่าข้อมูลว่ามันคืออะไร ติดเชื้ออย่างไร ช่วงหลังๆ ก็จะอัปเดตว่าตอนนี้ติดเชื้อกี่คน ตายกี่คน สถานการณ์เป็นอย่างไร แทรกเรื่องต่างประเทศหรือความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดบ้าง โดยช่วงแรกๆ ก็เป็นการลองดูว่าคนสนใจข้อมูลแบบไหนมากที่สุด ซึ่งเท่าที่ทำมาพบว่าคนไทยจะสนใจข้อมูลที่เป็นของประเทศไทยมากกว่าของต่างประเทศ ต่อให้เรื่องในต่างประเทศจะสร้างผลกระทบมากแค่ไหนก็ตาม ซึ่งก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะคนเราส่วนมากก็ต้องสนใจเรื่องที่ใกล้ตัวเราก่อน เช่น สถานการณ์ในไทยเป็นอย่างไร คนไทยติดเชื้อเพิ่มขึ้นกี่คน การตรวจเป็นอย่างไร

แต่บางเรื่องของต่างประเทศก็มีคนสนใจมาก เช่น ทำไมอิตาลีถึงติดเชื้อเยอะ หรือจีนทำอย่างไรถึงลดผู้ติดเชื้อลงได้ค่อนข้างเร็ว

คุณหมอมองว่าการทำงานเรื่องนโยบายและการใช้มาตรการต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่า นโยบายแบ่งเป็น 2 แบบ คือเชิงรุกกับเชิงรับ พูดถึงเรื่องเชิงรับก่อน ในความคิดของผม พวกการจัดการของโรงพยาบาล บุคลากรของโรงพยาบาล การคัดกรองผู้ป่วย การตรวจผู้ป่วยหรือรักษาผู้ป่วย การแพทย์ของประเทศไทยค่อนข้างดี ดีมากระดับติดอันดับต้นๆ ของโลกนะครับ แล้วก็เข้าถึงคนค่อนข้างง่าย เวลาเราป่วยเราไม่ต้องรอเป็นวันสองวันหรือเป็นอาทิตย์เพื่อเข้าพบแพทย์ เราสามารถเดินเข้าไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขอื่นๆ ได้เลย ฉะนั้นในเชิงรับ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เขารู้อยู่แล้วว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ประเด็นนี้ผมรวมถึงประชาชนด้วย ประชาชนก็เริ่มตระหนักขึ้นแล้วว่า เขาต้องทำตัวอย่างไรบ้าง เขาต้องล้างมือนะ ไปที่ชุมชนต้องใส่หน้ากากนะ หรือว่าถ้าเขามีความเสี่ยงก็อาจจะต้องเริ่มกักตัว เห็นได้ว่าก็เริ่มตระหนักมากหนักขึ้นเรื่อยๆ ตามความรุนแรงของโรค ฉะนั้นในส่วนการตั้งรับของเรา ในการป้องกันตัวในส่วนของตัวบุคลล ผมว่าค่อนข้างดีแล้วนะครับ

แต่ว่าที่ยังมีปัญหาก็คือเชิงรุก เพราะว่าเราจะเห็นมาตรการต่างๆ ของต่างประเทศที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับของประเทศไทยได้ อย่างแรกที่ผมคิดว่าค่อนข้างสำคัญ ก็คือการให้ข้อมูลกับประชาชน คือประชาชนจะไม่รู้เลยว่า ผู้ติดเชื้อเป็นใคร เดินทางไปไหนมาไหนมาบ้าง ทำอะไรมาบ้าง เราอาจจะรู้แค่คร่าวๆ ว่า วันนี้มีคนติดเชื้อกี่คน อายุเท่าไร ซึ่งตรงนี้มันทำให้เราไม่รู้ว่า คนติดเชื้อเขาไปไหนมาไหน เราได้ไปที่เดียวกับเขาในวันนั้นมาหรือเปล่า พอไม่มีข้อมูลการเดินทางของคนที่ติดเชื้อหรือคนที่เสี่ยงใกล้ชิด มันก็ทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าเราเสี่ยงไปแล้วหรือเปล่า ก็จะทำให้วิตกจริตหรือหวาดกลัวได้

ถ้าเทียบกับต่างประเทศ จีนกับเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ทำงานเชิงรุกได้ค่อนข้างดุดัน ที่จีนเขาจะเอาทีมไปสัมภาษณ์เลยว่าคนที่ติดเชื้อเขาไปไหนมาบ้าง และใกล้ชิดกับใครมาบ้าง แล้วก็คนที่ใกล้ชิดทั้งหมดจะเป็น 100 คน 1,000 คน เขาก็จะส่งทีมไปตรวจเลยทันที ประเทศเหล่านี้แม้ยอดผู้ติดเชื้อเขาจะพุ่งเร็วมากในตอนแรก แต่ก็จะลดลงค่อนข้างเร็ว

ทางการอาจจะสอบสวนข้อมูลนะ แต่บางทีพอเราไม่ให้ข้อมูลกับประชาชนมากพอ มันทำให้ประชาชนก็ไม่รู้ว่าตัวเองเสี่ยงไหม ยกตัวอย่าง เคสที่ดังที่สุดตอนนี้ คงเป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ไปเที่ยวผับที่ทองหล่อ ซึ่งติดเกือบทุกคน แล้วก็ลามไปถึงแม่ด้วย คำถามก็คือแล้วคนที่ไปเที่ยวในวันนั้น สถานที่นั้นด้วย เราจะตรวจสอบเขาอย่างไร คนอื่นที่ไปในวันนั้น สถานที่นั้น ในช่วงเวลานั้น เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเสี่ยงไหมหรือติดไปแล้ว

แล้วรัฐจะตามไปตรวจได้ไหม นี่ก็เป็นคำถามที่มันจะอาจจะมีผลกับการควบคุมเชื้อโรคด้วย เพราะว่าถ้าเกิดเราไปเที่ยวในวันนั้นขึ้นมา เราก็อาจจะกังวลว่า เรามีความเสี่ยง ควรไปตรวจนะ แต่ว่าถ้าเราไม่รู้เลยว่า วันนั้นเขาไปไหนมาบ้าง ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันไม่สามารถใช้ทีมสอบสวนสาวไปถึงตรงนี้ได้ เพราะว่าไม่มีทางที่กลุ่มคนที่ติดเชื้อนั้นจะรู้ว่าใครมาเที่ยวบ้างในวันนั้น

พูดง่ายๆ ว่าการเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งที่ต้องทำ และช่วยให้รัฐไม่ต้องใช้กำลังมากในการติดตามตัวใช่ไหม

ใช่ครับ ผมคิดว่าอาจจะต้องมีสองส่วนประกอบกัน คือ หนึ่ง ออกข่าวให้คนที่รู้ตัวว่า คุณจะต้องมาตรวจนะ และสอง จะต้องมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ ไม่อยากไป เราก็ต้องมีมาตรการตรงนี้ว่าสำหรับคนที่ไม่อยากมา หรือไม่มา จะทำอย่างไร อาจจะต้องออกตามไปถึงบ้านอย่างจีนหรือเปล่า หรือว่ากระตุ้นนโยบายให้เขารู้สึกว่า เขาสมควรจะไปตรวจ

ประเทศไทยชอบใช้คำว่าจิตสำนึกว่าคุณควรมานะ เช่น ก่อนหน้านี้ก็จะมีเคสเครื่องบินไฟลท์หนึ่ง ก็ใช้คำว่า ใครที่ไปไฟลท์นี้มาตรวจด้วยนะ ซึ่งจริงๆ แล้วผมมองว่า  การโดยสารเครื่องบินมันรู้ชื่อเลยว่าใครขึ้นมาบ้าง สามารถตามตัวได้เลย ซึ่งการใช้คำว่าจิตสำนึก ผมมองว่ามันเป็นนโยบายระยะยาว คือการปลูกฝังจิตสำนึกเป็นกระบวนการระยะยาว ที่ต้องใช้เวลา คุณไม่สามารถกล่าวได้ว่า เฮ้ย คนนี้ไม่มีจิตสำนึก คนนี้มีจิตสำนึกได้ในทันทีเลย

