ในเวทีประชุมมาลาเรียโลกที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงความสำเร็จของประเทศปารากวัยในการก้าวเป็นประเทศปลอดมาลาเรีย อันเป็นผลจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ทำให้ตรวจเจอการติดเชื้อได้เร็วและวินิจฉัยเพื่อส่งต่อได้ทันท่วงที

โรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่น เป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ในปี 2016 มีผู้ติดเชื้อมาลาเรียเพิ่มขึ้นจากปี 2015 ราว 5 ล้านคน ทำให้มีผู้ติดเชื้อมาลาเรีย 216 ล้านรายทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียราว 445,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็ก

ปารากวัย ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่ไม่มีทางออกไปสู่ทะเล เพราะถูกขนาบด้วยอาร์เจนตินา บราซิล และโบลิเวีย ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้เป็นประเทศปลอดโรคมาลาเรีย เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และเป็นประเทศแรกในทวีปอเมริกาที่ปลอดมาลาเรียในรอบ 45 ปี นับจากคิวบา เมื่อ 1973

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในภูมิภาคไม่สู้ดีนัก เพราะปานามา นิการากัว และเวเนซุเอลา พบการติดเชื้อมาลาเรียในปี 2016 สูงขึ้นกว่าปี 2010 ส่วนโคลอมเบียเพิ่มขึ้นจากปี 2015 เป็นเท่าตัว

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า บริการสุขภาพถ้วนหน้าของปารากวัยและระบบการเฝ้าระวังมาลาเรียอย่างเข้มข้น ทำให้ตรวจพบการติดเชื้อมาลาเรียได้ตั้งแต่เนิ่นๆ มีการตรวจสอบโดยทันทีและจำแนกได้อย่างแม่นยำ

องค์การอนามัยโลกชี้ว่า ปารากวัยนั้นให้บริการรักษาฟรีแก่พลเมือง นักท่องเที่ยว และผู้อพยพ โดยไม่สนเชื้อชาติหรือสถานะพลเมือง โครงการป้องกันมาลาเรียแห่งชาติมองว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุด 3 กลุ่มได้แก่ ทหาร นักศึกษาบราซิลที่เข้ามาเรียนในปารากวัย และนักท่องเที่ยวปารากวัยที่กลับมาจากทวีปแอฟริกา จึงมีการป้องกันโรคด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการตรวจหาเชื้อ ให้ความรู้ด้านสาธารณสุข และมีมาตรการป้องกันโรคให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปหรือกลับจากประเทศในแอฟริกาที่มีการระบาดของมาลาเรีย

นอกจากปารากวัยแล้ว องค์การอนามัยโลกคาดว่า ประเทศแอลจีเรีย อาร์เจนตินา และอุซเบกิสถาน จะได้รับการประกาศให้ปลอดมาลาเรียในปีนี้ด้วย

สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียลดลงจาก 150,000 รายในปี 2000 เหลือ 14,667 รายในปี 2017 หรือลดลงราว 90% และลดลงมากกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าในปี 2024 ประเทศไทยจะปลอดจากเชื้อมาลาเรีย

 

 

ที่มา:

Tags: , , , , , , ,