เครื่องดื่มยอดนิยมเวลาไปอิซากายะ ร้านอาหารญี่ปุ่น หรือบาร์ญี่ปุ่น มีอะไรบ้าง?
แน่นอนว่าส่วนใหญ่จะต้องตอบว่า ‘เบียร์’ เครื่องดื่มยอดนิยมที่กินคู่กับของทอดหรืออาหารเสียบไม้แล้วเข้ากันได้อย่างลงตัว เพราะหลงใหลในความสดชื่นและความซ่าของเบียร์ญี่ปุ่น ทว่าบางคนที่ไม่ชอบรสขมปร่าของเบียร์อาจจะตอบว่า ‘ไฮบอล’ เหล้ากลั่นหลากชนิดผสมกับโซดาที่มาในแก้วทรงสูง บางร้านอาจฝานชิ้นเลม่อนแถมมาให้ด้วยเพื่อเพิ่มความสดชื่น หรือ ‘ซาว่า’ ค็อกเทลรสเปรี้ยวหวานสั่งได้ดั่งใจ รวมถึง ‘สาเก’ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สุดคลาสสิกที่ได้จากข้าวหมัก ที่มีให้เลือกทั้งร้อนและเย็น ไปจนถึงซอฟต์ดริ๊งแบบไม่มีแอลกอฮอล์
แต่ทั้งหมดที่ว่ามาไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอ่ยถึงในครั้งนี้ เพราะ PrumPlum Umeshu Bar (พรัมพลัม อุเมะชู บาร์) นั้นตรงตามชื่อ คือบาร์ที่เน้นให้ผู้มาเยือนได้ดื่มด่ำไปกับความหลากหลายและความพิเศษของเครื่องดื่มที่ใช้วัตถุดิบหลักอย่าง ‘บ๊วย’ ผลไม้รสชาติเปรี้ยวหวานที่พบมากในแถบเอเชียตะวันออกอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาจนถึงแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนาม ลาว และทางภาคเหนือของประเทศไทยที่ก็นิยมปลูกกันมากขึ้น
แต่ละภูมิภาคในญี่ปุ่นก็จะมีสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และกรรมวิธีการหมักบ๊วยต่างกัน สายพันธุ์ของต้นบ๊วยก็ต่างกัน จึงทำให้แต่ละจังหวัดมีอุเมะชูที่โดดเด่นและมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง ซึ่งเครื่องดื่มที่บรรจุขวดส่งตรงมาจากญี่ปุ่นด้วยฉลากสีสันหลากหลาย พร้อมจะนำเสนอจุดเด่นของตัวเอง เพื่อมัดใจผู้มาเยือนทั้งหลายให้จดจำว่าขวดไหนคือขวดที่ใช่สำหรับตัวเองมากที่สุด และ Prum Plum Umeshu Bar ก็มีเครื่องดื่มที่ว่าให้เลือกสรรจำนวนมาก
เราได้พบกับ เทพ-ภาสกร แสงรักษาเกียรติ เจ้าของร้าน ใช้เวลานั่งพูดคุยกับเขา ที่นอกจากจะได้แบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับอุเมะชู แต่ยังได้พูดคุยถึงทิศทางการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ที่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด มิหนำซ้ำกระบวนการหลายอย่างก็ยังคงมีปัญหาอยู่
บทสนทนาจริงจังบ้าง ไม่จริงจังบ้าง มีหวังบ้างและหมดหวังบ้าง เกิดขึ้นในร้านอุเมะชูขนาดหนึ่งคูหาย่านพระราม 4 เคล้าไฟสีส้ม ดนตรีแบบ City Pop ที่เปิดคลออยู่ตลอด กับอุเมะชูมากหน้าหลายตาที่วางอยู่เต็มโต๊ะ คล้ายกับว่ากำลังเชื้อเชิญให้ลิ้มลองให้ครบทุกแก้ว
พรัมพลัมในวันฝนพรำ
“ทำไมถึงชอบอุเมะชู?”