แต่ว่าการป้องกันโควิดเป็นนโยบายระยะสั้น เราต้องการผลระยะสั้น ถ้าเราจะใช้จิตสำนึกมาคาดหวังผลระยะสั้น ผมว่ามันเป็นการจับคู่ไม่ตรงกัน ผมมองว่าเราต้องเลือกนโยบายให้ถูก จะปลูกฝังจิตสำนึก คุณปลูกฝังได้ แต่ว่าคุณต้องรู้ว่ามันเป็นผลระยะยาวนะ ระยะสั้นคุณต้องใช้นโยบายที่ชัดเจน เช่น ตามตัวมาเลย ไปกักตัวเลยหรืออื่นๆ คนไทยจะชอบพึ่งพาจิตสำนึก และใช้จิตสำนึกในการจัดการปัญหา แต่อย่างที่จีนถ้าเราเห็นข่าวตอนแรกๆ คือปิดเมืองเลย ตอนนั้นคนทั่วโลกก็รุมด่า โอ้โฮ ปิดเมือง โหดร้าย ของในซูเปอร์ฯ ก็ไม่มี แต่ปรากฏว่าสุดท้ายจีนฟื้นเร็วมาก เพราะว่าเขาไม่ได้พึ่งจิตสำนึกอย่างเดียว เขาออกมาตรการมาทันทีเลยว่า อย่างนี้คุณต้องปิดเมืองเลยนะ ประเทศไทยอาจจะไม่ต้องดุดัน หรือรุนแรงถึงขนาดนั้น แต่ผมว่านโยบายระยะสั้นที่ชัดเจนควรจะมี ไม่ควรใช้นโยบายระยะยาวกับผลระยะสั้น เพราะว่ามันเป็นการจับคู่ที่ไม่ตรงกัน

คุณหมอเขียนไว้ในเพจเรื่องจำนวนการตรวจในต่างประเทศกับประเทศไทย ความจริงมันมีผลมากไหม

เรื่องการตรวจต้องบอกว่า มันจะมีเรื่องข้อเท็จจริงก็คือเรื่องความจริงที่เกิดขึ้น กับเรื่อง ความคิดเห็น ก็คือจำนวนการตรวจ ซึ่งตอนแรกผมอาจจะบอกว่า ประเทศไทยมีรายงานการตรวจผู้ต้องสงสัยประมาณสัก 4,000 ราย ตอนนี้อาจจะมีมากกว่านั้น เพราะไทยมีแล็บนอกอีกด้วย ซึ่งเท่าที่ผมดูข้อมูลล่าสุดมาก็ประมาณ 20,000 ครั้ง อันนี้เป็นข้อเท็จจริง

คำถามก็คือในเรื่อง ความคิดเห็น 20,000 ครั้ง คุณคิดว่ามันมากหรือมันน้อย มันขึ้นอยู่กับว่า 20,000 ครั้งนั้น คุณไปตรวจใครนะครับ ถ้า 20,000 ครั้ง คุณไปตรวจบริษัทที่สั่งให้พนักงานไปตรวจเฉยๆ 20,000 คน หรือว่า 20,000 ครั้งนั้นคุณไปตรวจคนที่กังวล มีความเสี่ยงหรือกลัวว่าจะติดเชื้อ หรืออาจจะถามไปต่อได้อีกว่า 20,000 ครั้งนั้น คุณไปตรวจคนที่ไปเที่ยวผับทองหล่อในวันนั้น รวมไปถึงคนที่อยู่ในไฟลท์เครื่องบินในวันนั้น หรือเพื่อนร่วมคณะของนักศึกษามหาวิทยาลัยหนึ่งที่น่าจะกำลังเป็นข่าว ถ้าเป็นกรณีหลังสุดผมถือว่าตัวเลข 20,000 นั้นเหมาะสม

แต่ก็ต้องกลับไปทบทวนอีกว่า จริงๆ แล้วมาตรการเชิงรุกคุณทำได้เหมาะสมพอหรือยัง ถ้าคุณยังทำได้ไม่ดีพอ 20,000 ครั้งที่ตรวจไปนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ามันเพียงพอแล้ว จำนวนครั้งอาจจะเป็นตัวเลขอย่างหนึ่งที่บอกได้ว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่ว่าต้องเทียบกับนโยบายเชิงรุกด้วยนะครับ บางทีอาจตรวจแค่ 5,000 ครั้ง 6,000 หรือ 7,000 ครั้ง ก็อาจจะถือว่ามากก็ได้ ถ้าเราตรวจกลุ่มที่เหมาะสม แต่แม้จะตรวจ 20,000 ครั้ง 30,000 หรือหลักแสนครั้ง ถ้าเรายังไปตรวจกลุ่มที่ไม่เหมาะสม ตัวเลขนี้ก็อาจจะยังไม่ได้เหมาะสม หรืออาจจะยังไม่มากพอก็เป็นไปได้

แต่ประเทศไทยมีนโยบายที่ไม่ชัดเจนและล่าช้ามาตลอด ทั้งเรื่องการจำกัดนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยงหรืออื่นๆ เลยยากที่จะมองเห็นว่าจำนวนที่เหมาะสมคือเท่าไร กลุ่มที่เหมาะสมคือกลุ่มใด คุณหมอมองประเด็นนี้อย่างไร

จริงๆ เรื่องนี้ผมจะใช้คำว่า อย่างไรดีในการมองและอธิบาย ทั้งเรื่องการตรวจให้เหมาะสม และนโยบายเชิงรุก ผมก็ยังคิดว่าถ้าทำแบบเกาหลีใต้ได้ คือตรวจเป็นกลุ่มก้อนเยอะๆ เน้นการตรวจ แล้วก็ตามคนที่เหมาะสมด้วย มันทำได้ แต่ต้องยอมรับว่าที่เกาหลีใต้หรือว่าที่ประเทศบางประเทศที่ทำได้ เพราะเขาพัฒนาเซ็ตการตรวจของเขาด้วย เพราะว่า PCR (Polymerase chain reaction —การตรวจที่ใช้เทคนิคการเพิ่มปริมาณชิ้นส่วนของดีเอ็นเอที่ต้องการศึกษาให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งทางการแพทย์ได้นำเทคนิค PCR มาใช้กับการวินิจฉัยโรคในระดับยีน) ในหลายๆ ประเทศก็ไม่ค่อยพอด้วย อย่างสหรัฐอเมริกาเอง สัปดาห์ที่ผ่านมามีไม่ถึง 100,000 ชุดเลยด้วยซ้ำ แต่ว่าที่เกาหลีใต้เขามีการพัฒนาชุดตรวจของเขาเองด้วย ทำให้เขาสามารถตรวจได้ไวขึ้น ในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น และรัฐเองก็ช่วยสนับสนุนในส่วนนี้

แต่ของไทยก็จะมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทั้งทรัพยากรแพทย์ บุคลากร และอุปกรณ์การตรวจ ตอนนี้โรงพยาบาลที่ตรวจได้จริงๆ ผมว่ามีประมาณ 10 กว่าแห่งเท่านั้น ถ้าตรวจคนที่ต่างจังหวัดก็ต้องส่งมาแล้วต้องรอผลอีก ถ้าเราสามารถทำเชิงรุกได้เต็มที่ ตรวจทุกเคสไม่ว่าคุณจะสงสัยไม่สงสัยด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ไปเที่ยวที่ผับนั้นในคืนนั้นเช่นเดียวกัน หรือว่าอยากตรวจเพราะรู้สึกมีอาการที่น่าสงสัย ในราคาที่เหมาะสมขึ้น ผมก็คิดว่ามันจะสามารถทำให้ระบุตัวคนติดเชื้อได้เร็วขึ้นเหมือนเกาหลีใต้ แล้วก็มีโอกาสที่เชื้อจะลดลงเร็วแบบนั้นได้ด้วย

หมายความว่าที่ยังทำไม่ได้เหมือนตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ เพราะเรายังไม่มีนโยบายนี้ หรือเพราะทรัพยากร อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ซึ่งถ้ารัฐทุ่มเงินลงไปอีกเพื่อสุ่มตรวจให้มากขึ้นก็อาจจะทำได้ใช่ไหม

ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางนโยบายด้วยว่า เราจะใช้เงินตรงส่วนไหน เพราะว่ามันไม่ได้มีแค่เงินในส่วนการตรวจ มันต้องมีส่วนในการเฝ้าระวังต่างๆ หรือว่าเงินที่ช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลต่างๆ อีก ล่าสุด รัฐบาลสนับสนุนหรือออกมาตรการให้โรงพยาบาลต่างๆ ทำคลิกนิกพิเศษหรือ คลินิก ARI (Acute Respiratory Infection) เป็นคลินิกที่ตรวจเกี่ยวกับโรคการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน รวมถึงโควิดด้วย พูดง่ายๆ คือออกมาตรการเพื่อรองรับการตรวจโควิดนั่นเอง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอีกมากมาย ก็ต้องดูว่าสาธารณสุขจะจัดสรรสัดส่วนตรงนี้อย่างไร ทั้งการตรวจ การป้องกัน หรือว่าการรักษา

ส่วนตัวผมยังเชื่อในเรื่องของคำว่า 1-10-100 หมายความว่าถ้าคุณตรวจเจอคนที่เป็นโรคเร็ว อาจจะใช้ค่าใช้จ่ายแค่ 1 ถ้าต้องรักษา อาจจะใช้ค่าใช้จ่ายเป็น 10 แต่ถ้ามันมีความหนักหนาของการกระจายเชื้อโรค คุณอาจจะใช้ค่าใช้จ่ายเป็น 100 เลยก็ได้ ผมยังเชื่อว่า การป้องกันหรือว่าการหยุดให้มันไม่ให้เกิดเร็วที่สุดสำคัญกว่าการรักษา หรือการเอาวัคซีนมาป้องกัน มันใช้ค่าใช้จ่ายเยอะแหละครับในการตรวจหาวงกว้าง แต่ถ้าเราหยุดตั้งแต่ตรงนี้ได้มันจะหยุดอะไรหลายๆ อย่างที่ค่าใช้จ่ายอาจจะมากกว่านี้ได้

เช่น สุดท้ายถ้าคุณหยุดไม่อยู่แล้ว คุณต้องปิดเมืองเหมือนอิตาลี หรือปิดประเทศไปเลย ไม่ให้เดินทางไปไหนมาไหน ซึ่งตรงนั้นมันจะกระทบกับหลายๆ ภาคส่วนอย่างมาก ถ้าถามในความคิดผมนะครับในความคิดของผมคนเดียว การพยายามป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลประชาชนที่มากขึ้น ให้รู้ว่าควรหลีกเลี่ยงอย่างไร ตรงไหน การส่งทีมเชิงรุกออกไปว่า ควรจะไปตรวจใคร ตรวจที่ไหนอย่างไรบ้าง สำหรับผมอาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการพยายามหายารักษา หรือคิดยารักษาอีก แต่ว่าทุกส่วนมีความสำคัญหมดนะครับ เพียงแต่ผมคิดว่าการป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นจะใช้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า

ผมเคยคุยเล่นๆ กับเพื่อนว่าถ้าการกักตัวมันยาก ทำไมไม่มีเอกชนหรือว่ารัฐบาลสนับสนุนสถานที่ อาจจะเป็นโรงแรมสักแห่งหนึ่ง หรือที่พักสักแห่งหนึ่งที่กักตัวได้ เพราะว่าการที่คนติดเชื้อเพิ่มขึ้นแค่ 1 คน หรือ 10 คน มันกระทบกับโรงแรม กระทบกับภาคธุรกิจที่เขาเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะด้วยนะ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นมีคนเสนอตัวแล้ว แต่สุดท้ายมันก็ต้องรอระดับนโยบายว่าจะเอาอย่างไร

แต่ในแต่ละนโยบายที่ออกมา หรือแม้แต่การที่ไม่มีนโยบายออกมา ดูเหมือนจะมีดราม่าโต้กันไปมาไม่หยุดในโซเชียลมีเดีย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตรวจฟรีคนก็แห่ไปล้นโรงพยาบาล

ผมว่าดราม่าเป็นประเด็นสำคัญเลย เพราะว่าเราเอาความคิดของเราไปใส่ในข้อเท็จจริง เมื่อไรก็ตามที่เรานำเอาความคิดเห็นไปใส่บนข้อเท็จจริง มันก็อาจจะเกิดดราม่าได้ อย่างเช่น ผมบอกว่า เฮ้ย ประเทศไทยตรวจ 20,000 คนนะ อันนี้คือข้อเท็จจริง แต่ความเห็นคือแต่ละคนคิดว่ามันมากหรือมันน้อย ถ้าผมบอกว่า 20,000 น้อย แล้วคุณบอกว่า 20,000 มาก คือเราเอาความเห็นมาตีกันแล้ว มาตีกันบนข้อเท็จจริงหนึ่ง อย่างนี้จะเกิดดราม่าขึ้นมาได้ หรืออย่างองค์การอนามัยโลกบอกว่าไม่ต้องใส่หน้ากากหรอก คุณไม่ป่วยคุณก็ไม่ต้องใส่ นี่คือข้อเท็จจริงที่ออกมา แต่คนก็จะมีความคิดเห็นต่อจากนั้นว่าเชื่อได้หรือไม่ได้ เห็นไหมอเมริกาติดเชื้อตั้งเยอะแยะ เพราะไม่ยอมใส่หน้ากาก

ผมว่ามันจะต้องจัดเรียบเรียงข้อมูลที่นำเสนอให้ดีๆ เพราะว่า หนึ่ง ข้อมูลเปลี่ยนไปทุกวัน ตอนนี้คนไทยก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า ติดเชื้อทางอากาศได้หรือเปล่า ใส่หน้ากากผ้าป้องกันได้จริงไหม มันมีทั้งข้อมูลเก่าและใหม่ นอกจากนี้เรายังมีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งแบบฝังใจด้วย เพราะเราเชียร์ฝ่ายนี้นะ เราเชียร์ฝ่ายต้องใส่หน้ากากอนามัย ในขณะที่เพื่อนเราอีกคนหนึ่งอาจจะเชียร์องค์การอนามัยโลก ทั้งหมดนั่นคือการที่เราเอาความเห็นไปใส่ข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเฟคนิวส์อยู่ด้วย ผมมองว่าเฟคนิวส์จะทำให้เกิดผลกระทบสองแบบ ก็คือ ผลกระทบแรก มันจะทำให้เกิดการเชื่ออะไรตามๆ กัน เช่น จนถึงวันนี้ก็ยังมีคนที่คิดว่ากลั้นหายใจ 10 วินาที ถ้ากลั้นไม่ได้ คุณมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ซึ่งนี่ก็เป็นเฟคนิวส์อันหนึ่ง แต่ก็มีคนที่ยังเชื่ออยู่นะครับ เพราะว่าถ้ามีการเอาเรื่องนี้ไปแชร์ซ้ำๆๆ คนก็จะเชื่อว่ามันจริง

สอง ก็คือถ้าคุณโกหกบ่อยๆ รายงานเฟคนิวส์กันบ่อยๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นสื่อไหน จะทำให้ประชาชนเชื่อในสื่อยากขึ้น สื่อก็ทำงานยากขึ้น ประชาชนเขาไม่ได้จำหรอกว่าสื่อไหนเป็นคนให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ เขาจะจำว่าสื่อนี่บางทีก็ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ฉะนั้นไม่ว่าต่อจากนั้นสื่อไหนจะนำเสนออะไรก็จะยากขึ้น เพราะคนไม่เชื่อในสื่อแล้ว

ทั้งจากประสบการณ์การทำเพจมาสักระยะหนึ่ง และในฐานะแพทย์ มองว่าข้อควรระมัดระวังในการรายงานข่าวเกี่ยวกับโควิด มีอะไรบ้าง

ผมคิดว่ามันคือการย่อยองค์ความรู้ให้ประชาชนมากกว่า อย่างที่บอกว่าข้อมูลทางการแพทย์ย่อยค่อนข้างยาก มันจะมีความลึกของข้อมูลในเชิงเทคนิคค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นการย่อยให้ประชาชนก็จะมีความยาก และบางทีเราใส่อคติดหรือความคิดเห็นลงไปก็ยิ่งทำให้ข้อมูลที่ออกมาในแต่ละที่ไม่ตรงกัน

สอง ก็คือข้อมูลต้องอัปเดตด้วยนะครับ เพราะข้อมูลและข้อเท็จจริงมันเปลี่ยนทุกวัน พรุ่งนี้จีนนำเสนอมาอย่างหนึ่ง วันต่อมาองค์การอนามัยโลกเสนออีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้นบางทีเราต้องเรียบเรียงข้อมูลว่าอันนี้เป็นข้อเท็จจริงนะ อันนี้เป็นข้อมูลใหม่นะ อันนี้เป็นข้อมูลเก่า อันนี้เป็นความเห็นทางการแพทย์

