นานแล้วที่ไม่ได้สัมผัสกับบรรยากาศในร้านอาหารญี่ปุ่น

เมื่ออากาศเริ่มเย็นลงเรื่อยๆ การเดินไปหาร้านโอเด้งแล้วสั่งซุปร้อนๆ สักถ้วยมาซดให้คล่องคอ ก็ดูจะเป็นสิ่งที่น่าทำในช่วงนี้ 

แม้จะคิดถึงการไปเยือนญี่ปุ่นแทบตาย แต่หลายคนก็ยังไม่พร้อมที่จะจองตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่นเร็วๆ นี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น คอลัมน์ Out and About สัปดาห์นี้จึงอยากชวนทุกคนที่คิดถึงบรรยากาศแบบญี่ปุ่น ลองแวะเวียนไปพบกับ ‘มิกะซัง’ หรือ คิมูโระ มิกะ คุณนายเจ้าของร้านโอบันไซ คิตาโร่ (Obanzai Kitaro) ที่มีจุดเด่นเป็นโอเด้งและเอกลักษณ์เฉพาะตัวดูสักครั้ง

จุดเด่นของโอบันไซ คิตาโร่ คงหนีไม้พ้นโอเด้งร้อนๆ ที่เราสามารถเลือกวัตถุดิบหลากหลายซึ่งต้มอยู่ในซุปกลมกล่อมจนซึมเข้าไปยังทุกส่วนของวัตถุดิบ มิกะซังใช้เวลานานในการต้มโอเด้งให้มีรสชาติตรงตามที่เธอต้องการ และผลของความพิถีพิถันนั้นก็สามารถรับรู้ได้ผ่านโอเด้งทุกจานที่ลองสั่งมาชิม

เมื่อนั่งลิ้มรสอาหารรสมือมิกะซังไปสักพัก เราจะพบเห็นลูกค้าขาประจำแวะเวียนมานั่งที่นั่งประจำ มีทั้งชายที่แต่งกายเหมือนมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่น คุณลุงชาวญี่ปุ่น หรือคนรุ่นวัยหนุ่มสาว สั่งเมนูสุดโปรดของตัวเอง เคล้ากับลองเครื่องดื่มชนิดใหม่ในร้านไปเรื่อยๆ 

แม้ชาวญี่ปุ่นเหล่านี้จะไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อนวงสังคมเดียวกัน แต่พวกเขาจะยิ้มแย้มทักทายกัน สลับกันเลี้ยงเหล้า พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่พบเจอมาแต่ละวันตามประสาคนไกลบ้าน ภาพที่เห็นตรงหน้าอบอุ่นและชวนให้คิดถึงหนังเรื่องร้านอาหารเที่ยงคืน หรือ Midnight Diner: Tokyo Stories อย่างไรอย่างนั้น

 

[1]

“อิรัชชัยมาเสะ”

(ยินดีต้อนรับ)

ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าร้าน สิ่งแรกที่ได้ยินคือประโยคคุ้นหูซึ่งมักได้ยินบ่อยๆ เวลาไปร้านอาหารญี่ปุ่น

โอบันไซ คิตาโร่ เป็นร้านโอเด้งกึ่งอิซากายะที่ซ่อนอยู่ในซอยสุขุมวิท 41 เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า BTS สถานีพร้อมพงษ์ ก่อนจะเดินต่ออีกนิด เมื่อเข้ามายังกลางซอยจะพบกับร้านเล็กๆ โดดเด่นด้วยป้ายไฟสีขาวขนาดใหญ่ที่เขียนชื่อร้านเอาไว้ แต่ถ้ายังเก้ๆ กังๆ ไม่มั่นใจ หากมองเข้าไปในร้านแล้วเห็นมิกะซังกำลังยืนทำนั่นนี่อยู่หน้าหม้อโอเด้ง ป้ายร้าน และหญิงชาวญี่ปุ่นในชุดกิโมโน คือเครื่องยืนยันว่าเรามาถูกทางและถึงที่หมายแล้ว