แน่นอนว่าถ้ามาคุยกันเรื่องอุเมะชู ก็คงหนีไม่พ้นคำถามสุดคลาสสิกถึงความชอบที่คนคนหนึ่งมีให้กับเครื่องดื่มชนิดโปรด
“แรกเริ่มเราทำเพราะอยากจะสร้างพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนที่ชอบเหมือนกันหรือไม่ต้องชอบเหมือนกันก็ได้ ได้มาดื่มด่ำร่วมกัน มากับเพื่อน มาคนเดียว มานั่งดื่มและพูดคุย ด้วยตอนนั้นวัย 25-26 ปี ก็คิดแบบแพชชันเป็นส่วนใหญ่ว่าถ้าจะทำพื้นที่ที่ว่า ก็ต้องมีโปรดักส์อะไรสักอย่างที่เป็นสื่อกลาง เราก็เริ่มจากที่เราชอบและคิดว่าคนอื่นน่าจะชอบด้วยนั่นก็คือ ‘อุเมะชู’
“เราอินการกินดื่มหลากหลาย เรากินทุกอย่าง เราดื่มสาเก แต่คิดว่าอุเมะชูน่าจะเป็นจุดพอดีที่สื่อสารออกไปได้ง่าย คนเข้าใจ เลยใช้เหล้าบ๊วยเป็นตัวตั้งต้นเริ่มมา
“แล้วบังเอิญโชคดีที่สมมติฐานเรามันเป็นจริง คนเข้าใจและมีฟีดแบคที่ดีกลับมา ผมเลยเริ่มต่อยอดมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกมีประมาณ 10 ขวด ตอนนี้มีประมาณ 300 กว่าแบบได้ เป็นเหล้าผลไม้ ไม่รวมพวกตระกูลสาเกและอื่นๆ”
“แบบนี้จะเรียกได้ว่าเรามีอุเมะชูมากที่สุดในกรุงเทพฯ ได้ไหม”
“ไม่น่าได้ มีคู่แข่งที่เอาตรงนี้เป็นจุดขายเลยน่าจะมีจำนวนเยอะกว่า เพราะเขาจะชูตรงนั้นโดยเฉพาะ เหมือนว่าเรามี 300 แบบ เขาก็จะมี 301 หรือ 302 แบบ ซึ่งเราไม่วิ่งตามสิ่งนี้มาพักใหญ่แล้ว
“การมีเยอะเกินไปมันเป็นปัญหากับตัวเราเองด้วย เพราะจะเริ่มเจอกับภาวะที่เลือกไม่ถูก ตัวเลือกเยอะเกินไป ไม่ส่งผลดีกับการบริการที่เราจะมอบให้กับลูกค้า พอถึงจุดที่รู้สึกว่าเริ่มเยอะไปจนเลือกยาก ก็เริ่มตัดไขมันส่วนเกินออก ตอนนี้ที่เราขายมีประมาณ 50 แบบ คัดมาจากพฤติกรรมหรือความต้องการของลูกค้า ควบรวมกับประสบการณ์ของเราและบาร์เทนเดอร์”
“จะถือว่าตรงนี้เป็นจุดเด่นของร้านที่ไม่ได้เน้นเรื่องจำนวน แต่เน้นเรื่องประสบการณ์ ลูกค้าต้องการอะไร อยากรู้อะไร เราสามารถบอกเขาได้ คนที่ไม่เคยกินมาก่อน มานั่ง ก็สามารถอธิบาย ให้ความรู้ เล่าได้ แบบนั้นหรือเปล่า”
“พูดถูกหมดเลย แบบนี้ผมก็ไม่ต้องอธิบายเพิ่มแล้วสิเนี่ย”
“พูดหน่อย อยากฟัง”
“บาร์เทนเดอร์ทีมปัจจุบันนี้แทบจะมีความชำนาญเรื่องอุเมะชูมากกว่าผมแล้ว เพราะผมจะต้องไปโฟกัสกับเรื่องอื่นมากขึ้น จินนี่ที่เป็นผู้จัดการร้าน เขาจะรับฟีดแบคมาทุกวัน ก็จะรู้ความต้องการของลูกค้าและใช้เรื่องนี้เป็นจุดหลัก ธุรกิจของเรามันไม่ใช่เหล้าบ๊วยเสียทีเดียว แต่เป็นประสบการณ์ที่จะมาได้ในบาร์โดยมีอุเมะชูเป็นสื่อกลาง
“ตอนนี้เราก็เริ่มโฟกัส ‘สาเก’ แต่ลูกค้ากลุ่มนี้เดิมจะชอบดื่มไวน์ แล้วเริ่มหันมาสนใจโลกของสาเกมากขึ้น แต่ตัวหลักที่เข้าถึงคนหมู่มากก็ยังคงเป็นอุเมะชู”
“เราก็คุยกันเล่นๆ ว่าอุเมะชูน่าจะคล้ายกับเพลงป็อปที่เข้าใจง่าย ไม่ได้มีองค์ประกอบที่เฉพาะทางเกินไป อุเมะชูตัวที่ซับซ้อนที่สุดก็ยังพอเข้าใจได้ แต่ก็ยังไม่เข้าถึงยากเท่าสาเก”
“แล้วคิดว่าเสน่ห์ของเหล้าบ๊วยคืออะไร?”