โดยเฉพาะเรื่องความเห็นทางการแพทย์ เพราะว่าบางทีเราชอบเอาความเห็นทางการแพทย์มาเป็นข้อเท็จจริง เช่น เชื้อไวรัสจะตายในหน้าร้อน ซึ่งอันนี้มันเป็นความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เพราะว่าเชื้อตัวนี้ตามปกติมันตายในหน้าร้อน หมายถึงว่ามันไม่ค่อยแพร่ในหน้าร้อน ด้วยเหตุผล 1-2-3-4 แต่ว่าถามว่าสุดท้ายมันจะเป็นอย่างนั้นจริงไหม เราก็คงต้องตามดูต่อไป อันนี้เป็นความเห็นทางการแพทย์ อาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริง 100% คือมีข้อเท็จจริงปนอยู่บ้าง แต่ว่าหลักๆ คือความเห็นทางการแพทย์

หรือแม้แต่ความเห็นที่ไม่ตรงกันของการแพทย์ในแต่ละที่ เช่น การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ในขณะที่กรมควบคุมโรคของอเมริกาแนะนำที่ 60% ประเทศไทยแนะนำที่ 70% ถ้าเราบอกว่าไทยให้ใช้ 70 % อเมริกาให้ใช้แค่ 60% ผิดแล้ว เห็นไหมว่าเชื้อไวรัสก็เลยกระจายทั่วเมือง อย่างนี้ถือว่าเราใส่ความเห็นหรือว่าใส่อคติลงไปในข้อมูล ก็จะทำให้มันเกิดดราม่า

หรือว่าเราชอบบอกว่าเราค้นเจอยารักษา หรือมีวัคซีนแล้วนะ ซึ่งจริงๆ ยังเป็นการทดลอง เพราะบางทีการพาดหัวข่าวอย่างเดียว คนอ่านอาจจะอ่านไม่ครบดี มันก็จะทำให้ได้ข้อมูลที่ผิดประเด็นไปจากที่เราต้องการนำเสนอ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า นี่คือความคิดเห็นทางการแพทย์

ปกติเราต้องอ่านที่เฮดไลน์หรือหัวข้อข่าว ถูกไหมครับ แล้วก็เหมือนว่าเราจะเชื่อไปส่วนหนึ่งแล้ว แล้วก็อ่านเนื้อความต่อให้มันเชื่ออย่างนั้น ซึ่งผมมองว่าการจะแยกข้อมูลพวกนี้ทำได้ค่อนข้างยากนะ แต่พาดหัวข่าวพวกนี้อาจจะต้องให้มันชัดเจนด้วย แต่จะว่าไป มันก็เป็นเรื่องของการพยายามชิงพื้นที่สื่ออีกนั่นแหละ ถ้าคุณพิมพ์ให้มันชัดเจน บางทีคนก็อาจจะไม่ได้สนใจที่จะอ่านเท่าไร มันต้องใช้หลายๆ อย่างร่วมกัน

รัฐก็อาจจะต้องช่วยเป็นสื่อกลางด้วยในการแยกข้อมูลพวกนี้ ทุกวันนี้เราแทบจะไม่ได้เสพข้อมูลจากสื่อกลางเลย ข้อมูลอัปเดตหรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโควิดเราดูจากสื่อเอกชนหมดเลย หรือเพจทั่วๆ ไป ผมเข้าไปดูเพจสาธารณสุขหรือกรมควบคุมโรค ซึ่งควรเป็นเพจในการสื่อสารหลัก แต่คนแชร์ข้อมูลน้อยมาก กลายเป็นเพจรองๆ ได้พื้นที่ตรงนี้ไปหมด ผมอยากให้รัฐเป็นตัวหลักในการนำเสนอข้อมูลตรงนี้มากกว่า แต่ก็เข้าใจได้ว่าอาจเป็นเพราะประชาชนมีความไม่เชื่อมั่นในรัฐด้วย

ก่อนโควิด-19 จะเข้าระยะ 3 อยากให้คุณหมอประเมินว่าที่ผ่านมา สถานการณ์ในบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง

ประเทศไทยเริ่มติดเชื้อคนแรกประมาณวันที่ 13 มกราคม ผ่านมาประมาณสัก 2 เดือนแล้ว แล้วก็เป็นประเทศแรกด้วยที่มีคนติดเชื้อนอกจากจีน จนถึงวันนี้เรามีคนติดเชื้อลำดับประมาณ 100 กว่าราย ถือว่าเราทำได้ค่อนข้างดี แต่จริงๆ อาจจะต้องมาดูให้ชัดเจนว่า คำว่า ดี ของเราคืออะไร เราอาจจะดี เพราะว่าอากาศร้อน การแพร่เชื้อยาก ดีเพราะว่าเราไม่ได้มีวัฒนธรรมการสัมผัส การจับมือ การหอม หรือว่าดีที่การแพทย์เราเข้าถึงง่าย ซึ่งมันมีหลายๆ ปัจจัย

แต่ทีนี้ถามว่านานไหมจะเข้าเฟส 3 จริงๆ สาธารณสุขมีหนังสือคาดการณ์ไว้ว่า น่าจะเป็นประมาณปลายมีนาคมหรือว่าต้นเมษายน แต่อย่างที่ผมบอกแหละว่า ถ้าเอาความเห็นมาใส่ข้อเท็จจริง จะอาจจะมีดราม่าได้ ข้อเท็จจริงคือตอนนี้เราอยู่ในเฟส 2 แต่ถ้าถามความเห็นผม ผมคิดว่า ถ้าเชิงรุกเรายังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ อาจจะมีการเข้าสู่เฟส 3 อย่างเงียบๆ ไปก่อนหน้านี้แล้วก็ได้

ในความเห็นผมต้องย้ำว่าเป็นความเห็นของผมคนเดียว ผมมองว่าเราพยายามนับเลขยืดกันอยู่ เหมือนเวลาเราเล่นซ่อนหากับเพื่อน เราจะนับ 2-2 ครึ่ง- 2.8-2.9 ตอนนี้เราก็พยายามทำอย่างนั้นอยู่ แต่คำถามที่สำคัญคือเราจะยืดได้ถึงตรงไหน จากการที่คุยกับเพื่อนๆ หลายๆ คนที่เป็นหมอด้วยกัน เขามองว่าน่าจะเข้าเฟส 3 แล้วล่ะ แต่คำว่าเฟส 3 นโยบายหลายๆ อย่าง หรือว่าอะไรต่างๆ มันจะต้องเปลี่ยนไป ตอนนี้ เรายังทำตัวกันแบบนี้อยู่ แต่วันที่ประกาศเป็นทางการจริงๆ พฤติกรรมเราต้องเปลี่ยน เราต้องเตรียมตัวมากขึ้น

เฟส 3 มีการประเมินสถานการณ์ไว้ 3 รูปแบบ คร่าวๆ ก็คือ กรณีดีที่สุด กลางๆ แล้วก็แย่ ผมขอพูดในภาพรวมก่อน คำว่าแย่ ของเราคือแย่แบบแย่เลย หมายถึงคน 1 คน จะแพร่ต่อไปยังคนได้ประมาณ 2 คนกว่าๆ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า อาจจะมีคนติดเชื้อประมาณ 16 ล้านคน นี่คือในกรณีแย่สุดๆ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดน้อย

ในกรณีที่ดีที่สุด ก็คือเดี๋ยวเชื้อมันก็จะสงบไปเอง คนที่ติดเชื้อ 1 คน จะแพร่ต่อไปยังคนอื่นๆ ได้ประมาณ 1 คนนิดๆ แล้วสุดท้ายก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เหมือนไข้หวัดที่เราเจอทุกวัน แต่ที่มีการคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นสถานการณ์นี้ก็คือกลางๆ หมายความว่ามันจะขึ้นไปพีคอยู่ช่วงๆ หนึ่ง แล้วก็ค่อยๆ กลับลงมาเหมือนในประเทศจีนประมาณนั้น

