ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย โดยเฉพาะเดือนเมษายนที่ตรงกับเทศกาลวันสงกรานต์ หนึ่งในเมนูที่มักปรากฏตัวบนโต๊ะอาหารคงหนีไม่พ้น ‘ข้าวแช่’ หรือข้าวสงกรานต์ ที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและความละเอียดละอ่อนประณีตของคนไทยและชาวมอญได้เป็นอย่างดี
ทั้งกระบวนการทำ การเตรียมเครื่องเคียง ไปจนถึงวิธีรับประทานที่แสนพิถีพิถัน ที่นอกจากจะสะท้อนความประณีตบนโต๊ะอาหารแล้วยังสะท้อนภูมิปัญญาในการปรับตัวเข้ากับภูมิอากาศร้อน จนคล้ายกับธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงสงกรานต์ที่ต้องกินข้าวแช่ไปโดยปริยาย
The Momentum รวบรวม 4 ร้านข้าวแช่แสนสดชื่นที่ช่วยดับร้อนช่วงซัมเมอร์ ที่แต่ละร้านมีสูตรฉบับเฉพาะตัว ตั้งแต่สูตรชาวบ้านไปจนถึงตำรับในรั้ววัง ที่ทุกคนจะได้เห็นว่าภูมิปัญญาในข้าวแช่นั้น ช่วยดับร้อนคล้ายกระหายเพิ่มความสดชื่นในฤดูร้อนนี้ได้อย่างไร
1. ข้าวแช่ดอกชมนาด: ตำรับโบราณจากรั้ววังเทเวศร์แห่งทับขวัญ รีสอร์ท
หลีกหนีความวุ่นวายในเมืองใหญ่ มาดับกระหายคลายร้อนกับ ‘ข้าวแช่ดอกชมนาด’ หนึ่งในเมนูหายากจากทับขวัญ รีสอร์ท บ้านพักเรือนไทยเก่าแก่แห่งนนทบุรี ที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 10 ปี ครบครันทั้งการเป็นที่พัก สถานที่จัดงานสัมมนา พิธีรื่นเริง งานแต่งงาน ไปจนถึงห้องร้านอาหารไทยโบราณหายาก ที่มีรางวัลมิชลินไกด์การันตีคุณภาพและความอร่อยถึง 5 ปีซ้อน
ข้าวแช่ดอกชมนาดแห่งทับขวัญ รีสอร์ท มาจากตำรับโบราณจากรั้ววังเทเวศร์ มีจุดเด่นคือ กลิ่นหอมของน้ำข้าวแช่จากดอกชมนาดที่ปลูกในสวนของร้านโดยเฉพาะ ผสมผสานกับความหลากหลายของสำรับข้าวแช่ถึง 6 อย่าง ได้แก่ ไชโป๊ผัดไข่, หมูฝอย, ลูกกะปิ, หอมแดงทอดยัดไส้ลูกกะปิ, ปลาช่อนแดดเดียว, พริกหยวกยัดไส้หมูสับผสมกุ้ง รวมถึงผักแนมอื่นๆ อย่างขมิ้นชัน, กระชาย, พริก, หอม, แตงกวา และมะม่วงดิบ โดยเมนูนี้เปิดขายแค่เฉพาะฤดูร้อนของปี ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคมเท่านั้น
วัตถุดิบทุกอย่างในสำรับข้าวแช่ทับขวัญผ่านกรรมวิธีประกอบอาหารอย่างพิถีพิถัน นับตั้งแต่การนำข้าวขัดสีมาอบด้วยควันเทียนและดอกชมนาดเป็น 3 วัน ทำให้กลิ่นที่ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะ เหมือนข้าวสุกหุงใหม่ผสมผสานกับใบเตย ขณะที่การทำไชโป๊ผัดไข่ต้องใช้เวลา 1 วันเต็ม เพื่อนำไปอบควันเทียนให้มีกลิ่นหอม เช่นเดียวกับลูกกะปิที่มีขั้นตอนการทำซับซ้อน คือการนำปลาช่อนมาตำแล้วผัดกับกะปิ แล้วชุบไข่อีกทีเป็นเวลา 4 ชั่วโมง หรือแม้แต่การคัดสรรปลาที่ต้องเป็น ‘ปลาช่อนนา’ จากอ่างทอง เพื่อหลีกเลี่ยงกลิ่นเหม็นคาวและกลิ่นดิน และเลือกกะปิจากเกาะช้างโดยเฉพาะ เพราะมีสีสวย กลิ่นหอมพอดี เหมาะสมกับการเป็นอาหารไทยโบราณตำรับชาววัง ที่ไม่จัดจ้านหรือรสชาติใดรสชาติหนึ่งโดดจนเกินไป
