ในที่สุด ประเทศไทยก็มีมติให้ใช้สารเคมีอย่างพาราควอตต่อไปอีก 2 ปี โดยการประชุมเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายก็มีมติอนุญาตให้ใช้สารเคมีอันตรายสำหรับกำจัดวัชพืช 3 รายการ คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยใช้กับพืช 6 ประเภท คือ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียน

ผลการลงมติออกมาว่า สนับสนุนให้ใช้ต่อ 16 เสียง ยกเลิก 5 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง โดยจะให้พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งในสองปีข้างหน้า เว้นแต่สามารถหาสารเคมีอื่นทดแทนก่อนได้ ทางกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ติดตามเรื่องนี้พยายามสอบถามรายชื่อว่า กรรมการคนใดโหวตให้คะแนนอะไร แต่ทางคณะกรรมการไม่ขอเปิดเผยชื่อเพราะกลัวจะส่งผลกระทบต่อกรรมการแต่ละคน

หลังมีมติ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร ออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีมติไม่แบนพาราควอต และผิดหวังต่อบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และข้าราชการระดับสูงที่มีบทบาทสำคัญในการเสนอให้ใช้สารพาราควอตต่อ

โดยก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะเข้าประชุม ที่ด้านหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงได้เดินทางมาพร้อมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารพาราควอต ยื่นขอให้ควบคุมพาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้กรรมการที่ลงมติต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการลงมติต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย

ขณะเดียวกันภายในสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีม็อบอีกกลุ่มมาเข้าร่วม เป็นกลุ่มเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองที่เดินทางมาเพื่อสนับสนุนการใช้พาราควอตในการทำการเกษตรต่อไป โดยระบุว่าไม่มีสารตกค้างตามที่กลุ่มคัดค้านกล่าว

การตัดสินใจว่าจะให้ใช่หรือไม่ให้ใช่พาราควอตและสารเคมีอันตรายรวมสามชนิด มีผลออกมาในลักษณะกลับไปกลับมาหลายครั้งตลอดปี 2560-2561 เพราะมีข้อกังวลว่า เป็นสารเคมีอันตราย หากใช้พาราควอตผิดวิธีอาจทำให้ถึงแก่ชีวิต รวมถึงมีข้อกังวลเรื่องสารตกค้างที่อาจส่งผลต่อโรคพาร์กินสัน ปัจจุบันจึงมี 53 ประเทศทั่วโลกสั่งแบนพาราควอตแล้ว ยกเว้นประเทศไทยที่ล่าสุดเพิ่งมีมติให้ใช้ต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

 

ภาพถ่าย โดย Banrasdr Photo

 

 

Tags: , , , ,