สิ่งที่เราควรจะต้องทำก็คือ ผมมองว่าในภาคประชาชน เราก็คงทำคล้ายๆ เดิม คือกินร้อน ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย แต่ว่าอาจจะใช้ความเข้มข้นมากขึ้น เช่น วันนี้เราไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยมาเพื่อคุยกัน แต่ว่าพอเป็นเฟส 3 แล้ว เราก็ต้องคิดแล้วว่าเราต้องเจอกันหรือเปล่า หรือใช้การคุยกันทางออนไลน์แทน

ในส่วนของรัฐ ผมว่าโดยองค์กรต่างๆ น่าจะมีนโยบายหลายๆ อย่างมากขึ้น เพราะว่าพอมันเปลี่ยนเฟสแล้ว นโยบายก็ต้องเปลี่ยน หลักๆ ที่สำคัญที่สุดผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการเว้นระยะทางสังคมนะครับ (social distancing) ยกเลิกงานอีเวนต์ต่างๆ รวมไปถึงการเรียนการสอนหรือการที่ต้องไปเจอกัน หรืออยู่รวมกัน

เรื่องเหล่านี้ เราควรทำก่อนเข้าเฟส 3 เสียด้วยซ้ำหรือเปล่า

ใช่ครับ แต่ว่าความเข้มข้นในการทำอาจจะลดหลั่นกันไปนะครับ บางทีถ้ายังไม่เข้าเฟส 3 เราจะหยุดแค่ชั่วคราวก่อน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เราไม่ได้ให้การแพทย์นำทุกอย่าง เราก็ต้องนึกถึงเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ หรือภาคส่วนอื่นๆ ที่ยังต้องเดินต่อไปด้วย เรายังไม่สามารถปิดเครื่องยนต์ทุกตัวแล้วก็เปิดแต่การแพทย์อย่างเดียวได้ สิ่งที่ผมคิดว่าควรทำในเฟส 3 ก็คือการเว้นระยะทางสังคมอย่าวเข้มงวด

โดยเฉพาะการทำงานที่บ้าน (work at home) ซึ่งเอกชนหลายๆ ที่เริ่มทำแล้วนะ ก็อยากให้รัฐลองดูในส่วนนี้ เพราะการ work at home มันเป็นการเว้นระยะทางสังคมที่ดีมาก เราจะได้ไม่ต้องไปสัมผัสกับหลายๆ อย่าง ลดการติดเชื้อได้ หลายประเทศก็เอาเรื่อง work at home มาใช้ รวมถึงการปิดโรงเรียนด้วย อย่างจีนปิดโรงเรียน แต่ว่าใช้เทคโนโลยีออนไลน์มาทำการเรียนการสอนแทน แม้ประเทศเรายังไม่ได้พัฒนากลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีออนไลน์ในด้านต่างๆ มากขนาดนั้น แต่ก็สามารถลองปรับลองประยุกต์ใช้ได้

อยากทราบว่าในระดับโรงพยาบาล ตอนนี้มีศักยภาพพร้อมรับมือมากน้อยแค่ไหน

ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นด้วยครับ ถ้าเฟส 3 ของเราสถนการณ์แย่สุด หมายถึงมีผู้ติดเชื้อเกิน 16 ล้านคน ต้องยอมรับเลยว่าศักยภาพโรงพยาบาลไม่พอแน่นอน ไม่ถึงแน่นอน แล้วก็คงจะมีผู้เสียชีวิตเยอะ เพราะว่าเราไม่สามารถรักษาทัน แต่ถ้าเฟส 3 ของเรากลางๆ เราจะต้องเตรียมทรัพยากรให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอ มองว่าศักยภาพโรงพยาบาลพอไหว แต่ว่าต้องเตรียมทรัพยากรต่างๆ ทั้งทรัพยากรคน ทรัพยากรการรักษา การส่งตัว การดูแลต่างๆ ให้มากขึ้น

ผมมองว่าสิ่งที่ต้องเตรียม—อาจจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า ถามว่าเครื่องมือต่างๆ จำเป็นไหม จำเป็นครับ แต่ว่าถ้าเราดูจากที่ผ่านมา จะพบว่า คนไทยที่ซึ่งตอนนี้ยอดร้อยกว่าไปแล้ว เสียชีวิตไป 1 คน แล้วก็มีอาการหนักจริง แค่คนเดียวนะครับ แล้วก็อาจจะมีอีกประมาณ 10 คน ที่อาการยังอยู่ในโซนหนักๆ อยู่ แต่ว่าอีกหลายคน 50-60-70-80 คน หรือรวมคนที่หายแล้ว อาการไม่ได้เป็นหนักมากนะครับ ถ้าเรามองในมุมมองของการหยุดยั้งการแพร่กระจายไม่ให้มันเป็นเยอะจนเกินศักยภาพหลายๆ โรงพยาบาล ผมยังมองว่าบุคลากรที่ทำการคัดกรอง ทำการรักษาเบื้องต้นให้เขาหาย เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ในส่วนเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ก็มีความจำเป็น แต่ผมคิดว่าถ้าเทียบกับการหยุดไม่ให้คนป่วยล้นศักยภาพโรงพยาบาล สิ่งนี้อาจจะจำเป็นมากกว่า

เรื่องการเตรียมตัวแพทย์อาจจะไม่ได้ยากมาก ใช้คำนี้ก็แล้วกัน เพราะว่าจริงๆ ต่อให้โควิดเป็นโรคใหม่ แต่การรักษาหลักๆ ที่ยังไม่มียาฆ่าเชื้อ ก็จะรักษาตามอาการเป็นหลัก พูดง่ายๆ คือเหมือนไข้หวัดแรงๆ ไอก็กินยาแก้ไอ ถ้าความดันตกก็อาจจะให้ยากระตุ้นความดัน แต่ว่ามันเป็นไข้หวัดที่อัตราการเสียชีวิตอาจจะสูงหน่อย ตีว่าสักประมาณ 3.7 แล้วกัน

แต่เราต้องยอมรับว่าแพทย์ในประเทศไทยต้องดูแลส่วนอื่นด้วย ดูแลผู้ป่วยผ่าตัด ผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน หรือว่าผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดาด้วย การแยกจากส่วนหนึ่งไปอีกส่วนหนึ่ง ต้องยอมรับว่าส่วนที่เขาถูกแยกมา การดูแลจะลดลง ไม่ว่าจะเป็นคนไข้กลุ่มไหนก็ตาม อย่างการตั้งคลินิก ARI เขาก็ต้องแยกเป็นอีกส่วนหนึ่ง เพื่อมาตั้งส่วนใหม่นี้ ไม่ใช่แค่หมอ แต่รวมทั้งพยาบาล หรือบุคลากรอื่นๆ ที่ต้องมาช่วยตรงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นเลยมองว่า เราต้องเตรียมให้พอ ขณะเดียวกันเราก็ต้องถ่วงน้ำหนักกับโรคอื่นๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงเหมือนกันด้วย

แม้ประเทศไทยจะเข้าถึงโรงพยาบาลง่ายก็จริง แต่ว่าจำนวนประชากรต่อหมอ หรือต่อบุคลากรทางการแพทย์ยังค่อนข้างต่ำ ต่ำมาก เพราะฉะนั้นถ้าหมอกระจายกำลังไปเยอะๆ มันจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานค่อนข้างหนัก หนักมาก แล้วก็อาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง

ในเรื่องตัวเลข นอกจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีตัวเลขของผู้ที่เข้าเกณฑ์รอการวินิจฉัย หรือตัวเลขของผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีการพูดถึงกัน คุณหมอมองอย่างไร

ผมใช้คำว่ามีความเป็นไปได้แล้วกันครับ หมายถึงว่าโรคนี้มันอาจจะไม่ได้ตรวจเจอในวันแรก อาจจะมีอาการอย่างอื่น ซึ่งถ้าเราจำได้ในเคสคนไข้ที่เสียชีวิต เขาตรวจเจอเป็นไข้เลือดออกก่อน ซึ่งจริงๆ เขาไม่ได้เป็นไข้เลือดออก แต่เผอิญว่าอาการหรือว่าการตรวจมันเข้าได้กับการเป็นไข้เลือดออก เขาเลยวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออก ซึ่งจริงๆ โควิดทำให้ตรงนี้มันเป็นบวกได้นะครับ