วิธีรับประทานข้าวแช่ของทับขวัญ รีสอร์ท เหมือนกับวิธีพื้นฐานทั่วไปคือ การ ‘ห้ามทำน้ำข้าวแช่ขุ่น’ โดยไม่ควรนำสำรับใส่ในข้าวแช่แล้วกินพร้อมกันเหมือนอาหารทั่วไป แต่ควรกินกับข้าวแกล้มด้วยผักและสมุนไพรก่อน หลังจากนั้นจึงกินข้าวแช่ตาม
The Momentum มีโอกาสได้ลิ้มลองตำรับโบราณจากทับขวัญ รีสอร์ท จึงบอกได้อย่างเต็มปากว่า ข้าวแช่ที่นี่รสชาติอร่อยสมคำร่ำลือ โดยเฉพาะความละเมียดละไมของน้ำข้าวแช่ ที่มีกลิ่นหอมของดอกชมนาดอ่อนๆ เหมือนข้าวหอม ไม่ฉุนจนเกินไป ขณะที่ของทอดในสำรับมีความกรอบ ผ่านการปรุงอย่างพิถีพิถัน เช่นเดียวกับสัมผัสของผักแนมที่สดใหม่ เมื่อกินคู่กับของทอดที่มีความหวานนำ ถือว่าเนื้อสัมผัสและรสชาติตัดกันได้อย่างพอดิบดี ยิ่งกินยิ่งได้รับสดชื่น ผ่อนคลายจากอากาศร้อนของเมืองไทยได้อย่างดี
นอกจากนี้ทับขวัญ รีสอร์ทยังโดดเด่นด้านอาหารไทยตำรับโบราณขนานแท้อื่นๆ เช่น น้ำพริกขี้กา, น้ำพริกลงเรือ, แกงรัญจวน, แกงคั่วกระท้อนหมูย่าง รวมถึงของหวานสูตรเด็ด ได้แก่ ทับทิมกรอบ, สละลอยแก้ว, แกงบวดเผือกเม็ดบัว และบัวลอยเผือก ฯลฯ โดยหากผู้ที่สนใจสัมผัสข้าวแช่สูตรเฉพาะแห่งเมืองนนท์ฯ สามารถเดินทางมาได้ที่ทับขวัญ รีสอร์ท หรือสั่งซื้อเดลิเวอรีได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 0 2969 1200 ในราคา 490 บาท (เซตเล็ก) และ 890 บาท (เซตใหญ่ เฉพาะเดินทางมาที่ร้านเท่านั้น)
2. ข้าวแช่ห้องอาหารเบญจรงค์ ดุสิตธานี สุดยอดข้าวแช่สูตรชาวมอญ ที่อุดมไปด้วยความพิถีพิถัน
‘เบญจรงค์’ ถือเป็นหนึ่งในห้องอาหารไทยชั้นเลิศที่อยู่เคียงข้างโรงแรมดุสิตธานีมานาน นับตั้งแต่อาคารเก่ายังคงตั้งตระหง่านอยู่บนถนนพระราม 4 กระทั่งวันนี้ย้ายมาอยู่ที่ ‘บ้านดุสิตธานี’ ซอยศาลาแดง
หากใครคุ้นชื่อ ‘เบญจรงค์’ ย่อมรู้ดีว่าห้องอาหารแห่งนี้ได้รับการยกย่องในฐานะ ‘อาหารชาววัง’รสชาติไทยแท้ๆ แต่ละเมนูมีกรรมวิธีทำสุดพิถีพิถัน วัตถุดิบล้วนคัดสรรมาเป็นพิเศษจากแหล่งกำเนิด เพื่อคงคุณภาพของรสชาติให้เต็มเปี่ยม
และแน่นอน ‘ข้าวแช่’ ของเบญจรงค์ จะธรรมดาเหมือนร้านอื่นๆ ไปไม่ได้
The Momentum ได้รับเชิญจากโรงแรมดุสิตธานี ให้ลิ้มรส ‘ข้าวแช่ชาววังสูตรโบราณ’ สุดประณีต สูตรของเบญจรงค์ ซึ่งเป็นอาหารชาววังชั้นเซียน ใช้สูตรจาก ‘ชาวมอญ’ ที่เคยเป็นแม่ครัวในวัง ส่งต่อสูตรสืบต่อกันมานานหลายทศวรรษ
