“วันนี้ก็เป็นการชี้แจงข่าวเกี่ยวกับคุณน้ำตาล-บุตรศรัณย์ ทองชิว ที่ผมคิดว่าหลายๆ คนคงติดตามเรื่องนี้อยู่ว่าตกลงการวินิจฉัยโรคคืออะไร…” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเกริ่นนำในการแถลงข่าวสาเหตุการเสียชีวิตของนักร้องเดอะสตาร์ซึ่งเป็นที่สนใจของสังคมเมื่อตอนช่วงสายของวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

หลายคนคงจะทราบจากสื่อออนไลน์ในรูปแบบข้อความข่าวแล้วว่านักร้องท่านนี้เสียชีวิตจากโรควัณโรคหลังโพรงจมูก แต่อีกหลายท่านก็น่าจะได้ชมคลิปการแถลงข่าวของท่านคณบดี ร่วมกับ รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์เจ้าของไข้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคลิปเต็ม หรือคลิปสั้นที่รายการข่าวตัดเอาบางช่วงบางตอนไปนำเสนอ
ยกตัวอย่างคลิปหนึ่งใน YouTube ทางช่อง NineEntertain Official มียอดผู้เข้าชมมากถึงเกือบ 3 แสนคนภายใน 1 วัน สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกตรงกันกับหลายคอมเมนต์คือ ชื่นชมอาจารย์ทั้ง 2 ท่านที่อธิบายประชาชนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เช่น “เรียนให้ทราบนะ ว่าเป็นการตัดชิ้นเนื้อโดยผ่านทางกล้อง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ชิ้นเนื้ออะไรใหญ่ๆ นะ ก็เป็นชิ้นเล็กๆ”

 “ปรากฏว่าผลชิ้นเนื้อที่ออกมามีลักษณะที่เข้าได้กับวัณโรค มีส่วนบางส่วนของเซลล์ มีส่วนบางส่วนของเนื้อเยื่อที่มีลักษณะทำนองแบบนั้น… ในการตรวจชิ้นเนื้อนั้นไม่พบเชื้อวัณโรคนะครับ แต่หมายความว่าลักษณะของการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อตรงนั้นมันเข้าได้กับวัณโรค เราถึงต้องทำการตรวจอีกอย่างหนึ่งเพื่อเป็นการยืนยันว่าใช่หรือไม่ใช่…”

ความลับของผู้ป่วย

นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจอาจารย์ทั้ง 2 ท่านคือท่านทั้งสองได้อธิบายกระบวนการตรวจวินิจฉัยโรค โดยเน้นย้ำให้กับผู้ที่รับฟังการแถลงข่าวทราบว่าได้ทำตามหลักจริยธรรมทางการแพทย์และเคารพสิทธิของผู้ป่วยในทุกขั้นตอน ทั้งที่การลงรายละเอียดในส่วนนี้ไม่ได้มีผลต่อการรับทราบสาเหตุการเสียชีวิตของนักร้องท่านนี้แต่อย่างใด

เริ่มตั้งแต่ที่ท่านคณบดีชี้แจงตั้งแต่แรกเลยว่า “ก่อนอื่นสิ่งที่จะเล่าสู่กันฟังวันนี้เราได้ขออนุญาตกับครอบครัวของคุณน้ำตาลแล้ว…” หมายความว่าถึงแม้ข่าวการเสียชีวิตของคุณน้ำตาลจะเป็นที่สนใจของสังคม แต่เนื่องจากข้อมูลของผู้ป่วยเป็นความลับ (confidentiality) หากแพทย์เจ้าของไข้ต้องการนำมาแถลงข่าวให้กับผู้อื่นทราบ จะต้องขออนุญาตจากผู้ป่วยก่อน

หรือแม้แต่กับสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย หากเจ้าตัวไม่ต้องการให้ญาติทราบ แพทย์ก็ไม่สามารถบอกกับญาติได้ เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี แต่ไม่ต้องการให้คนรอบข้างรู้ว่าป่วยเป็นโรคนี้ แพทย์ก็ไม่สามารถแจ้งกับแฟนหรือสามีภรรยาได้ แต่เนื่องจากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แพทย์ก็จะโน้มน้าวให้ผู้ป่วยเป็นผู้บอกกับคนใกล้ชิดเอง เป็นต้น

สำหรับกรณีของคุณน้ำตาล ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว การตัดสินใจจึงขึ้นอยู่กับญาติสายตรง เช่น พ่อแม่ ลูกที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือพี่น้องประชุมร่วมกัน ซึ่งตามธรรมเนียมไทยมักจะให้ผู้อาวุโสที่สุดเป็นคนตัดสินใจ ส่วนถ้าหากเป็นกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือเป็นผู้พิการทางจิต การตัดสินใจก็จะขึ้นกับผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมแทน

