แนวทางการทำงานที่เน้นกระบวนการสานพลัง สร้างการมีส่วนร่วม และอยู่เบื้องหลัง สนับสนุนทุนให้กับภาคีเครือข่ายที่ทำงานสร้างเสริมสุขภาพซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและทั่วถึง นับเป็นจุดแข็งที่ทำให้ สสส. ประสบความสำเร็จในการยกระดับสุขภาพของคนไทยในหลากหลายมิติ 

ยุคนี้คนไทยใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องมากขึ้น แต่อย่างที่รู้กันว่าประเด็นเรื่องสุขภาพมีประเด็นท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นให้เราต้องคอยรับมืออยู่เสมอ โดยเฉพาะโลกยุคใหม่หลังการมาถึงของโควิด-19 

ในการก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของ สสส. จึงนับเป็นหมุดหมายที่เหมาะสมในการย้อนทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา พร้อมปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงานให้ตอบโจทย์ปัญหาท้าทายทางสุขภาพยุคปัจจุบันยิ่งขึ้น ซึ่งนำมาสู่การขยับขยายบทบาทของ สสส. จากเดิมที่เป็น ‘ผู้สนับสนุน’ มาสู่บทบาทอื่นๆ ได้แก่ การทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติภารกิจด้านสุขภาพด้วยตนเอง การผลักดันประเด็นที่ประสบความสำเร็จออกเป็นนโยบาย และโดยเฉพาะการสนับสนุนทุนร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และภาคเอกชน 

เข็มเพชร เลนะพันธ์ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สสส. เผยถึงแนวคิดเบื้องหลังการปรับบทบาทครั้งสำคัญที่จะนำมาสู่เป้าหมายในการยกระดับการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะที่ดีของคนไทยในอนาคต

รูปแบบการทำงานใหม่ๆ ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพที่ท้าทายมากขึ้น

แนวคิดที่นำมาสู่การขยายบทบาทของ สสส. ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 โดยทางคณะกรรมการ สสส. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการทบทวนการทำงานที่ผ่านมา รวมถึงมองหาการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์สถานการณ์ด้านสุขภาพในปัจจุบันเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งจากผลกระทบที่ต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน โรคระบาด ปัญหาฝุ่นควัน มลพิษสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพจิต ที่กลายเป็นโรคแห่งยุคสมัย 

“เดิมทีเรา สสส. มีภารกิจหลักคือการสนับสนุนทุนให้กับภาคีเครือข่าย แต่เมื่อเราได้เริ่มลองวิเคราะห์ในเชิงโอกาส จึงเห็นว่ายังมีวิธีการทำงานในอีกสองรูปแบบที่เราสามารถทำได้ อย่างแรกคือภารกิจใดๆ ที่สำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของคนไทย สสส. จะต้องเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการเอง ส่วนอย่างที่สองคือการสานพลังความร่วมมือ หรือสนับสนุนทุนร่วมกับภาคีเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเรามองว่าวิธีนี้จะช่วยสร้างตัวคูณ ทั้งในเรื่องโอกาสในการกระจายและการเข้าถึงทรัพยากร รวมถึงความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ไอเดีย นวัตกรรม หรือวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพระหว่าง สสส. กับภาคีที่มาร่วมทุน” 

ทั้งนี้ มีการกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดการสนับสนุนทุนร่วมกับภาคีเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพไว้ว่า ภาคีจะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ ท้องถิ่น หรือภาคเอกชนที่ดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์และมิได้แสวงหากำไร และมีความพร้อมในการจัดสรรเงินเข้าร่วมดำเนินงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของเงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุน สสส. หรือตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด

 

สร้างโอกาสใหม่ๆ ทางด้านสุขภาพ

ผอ.เข็มเพชร เล่าว่า ความท้าทายในการปรับเปลี่ยนบทบาทครั้งใหม่ของ สสส. โดยเฉพาะในเรื่องของการสนับสนุนทุนร่วมฯ อยู่ที่จะทำอย่างไรที่จะอธิบายให้ทุกคนเห็นภาพของเป้าหมายปลายทาง รวมถึงเห็นโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนนี้ 