เริ่มจาก ‘ข้าว’ ที่ใช้เป็นข้าวหอมมะลิออแกนิกจากทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดสุรินทร์ กรรมวิธีคือเอาไปต้มเหมือนกับทำข้าวต้ม พอเริ่มแข็งเป็นตากบ ก็เทน้ำออก แล้วนำข้าวไปขัดด้วยสารส้ม พอหมดยาง ก็นำมานึ่งต่ออีก 12 นาที จึงจะเสร็จสิ้นกระบวนความ
ขณะที่น้ำหอมข้าวแช่ จะนำไปลอยกับดอกมะลิออร์แกนิคและกุหลาบมอญ ประมาณ 4-5 ชั่วโมง เท่านั้นยังไม่พอต้องเอาน้ำไปอบควันเทียนกับดอกชมนาดเพื่อเพิ่มความหอม ก่อนจะได้เป็นน้ำข้าวแช่
ขนาดยังไปไม่ถึงเครื่องเคียง เพียงแค่ ‘ข้าว’ ของข้าวแช่ห้องอาหารเบญจรงค์ก็ทำยาก เต็มไปด้วยขั้นตอนอันละเอียดลออ
ไปกันที่เครื่องเคียงข้าวแช่ เครื่องเคียงแรกคือ ไชโป๊หวาน ที่แม่ครัวบอกว่าต้องไปคัดเลือกมาจากจังหวัดราชบุรี นำมาล้างน้ำสะอาด ก่อนผึ่งแห้ง แล้วนำไปผัดในน้ำมันหอมแดงเจียว ผึ่งในไฟอ่อนนาน 45 นาที จนไชโป๊ขึ้นเงาสวยงาม ได้รสหวานจากน้ำผึ้ง ให้สัมผัสที่แปลกใหม่ โดย คุณปุ๋ม-สุกัญญา งามศรีขำ หัวหน้าทีมครัวของห้องอาหารเบญจรงค์ บอกว่า สูตรดังกล่าวถือเป็น ‘สูตรลับ’ ของชาวมอญที่สืบต่อกันมาช้านาน
ขณะที่ ‘ลูกกะปิ’ อีกหนึ่ง Signature ของข้าวแช่ มีเคล็ดลับคือแม่ครัวต้องเลือกกะปิจากร้านประจำที่มีความเค็มไม่มาก และกลิ่นไม่แรงนัก นำไปปรุงร่วมกับปลาช่อนย่าง ตะไคร้ กระชาย หอมแดง และหัวกะทิ ผัดจนไฟอ่อนไปเรื่อยๆ จนปั้นแล้วไม่ติดมือ ก่อนนำไปชุบกับไข่อารมณ์ดีและแป้งทอดจนเหลืองทอง
ลองลิ้มรสลูกกะปิเป็นคำแรก ตามแบบฉบับวิธีการกินข้าวแช่ ก็รู้เลยว่ารสสัมผัสของลูกกะปิห้องอาหารเบญจรงค์นั้นหอมกรอบ ‘พรีเมียม’ แตกต่างจากข้าวซอยร้านอื่นๆ ที่เคยได้ชิมมาชัดเจน
เครื่องที่เหลือของข้าวแช่ ได้แก่ ปลายี่สนผัดหวาน ที่ใช้เนื้อปลาตากแห้ง ก่อนทุบแล้วนำมาฉีก ผัดกับน้ำตาลโตนด ปรุงรสด้วยน้ำปลา เป็นสูตรพื้นบ้านจากภาคใต้ ขณะที่หอมแดงสอดไส้ ใช้ไส้ข้างในเป็นลูกกะปิ ยัดลงไปในหอมแดงโทนที่คว้านไส้ในออกมา
ส่วนพริกหยวกยัดไส้ อีกหนึ่งเครื่องเคียงมาตรฐาน เบญจรงค์เลือกใช้ไส้ในไส้หมูสับกับกุ้งปรุงรส หมักกับรากผักชี กระเทียม และพริกไทย ก่อนนำไปนึ่ง แล้วห่อด้วยไข่เน็ตที่ทำอย่างละเอียดประณีตบรรจง
นอกจากนี้ข้าวแช่ของเบญจรงค์ ยังมีเนื้อฝอย หมูฝอย ผัดกับน้ำตาลโตนด รสชาติหอมหวาน และผักสดออแกนิก รวมถึงมะม่วงอ่อน กระชาย พริกชี้ฟ้า เครื่องแนมของข้าวแช่ ที่รวมกันแล้วอร่อยเหาะ เมื่อจบกระบวนความแล้ว อย่าลืมลิ้มรส ‘ส้มฉุน’ ลอยแก้ว ที่ใช้ลิ้นจี่ ฝรั่งชมพู และส้มซ่า มาทำเป็นของหวาน ล้างปากจากข้าวแช่ได้ดียิ่งนัก หรือถ้าพื้นที่ในท้องยังพอเหลือจะสั่งของหวานขึ้นชื่ออย่าง ข้าวเหนียวมะม่วงเชอร์เบท และเค้กกาละแม ไอศกรีม กล้วยกรอบ มาแจมด้วยก็ไม่ว่ากัน