“ความเข้าใจง่ายที่บางทีเราก็หลงทาง บางช่วงเราพยายามไปวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรให้เหล้าบ๊วยดูมีสาระ ดูซับซ้อน พอทำไปทำมาถึงได้รู้ว่าสุดท้ายแล้วไม่ต้องทำอะไรเลย สิ่งที่ดีของอุเมะชูคือความเป็นตัวมันเอง”
อะไรเล่าจะหวานเท่าอุเมะชู
ระหว่างพูดคุยเกี่ยวกับธุรกิจเคล้าด้วยเรื่องราวมากมายของอุเมะชู เทพได้แนะนำให้เรารู้จักกับ ‘จินนี่’ อีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่ขาดไม่ได้ของ PrumPlum Umeshu Bar เธอเป็นทั้งผู้จัดการและเป็นบาร์เทนเดอร์มือฉมัง ที่พร้อมจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุกคำถามที่มีต่ออุเมะชู รวมถึงคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับนักดื่มมือใหม่ที่อยากก้าวเข้าสู่โลกของบ๊วย ด้วยการพูดคุยแบบเป็นกันเองและรอยยิ้มที่ส่งมาให้เสมอ
“ถ้าเรามาแบบคนไม่รู้อะไรเลย จะแนะนำอะไรได้บ้าง?”
“อาจจะเล่าถึงที่มาที่ไปก่อน ปกติแล้วคอนเซ็ปต์หลักของอุเมะชูจะมีแค่บ๊วย น้ำตาล เหล้า แต่ความแตกต่างจะอยู่ที่เบสแอลกอฮอล์เป็นหลัก เซตเวลคัมของที่นี่ก็เลยเหมือนพามาทำความรู้จักเบสแต่ละชนิด คือ สาเก โชจู และน้ำผึ้ง เพื่อให้ได้ลองเปรียบเทียบคาแรคเตอร์ของแต่ละชนิดว่ามีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง จะได้รู้ว่าตัวเองชอบเหล้าบ๊วยเบสสาเก เบสโชจู หรืออุเมะชูน้ำผึ้ง”
“สามแบบนี้จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเลยเหรอ?”
“พอลองแล้วจะรู้เลยว่าชอบแบบไหน ซึ่งร้านเรามีอุเมะชูประมาณ 200 กว่าตัว เราก็ลองจับบางอันมาลอง เพื่อให้รู้จักอุเมะชูมากขึ้น”
“ตัวแรกคือ Plumity White มาจากจังหวัดวากายามะที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘เมืองแห่งบ๊วย’ คาแรคเตอร์ของเขาจะมีกลิ่นหอมฟรุตตี้ฟลอรัล (Fruity Floral) ใช้เหล้าสาเกเป็นส่วนผสม มีปริมาณแอลกอฮอล์ 11%
“ตัวที่สองคือ Plumity Black ที่มีเบสแอลกอฮอล์คือโชจูจากโรงเดียวกับแก้วแรก แต่จะมีความเข้มข้นและให้รสสัมผัสที่แน่นกว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์ 19% อาจดูสูงก็จริงแต่ว่าดื่มง่ายมากเพราะใช้บ๊วยพันธุ์นันโคอุไบ บ๊วยยอดนิยมของญี่ปุ่นที่ผิวเปลือกบาง เนื้อนุ่ม
“อุเมะชูส่วนใหญ่จะใช้น้ำตาลกรวดกับน้ำตาลป่นเป็นหลัก เราก็เลยจะให้ลองแบบที่ใช้น้ำผึ้งด้วย เพื่อที่จะได้รู้ว่าตัวเองชอบความหวานในแบบไหน จึงเป็นที่มาของตัวที่สาม Honey Plum Liqueur ที่มาจากจังหวัดวากายามะเหมือนกัน แต่เปลี่ยนจากน้ำตาลกรวดเป็นน้ำผึ้ง คาแรคเตอร์จะหวานนุ่มนวล และมีแอลกอฮอล์ 13%”
“ถ้าเราลองสามอย่างนี้ รู้แล้วว่าเราชอบอันไหน ถ้าคราวหน้ามาก็สั่งได้เลยว่า อยากได้เหล้าบ๊วยเบสสาเก แบบนี้เลยใช่ไหม”
“ทางเราก็จะช่วยเลือกให้ เพราะบ๊วยสาเกมันก็มีเยอะมากเหมือนกัน”
“แล้วอีกเซตหนึ่งที่รออยู่คืออะไร?”
