“ไข้ยังสูงอยู่เลย” ผมวงกลมตัวเลขอุณหภูมิร่างกาย ‘37.8 องศาเซลเซียส’ ในเวชระเบียนก่อนจะถามคนไข้ว่า “กินยาลดไข้มาล่าสุดเมื่อไหร่นะครับ”

“น่าจะตอนบ่าย 3” หักลบกับเวลาตอนนี้ก็เกือบ 6-8 ชั่วโมงแล้ว

“ยาลดไข้สามารถกินได้ทุก 4 ชั่วโมงเลยนะครับ ถ้ายังมีไข้อยู่” ผมแนะนำเพราะ ‘ไข้’ เป็นอาการที่ทุกคนสามารถรักษาได้เองก่อนที่บ้าน “ว่าแต่กินยาตัวไหนเหรอครับ” 

“กิน… (ชื่อยาแก้หวัดชนิดผสมยี่ห้อหนึ่ง) ค่ะ” ซึ่งไม่ผิดความคาดหมายนัก เพราะจากที่เคยถามคนไข้ถึง ‘ยาลดไข้’ ที่กินมาก่อนที่จะมาโรงพยาบาลจะได้คำตอบ 2 อย่าง คือ 1. ยาพาราเซตามอลชนิดเดี่ยว เช่น ไทลินอล ซาร่า หรือยาพาราฯ ที่ซื้อเป็นกระปุกไว้ที่บ้าน กับอย่างที่ 2. ยาชนิดผสมหรือ ‘ยาแก้หวัด’ ที่เป็นยาพาราฯ ผสมกับยาชนิดอื่นในเม็ดเดียวกัน เช่น ดีคอลเจน ทิฟฟี่

แต่ “คนไข้มีแต่ไข้ ไม่มีหวัดคัดจมูก ทำไมถึงไม่กินยาพาราฯ อย่างเดียวล่ะครับ” ผมสงสัย

“อ้าวเหรอคะ ทุกทีก็กินแล้วหายเหมือนกัน”

ยาพาราเซตามอล

ก่อนอื่นคงต้องขอทบทวนให้รู้จักกับยาสามัญประจำโรงพยาบาล เอ้ย! ประจำบ้านกันอีกรอบนะครับ เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับยาพาราฯ ชนิดผสมว่าแตกต่างกันอย่างไร 

ยาพาราฯ เป็นยาแก้ปวดลดไข้ โดย ‘ไข้’ ในที่นี้หมายความว่าตัวร้อน หรืออุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น (แต่บางคนเวลาพูดถึง ‘ไข้’ อาจหมายถึงอาการไม่สบายตัวหรือปวดศีรษะ) เมื่อกินแล้วอาการไข้ก็จะลดลง ทำให้อาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวซึ่งเกิดจากไข้ก็จะบรรเทาลงไปด้วย

นอกจากนี้ยาพาราฯ ก็ยังใช้รักษาอาการปวดอย่างอื่น เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการใช้งานหรือออกกำลังได้ เหมือนที่หลายคนเคยกิน ‘ยาคลายกล้ามเนื้อ’ ชนิดผสม ซึ่งผสมยาพาราฯ ด้วยก็หายปวดเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องใช้ ‘ยาแรง’ อย่างยาแก้อักเสบก็ได้

ขนาดที่ใช้คือน้ำหนักตัว x 10 มิลลิกรัมต่อครั้ง เช่น ผมหนัก 75 กก. ก็สามารถกิน 750 มิลลิกรัม (มก.) หรือ 1 เม็ดครึ่งได้ เพราะยาพาราฯ ผู้ใหญ่เม็ดละ 500 มก. แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินครั้งละ 1,000 มก. ใครที่น้ำหนักเกิน 100 กก. ก็กินได้สูงสุด 2 เม็ดนะครับ

และต้องไม่เกินวันละ 4,000 มก. ด้วย (เน้นนะครับ บางคนกินแล้วไม่หายปวดก็กินซ้ำจนเกินขนาด) ดังนั้นถ้าผมจะกินขนาดนี้ก็จะตกวันละ 4,000 หารด้วย 750 = 5 ครั้ง 

เอาไปหาร 24 ชั่วโมงอีกที = ทุก 5 ชั่วโมง

ปวดหัวหนักกว่าเดิมใช่ไหมครับ? (ฮา) ถ้าอย่างนั้นจำง่ายๆ เลยว่า “ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง” แบบนี้จะไม่มีทางได้รับยาเกินขนาด สมมติว่าคนไข้กินยาพาราฯ มาล่าสุดตอนบ่าย 3 ก็สามารถกินซ้ำได้อีกครั้งตอน 15.00 + 4 ชั่วโมง = 19.00 น. ถ้ายังมีไข้อยู่

ไม่ต้องรอมาวัดไข้ที่โรงพยาบาลก่อน หรือกลัวว่าหมอจะไม่เชื่อว่ามีไข้จริงนะครับ เพราะไม่อย่างนั้นจะต้องมานั่งซมรอหน้าห้องตรวจอีกนานกว่าจะเจอหมอ