“สสส. มุ่งขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพผ่านความร่วมมือกับภาคีร่วมทุน ที่ไม่ใช่เพียงร่วมสมทบทุนเป็นโปรเจ็กต์ๆ ไป แต่เราจะมาร่วมกันคิดและออกแบบแผนในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพเพื่อให้งบประมาณที่นำมาลงทุนร่วมกันสามารถกระจายไปในหลากหลายช่องทางมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้กลุ่มคนหรือภาคีที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพรายเล็กรายน้อย ได้เข้าถึงโอกาสที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีมากขึ้น รวมถึงการระดมไอเดียที่จะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพตอบโจทย์ความท้าทายในยุคใหม่มากขึ้นด้วย”

และด้วยวัตถุประสงค์ของการเปิดพื้นที่ทางความคิดเพื่อให้เกิดไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ ทาง สสส. จึงกำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นให้น้อยที่สุด และให้อิสระในการกำหนดกรอบเป้าหมายรวมถึงการออกแบบแผนการสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะที่ตอบโจทย์ปัญหาของพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

ก้าวแรกสู่บทบาทใหม่ของ สสส. 

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงาน ในช่วงเริ่มต้นคือช่วงของการสื่อสารทำความเข้าใจ และทำให้สังคมเห็นภาพตรงกันว่า สสส. จะก้าวต่อไปด้วยทิศทางอย่างไร รวมถึงการทำงานในเชิงรุก โดย สสส. ได้เดินหน้าเจรจากับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมจากการชักชวนมาเป็นภาคีผู้ร่วมสนับสนุนทุน 

“สองโมเดลแรกที่เราได้ริเริ่มคือ สสส. สนับสนุนทุนร่วมกับมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้คนเชียงใหม่ที่กำลังถูกคุกคามปัญหาฝุ่นควัน มลพิษสิ่งแวดล้อม มีโอกาสเข้าถึงการปกป้องดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง เด็ก ผู้สูงอายุ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักและเสี่ยงอันตรายมากที่สุด ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือสนับสนุนทุนร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดปทุมธานี หรือเป็นพื้นที่กึ่งเมือง มีความท้าทายทางด้านสุขภาวะอยู่เยอะ และเมื่อเป็นการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย นักศึกษาก็จะสามารถเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนได้ สามารถสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน ซึ่งเป็นอีกโมเดลที่น่าสนใจ และทำให้เกิดประโยชน์กับคนหลายกลุ่ม” 

เป้าหมายภายในปี 2563-2567 หรือช่วงสามปีแรกของการปรับเปลี่ยน สสส. จะสร้างการสนับสนุนทุนร่วมกับภาคีให้ได้มากกว่า 10 แห่ง และทำให้เกิดประโยชน์ทางด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ มีบทเรียนแห่งความสำเร็จที่นำมาขยายผลต่อไปยังสังคมวงกว้าง และมุ่งสู่ความยั่งยืนมากขึ้น 

“สิ่งที่ทาง สสส. จะต้องตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลาคือ สิ่งที่เราทำอยู่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีประโยชน์ต่อสาธารณะ และตอบโจทย์ความเป็นนวัตกรรมหรือไม่ เช่นการปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ครั้งนี้ เรามีเป้าหมายที่จะสร้างการทำงานแบบใหม่ เปิดพื้นที่ให้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และสร้างผลสำเร็จใหม่ๆ ด้านสุขภาพให้คนไทย ทีมงาน สสส. ทุกคนต้องหมั่นทบทวนการทำงาน และพยายามตอบโจทย์เรื่องพวกนี้ให้ได้” รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวทิ้งท้าย 

 

ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของชีวิตในยุคปัจจุบันนำมาสู่สถานการณ์ด้านสุขภาพใหม่ๆ ที่ท้าทายคนทำงานด้านสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาและความท้าทายเหล่านี้ก็ได้ทำให้ค้นพบแนวทางการทำงานใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่ไอเดียใหม่ๆ ที่จะกลับมาขับเคลื่อนยกระดับสุขภาวะของคนไทย ให้สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับโจทย์ในอนาคตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น 

สำหรับภาคีที่อยากสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานด้านสุขภาพ ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ผ่านการสนับสนุนทุนร่วมกับ สสส. ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมทาง https://opengrant.thaihealth.or.th/th/Home

Tags: , ,