“อุเมะชูจะมีแบบคลาสสิกและแบบสเปเชียล คลาสสิกก็จะเป็นบ๊วย เหล้า และน้ำตาล แบบก่อนหน้านี้ แต่ถ้าเป็นสเปเชียลจะเพิ่มวัตถุดิบตัวที่ 4 ลงไปด้วย”
“ตัวแรกโดดเด่นด้วยสีแดง ซึ่งเป็นสีธรรมชาติของใบชิโซะ เป็นเหล้าบ๊วยที่ดองกับโชจูที่กลั่นจากใบชิโซะอีกที คาแรคเตอร์คล้ายชาดำ รสเปรี้ยวไปทางบลูเบอร์รี มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ที่ 12%
“ตัวที่สองเป็น Rose Plum Liqueur เหล้าบ๊วยกุหลาบจากจังหวัดวากายามะ มีกลิ่นหอมฟลอรัล รสชาติออกไปทางผลลิ้นจี่ หวานนุ่ม สีของเขาจะแตกต่างจากตัวคลาสสิกที่ออกไปทางสีน้ำตาล จะใสกว่า และมีแอลกอฮอล์ 13%
“ตัวที่สามเป็น Green Tea Plum Liqueur อุเมะชูชาเขียวที่ใช้ใบชาจากเมืองยาเมะ จังหวัดฟุกุโอกะ รสชาติจะค่อนข้างเปรี้ยวอมหวาน ขณะเดียวกันก็จะได้รสสัมผัสของชาแบบเต็มๆ แก้วนี้มีแอลกอฮอล์ 12% โดยทั้งสามแก้วนี้จะดื่มแบบไล่ไปทีละแก้ว หรือจิบสลับกันก็ได้”
ว่าด้วย ‘อุเมะชู’ กับประเภทอาหาร
“มีอาหารอะไรแนะนำว่าต้องกินคู่กับอุเมะชูประเภทต่างๆ ไหม”
เรายังคงอยู่กับมินนี่ กูรูอุเมะชู ที่พร้อมให้ข้อมูลในทุกข้อสงสัย
“ด้วยความที่อุเมะชูค่อนข้างไม่มีความซับซ้อนเท่าไวน์ เลยดื่มคู่กับอาหารได้หลากหลายมาก อย่างตัวแรกที่เป็นคลาสสิกเปรี้ยวอมหวานแบบฟรุตตี้ฟลอรัล สามารถดื่มคู่กับอาหารที่ทำจากเนื้อหมู เนื้อวัว รวมถึงอาหารทะเลได้
“แต่ถ้าลูกค้าออเดอร์เนื้อโคขุนหรือข้าวผัดมันเนื้อ ที่มีความเลี่ยนและความคาวของเนื้อพอสมควร จะแนะนำให้ทานคู่กับอุเมะชูเบสสาเกที่มีความเปรี้ยวเพื่อตัดเลี่ยน หรือจะเป็นเหล้ายูซุไปเลยก็ได้ เพราะหากอาหารมีความมันสูงแล้วเครื่องดื่มก็ยังหวานอีก มื้อนี้ก็อาจจะหวานเลี่ยนจนเกินไป
“แต่ถ้าเป็นรากบัวทอดที่โดดเด่นด้วยความกรอบ เสิร์ฟคู่กับซอสบ๊วยมายองเนส และมีรสชาติคล้ายเวลาเรากินมันฝรั่งถุง อาหารประเภทนี้ก็จะเข้ากับอุเมะชูได้ทุกตัวเลย”
“การตอบคำถามลื่นไหล อธิบายยาวเหยียดโดยที่เราแทบจะไม่ต้องถาม ทำให้สงสัยว่าปกติแล้วโดนถามบ่อยใช่ไหม”