นอกจากข้าวแช่รสชาติชั้นเยี่ยมแล้ว ห้องอาหารเบญจรงค์ยังมีอาหารไทยขึ้นชื่ออีกมากมาย เป็นต้นว่า ยำมังคุด สูตรพิเศษ แกงแขกขาเป็ดและผลไม้แห้ง แกงเขียวหวานซี่โครงเนื้อออสเตรเลียตุ๋น 72 ชั่วโมง คะน้าย่างฮ่องกงน้ำมันหอย กุ้งแม่น้ำข้าวเม่ากรอบซอสมะขาม ทั้งหมดนี้กินไปดื่มด่ำประวัติศาสตร์ของ ‘บ้านศาลาแดง’ ที่ตั้งของห้องอาหารเบญจรงค์ไป ยิ่งเพลิดเพลินใจคูณสอง คูณสาม เข้าไปอีก
ข้าวแช่ชาวมอญของดุสิตธานีเสิร์ฟแค่วันละ 15 ชุดเท่านั้น ใครสนใจ อย่าลืมจองล่วงหน้า เพราะอาหารชาววังสูตรพิเศษต้องใช้เวลา และใช้ความพิถีพิถันก่อนจะวางบนโต๊ะอาหาร ขึ้นโต๊ะพร้อมรับประทาน พร้อมให้ลิ้มลองตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรื่อยไปจนถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
สนนราคาข้าวแช่ห้องอาหารเบญจรงค์อยู่ที่ชุดละ 1,165 บาท หากสั่งกลับบ้านในสำรับแสนสวย นำไปฝากผู้หลักผู้ใหญ่ อยู่ที่ชุดละ 1,400 บาท ขณะที่ใครอยากได้ความหรูหราสุดพรีเมียม อย่าลืมสั่งเป็นชุดปิ่นโตลายเบญจรงค์ ราคา 3,500 บาท
ห้องอาหารเบญจรงค์เดินทางง่าย จะมาด้วยรถส่วนตัวก็ได้ หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีศาลาแดง รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สถานีสีลม ก็เดินเข้าซอยมากเพียงเล็กน้อย (อย่าลืมว่า ‘บ้านดุสิตธานี’ เป็นคนละที่กับโรงแรมดุสิตธานี ที่อยู่ริมถนน) สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือโทรไปจอง สามารถติดต่อได้ที่ 0 2200 9999 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ Baan Dusit Thani
3. ข้าวแช่ชาววัง ‘หลายรส’ สูตรต้นตำรับโบราณ หอม เย็น ชื่นใจตลอดปี
อีกหนึ่งร้านที่ The Momentum อยากแนะนำคือ ‘หลายรส’ ร้านอาหารไทยโบราณที่เสิร์ฟข้าวแช่สูตรชาววังแท้ให้ได้ลิ้มรสตลอดทั้งปี ไม่จำกัดแค่ฤดูร้อน
ร้านหลายรสตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 49 โดดเด่นด้วยอาหารไทยโบราณ และเมนูที่เราตั้งใจมาลิ้มลองวันนี้ต้องเป็น ข้าวแช่ชาววัง (ราคา 380 บาท) ที่มีเครื่องแน่นจัดเต็ม ซึ่งเป็นสูตรของคุณอุไร เกษมสุวรรณ เป็นตำรับของพระวรวงศ์เธอพระองค์หญิงเฉลิมเขตมงคล จุดเด่นคือการคงรสมือแบบต้นตำรับไว้อย่างครบถ้วน ทั้งวัตถุดิบที่เลือกใช้ ไปจนถึงขั้นตอนการเตรียมที่พิถีพิถัน