ถ้าหมอไม่ถาม ก็บอกหมอไปตามตรงเลยครับว่า “กินยาลดไข้มาแล้ว”

ยาพาราฯ ชนิดผสม

แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้ยาอย่างที่สองต่างจากยาชนิดเดี่ยวก็คือยาอีก 1-2 ตัวที่เอามาผสมนั่นเอง ซึ่งจะทำให้แตกต่างทั้งวิธีการใช้ และผลข้างเคียงจากการกินยาเลยนะครับ

โดยยาที่มักจะนำมาผสมคือ ‘ยาแก้แพ้’ ที่มีชื่อว่า “คลอเฟนิรามีน” หรือ CPM ยาแก้แพ้เม็ดเล็กๆ สีเหลืองๆ ที่หลายคนอาจเคยกินชนิดเดี่ยวมาก่อนนั่นแหละครับ ซึ่งมีฤทธิ์ทั้งแก้แพ้—สำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิม เวลาอากาศเปลี่ยนอาจทำให้มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลได้ 

และทั้งแก้น้ำมูกไหลโดยตรง—สำหรับคนทั่วไปจะมีน้ำมูกไหลจากการกระตุ้นของเชื้อไวรัส ส่งผลให้ยาชนิดผสมสามารถแก้ ‘ไข้+หวัด’ ได้ด้วย แต่ฤทธิ์อย่างหลังนี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของยาแก้แพ้ที่กินแล้วง่วงเท่านั้น! หรือพูดอีกอย่างว่ายาแก้แพ้ที่กินแล้วไม่ง่วงจะไม่ช่วยลดน้ำมูกในคนทั่วไป

ดังนั้นข้อควรระวังสำหรับผู้ที่กินยาพาราฯ ชนิดผสม คืออาจทำให้ง่วงระหว่างการทำงานได้ จึงอาจเปลี่ยนวิธีการกินเป็นยาเดี่ยวตอนกลางวัน และยาชนิดผสมตอนกลางคืนแทน

ไม่เพียงเท่านี้ ข้อควรระวังอีกอย่างคือขนาดยาที่ได้รับอาจต่ำหรือสูงเกินไป เพราะขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับยาคลอเฟนิรามีน คือ 4 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 24 มก. โดยไม่ขึ้นกับน้ำหนักตัว ยกตัวอย่างเช่น

ยาพาราฯ ชนิดผสมยี่ห้อหนึ่ง ประกอบด้วย

  • พาราเซตามอล 500 มก.

  • คลอเฟนิรามีน 2 มก.

  • วิธีใช้คือครั้งละ 1-2 เม็ดทุก 6-8 ชั่วโมง

สมมติผู้ป่วยหนัก 50 กก. ถ้ากินครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง เขาจะได้รับยาคลอเฟนิรามีน ‘ต่ำ’ กว่าขนาดที่ควรจะได้ ตรงกันข้ามถ้ากินครั้งละ 2 เม็ดเพื่อให้ได้ยาคลอเฟนิรามีน 4 มก. ‘พอดี’ แต่จะทำให้เขาได้รับยาพาราฯ ‘เกิน’ ขนาด เป็นต้น

ซึ่งนอกจากการเพิ่มเม็ดยาจะทำให้เสี่ยงต่อการได้รับยาเกินขนาดแล้ว ยังต้องระวังการกินยาซ้ำซ้อนกับเม็ดอื่นด้วย เช่น ผู้ป่วยอาจกินยาพาราฯ เดี่ยวซ้ำอีก หลังจากกินยาเม็ดผสมไปแล้ว

“อ้าวเหรอคะ ทุกทีก็กินแล้วหายเหมือนกัน”

“ใช่” ผมพยักหน้า “พกยา… (ชื่อยาแก้หวัดชนิดผสมยี่ห้อหนึ่ง) มาด้วยรึเปล่าครับ จะได้ชี้ตัวยาบนฉลากให้ดู”

“ยาตัวนี้เป็นยาแก้แพ้ แต่คนไข้มีแต่อาการไข้กับปวดศีรษะเพียงเล็กน้อย ถ้าใช้ยาพาราฯ เดี่ยวๆ จะปลอดภัยกว่าครับ”

เพราะยาพาราฯ เป็นยาสามัญประจำบ้าน ส่วนยาชนิดผสมก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือแม้แต่ร้านขายของชำทั่วไป คนส่วนใหญ่จึงใช้ยาตามคำแนะนำแบบปากต่อปาก ‘ตามๆ กันมา’ แต่ความจริงแล้วก็มีรายละเอียดบนฉลากยาที่ไม่ควรมองข้าม

 

Fact Box

  • ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อาจมีอาการดังนี้ ไข้หรืออุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป อาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูก หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก
  • สำหรับใครที่เพิ่งมีไข้ แล้วสงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 แนะนำให้กินยาลดไข้ก่อน หากไม่ดีขึ้น ค่อยไปพบแพทย์
Tags: , , ,