ตั้งแต่ได้รับคำชวนจากทีมงาน Parkใจ ของนิตยสารสารคดี ให้เข้าร่วมเดินทางไป ‘อาบป่า’ ที่จัดขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกะมัง ในช่วงปลายปีเช่นนี้ เพียงนึกภาพของต้นไม้อันเขียวชอุ่ม ความหนาวเย็นของอากาศบนทิวเขาสูง ให้สายลมอันบริสุทธิ์โอบกอดร่างกาย ฝูงกวางนานาชนิดที่หลบตามพงหญ้าออกมาทักทาย อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับพาตัวเองออกไปเจอโลกกว้าง พักผ่อนจากการทำงานตลอดปี ให้ร่างกายได้สัมผัสป่า ส่วนหัวใจได้สัมผัสความสงบ พาตัวเองออกจากเมืองอันแสนวุ่นวายสู่พงไพรอันเขียวขจี

หลังจากผ่านเส้นทางอันแสนคดเคี้ยวตลบวนเวียน ในที่สุดก็ถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกะมัง ส่องดูนาฬิกาพบว่าเวลา 5 โมงกว่า แต่เส้นทางข้างหน้ากลับค่อนข้างมืด คงเป็นเพราะในช่วงหน้าหนาวฟ้ามืดเร็วกว่าปกติ ยิ่งในป่าลึกซึ่งยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้นานาชนิดที่ขึ้นปกคลุมตลอดแนวถนน ทำให้แสงของพระอาทิตย์ส่องลงมาได้เพียงรำไรยิ่งแล้วใหญ่

  “ทางข้างหน้าขับระวังนะครับ เพราะมีสัตว์ป่าที่จะข้ามถนน โดยเฉพาะช้างชอบออกมาช่วงเย็นๆ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะขับนำเข้าไปก่อนนะครับ” เจ้าหน้าที่บริเวณประตูเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกะมังอธิบาย

ทุกคนพยักหน้ารับคำอย่างว่าง่าย คงไม่อยากมีใครเจอพ่อพลายป่าในช่วงเวลาตะวันเริ่มโพล้เพล้เช่นนี้  

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกะมังแห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ป่าอนุรักษ์กว่าล้านไร่ ในจังหวัดชัยภูมิ เทียบเท่ากับพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งจังหวัด ส่วนสถานที่ดำเนินกิจกรรมทางธรรมชาติยอดนิยมคือ ‘ทุ่งกะมัง’ ซึ่งเป็นทุ่งขนาดใหญ่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายกะละมังคว่ำ ทำให้ชาวไทคอนสานที่อพยพมาตั้งรกรากและเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า ‘ทุ่งกะมัง’ ตามภาษาท้องถิ่นไทคอนสาร 

นอกจากนี้ ทุ่งแห่งนี้ยังเคยถูกเรียกว่า ‘ทุ่งกำวาง’ เนื่องจากประชาชนบางส่วนต้องยอมวางกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จับจองให้กลายเป็นบ้านสัตว์ป่าอย่างสมบูรณ์

ในช่วงเช้าวันแรกก่อนที่เราจะทำกิจกรรมอาบป่า สิ่งที่ดูจะตื่นตาตื่นใจสำหรับทุกคนคือ ภาพความสวยงามของท้องทุ่งที่สัมผัสกับแสงแรกของอาทิตย์ยามสนธยา ทิวหญ้าสีเหลืองทองปนไกลสุดตา ข้างหลังเป็นภูเขาที่ตั้งสูงตระหง่าน ส่วนด้านหน้าคือทิวเมฆหมอกที่ยังหยอกเคล้าคลอกับเหล่าเนื้อทราย กวาง และเก้งที่เริ่มออกมาหากิน ธรรมชาติกำลังสร้างสิ่งสวยงาม นานเพียงใดแล้วที่ไม่ได้เห็นภาพเช่นนี้ ราวกับกำลังรื้อฟื้นความทรงจำที่ขาดหายไป เชื่อได้ว่าในวินาทีนั้น หัวใจของทุกคนกลับสงบลง ราวกับ ‘มนุษย์’ และ ‘ธรรมชาติ’ กำลังเชื่อมสายสัมพันธ์เข้าหากันอีกครั้ง

การอาบป่า (Forest Bathing) หรือชินรินโยคุ (Shinrin-Yoku) คือการพาร่างกายและจิตใจเข้าไปสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อบำบัดความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นกับร่างและจิตใจ กล่าวอย่างง่ายคือ การให้ธรรมชาติเยียวยาหัวใจ 