“เราตอบคำถามลูกค้าเยอะมาก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้เดินเข้ามานั่ง สั่งอุเมะชู สั่งสาเก ดื่มจนเมาแล้วกลับบ้าน แต่พวกเขาจะมานั่งคุย มาถามไถ่เรื่องอุเมะชู ยิ่งช่วงนี้เทรนด์วัฒนธรรมกินดื่มเริ่มมีลูกเล่นมากขึ้น เราเห็น กาแฟแบบดริป เห็นเทรนด์เนเชอรัลไวน์ ซึ่งเทรนด์อุเมะชูก็มาแล้วเหมือนกัน
“กลายเป็นว่าคนเจนฯ ใหม่ เขาจะสนใจความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ที่นี่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องสังสรรค์แล้วจบ หลายคนเข้ามาเพื่อมาซื้อไลฟ์สไตล์ ต้องการสตอรี่ บางคนต้องการดื่มพร้อมกับมีคอนเทนต์ลงโซเชียล หรือใช้พูดคุยกับเพื่อนๆ
“มีลูกค้าบางรายมาครั้งแรกดื่มเซ็ตคลาสสิกแล้วลงสตอรี่ รอบหน้ามาจดเพิ่มอีก บางรายก็เป็นบล็อกเกอร์ทำเป็นรีวิวของตัวเอง พอมาที่นี่มันตอบโจทย์ตรงที่ว่าจะมากี่ครั้ง เขาจะได้ลองดื่มอุเมะชูใหม่ๆ แบบไม่ซ้ำกันเลย
“เราก็มีหลากหลายสไตล์ เริ่มจากแอลกอฮอล์ 7% ไปจนถึง 38% ก็จะมีบางรายที่ดื่มแต่ไวน์ วิสกี้ แอลกอฮอล์หนักมาตลอด พอมาดื่มอุเมะชูอาจมองว่าเป็นเหล้าหวาน เหล้าเด็ก ซึ่งมันไม่ใช่แบบนั้น เรามีอุเมะชูเบสบรั่นดีหรือเบสวิสกี้ด้วยเหมือนกัน ตอนนี้เลยมีกลุ่มลูกค้าผู้ชายที่มาออร์เดอร์ตัวหนักๆ เข้มข้น หรือบางคนชอบดื่มไวน์มาก แล้วเปลี่ยนมาเป็นอุเมะชู เราก็จะมีอุเมะชูที่คาแรคเตอร์คล้ายไวน์แดงให้ได้ลอง”
“ลูกค้าหลายคนก็น่าจะคิดเหมือนกัน แต่ด้วยเทรนด์การกิน ดื่ม เที่ยว ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ปัจจุบันส่วนใหญ่เกิน 70-80% จะตั้งใจมาลองอุเมะชูโดยเฉพาะ มาลองให้รู้ มาทำความรู้จักผ่านบาร์ของเรา เราเลยมีบริการเทสติ้งเซ็ตเตรียมไว้ให้ได้ลองหลายๆ อย่าง เหมือนเป็นเวอร์ชันย่อๆ ของเทสติ้งคอร์ดพวกไวน์ กาแฟ ซึ่งฟีดแบคก็ดี”
หลังได้ฟังจินนี่แนะนำอุเมะชูประเภทต่างๆ บอกได้ถึงแหล่งที่มา หรือคำแนะนำในแต่ละชนิดว่าควรจะดื่มคู่กับการกินอาหารแบบใดบ้าง ความคล่องแคล่วนี้ได้พิสูจน์สิ่งที่เทพพยายามบอกกับเราตั้งแต่แรกว่า บาร์แห่งนี้มีจุดเด่นที่ความใส่ใจ และคลังความรู้เกี่ยวกับอุเมะชู