ในกรณีคนไข้บางคนที่ยังตรวจไม่เจอ หรือว่าผลตรวจเป็นลบ และมีอาการปอดอักเสบ ถามว่ามันมีโอกาสเป็นกลุ่มนี้ได้ไหม ต้องใช้คำว่ามีโอกาสเป็นได้ แต่ว่าจะมากน้อยหรือน้อย หรือแค่ไหนอย่างไร อาจจะตอบไม่ได้ชัดเจน แต่ใช้คำว่าเป็นไปได้ เพราะว่าโควิดมันไม่ใช่ตรวจแล้ววินิจฉัยได้เลย บางทีตรวจแล้วยังไม่เจอก็ได้

ซึ่งในรายงานจะใช้คำว่า ผู้ป่วยเฝ้าระวัง ผู้ป่วยเฝ้าระวังในทางสาธารณสุขคือผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ คุณมีไข้ คุณไปประเทศเสี่ยง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้เกณฑ์แบบไหนในระยะไหน แต่หลักๆ ก็คือมีไข้กับไปประเทศเสี่ยงมา ฉะนั้นถ้าเกิดคุณไม่มีไข้ คุณไม่ได้ไปประเทศเสี่ยง เช่น ถ้าเกิดครอบครัวผมเป็น ถ้าผมไปสัมผัสใกล้ ผมอาจจะไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะว่าผมไม่ได้ไปประเทศเสี่ยงมา แต่ว่าผมก็มีโอกาสเป็น แล้วถ้าผมไปตรวจ ผมอาจจะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 5,000 คนนั้นก็ได้

อย่างที่บอกไปว่า 5,000 คนนี้ เป็นเกณฑ์ของเขา ซึ่งเกณฑ์นี้มันปรับได้นะครับ ถ้าปรับขึ้นมาตัวเลขก็อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้นะครับ แต่ตัวเลขที่ผมไปดูจากสาธารณสุขจริงๆ ประมาณสัก 20,000 คนนั้น รวมหมดทั้งคนที่เสี่ยงมากและคนที่ไม่เสี่ยงอะไรเลยแต่อยากตรวจ ก็มีหมด เพราะฉะนั้นอาจจะค่อนข้างแยกยากว่า 20,000 ครั้งนั้นไปตรวจอะไรใครบ้าง แต่แน่ๆ 5,000 ครั้งใน 20,000 นั้นคือการตรวจคนที่ต้องสงสัยจริงๆ เข้าเกณฑ์แล้ว หลักการสงสัยเข้าเกณฑ์จริงๆ เขาเรียกว่าเกณฑ์ PUI (patient under investigation) ครับ เป็นเกณฑ์ที่สาธารณสุขตั้งขึ้นมาว่า มีอะไรเป็นตัวชี้วัดบ้าง 1-2-3-4-5 ก็ว่ากันไป

สื่อทั้งต่างประเทศและในประเทศ นำเสนอเรื่องผลกระทบของปอดว่าแม้จะหายแล้วแต่ปอดจะถูกทำลาย ตามความเป็นจริงสภาพปอดจะเป็นอย่างไรต่อไป

ก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นรุนแรงแค่ไหน ต้องบอกก่อนว่าเชื้อนี้มันมีอาการกว้างมาก กว้างมากคือตั้งแต่ไม่มีอาการเลย หรือบางทีเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือเชื้อโควิดเข้าสู่ร่างกาย สำหรับคนที่มีภูมิเยอะอาจจะไม่มีอาการเลยก็ได้ แต่ว่าถึงไม่มีอาการอะไรเลยก็อาจจะแพร่เชื้อได้ เหมือนคนนั้นเป็นไปแล้วแล้วก็หายแล้ว ไม่มีอาการอะไรเลย อย่างนี้ปอดก็อาจจะไม่เป็นไรเลยนะครับ หรือคนเป็นเล็กๆ น้อยๆ ปอดก็อาจจะไม่เป็นอะไรเลยเหมือนกัน

ถามว่าปอดจะเสียหายทุกคนไหม คำตอบคือไม่ทุกคนครับ ขึ้นอยู่กับว่าอาการรุนแรงแค่ไหน ส่วนใหญ่อาการก็ไม่ได้รุนแรงนะครับ แต่ว่าอาการรุนแรงมีไหม มี แต่ว่าเป็นส่วนน้อยนะครับ เพราะฉะนั้นคนที่ปอดอาจจะมีความเสียหายก็คือคนที่เป็นรุนแรงจริงๆ

ในเฟส 3 มีความจำเป็นไหมว่าเราต้องตั้งศูนย์เฉพาะกิจ จะต้องมีโรงพยาบาลชั่วคราวเหมือนที่จีน หรือจะต้องปิดเมือง คุณหมอคิดว่ามันมีความเป็นไปได้ถึงระดับไหน

ผมมองว่าขึ้นอยู่กับว่าคำว่ากลางๆ’ ของเราที่เราคาดการณ์ไว้ว่า จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเท่าไร ผมไปดูตัวเลขที่เขาประเมินมาว่าภายใน 1-2 ปี จะมีคนติดเชื้อเป็นล้าน นี่คือกลางๆ นะครับ ซึ่งผมก็มองว่าถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อของเราขึ้นไปถึงหลักหลายพัน หลักหมื่น อาจจะมีความเป็นไปได้ที่เราจะต้องปิดเมือง หรือไม่ให้ต่างประเทศเข้ามา

แต่ก็มีการมองว่าการปิดประเทศ อาจจะส่งผลเสียมากขึ้น เพราะว่ามันมีเรื่องของเศรษฐกิจด้วย อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้ปิดเครื่องยนต์ทุกตัว เราอาจจะต้องเปิดบางตัวไว้ด้วย ถึงแม้มันจะเสี่ยงที่จะแย่ลงก็ตาม ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่ว่าการติดเชื้อจะเยอะแค่ไหน ถ้าเป็นหลักหลายพันหลักหมื่น ผมใช้คำว่า—มีแนวโน้ม มีโอกาสที่จะต้องไปถึงขั้นนั้น แต่เรื่องตั้งโรงพยาบาล ผมคิดว่าเลือกสักโรงพยาบาลหนึ่งเป็นศูนย์แล้วกัน เราคงไม่สามารถสร้างโรงพยาบาลได้รวดเร็วแบบจีนแล้วใช้งานได้เลย เพราะต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีต่างๆ เรายังห่างจากจีนเยอะ มีเพียงแค่การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์เท่านั้นที่เราอาจจะดีกว่าจีนและประเทศอื่นๆ

ทำอย่างไรถึงจะไม่ได้เกิดกรณีที่แย่ที่สุดขึ้นในประเทศไทย

เราก็ต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาดขึ้น ถ้ายกตัวอย่างก็คงแบบประเทศจีนครับ จีนเป็นประเทศที่ใช้นโยบายค่อนข้างจะเด็ดขาด เพราะหนึ่ง เขาปกครองแบบเผด็จการด้วย สามารถออกนโยบายได้ค่อนข้างแรงและเร็ว เขาตัดสินใจที่จะปิดเมืองหลักไปเลย ผมจำไม่ได้ว่ากี่เมือง แต่หลายเมืองคือปิดไปเลย ผมคิดว่าเราอาจจะไม่ต้องรุนแรงถึงขนาดนั้น แต่เราต้องมีความเด็ดขาดมากขึ้น จริงจังมากขึ้น เพื่อไม่ให้มันกระจายตัว

หรือว่าเราอาจจะต้องออกนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนว่า พื้นที่ไหน พื้นที่เสี่ยง แล้วก็ควบคุมการเดินทาง การที่เราต้องกักตัว ปิดกั้นการเดินทาง มันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็จริง แต่ว่าถ้าเราทำได้เด็ดขาดแบบจีนทำได้ ทำเร็ว และเด็ดขาดพอ จากนั้นค่อยมากระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็จะฟื้นเร็ว อย่างจีนเองก็ฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว ตอนนี้คือเศรษฐกิจเขาฟื้นกลับมาแล้วนะครับ คนในเมืองอู่ฮั่นก็เริ่มเดินทางไปไหนมาไหนแล้ว เพราะฉะนั้นผมมองว่ายาแรงนี่ช่วยไหม ก็ช่วยนะ แต่ว่าเราต้องคิดให้ดีๆ แล้วก็ทำให้มันเด็ดขาดด้วย