ข้าวแช่ชาววังตามแบบฉบับหลายรสมีเครื่องเคียง 6 อย่างคือ พริกหยวกยัดไส้หมูผสมกุ้งห่อด้วยไข่ฝอย, หอมแดงทอดยัดไส้ปลาแห้งปรุงรสนำมาชุบแป้งทอดรสหวานกำลังดี, ลูกกะปิทอด สูตรกะปิมหาชัยแท้ ปรุงรสโขลกละเอียดแล้วทอดหอมๆ, ปลายี่สนผัดหวาน รสชาติหวานกำลังดี, หัวไชโป๊หวานผัดไข่ ผัดแบบแห้งนิดๆ และเนื้อฝอย ถ้าไม่กินเนื้อฝอยก็เปลี่ยนเป็นหมูฝอยแทนได้
ส่วนข้าวที่ใช้เป็นข้าวเสาไห้หุงแบบโบราณ ผ่านการล้างขัดยางอย่างละเอียด แล้วนำไปนึ่งจนได้เนื้อข้าวเรียงเม็ดสวย เสิร์ฟในน้ำอบควันเทียนหอม พร้อมน้ำแข็งเพิ่มความสดชื่น
ข้าวและเครื่องเคียงแยกกันจัดเสิร์ฟอย่างประณีต เวลากินให้ตักข้าวทีละนิด สลับกับเครื่องเคียงคำเล็กๆ สัมผัสถึงกลิ่นควันเทียนหอมอ่อนๆ และความกรอบสดจากผักแกะสลัก เช่น มะม่วงอ่อน กระชาย ต้นหอม และพริกชี้ฟ้า
นอกจากข้าวแช่ชาววังแล้ว หลายรสยังมีอาหารไทยชาววังเมนูอื่นๆ ให้ลองอีกมากมาย เช่น ข้าวซอยเนื้อริบอาย, ขนมปังหน้าหมู, ขนมจีนน้ำพริก และโรตีแกงไก่ ทุกเมนูรังสรรค์โดยแม่ครัวของร้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของต้นเครื่องแท้ๆ ที่สืบทอดสูตรและเคล็ดลับรุ่นสู่รุ่น ทำให้ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน รสชาติยังอร่อยเหมือนเดิม
พิเศษตลอดเดือนเมษายนนี้ ร้านหลายรสจัดชุดข้าวแช่พิเศษในราคา 450 บาท เสิร์ฟพร้อมข้าวเม่าน้ำกะทิหอมชื่นใจ
ใครที่อยากย้อนเวลากลับไปสัมผัสรสมือของต้นเครื่องแท้ในบรรยากาศอบอุ่นแบบไทยๆ หลายรสคือจุดหมายที่ควรแวะไปเยือนในหน้าร้อนนี้
ทั้งนี้ร้านหลายรสเปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-21.30 น. และวันจันทร์ เวลา 10.00-15.00 น. (หยุดวันจันทร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0 2391 3193 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ หลายรส – Lai Ros
4. ข้าวแช่ สูตร จิม ทอมป์สัน ความสดชื่นที่ลงตัวระหว่างตำรับชาวบ้านและชาววัง
ปิดท้ายด้วยร้านอาหารไทย จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson, A Thai Restaurant) ที่เป็นที่รู้จักในฐานะบ้านที่เปิดต้อนรับแขกคนดังในอดีตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักการทูต รวมไปถึงดาราฮอลลีวูดที่ได้มาลิ้มรสเมนูอาหารไทยชั้นเลิศที่บ้านจิม ทอมป์สัน และแน่นอนว่า รวมไปถึงเมนูในหน้าร้อนอย่าง ‘ข้าวแช่’ ที่เปิดให้บริการมายาวนานกว่า 15 ปี ที่ยังคงใช้สูตรและวัตถุดิบแบบดั้งเดิมแต่ยกระดับด้วยกรรมวิธีการปรุง การนำเสนอ รวมถึงวัตถุดิบคุณภาพดีจากท้องถิ่นเพื่อซัพพอร์ตชุมชน