ความเป็นอิสระของผู้ป่วย

ต่อมาท่านคณบดีมอบให้แพทย์เจ้าของไข้เป็นผู้อธิบายต่อถึงกระบวนการตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งได้ประสานให้แพทย์เฉพาะทางด้านหู-คอ-จมูกมาช่วยส่องกล้องเข้าไปตรวจในโพรงจมูก เนื่องจากเป็นบริเวณที่สงสัยว่ามีเลือดออกจนทำให้สำลักเข้าไปในหลอดลม “จึงได้ขออนุญาตที่จะส่องกล้องเข้าไปสำรวจตรวจดูด้านหลังของโพรงจมูก”

พอส่องกล้องเข้าไปแล้วก็พบความผิดปกติของเนื้อเยื่อด้านหลังโพรงจมูก “กระผมจึงได้ปรึกษากับคุณแม่ของคุณน้ำตาลขออนุญาตตรวจชิ้นเนื้อ เพราะตอนแรกเราขอส่องอย่างเดียว” หมายความว่าถึงแม้ผู้ป่วยจะอยู่ในความดูแลของแพทย์เจ้าของไข้ แต่ผู้ป่วยยังมีความเป็นอิสระ (autonomy) ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการตรวจรักษาที่ตนเองจะได้รับ

ดังนั้นก่อนที่จะตรวจรักษาเพิ่มเติม แพทย์จะต้องขอความยินยอม (informed consent) จากผู้ป่วยก่อนทุกครั้ง โดยแพทย์ต้องอธิบายถึงกระบวนการว่ามีขั้นตอนอะไร ความจำเป็นว่าทำไมถึงต้องทำ และข้อเสียว่าหากทำไปแล้วอาจเกิดผลข้างเคียงอย่างไร หรือหากไม่ทำมีทางเลือกอื่นหรือไม่ให้ผู้ป่วยตัดสินใจด้วยตัวเอง

 อย่างในกรณีของคุณน้ำตาลคือแพทย์ต้องการส่องกล้องเข้าไปตรวจในโพรงจมูก หากคุณแม่ของคุณน้ำตาลไม่ยินยอม แพทย์เฉพาะทางด้านหู-คอ-จมูกก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ แต่ก็จะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง และเมื่อคุณแม่ตกลงแล้ว แพทย์ก็ไม่สามารถทำเกินกว่าที่ขอไว้ตอนแรก แพทย์เจ้าของไข้จึงต้องกลับออกมาปรึกษากับคุณแม่อีกรอบหนึ่ง

  ซึ่งคุณแม่ก็ได้อนุญาตให้ตัดชิ้นเนื้อบริเวณด้านหลังโพรงจมูกของคุณน้ำตาลมาตรวจเพิ่มเติม “ทีนี้ทางศิริราชก็นำชิ้นเนื้อนั้นไปตรวจเหมือนกับการตรวจทางพยาธิวิทยาทั่วๆ ไปคือย้อมแล้วก็ดูผลชิ้นเนื้อ ปรากฏว่าผลชิ้นเนื้อออกมามีลักษณะเข้าได้กับวัณโรค” และเมื่อตรวจยืนยันซ้ำแล้วก็ทำให้เราทุกคนทราบว่าคุณน้ำตาลติดเชื้อวัณโรคโพรงหลังจมูกจริงในที่สุด

 ถึงแม้คุณน้ำตาลจะเป็นดาราที่มีชื่อเสียง แต่คุณน้ำตาลก็เป็นคนไข้คนหนึ่งไม่ต่างจากคนไข้อื่นที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์จึงต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วยและปฏิบัติตามหลักจริยธรรมทางการแพทย์ ซึ่งอาจารย์แพทย์ทั้ง 2 ท่านก็ได้ชี้แจงให้ประชาชนได้ทราบถึงหลักการนี้ ถึงแม้กระบวนการทั้งหมดจะได้รับการยินยอมจากญาติมาก่อนแล้วก็ตาม

อีกทั้งเป็นตัวอย่างให้แก่แพทย์ท่านอื่นได้เป็นอย่างดี

Fact Box

คำประกาศสิทธิของผู้ป่วย

ข้อที่ 2

ผู้ป่วยที่ขอรับการรักษาพยาบาลมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริงและเพียงพอเกี่ยวกับการเจ็บป่วย การตรวจ การรักษา ผลดีและผลเสียจากการตรวจ การรักษาจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ด้วยภาษาที่ผู้ป่วยสามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉิน อันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต

ข้อที่ 6

ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการปกปิดข้อมูลของตนเอง เว้นแต่ผู้ป่วยจะให้ความยินยอมหรือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อประโยชน์โดยตรงของผู้ป่วยหรือตามกฎหมาย

 

Tags: , , , , ,