ไม่เฉพาะแต่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างเช่นหมู่เกาะทางภาคใต้ของไทยที่ประสบปัญหาเรื่องการล้นทะลักของนักท่องเที่ยว จนต้องหาทางออกด้วยการ ‘ปิด’ เกาะเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวชั่วคราว กลุ่มประเทศในยุโรปเองก็กำลังประสบปัญหากับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวจำนวนมากเช่นกัน
ไม่ว่าจัตุรัสมาร์คัสในเมืองเวนิซ ถนนพรอเมอนาด ‘ลา รัมบลา’ ในบาร์เซโลนา หรือย่านเมืองเก่าของดูบรอฟนิคที่มีภูมิทัศน์สวยสดงดงาม ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว จะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมายืนเบียดเสียดจนแทบจะเหยียบเท้ากัน ไม่เพียงสร้างความรำคาญให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิตของชาวเมืองในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย บ้านพักอาศัยในย่านท่องเที่ยวถูกแปรสภาพเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ค่าเช่าบ้านมีราคาสูงขึ้น ไหนจะเสียงดังรบกวน และขยะที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ให้อีก ชาวเมืองจึงพากันรู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของเมืองที่อาศัยอยู่อีกแล้ว
ปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวล้นทะลัก กลายเป็นหัวข้ออภิปรายกันในงานสัปดาห์การท่องเที่ยว หรือ ITB ที่กรุงเบอร์ลินเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัททัวร์หรือการท่องเที่ยวรู้สึกหัวร้อนกันไม่น้อยทีเดียว ที่มีการกล่าวหาว่านักท่องเที่ยวเป็นตัวการทำให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เสื่อมโทรม
สถิติจากปี 2017 ระบุว่า มีประชากรโลกเดินทางท่องเที่ยวมากถึง 1.3 พันล้านคน และมีการคาดเดาว่าจนถึงปี 2030 จะมีประชากรทั่วโลกเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 1.8 พันล้านคน
เมืองต่างๆ ทั่วโลกโอดครวญ นักท่องเที่ยวล้นเกิน
เมื่อปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองไม่ได้รับการแก้ไขโดยภาครัฐอย่างทันท่วงที ก็จะมีปฏิกิริยาตอบโต้จากชาวเมืองเอง โดยเฉพาะในสเปน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2018 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศแล้วถึง 36.3 ล้านคน มากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 11.6 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าเงินตราจะไหลเข้าประเทศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะอู้ฟู่ก็ตาม แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนท้องถิ่น นอกจากจะไม่เหมือนเดิมแล้ว ยังเกิดความรู้สึกด้านลบต่อนักท่องเที่ยว และที่สำคัญ สถิติการว่างงานในสเปน หลังจากเกิดวิกฤตปี 2008 แล้ว ปัจจุบันตัวเลขคนว่างงานยังคงติดอันดับสูงสุดของโซนยุโรป
ในเมืองบาร์เซโลนาและมาญอร์กามีการประท้วงของกลุ่มชาวเมืองฝ่ายซ้าย ด้วยแคมเปญ ‘Ciutat per qui l’habita’ (เมืองสำหรับคนท้องถิ่น) เป็นสัญลักษณ์ของการปิดกั้นนักท่องเที่ยว
คล้ายคลึงกับที่กรุงลิสบอนของโปรตุเกส ที่เมื่อปีกลายมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนสูงถึง 6 ล้านคน ในขณะที่ประชากรของเมืองมีอยู่เพียงห้าแสนคน ภาวะ ‘บูม’ ของเมืองส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวเมือง ย่านเมืองเก่าที่พวกเขาเคยใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบพลิกเปลี่ยนไป ทุกซอกมุมของเมืองเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวแปลกหน้าต่างภาษา ที่เข้ามาเบียดเบียนที่พักอาศัยและรถโดยสารสาธารณะ เพียงแต่ชาวเมืองลิสบอนอดทนเก็บความรู้สึกไม่พอใจไว้ อาจจะรอจนถึงขีดสุดแล้วระเบิดออกมาในคราวเดียว