ไฟสีส้ม บาร์ไม้ขนาดใหญ่ กลิ่นหอมจากต้มโอเด้งที่เคี่ยวมาทั้งคืนอบอวลไปทั่วร้าน เย้ายวนให้เรารีบทักทายพนักงานในร้าน ทักทายมิกะซังเจ้าของร้าน แล้วจับจองที่นั่งหน้าบาร์ไม่ไกลจากหม้อโอเด้ง ก่อนจะขอเมนูเพื่อเริ่มมองหาอาหารที่เข้าตาที่สุด 

ระหว่างกำลังเลือกเมนูที่ใช่ เสียงเพลงญี่ปุ่นช้าๆ สลับสไตล์ไปเรื่อยๆ ส่งให้บรรยากาศผ่อนคลาย เมื่อสั่งอาหารเรียบร้อยจึงถึงเวลาสังเกตสิ่งรอบตัว บริเวณหัวโต๊ะของบาร์มีที่นั่งเพียงไม่กี่ที่ แล้วพนักงานจะนำขวดเหล้าของลูกค้าเจ้าประจำมาวางเตรียมไว้ เดาไม่ยากว่าเจ้าของที่นั่งประจำนั้นคงหนีไม่พ้นชาวญี่ปุ่นไกลบ้านที่ทำงานอยู่ที่นี่ ในอีกไม่ช้าเขาหรือเธออาจกำลังเร่งตรงมายังโอบันไซ คิตาโร่ เพื่อลิ้มรสอาหารจานโปรดและพูดคุยกับมิกะซัง

 

[2]

“โยโรชิคุ โอเนะไกชิมัส” 

(ฝากตัวด้วยนะ)

นี่คือประโยคที่เราเอ่ยกับมิกะซัง หลังแนะนำตัวว่าเป็นใครมาจากไหน 

ช่วงแรกเต็มไปด้วยความเก้อเขิน ทั้งเรา ทั้งพนักงาน และมิกะซัง จึงตัดสินใจเริ่มบทสนทนาด้วยการชวนคุยอะไรก็ตามเกี่ยวกับญี่ปุ่น บอกเธอว่าเราเคยไปเมืองไหนของญี่ปุ่นมาแล้วบ้าง 

มิกะซังยิ้มให้กับภาษาญี่ปุ่นขั้นเบสิก ก่อนจะเล่าว่าบ้านเกิดของเธออยู่ที่ฮอกไกโด จังหวัดที่โดดเด่นเรื่องความงดงามทางธรรมชาติเพราะมีทั้งภูเขา ภูเขาไฟ ทะเลสาบ และทุ่งดอกไม้ที่โด่งดัง ก่อนจะอดไม่ได้บอกว่าหากเรามีโอกาสไปญี่ปุ่น ฮอกไกโดก็เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เธออยากจะแนะนำให้ลองไปสักครั้ง 

เมื่อผ่อนคลายได้ในระดับหนึ่ง จึงวกกลับมายังเรื่องราวของเธอในไทยและโอบันไซ คิตาโร่ ด้วยคำถามสุดคลาสสิกว่า “ทำไมถึงมาอยู่ที่เมืองไทย” กลายเป็นว่ามิกะซังชื่นชอบความเป็นไทยหลายอย่าง โดยเฉพาะตัวอักษรไทยที่ส่วนตัวเธอมองว่า “คาวาอิ” (น่ารัก) มากๆ ซ้ำยังชอบจนถึงขั้นเข้าคลาสเรียนภาษาไทยเบื้องต้น

เธอเขียนภาษาไทยได้ อ่านภาษาไทยออก แม้เขินที่จะพูดภาษาไทยอยู่บ้าง เพราะกลัวพูดไม่ถูกต้อง แต่ก็พร้อมที่จะทักทายลูกค้าชาวไทยทุกคนอย่างเต็มที่ 