มองอุเมะชูญี่ปุ่น แล้วหันกลับมามองเหล้าไทย
“พอความชอบของเราคือเครื่องแอลกอฮอล์ การทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮออล์ในประเทศนี้เป็นเรื่องยากไหม”
“ยากมาก ผมคุยกับคนรอบตัวเสมอ เหมือนเราเล่นเกมแล้วกดโหมด very hard เลย โดยที่เราไม่เคยเล่นเกมนี้มาก่อน เราก็เข้าใจเหมือนกับคนอื่นๆ เลยว่าเรื่องนี้มันมีอุปสรรค มีมุมที่รู้สึกไม่แฟร์ ในพาร์ทหนึ่งเราก็มีจิตวิญญาณว่าอยากจะแก้โน่นแก้นี้ ไปเข้าร่วมกับกลุ่มสุราไทย เข้าใจว่ามันมีหลายมูฟเมนต์ที่ต่อยอดมาจากอันนี้ เช่น พรรคก้าวไกล หรือพรรคอื่นๆ ที่เขาเห็นการผลักดันเรื่องสุราชุมชน แต่อีกพาร์ทหนึ่งเราก็กำลังทำธุรกิจอยู่ เราอยู่กับบาร์มา 6 ปี เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และจำเป็นต้องโฟกัสกับเรื่องธุรกิจ
กลายเป็นบางเวลาเราอยู่กับธุรกิจ บางเวลาเราก็พยายามหาช่องทางผลักดันเรื่องนี้ในระดับที่ใหญ่ขึ้น
“คิดว่าไทยทำเหล่าแต่ละจังหวัดที่มีจุดเด่นต่างกัน เหมือนกับญี่ปุ่นที่มีอุเมะชูในแต่ละจังหวัดได้ไหม”
“เรื่องนี้พูดยากเพราะโดนบล็อกด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน เราถกเถียงกัน แต่สุดท้ายก็มีข้อสรุปและข้อห้ามชัดเจน เหล้าบ๊วยอยู่ในหมวดของเหล้าลิเคียว ไปตกอยู่ในหมวดสุราพิเศษซึ่งต้องเป็นโรงใหญ่มากๆ ที่จดจัดตั้งและผลิตงานที่สุดคือสุราชุมชน เหล้าบ๊วยไม่ได้อยู่ในหมวดนี้
“ให้นึกภาพสุราขาว ทำไมถึงมีสีขาว เพราะว่าไม่เอดจ์ กฎหมายห้ามเอดจ์ ทำไมสเกลไม่ได้ เพราะกฎหมายห้ามเรื่องกำลังคน กำลังแรงม้า ตอนนี้เพิ่งแก้ให้มันดีขึ้น จาก 7 กำลังคน 5 แรงม้า เป็น 40 กำลังคน แต่ก็จะมีข้อกำหนดย่อยๆ อีก แล้วก็จะต้องค่อยแก้ไปทีละขยัก ซึ่งตระกูลเหล้าหวาน เหล้าผมไม้ ในกฎหมายมันเข้ากับนิยามที่เป็นเหล้าประเภทขยักสุดท้าย
“แสดงว่าพอมาทำบาร์อุเมะชู เราก็ได้เห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างไทยกับญี่ปุ่นชัดขึ้น?”