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เสนอว่า ในปัจจุบันที่มนุษย์มีความสุขน้อยลง เนื่องจากการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติกำลังลดน้อยลง โดยเฉพาะในเด็กที่เกิดมาท่ามกลางเทคโนโลยี และไม่ได้มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติและโลกน้อยเกินไป อาจเข้าข่ายโรคขาดธรรมชาติ (Nature Deficit Disorder) ซึ่งพบมากขึ้นในปัจจุบัน โรคดังกล่าวส่งผลให้การเรียนรู้ช้าลง ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือปัญหาด้านสภาวะทางอารมณ์ 

ดังนั้น การอาบป่าจึงมีส่วนช่วยและฟื้นฟูให้ร่างกายได้โอบรับพลังงานดีๆ จากป่า ส่วนหัวใจได้รับการโอบอุ้มความสุข พร้อมเข้าถึงสายสัมพันธ์ของธรรมชาติอีกครั้งผ่านการอาบป่า

แต่ก่อนจะเข้าสู่การอาบป่า ต้องมีการติดเครื่องมือขยายผัสสะเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติเสียก่อน เพื่อจะให้เข้าถึงการอาบป่าที่สมบูรณ์ที่สุด โดยให้ทุกคนลองละเมียดละไมกับผัสสะทั้งห้าของตน ไม่ว่าจะเป็น กลิ่น เสียง รูป รส และสัมผัส ค่อยๆ เรียนรู้ว่ามนุษย์ยังใช้ศักยภาพเหล่านี้ได้ไม่เต็มที่ 

ตรงนี้เองทำให้นึกย้อนไปถึงคำบอกเล่าของเพื่อนที่เป็นผู้พิการทางสายตาคนหนึ่งว่า คนตาบอดมักมีหูที่พิเศษเสมอ เขาบอกว่าเขาได้ยินเสียงที่แยกออกมาเป็นมากกว่าคนปกติทั่วไป เพราะเขาสัมผัสโลกด้วยเสียงเป็นหลัก จึงเชื่อได้ว่ามนุษย์เรายังเรียนรู้การทำงานของผัสสะได้เพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น

ในกิจกรรมนี้จะค่อยๆ ค้นหาขีดจำกัดของผัสสะ โดยให้ลองกางมือออกเพื่อดูว่าตาของเรามองได้กว้างเท่าใด และใช้สายตานั้นมองภาพความสวยงามของทุ่งกะมังอย่างละเมียดละไม ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เพื่อค้นหาสิ่งมหัศจรรย์ที่เราอาจมองข้ามไป บางคนค้นพบแมงมุมตัวนักแปลงกาย ซึ่งซ่อนอยู่บนใบไม้ที่มีสีเดียวกัน หรือบางคนอาจพบว่าเมฆวันนี้เคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว จรดจนมองเห็นนกแก๊กที่ซ่อนอยู่ตรงต้นไม้ไกลๆ 

ย้อนไปนึกถึงการใช้ชีวิตในเมืองที่เร่งรีบ ทุกคนดำเนินชีวิตอย่างรวดเร็ว จนบางทีอาจละเลยสิ่งสำคัญบางอย่างไป การได้ขยายผัสสะช่วยให้ทุกคนได้ลองละเมียดละไมกับสิ่งตรงหน้า อยู่กับตัวเอง ให้คำตอบตัวเองอย่างช้าๆ โดยมีธรรมชาติเป็นสื่อกลาง 

บางทีทุกคนอาจมีผัสสะที่ดีมากติดตัวมาตั้งแต่เกิด เพียงแต่เราหลงลืมมันไป ยิ่งเมื่อเราเริ่มเปิดผัสสะทั้งหมด เราจะเริ่มรับรู้ว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีเราเป็นศูนย์กลาง แต่ยังมีสัตว์และพืชนานาชนิดต่างรายล้อมเรา บนพื้นมีหญ้า บนฟ้ามีเมฆ ขณะเดียวกันก็มีสัตว์นานาชนิดที่ส่งเสียงร้องทักทายตลอดเวลา เพียงแต่ในช่วงเวลาปกติเราอาจไม่เคยรับรู้เท่านั้นเอง