ผมมองว่ามาตรการที่ออกมาหลายๆ อย่างก็ไม่ได้แย่นะครับ อาจจะค่อนข้างดีด้วยซ้ำ แต่การบังคับใช้บางทียังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ อย่างบอกว่าจะกักตัว ไม่กักตัวจะมีโทษ สุดท้ายก็ปล่อยๆ ไป ไม่เข้มงวด หรือว่านโยบายห้ามเดินทางไปประเทศเสี่ยง นโยบายไปประเทศเสี่ยงแล้วต้องกักตัว สุดท้ายเราก็ยังไม่ได้เอามาบังคับใช้อย่างจริงจัง ผมมองว่าหลายๆ นโยบายของรัฐดีแล้ว แต่ว่ายังทำไม่เด็ดขาดมากพอ ยังไม่จริงจังมากพอเพื่อให้มันเกิดผลจริงๆ แล้วพอไม่ได้ทำจริงจัง มันก็จะส่งผลต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค

อีกส่วนหนึ่งที่อยากให้รัฐทำเพิ่มเติม ก็คือการให้ข้อมูลที่ดีแก่ประชาชนว่า เขาควรจะระวังตรงไหน ป้องกันตรงไหน แล้วก็หยุดความเสี่ยงตรงไหน รวมถึงเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม รัฐก็อาจจะต้องพยายามและเข้มงวดมากขึ้น เข้าใจว่ารัฐก็คงจะกลัวศรษฐกิจเสียหาย แต่ว่าเราต้องเริ่มชั่งน้ำหนักแล้วว่า เราจะปล่อยให้การติดเชื้อมีความเสี่ยง หรือว่าเราจะเอาเศรษฐกิจตรงนี้ไว้อยู่ ผมไม่ได้บอกว่าต้องทิ้งทุกอย่าง เพราะว่าอย่างบอลพรีเมียร์ลีก รายการที่รายได้เยอะมากมหาศาล เขาก็แค่ลองเลื่อนดูก่อน ถ้าเกิดโชคดีเชื้อไปเร็วหน่อย ก็ค่อยมาเตะกันต่อ ฉะนั้นรัฐควรจะต้องพิจารณาแล้วว่า บางอย่างมันเลื่อนได้ มันหยุดได้ อาจจะต้องเลื่อนหรือหยุดไปก่อน แล้วค่อยกลับมาใหม่หลังสงบแล้ว ผมมองว่าตอนนี้รัฐยังลังเลอยู่ว่า เฮ้ย จะยังให้ภาคเศรษฐกิจบางส่วนเดินต่อดีไหม หรือจะให้ทางการแพทย์เดินเต็มที่ไปเลย

คุณหมอมองว่า เฟส 3 สำหรับประเทศไทย มันน่ากังวลมากไหม

ผมมองว่าถ้าความคิดผมถูกแล้วกัน ตอนนี้มันเข้ามาเฟส 3 แล้ว เข้ามาสักระยะหนึ่งแล้ว ความน่ากลัวอาจจะไม่ได้ต่างจากเดิมมาก แต่ความตระหนักของประชาชนหรือใช้คำว่าความวิตกแล้วกัน อาจจะมีผลได้นะครับ เพราะว่าพอประกาศว่าเฟส 3 แล้ว มันเหมือนกับคุณประกาศว่าสถานการณ์มันแรงขึ้น ถามว่าน่ากลัวไหม ผมว่าอาจจะไม่น่ากลัวก็ได้ ถ้าเราคุมอยู่จริงๆ นะครับ เพราะฉะนั้นเฟส 3 ช่วงของมันค่อนข้างกว้าง ไม่จำเป็นว่าเฟส 3 คุณจะต้อง โอ้โฮ กลายเป็นเมืองซอมบี้ทั้งเมือง แต่ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อเยอะหรือติดเชื้อน้อยได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่านโยบายควบคุมโรคจะเข้มงวดแค่ไหน

การบอกว่าเข้าสู่เฟส 3 มันไม่ใช่จุดตัดว่า 2 มา 3 คุณจะต้องรุนแรงขึ้นมหาศาล อย่างที่บอกว่ามันค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จาก 2.1-2.2-2.3- – 2.8 ตอนนี้อาจจจะ 2.98 แล้วก็ได้แล้ว แล้วก็มาปรับเป็น 3 เพราะสถานการณ์ของโรคไม่ได้เปลี่ยนไปแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ความรับรู้ของประชาชนจะเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ

ถ้าถามผมว่าน่ากลัวไหม ถ้าดูจากประเทศไทยตอนนี้ผมว่ายังไม่น่ากลัวมากนัก แต่ว่าต้องตามดูไปเรื่อยๆ ถ้าเกิดจำนวนผู้ติดเชื้อโรคเยอะขึ้น แล้วศักยภาพโรงพยาบาลหลายๆ แห่งไม่ค่อยไหว ก็อาจจะมีปัญหา แต่ว่าตอนนี้ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อร้อยกว่าคน กับผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ต้องสงสัยอีกหลักพันหรือว่าหลักหลายๆ พัน ผมมองว่าศักยภาพเหล่านี้ยังไหวอยู่

แต่การที่จะไม่ให้คนตื่นตระหนกค่อนข้างยากนะ ตอนนี้มุมมองของคนไทยต่อโควิดค่อนข้างแย่แล้วนะครับ จริงๆ อย่างที่ผมบอก มันคือไข้หวัดตัวหนึ่งที่มันแรงกว่าไข้หวัดทั่วๆ ไป เพราะมันเป็นไข้หวัดที่เรายังไม่เคยเจอมาก่อน ไข้หวัดใหญ่เรามีภูมิต้านทานแล้ว ถ้าเป็นก็นอนซมๆ สักอาทิตย์หนึ่ง แต่ไข้หวัดตัวนี้มันแรงกว่า เวลาเรานึกภาพเราติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ก็ดูจะไม่เป็นอะไรมากใช่ไหมครับ แต่ตอนนี้เรามองว่า ผู้ติดเชื้อโควิดเหมือนเป็นตัวเชื้อโรค ฉะนั้นการปรับภาพ มุมมองต่อโควิดค่อนข้างสำคัญ แม้จะค่อนข้างยากด้วยก็ตาม

อย่างโรคเอดส์หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี กว่าที่เราจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของคนเหล่านี้ได้ว่า เขาก็เหมือนคนปกติ ยังใช้เวลาสักพักใหญ่ๆ เลย ฉะนั้นผมมองว่าจะคุมตรงนี้อย่างไร ต้องอยู่ที่ว่ารัฐจะออกนโยบายอย่างไร ผมว่าด้วยสถานการณ์ตอนนี้มันคงไม่ถึงกับอู่ฮั่น เรายังไม่ได้ปิดเมือง ปิดประเทศ เรายังนำเข้าส่งออกได้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องกักตุนของถึงขนาดนั้น

ผมยังเชื่อว่าสถานการณ์ตอนนี้มันยังไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดนั้น ด้วยตัวเลขการติดเชื้อหลักร้อย โอเค คุณอาจจะไม่ได้เชื่อรัฐบาลไทยหมดว่านี่เป็นตัวเลขจริง แต่ว่าเต็มที่คุณคูณไปเท่าไรก็ได้ คูณ 2 ก็ 100-200 ซึ่งก็ยังไกลจากยุโรป อย่างอังกฤษก็แตะ 1,000 ไปแล้ว อิตาลีก็แตะ 20,000 ไปแล้ว ผมว่าเรายังไกลจากสถานการณ์ที่วิกฤตแบบนั้น แต่อย่างที่บอก ยังไงเราก็ต้องดูกันวันต่อวัน ตื่นตัวได้แต่อย่าตื่นตระหนก

ในระยะยาว เหมือนว่าเราควรจะต้องคิดถึงการทำให้โควิด-19 ดูเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเหมือนโรคทั่วๆ ไป

มันจะเป็นธรรมดาอยู่แล้วครับ คือสุดท้ายโควิดก็จะเป็นโรคประจำถิ่น ประจำฤดูหนึ่ง คือพอมันหาย เดี๋ยวมันจะกลับมาเป็นอีก เหมือนโรคไข้หวัดทั่วๆ ไป แต่สัดส่วนอัตราการตายจะเป็นอย่างไร ก็ต้องตามดู เพราะตอนนี้คือ 3.7 รวมผู้สูงอายุด้วย คนสูงอายุจะซวยหน่อย คือถ้าอายุเกิน 80 ปีอัตราการเสียชีวิตจะประมาณ14-15% ซึ่งถือว่าเยอะมาก ฉะนั้นคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่จะเหลือแค่ 2%  อาจจะไม่ได้รุนแรงมาก แต่ก็ต้องคิดว่า 2% นี่คือ 2% ที่เรายังไม่มีภูมิคุ้มกันเลยนะ เราไม่มีเกราะไม่มีอะไรนะครับ