มิกะซังยังเล่าย้อนกลับไปก่อนจะมีร้านโอบันไซ คิตาโร่ เป็นของตัวเอง เธอเคยทำงานอยู่ในร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่นิฮอนมาชิ ก่อนจะตัดสินใจเปิดร้านโอเด้งเล็กๆ ในขนาดที่พอจะดูแลไหวโดยไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง และทำร้านแห่งนี้มาแล้วกว่า 4 ปี

ช่วงแรกที่เปิดร้าน ลูกค้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย กลายเป็นว่าชาวญี่ปุ่นที่แวะมาบ่อยๆ ก็มีวงสังคมที่เป็นคนไทย เกิดการบอกกันแบบปากต่อปาก ลูกค้าคนไทยจึงเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยเพจต่างๆ ที่แวะเวียนมาลองชิมโอเด้งอยู่เสมอ

หลังพูดคุยกันได้พักหนึ่ง เราพบว่าเธอเป็นหญิงชาวญี่ปุ่นที่ยิ้มเก่งมากที่สุดคนหนึ่งที่เคยเจอ ทั้งความกระตือรือร้นที่จะพูดคุย การต่อบทสนทนาอย่างไม่รีบเร่ง รอยยิ้มที่มีให้ไม่ขาด ทำให้การพบกันเต็มไปด้วยความผ่อนคลาย แม้ภาษาญี่ปุ่นของเราและภาษาไทยของเธอจะไม่ค่อยแข็งแรงกันทั้งคู่ก็ตาม

 

[3]

“โอะซุซุเมะ วะ นันเดสก๊ะ?”

(เมนูแนะนำมีอะไรบ้าง?)

หนึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องถามคงหนีไม่พ้นเมนูที่มิกะซังอยากจะแนะนำให้เราได้ลอง

อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น เมนูเด็ดของโอบันไซ คิตาโร่ ก็คือโอเด้งร้อนๆ ที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะกินอะไรบ้าง โดยวัตถุดิบที่มีก็หลากหลายทั้งหมูสไลซ์กับผักมิซูน่า, ลิ้นวาฬกับผักมิซูน่า, มะเขือเทศต้มในน้ำโอเด้ง, เต้าหู้ร้อนใส่คอมบุ, ไขมันส่วนท้องของวาฬกับเต้าหู้ทอด, ทอดมันผักรวม, ทอดมันหมึก, เอ็นเนื้อตุ๋น, เต้าหู้ทอดต้มในน้ำโอเด้ง, ลูกชิ้นเนื้อไก่บด, ไข่ญี่ปุ่น, หัวไชเท้า, เส้นชิราทากิ (เส้นบุก), ไส้กรอก, ลูกชิ้นปลาบด, ฟองเต้าหู้ห่อแป้งโมจิ และลูกชิ้นปลาเส้น 

เราได้ลองสั่งหลายอย่างและประทับใจกับสิ่งที่ตัวเองเลือกมา กลายเป็นว่าวัตถุดิบเรียบง่ายอย่าง ‘เส้นชิราทากิ’ (70 บาท) กับ ‘หัวไชเท้า’ (70 บาท) จะเป็นหนึ่งในเมนูที่ชอบอันดับต้นๆ เพราะบางคนลองต้มหัวไชเท้าแล้วมีรสขม บางคนต้มแล้วนุ่มไม่ทั่วทั้งชิ้น แต่หัวไชเท้าของมิกะซังทั้งหวาน นุ่มทั่วทั้งชิ้น และมีรสชาติดีเหลือเชื่อ

‘ทอดมันผักรวม’ (120 บาท) กับ ‘ทอดมันหมึก’ (120 บาท) ก็นับเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ในวัตถุดิบโอเด้งของโอบันไซ คิตาโร่ 

ทอดมัน 2 แบบเป็นทอดมันแฮนด์เมดที่ส่งตรงมาจากญี่ปุ่น พนักงานในร้านเล่าให้เราฟังว่าทอดมันทั้งสองมีจุดเด่นเหมือนกับเนื้อวาฬคือนำเข้ามาจากญี่ปุ่น ไม่เพียงเท่านี้ ทอดมันเหล่านี้ไม่ใช่การผลิตขึ้นจากโรงงาน แต่ทุกกระบวนการผ่านการทำด้วยมือทั้งหมด จึงทำให้มีรสชาติเฉพาะตัว และทุกชิ้นจะไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันเป๊ะเหมือนอย่างวัตถุดิบที่ออกมาจากโรงงาน 