“เราเห็นมาโดยตลอด ผมเห็นจุดร่วมใหญ่ในเชิงวัฒนธรรม เชิงวัตถุดิบการทำ ซึ่งหากพูดถึง ‘สาโท’ กับ ‘สาเก’ ชื่อมันพ้องกันแต่อาจจะไม่เกี่ยวกัน ปีหน้าพรำพลัมจะจัดแคมเปญที่จะทำในรูปแบบไทย-ญี่ปุ่น สาโท-สาเก เช่น เทพพนมที่เป็นสาโทไทย กับสาเกของญี่ปุ่น ซึ่งหากเทียบกันแล้วสาโทของไทยมีข้อจำกัดเรื่องควอลิตี้อยู่ ผู้ผลิตก็พยายามจะเรียนรู้เทคนิคการทำบางอย่าง และหนีไม่พ้นที่จะต้องไปดูประเทศที่ทำมาก่อนอย่างญี่ปุ่น
“ในมุมมองของผมที่มีต่อญี่ปุ่นคือการเรียนรู้ เพื่อหาทางที่จะทำให้เราตามทันได้เร็วขึ้น อันนี้คือสมมุติฐานของผม บางคนก็ไม่เชื่อ คนทำเหล้าท้องถิ่นหลายคนก็มีทัศนคติที่ว่า ‘ของไทยก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปดูคนอื่น’ ก็จะเป็นมุมมองที่ต่างกัน ร้านผมมีผลิตภัณฑ์จากคนไทยที่บางครั้งมาในรูปแบบคราฟต์เบียร์ สาโท สาเก ซึ่งสิ่งที่ผมพยายามจะต้องโปรโมตเพราะอยากให้คนไทยรู้สึกคุ้นชินกับสุราไทยท้องถิ่นมากขึ้น
“ลองเปรียบเทียบกับเวลาประมาณ 10-20 ปีก่อน ภาพรวมคนไทยยังต้องกินกาแฟใส่น้ำตาล เดินเข้าร้านสะดวกซื้อหากาแฟสำเร็จรูปแบบไม่มีน้ำตาลไม่ได้เลย เพิ่งมีช่วงหลังนี้เองที่มีแบรนด์ที่ทำกาแฟแบบโนชูการ์ เรื่องเหล้าก็ประมาณนี้ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่คนต้องกินกาแฟใส่น้ำตาลหรือใส่นมข้นกันอยู่ เพราะภาพจำสุราขาวไทยก็คือเหล้าขาวแรงๆ ราคาถูก หรือถ้าจะถามว่าเราควรกินสุราขาว สุราไทย สาโทไทย ในช่วงเวลาไหนได้บ้าง คนส่วนใหญ่รวมถึงผมเองก็ยังนึกไม่ออก
“สำหรับเราที่เป็นประชาชน เราว่าความต้องการของตลาดมันแก้ได้ง่ายกว่า พยายามทำให้ตลาดมีความต้องการสินค้าเหล่านี้จริงๆ เพราะในแง่ของตัวบทกฎหมายเราเข้าไปแก้มันได้ยากมาก มีข้อจำกัดมากมาย เราตอบไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสภาบ้าง ซึ่งการยื่นไปของ ส.ส.เท่า (เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร) ก็ถือเป็นพัฒนาการที่ไปไกลแล้ว แต่สุดท้ายก็เป็นเรื่องของการเมือง ผมควบคุมอะไรไม่ได้
“สิ่งที่พอจะทำได้คือให้ตลาดมีความพร้อม มีความพอใจกับสินค้า ดื่มแล้วเข้าใจได้ เพื่อที่วันหนึ่งมีเหล้าบางอย่างแหลมขึ้นมาในตลาดแล้วมีที่ยืน มีคนลอง แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ต้องพับกลับไปเพราะไม่มีตลาด บวกกับมาตรา 32 ที่ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่สามารถโฆษณาได้
“คนทำเหล้าในประเทศนี้ติดปัญหาหลายอย่างจริงๆ”
Fact Box
PrumPlum Umeshu Bar (พรัมพลัม อุเมะชู บาร์) เป็นบาร์อุเมะชูขนาด 1 คูหา ตัวร้านมีทั้งหมด 2 ชั้นด้วย ตั้งอยู่บนซอยศรีบำเพ็ญ พระราม 4 เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์ เวลา 18.00 น. ถึง 00.00 น.
การเดินทางด้วยรถสาธารณะที่ง่ายที่สุดคือนั่งรถไฟฟ้า MRT ลงสถานีลุมพินี แล้วต่อวินมอเตอร์ไซค์มายังซอยศรีบำเพ็ญ แต่ด้วยพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด แนะนำว่าให้โทรหรือทักแชตไปจองกับทางร้าน เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ที่นั่งตามที่ตัวเองต้องการจริงๆ
นอกจากนี้ ภาสกรผู้เป็นเจ้าของร้านยังได้แนะนำ PrumPlum Minabe น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการในย่านพหลโยธิน ที่บรรยากาศจะคล้ายกับพรัมพลัมสาขาแรก แต่จะแตกต่างกันตรงที่มินาเบะจะเป็นบาร์ค็อกเทลมากกว่า รวมถึงมีเบียร์สดหลากหลายไว้บริการ