แน่นอนว่าในระหว่างทำกิจกรรม เหล่าเนื้อทราย กวาง และเก้งที่กำลังออกหากินในทุ่ง เริ่มเข้าใกล้เรามากขึ้น เพราะสัญชาตญาณบอกกับเขาว่าเราไม่เป็นอันตรายต่อเขา และให้พวกเราได้เก็บรูปพวกเขากลับไปเป็นที่ระลึกอย่างใกล้ชิด

ในทุ่งกะมังแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นบ้านของสัตว์ป่า เนื่องจากมีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด รวมถึงสัตว์ที่มีจำนวนลดน้อยลงอย่างแรด เสือและแมวป่า 

นอกจากนี้ ภูเขียวยังเป็นป่าต้นน้ำที่รองรับน้ำฝนอย่างมหาศาล และเป็นจุดกำเนิดแม่น้ำชีที่ไหลยาวกว่า 765 กิโลเมตร ไปสิ้นสุดที่โขงเจียมและไหลลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป จึงกล่าวได้ว่าภูเขียวเป็นบ้านของสัตว์ป่าแต่กลับหล่อเลี้ยงและโอบอุ้มคนอีสานด้วยสายน้ำชีที่ทอดยาว

ไฮไลต์ของกิจกรรมคือการอาบป่า โดยเป็นการเดินป่าในเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เรียกกันว่า ‘เส้นทางเยี่ยมชมบ้านของสัตว์ป่า’ ในระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร ซึ่งระหว่างการเดินเราจะได้พบร่องรอยของสัตว์ป่าเป็นระยะๆ รวมถึงได้ยินเสียงของนกนานาชนิดที่ผลัดกันมาร้องเพลง รวมถึงชื่นชมธรรมชาติของดอกไม้และต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ตลอดแนวการเดินทาง

เดินทางมาระยะหนึ่งทุกคนเจอกับ ‘กร่างใหญ่’ หรือต้นไทรกร่างที่สูงใหญ่อยู่ตรงหน้า คงเป็นเพราะป่าเรียกร้องทุกคนเดินเข้าไปสัมผัสต้นไม้พร้อมกัน ต้นไทรขนาดกว่า 10 คนโอบกลายเป็นแหล่งพักพิงให้เหล่านักเดินทางเป็นที่เรียบร้อย 

ได้นั่งโอบกอดต้นเพียงครู่เดียว ความเหนื่อยที่สะสมมาก็เริ่มหาย รับรู้ได้ว่าอุณภูมิในบริเวณนั่นเย็นลง พร้อมกับมีลมเบาๆ เข้ามาสัมผัสร่างกาย ไทรกร่าง นอกจากจะเป็นต้นไม้ที่ใหญ่เป็นที่พักพิงให้กับสิ่งมีชีวิต ยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะนกที่ชอบกินลูกไทรเป็นอาหาร

การได้โน้มตัวไปสัมผัสกับต้นไม้และค่อยๆ พูดกับเขา นัยหนึ่งอาจเหมือนได้พูดคุยกับตัวเอง ได้ระบายความเครียดออกจากตัว และให้ต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุอยู่มาอย่างยาวนานเป็นผู้คอยชี้แนะ เปลือกไม้ที่บอบบางแต่กลับคุ้มครองลำต้นได้อย่างแข็งแกร่งกำลังช่วยตอบคำถามบางอย่างในหัวใจ ส่วนใบไม้ที่กำลังปลิวไหวบนยอดสูงก็ทำให้เราได้ผ่อนคลายกับสายลมที่พัดมา การได้นั่งอาบป่าใต้ต้นไม้ใหญ่ช่วยให้หัวใจได้ผ่อนคลายอย่างแท้จริง

จนเมื่อสิ้นสุดการเดินทาง ทุกคนต่างค้นพบคำตอบในบางเรื่องของชีวิตไม่มากก็น้อย สุดท้ายไม่ว่าคำตอบที่ได้จากการอาบป่า อาบใจ ในครั้งนี้จะเป็นเช่นไร เชื่อได้ว่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่ใช้เพื่อไขหนทางของชีวิต และเป็นดั่งตะเกียงในหัวใจที่คอยนำทางยามที่ล้มหรือเหนื่อยหัวใจ การได้พาตัวเองมาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ได้รับความสุขจากอ้อมกอดของโลกเพียงเท่านี้ก็คุ้มค่าที่ตัดสินใจให้ตัวเองเดินมาที่ทุ่งกะมังแห่งนี้

Tags: , , ,