ส่วนเวนิซ เมืองท่องเที่ยวติดอันดับของอิตาลี ซึ่งมีสถิตินักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนปีละ 30 ล้านคน หน่วยงานของรัฐเริ่มมีมาตรการจำกัดคลื่นนักท่องเที่ยว นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่าน มีการติดตั้งเครื่องกีดขวางบริเวณใต้สะพานข้ามคลองคานาล กรานเด และบริเวณใกล้ๆ สถานีรถไฟซานตา ลูเซีย เพื่อกั้นไม่ให้นักท่องเที่ยวผ่านเข้าไปในย่านที่อยู่อาศัย จะผ่านได้เฉพาะชาวเมืองเท่านั้น นอกจากนี้ยังห้ามเรือนักท่องเที่ยวเข้าจอดที่ท่าด้านหน้าจัตุรัสมาร์คัสอีกด้วย
มาตรการแก้ปัญหา ในหลายเมือง
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มาจากหลากมุม ตั้งแต่ความเฟื่องฟูของเที่ยวบินโลว์คอสต์ ความนิยมในการท่องเที่ยวแบบคณะทัวร์ ไปจนถึงชื่อเสียงด้านความงามของสถานที่ต่างๆ นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอเรื่องราคาที่เย้ายวนใจจากสถานที่พักแรมคืนอย่าง Airbnb อีกด้วย
ไม่ใช่แค่ชาวเมืองในท้องที่เท่านั้นที่โอดครวญ นักท่องเที่ยวจำนวน 9 เปอร์เซ็นต์ก็เห็นว่า การที่นักท่องเที่ยวมากเกินไปก็ทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวของตนเอง ซึ่งสเปนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะหลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายและความไม่สงบทางการเมืองในตุรกีและอียิปต์เมื่อปีกลาย นักท่องเที่ยวก็เปลี่ยนจุดหมายปลายทางมาที่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฟากตะวันตกแทน
สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก หรือ WTTC (World Travel & Tourism Council) ต้องคิดกลยุทธ์เพื่อแก้ปัญหา สถานที่บางแห่งใช้แอปพลิเคชันและระบบการแชร์รถร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยทดลองกับหกเมือง
บาร์เซโลนาปรับกลยุทธ์การท่องเที่ยวของตนเองเสียใหม่ ด้วยแคมเปญเที่ยวเมืองรอง ที่ฟังดูคล้ายการท่องเที่ยวของไทย นครนิวยอร์กเองก็ชูแคมเปญใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวจากแมนฮัตตันหรืออนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพที่หนาแน่น ข้อเสนอพิเศษของภัตตาคารหรือโรงละครบรอดเวย์ที่จัดให้มีขึ้นนั้น หมายจะดึงให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนตั้งแต่เดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ แทนที่จะแห่แหนกันไปในช่วงพีคของฤดูกาลท่องเที่ยว
ส่วนดูบรอฟนิค เมืองโบราณริมชายฝั่งทะเลอะเดรียติกของโครเอเชีย ที่คลาคล่ำไปด้วยคณะทัวร์ที่เดินทางด้วยเรือโดยสารในช่วงฤดูร้อน พ่อเมืองต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการเจรจาต่อรองกับกลุ่มธุรกิจเรือเพื่อการท่องเที่ยว ให้ปรับเปลี่ยนวันและเวลาเดินเรือสลับช่วงกัน ไม่ให้ขนส่งนักท่องเที่ยวมากระจุกในเวลาไล่เลี่ยหรือพร้อมกัน นอกจากนั้น เทคโนโลยีสมัยใหม่ยังถูกนำเข้ามาช่วยแก้ปัญหา – ปลายปีนี้ ดูบรอฟนิคจะมีแอปพลิเคชันสำหรับแจ้งเตือนว่า ช่วงเวลาไหนที่ย่านเมืองเก่ามีนักท่องเที่ยวแออัด รวมทั้งมีข้อมูลเส้นทางไปยังสถานที่น่าสนใจอื่นๆ นอกเขตกำแพงเมืองเก่าด้วย
ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่นำมาใช้ เป็นการจัดระเบียบเรื่องข้อจำกัดของโรงแรมหรือกิจการที่พัก อย่างเช่นในอัมสเตอร์ดัม นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป อาคารที่พักหรืออพาร์ตเมนต์ของเอกชนจะดัดแปลงให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวได้เพียง 30 วันต่อปีเท่านั้น และในย่านชุมชนเขตเมือง จะไม่อนุญาตให้มีการสร้างโรงแรมขึ้นใหม่
มาตรการที่เข้มข้นกว่านั้นคือการปรับขึ้นราคา เช่น บนเกาะมาญอร์กาของสเปน นักท่องเที่ยวต้องเสียภาษีท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2016 ค่าที่พักและค่าธรรมเนียมเข้าชมสถานที่ต่างๆ ปรับราคาสูงขึ้น
และประเด็นที่น่าสนใจสำหรับงานสัปดาห์การท่องเที่ยว ITB 2018 ที่กรุงเบอร์ลิน นอกเหนือจากปัญหานักท่องเที่ยวทะลักล้น ก็คือ ชาวเอเชีย ที่จะสร้างสถิติใหม่ให้กับตลาดการท่องเที่ยวของยุโรป
อ้างอิง:
Tags: การท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว, นักท่องเที่ยว, tourism, ยุโรป, Europe