หากสังเกตขอบชามโอเด้งดีๆ เราจะเห็นว่ามิกะซังปาดมัสตาร์ดมาให้ด้วยหน่อยหนึ่ง เพราะปกติแล้วชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะกินโอเด้งคู่กับมัสตาร์ด เหมือนเวลาที่กินซูชิก็จะต้องมีวาซาบิ ดังนั้นหากลองซดน้ำซุปร้อนๆ ตามปกติแล้ว แนะนำว่าให้ลองเอาวัตถุดิบที่เลือกมากินคู่กับมัสตาร์ดดูสักครั้ง กลิ่นหอมจากซอส รสชาตินุ่มละมุนซ่อนรสเผ็ดขึ้นจมูกแบบอ่อนๆ ก็ถือเป็นประสบการณ์ด้านการกินที่อร่อยไปอีกแบบ

 

[4]

餃子と豚肉バラ薄切り、そしてクジラの話

(เกี๊ยวซ่ากับหมูสไลซ์ และเรื่องเล่าของวาฬ)

ไส้ของเกี๊ยวซ่า (150 บาท) ก็เป็นสูตรที่มิกะซังคิดค้นขึ้นเอง จิ้มกับ ‘พอนซึ ยูซุ โชยุ’ รสชาติกลมกล่อมที่โดดเด่นด้วยกลิ่นหอมจากส้มยูซุ ก่อนเปิดกระปุกพริกเผาที่อยู่ตรงหน้า ปาดลงบนเกี๊ยวก่อนลองกัดคำใหญ่ ความเค็ม เปรี้ยว หวาน และเผ็ดอ่อนๆ ของซอสโชยุและพริกเผา เคล้ากับไส้เกี๊ยวซ่าสูตรพิเศษที่ต้องบอกว่าใส่ไส้มาให้เยอะมาก ทำให้ไม่รู้สึกเลี่ยนแม้จะเป็นของทอด

‘หมูสไลซ์กับผักมิซูน่า’ (180 บาท) ในซุปโอเด้งร้อนๆ ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เมนูเรียบง่ายกับหมูนุ่มละมุนที่มีมันแทรกเล็กน้อย กินคู่กับผักมิซูน่าหรือผักน้ำญี่ปุ่น พืชพื้นเมืองเนื้อสัมผัสกรอบเคล้ากลิ่นฉุนน้อยๆ ที่รู้ตัวอีกทีทั้งหมูและผักก็หมดชามเสียแล้ว 

อีกหนึ่งจุดเด่นของวัตถุดิบที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้คือ ‘วาฬ’ คุณนายเล่าให้ฟังว่ามีหลายครั้งที่เวลาลูกค้าดูเมนูโอเด้งแล้วเห็นวาฬ พวกเขาจะตั้งคำถามถึงรสชาติ และถามว่าเป็นวาฬจริงหรือไม่ ไม่ได้ย้อมแมวด้วยการใช้ปลาอื่นแล้วหลอกว่าเป็นวาฬใช่ไหม ถ้าใช่จะเป็นวาฬสายพันธุ์ไหน แล้วเนื้อหรือลิ้นวาฬจะเข้าวัตถุดิบอื่นๆ ที่ต้องใช้ความพิถีพิถันในการปรุงมากน้อยแค่ไหน 

มิกะซังเล่าไปหัวเราะไป ก่อนยืนยันว่าเธอนำเข้าเนื้อวาฬจากญี่ปุ่นจริงๆ วัตถุดิบที่เธอนำเข้ามานั้นเหมาะแก่การทำเป็นโอเด้ง เพราะมีเนื้อนุ่มลิ้น และให้รสสัมผัสที่ดีจนหลายคนจะต้องติดใจ 

