วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2565) เกิดเหตุการณ์ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี ส.ส. ไม่ครบองค์ประชุม หรือ ‘สภาล่ม’ เป็นครั้งที่ 17 ในสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเพียง 227 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ที่ 237 คน
สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ขอให้นับองค์ประชุม หลังจากที่ประชุมรับทราบประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่อง นโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ 2565 เสร็จสิ้น จนเกิดการโต้เถียงกับฝ่ายรัฐบาลอยู่ระยะหนึ่ง โดย ส.ส. บางคนเห็นว่าควรต้องเป็นการนับองค์ประชุมแบบขานชื่อ ซึ่งใช้เวลานานกว่า
นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปในลักษณะเพื่อ ‘ป่วนสภาฯ’ และเข้าข่ายทำลายความมั่นคงของสภาฯ ซึ่งอาจผิดรัฐธรรมนูญ และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จนเกิดการโต้เถียงระหว่างพิเชษฐ์และนิโรธ
ด้าน ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การนับองค์ประชุมถือเป็นสิทธิของ ส.ส. และขอให้ร่วมกันทำงาน โดยขณะนี้เหลืออีก 2-3 สัปดาห์เท่านั้นจะปิดสมัยประชุม จึงขอให้ร่วมกันทำงานต่อไป
ประธานสภาผู้แทนราษฎรยังกล่าวอีกว่า การใช้สิทธิ์ขอนับองค์ประชุมดังกล่าวในอดีต มักเป็นกรณีที่รัฐบาลกลั่นแกล้ง เช่น ฝ่ายรัฐบาลไม่ให้พูด หรือมีการเสนอให้ปิดอภิปราย แตกต่างจากสมัยนี้ ที่ทุกคนได้พูดและอภิปรายกันอย่างทั่วถึง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะสภาฯ ถือเป็นที่ที่ให้พูด
“แต่การประท้วงหรือนับองค์ประชุม สมัยก่อนก็มีในกรณีที่รัฐบาลไปกลั่นแกล้ง เขายกมือไม่ให้พูด หรือเสนอปิดอภิปราย ขณะเดียวกัน เวลาให้นับองค์ประชุม เวลาผมไปเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็นั่งในห้องประชุม สมัยก่อนเขานับตัวคน แต่สมัยนี้กดบัตร ขณะนี้ หลายครั้งก็องค์ประชุมครบ แต่หลายท่านนั่งอยู่ ไม่กดบัตร ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ” ชวนระบุ
ด้าน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มี ส.ส. บางคนอ้างถึงฝ่ายค้านในอดีตว่า สมัยที่เป็นตัวเองรัฐบาล ฝ่ายค้านก็นับองค์ประชุมเช่นกัน แต่จากประสบการณ์ที่เคยเป็นฝ่ายค้านมานั้น ฝ่ายค้านในอดีตจะเสนอนับองค์ประชุมก็ต่อเมื่อเป็น ‘วาระสำคัญ’ ซึ่งฝ่ายค้านผู้เป็นเสียงข้างน้อย จะแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนั้น และถ้าเจอฝ่ายรัฐบาลไม่ฟังความเห็นของฝ่ายค้านเลย กระทำเสมือนเป็นเผด็จการรัฐสภา ฝ่ายค้านก็จะใช้มาตรการเช่นนั้น
“แต่จะไม่ทำพร่ำเพรื่อ ไม่ทำทุกเรื่องจนเกิดความเสียหายแก่สภา ในสมัยนั้นมีหลายเรื่อง เป็นเรื่องของประชาชน แต่เรื่องที่รัฐบาลทำให้เสียหาย เราก็จะรู้กันว่า การใช้เสียงข้างมากลากไป ไม่ฟังเสียงข้างน้อย ประชาชนข้างนอกก็รู้สึกเช่นนั้น ก็จะเสนอนับองค์ประชุม ส่วนกรณีนับองค์ประชุม เป็นหนึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 220 ว่าองค์ประชุมต้องเกินกึ่งหนึ่ง มาตรการฝ่ายค้านในอดีตจะคำนึงถึงเรื่องสำคัญและเรื่องที่เป็นประโยชน์ แต่จะไม่ทำพร่ำเพรื่อ”
ทั้งนี้ ภายหลังจากให้เวลา ส.ส. แสดงตัวระยะหนึ่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ขอให้ ส.ส. เสียบบัตรแสดงตัว ผลปรากฎว่ามี ส.ส. ไม่ครบ มีผู้แสดงตน เพียง 227 คน เท่านั้น จากจำนวน ส.ส. ในสภาทั้งสิ้น 474 คน ประธานสภาฯ จึงได้สั่งปิดการประชุมทันที
Tags: Report, พรรคประชาธิปัตย์, รัฐสภา, ประชุมสภา