จุดเด่นของข้าวแช่ฉบับ จิม ทอมป์สัน คือการสืบสานอัตลักษณ์ข้าวแช่แบบเดิมทั้งแบบชาวบ้านและชาววังอย่างลงตัวที่มีความแตกต่างระหว่าง 2 สูตรคือ ข้าวแช่ชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้ข้าวเสาไห้ซึ่งจะแข็งกระด้างกว่าและเครื่องเคียงน้อยกว่า ส่วนแบบชาววังจะใช้ข้าวหอมมะลิเก่าสุกขัดขาวสวย พรมน้ำลอยดอกไม้ต่างๆ ที่ขาดไม่ได้คือดอกมะลิและกุหลาบมอญ โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์ข้าวแช่แบบเดิมซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ พร้อมกับอบควันเทียนหอมแบบชาววัง เพื่อให้เหมาะกับยุคปัจจุบันอย่างเหมาะสม ทั้งกลิ่นข้าวหอมมะลิไทยต้นฤดูที่แล้วที่เก็บรักษาไว้เพื่อทำข้าวแช่ กลิ่นอบควันเทียน และน้ำลอยดอกไม้ ที่เสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงอันหลากหลาย
จุดเด่นของทางร้านคือ การนำเสนอ ข้าวหอมมะลิไทยแรกเกี่ยวฤดูก่อน ต้มพอดีสุก ขัดขาวแล้วนำไปนึ่งด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม ละกลิ่นหอมของมะลิไทยพร้อมเครื่องเคียง 7 ชนิด พร้อมผักและผลไม้แกะสลักที่ล้วนมาจากชุมชนท้องถิ่น
ส่วนวิธีกินเริ่มต้นด้วยการกินเครื่องคาวก่อน ไล่จากลูกกะปิ ตามด้วยปลายี่สน และเครื่องคาวอื่นๆ โดยสลับสับเปลี่ยนกันได้ตามใจ จากนั้นตักข้าวพร้อมน้ำลอยดอกไม้เย็นชื่นใจ สิ่งสำคัญที่สุด คือการไม่ตักเครื่องเคียงใส่ในชามข้าวแช่ เพราะจะกลบกลิ่นหอมของดอกไม้และควันเทียน นอกจากนี้ ลำดับการกินเครื่องเคียงสลับข้าว ยังสามารถกินเครื่องคาวอย่างละนิด แล้วสลับไปที่เครื่องหวานเล็กน้อย จากนั้นก็สลับกลับมากินเครื่องคาวอีกก็ทำได้เช่นกัน หรือจะกินไล่จากคาวไปหวานก็แล้วแต่คนชอบ
นอกจากนี้ทางร้านยังมีเมนูอื่นที่เสิร์ฟมาพร้อมเมนูของหวานที่เข้ากันอย่าง ส้มฉุนลิ้นจี่มะยงชิดและมัลเบอร์รี่ในน้ำเชื่อม และยังมีเมนูอาหารขายดีอื่นๆ ที่อยากนำเสนอ เช่น Nue Pan Bai Cha Pu-เนื้อโคขุนไทยพันใบชะพลูย่างถ่าน เสิร์ฟพร้อมน้ำพริกเผามะขาม, Por Pia Pu-ป่อเปี๊ยะตาข่ายไส้หมูดำและปูม้าสุราษฎร์ธานี กินคู่กับขมิ้นชันทาร์ทาร์ซอส, Lohn Pu Nim-หลนน้ำปูหอมสมุนไพรไทย เสริมรสสัมผัสด้วยปูนิ่มทอดกรอบ, และ Chu Chee Goong-ฉู่ฉี่กุ้งลายเสืออันดามัน รสชาติเข้มข้นถึงเครื่องแกงไทยแท้ๆ
เมนูข้าวแช่สูตร จิม ทอมป์สัน เปิดขายถึงแค่ 11 พฤษภาคมนี้ หากรับประทานที่ร้านราคา 890+ บาท ส่วนชุดปิ่นโตกลับบ้านพร้อมผ้าไหมสูตรพิเศษสนน ราคาอยู่ที่ 1,550 บาท, เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 11.30-22.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 06 1421 8951 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ Jim Thompson, A Thai Restaurant