 

[5]

「ハマグリの酒蒸し」お見逃しなく海の新鮮

‘หอยตลับต้มสาเก’ ความสดชื่นจากทะเลที่ไม่ควรพลาด

หากใครรู้สึกว่าโอเด้งยังไม่ตอบโจทย์ซุปที่อยากซดให้คล่องคอ ‘หอยตลับต้มสาเก’ (280 บาท) อาจเป็นคำตอบที่กำลังตามหา 

เมนูนี้เสิร์ฟมาในถ้วยขนาดกำลังดี สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือความหอมของเลม่อน เคล้ากับกินของวัตถุดิบต่างๆ ที่เหมือนกับเร่งเร้าให้รีบลิ้มลอง ก่อนจะสัมผัสถึงรสเปรี้ยว ความเค็มจากเกลือ และรสชาติเฉพาะตัวของหอยตลับที่ทั้งหมดทำให้นึกถึงทะเล ซ้ำยังสร้างความรู้สึกสดชื่นแม้จะเป็นซุปแบบร้อนก็ตาม 

มิกะซังที่แอบสังเกตท่าทางตอนชิมหอยตลับต้มสาเก เอ่ยปากถามว่ารสชาติเป็นอย่างไร เราที่กำลังดื่มด่ำกับอาหารจานนี้อธิบายอะไรไม่ได้มากนอกจากคำว่า “อร่อยมาก”

 

[6]

「レモンサワー」お母さんの特製レシピ

‘เลม่อน ซาว่า’ สูตรเฉพาะของโอก้าซัง

โอบันไซ คิตาโร่ ไม่ได้มีจุดเด่นแค่อาหารเท่านั้น เพราะ Remon Sawa  หรือ Lemon Sour (180 บาท) หนึ่งในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดฮิตประจำร้านอาหารญี่ปุ่นก็ยังเป็นสูตรเฉพาะที่มิกะซังทำขึ้นมาเอง 

ด้วยรสชาติที่ไม่จัดจ้านเกินไป ไม่จืดเกินไป ความหวานกำลังดีของไซรัปกับน้ำเลม่อนคั้นสด ผสมกับเหล้าญี่ปุ่นที่มิกะซังเลือก ทำให้เครื่องดื่มแก้วนี้เต็มไปด้วยความสดชื่นกลมกล่อม นอกจากนี้มะนาวหลายชิ้นที่นอนอยู่ก้นแก้ว กลิ่นจากเปลือกเลม่อนก็ยิ่งส่งให้เลม่อนซาว่ามีกลิ่นหอมยิ่งขึ้นไปอีก

 

[7]

“โกะจิโซซามะ เดชิตะ”

(ขอบคุณสำหรับมื้อนี้)

นั่งคุยกับมิกะซังตั้งแต่ร้านเปิด ชิมนั่นชิมนี่จานแล้วจานเล่า เวลาก็ล่วงเลยมาถึงเที่ยงคืนเสียแล้ว

โอบันไซ คิตาโร่ เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 01.00 น. วันจันทร์ถึงศุกร์สามารถมาที่ร้านได้เลยโดยไม่ต้องจองล่วงหน้า แต่หากจะแวะเวียนมาในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ มิกะซังแนะนำว่าควรทักมาจองล่วงหน้าก่อนจะดีที่สุด เพื่อจะได้มีที่นั่งแน่นอนโดยไม่ต้องรอหน้าร้านให้เสียเวลา และสามารถสั่งอาหารได้เรื่อยๆ จนถึงเที่ยงคืนสิบห้านาที 

หากใครที่สนใจลิ้มลองโอเด้งรสมือคุณแม่ญี่ปุ่นของร้านโอบันไซ คิตาโร่ ต้องการทักทาย พูดคุยกับเจ้าของร้าน หรือคิดถึงบรรยากาศร้านอาหารญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยชาวญี่ปุ่น ก็สามารถแวะเวียนมาได้เสมอ

 

Tags: , , , , , , , , , , , , ,