แต่ในระยะยาวมันจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นโรคหนึ่ง เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่มันเคยระบาดแรงๆ ช่วงหนึ่ง คนตายหลายล้านแบบนั้นแหละครับ สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นโรคที่เราก็จะต้องอยู่กับมันไปเรื่อยๆ มีคนตายจากไข้หวัดใหญ่ทุกปีเหมือนกันนะครับ แต่ว่ามันก็กลายเป็นแค่โรคโรคหนึ่งไปแล้ว สุดท้ายโควิดมันก็จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่คำถามคือก่อนจะไปถึงช่วงนั้นเราจะเจออะไรกันก่อนบ้าง และเราสามารถที่จะชะลอจำนวนผู้ป่วยได้ไหม คือมันต้องมีแหละ ยังไงก็ต้องเข้าเฟส 3 แต่ว่าเราพยายามชะลอตรงนั้นอย่างมีศักยภาพมากพอหรือยัง

คุณหมอประเมินเรื่องระยะเวลาว่า เราน่าจะต้องอยู่กับสถานการณ์ของโควิด-19 ยาวนานแค่ไหน 

ถ้ามองว่าสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกลางๆ เมื่อเอาตัวเลขของโรคอื่น อย่างซาร์สหรือเมอร์สมาเทียบเคียงก็จะประมาณ 9  เดือนถึง 1 ปี แต่เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ เพราะผมคิดว่าการประเมินของใคร ก็อาจจะไม่มีใครถูกเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าในความเป็นจริงมันเป็นอย่างไร ความคิดผมก็อาจจะประมาณ ไตรมาส 3 ไตรมาส 4 หรือว่าบวกลบ ก็จะเป็นปีหน้าราวๆ นี้เลย คือต่อให้อากาศร้อนในไตรมาสที่ 2 ก็คงจะลดการแพร่เชื้อได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่ว่าคิดว่ายังไม่หายหมดนะครับ คือถ้าโชคดีมากๆ ก็คือจะทำให้การติดเชื้อของคนไทยลดลงเยอะ แต่อย่างไรพวกโรคระบาดระดับโรคแบบนี้ มันใช้เวลาหลายเดือนอยู่แล้ว อย่างเร็วสุด อาจจะจบไตรมาส 3 ได้ แต่ถ้ามุมมองผมคือประมาณไตรมาสที่ 4 แล้วก็ถ้าช้าหน่อยก็อาจจะเป็นปีหน้า

กระทรวงสาธารณสุขเองก็ออกมาประเมินคร่าวๆ ใกล้เคียงกัน ก็คือประมาณสักปีหนึ่ง คือเราต้องอยู่กับมันประมาณปีหนึ่ง บวกลบนิดหน่อย

คุณหมอพูดถึงเรื่องอากาศว่าอากาศร้อนจะมีส่วนช่วยไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้เร็ว แล้วถ้าเป็นหน้าฝนล่ะ

ความชื้นอาจจะทำให้มีการติดเชื้อได้นะครับ ถ้าการแพร่เชื้อมันลดลงในฤดูร้อนไปแล้ว และเราก็เริ่มมีภูมิคุ้มกันกันบ้างแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าฤดูฝนอาจจะไม่ได้ทำให้มันแย่ลงสักเท่าไร แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า หน้าร้อนนี้ เราจะผ่านไปในรูปแบบไหน คนเราถ้าติดแบบเบาๆ แล้วก็หาย มันจะดีมาก เพราะว่าเราจะมีภูมิ เพราะฉะนั้นก็จะกลายเป็นว่าหากมีภูมิแล้วคุณติดเชื้อตอนไหน ฤดูไหน มันก็จะเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแล้ว แต่ว่าถ้าเชื้อมันแพร่กระจายตอนที่เรายังไม่มีภูมิแบบในตอนนี้ถึงจะน่าเป็นห่วง ฉะนั้นก็ต้องดูว่าหน้าฝนนี้เชื้อเริ่มอ่อนแรงแล้วหรือยัง หรือว่าเริ่มแพร่กระจายแบบเล็กๆ น้อยๆ จนทำให้เรามีภูมิแล้ว หรือว่าหน้าร้อนก็ยังแพร่เยอะอยู่ แล้วก็หน้าฝนก็หนักต่อไป ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน

ฟังดูคล้ายกับข้อเสนอของประเทศอังกฤษ ที่อยากจะให้ประชาชนมีการติดเชื้อก่อนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน (herd immunity)

เหมือนกับว่าสักวันหนึ่ง เราต้องติดเชื้อนี้กันหมด ผมพูดกลมๆ นะ เหมือนทุกคนเป็นไข้หวัดหมด พอเรามีภูมิแล้วเวลาเราติดเชื้อหลังๆ จะไม่แรงเท่าแรกๆ แล้ว หรืออาจจะไม่เป็นเลยก็ได้ การทำให้คนมีภูมิเป็นเรื่องที่ดี เราจะหวังวัคซีนไม่ได้ เพราะวัคซีนมันจะมาช้ามาก วัคซีนในโรคระบาดหลายๆ โรคไม่ได้มาช่วยในการระบาดครั้งนั้น แต่ว่าจะมาช่วยในครั้งต่อๆ ไปนะครับ วัคซีนยังเป็นสิ่งจำเป็น แต่หวังจะให้วัคซีนมาช่วยตอนนี้ อาจจะไม่ใช่ เขาเลยอยากให้ติดเชื้อเพื่อมีภูมิคุ้มกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องดูต่อไปว่าอย่างไร

จากการทำเพจที่มาประจวบเหมาะกับสถานการณ์โควิด-19 คุณหมอได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ได้เรียนรู้เยอะเลยครับ เพราะว่าโรคนี้มันใหม่มาก คิดว่าทั้งโลกก็ไม่เคยเจออะไรที่แพร่กระจายเยอะขนาดนี้ ทุกคนต่างเรียนรู้เรื่องการป้องกันตัว การระมัดระวังตัว การเสพข่าว หรือแม้กระทั่งการทำงานของภาครัฐ

ผมอาจจะพูดถึงภาครัฐเยอะว่า ไม่ดีอย่างนู้นอย่างนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันใหม่ คุณยังไม่เคยเจอ คุณก็นึกว่า เอ๊ะ จะทำอย่างไรดี แบบนี้จะเวิร์กไหม แบบนั้นจะเวิร์กไหม บางคนก็ประเมินสถานการณ์ต่ำไป อย่างเราในช่วงแรกหรือยุโรปก็ประเมินต่ำไป อะไรที่ใหม่ควรจะต้องมีเวลาที่จะเรียนรู้มันนะครับ มันก็มีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ก็เอาไปปรับปรุง ผมว่าบทเรียนหลายๆ อย่างเป็นของใหม่ มันอาจจะไม่ได้ดีทุกอย่าง แต่ว่าก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องอยู่กับมัน แล้วก็ต้องเรียนรู้กับมันไป

หลังจากโควิดสงบลงแล้ว เพจของผมอาจจะกลับมาที่เรื่อง telemedicine อีกทีหนึ่ง จากวิกฤตครั้งนี้ที่ทำให้เกิดการ work at home ใช้ออนไลน์ในการทำงาน เราคิดว่าจริงๆ ตอนนี้อาจจะเป็นโอกาสของ telemedicine ก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากจะผลักดันให้มันเกิดขึ้น ตอนนี้เราก็มีการคุยกับหน่วยงานรัฐว่า เราลองผลักดัน telemedicine มาช่วยในการคัดกรองไหม มันน่าจะทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อลดลง แล้วก็ทำให้การทำงานสบายใจมากขึ้น หมอก็สบายใจที่จะทำงาน เราก็สบายใจที่จะไม่ต้องไปในที่ที่มีคนเยอะๆ มากขึ้น ก็ต้องดูว่าต่อจากนี้เราจะผลักดันไปได้มากน้อยแค่ไหน

Tags: ,