วีรบุรุษสร้างชาติหรือจอมเผด็จการ?
หากไม่นับชื่อของ พัค จองฮี (Park Chung-hee) บุรุษเหล็กอดีตผู้นำเกาหลีใต้ สมญานามที่ดูขัดแย้งกันเช่นนี้คงตกเป็นของ เจียง ไคเช็ก (Chiang Kai-shek) อดีตผู้นำสาธารณรัฐจีน และพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomingtang: KMT) ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังไต้หวันในฐานะพื้นที่ลี้ภัยชั่วคราว หลังพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมือง ด้วยความหวังว่าในบั้นปลายของชีวิต เขาจะได้กลับไปอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้ง
แม้คนบางคนปักใจเชื่อว่า เจียงไม่ได้เลวร้ายไปเสียหมด เขานำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ไต้หวัน และเป็นดังวีรบุรุษปกป้องคนในชาติจากญี่ปุ่นและภัยคอมมิวนิสม์ (Communism) ของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกกำลังจดจำชายผู้นี้ในฐานะผู้รุกราน และเผด็จการที่ประกาศกฎอัยการศึกนานที่สุดในโลก ทั้งคุมขัง ทรมาน และสังหารผู้คนบริสุทธิ์มากมายทั้งหมดราว 2 แสนคน นับตั้งแต่เหตุการณ์ 228 (228 Incident) จนถึงยุคความน่าสะพรึงกลัวสีขาว (White Terror) ที่กินเวลายาวนานถึง 4 ทศวรรษ
เพราะประวัติศาสตร์กำลังแก้แค้น และอดีตกำลังทวงถามความยุติธรรมในรูปแบบผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อในปี 2017 พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) ภายใต้รัฐบาล ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการความยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่านชั่วคราว (Transitional Justice Commission) เพื่อสอบสวนมรดกของเผด็จการพรรคก๊กมินตั๋ง โดยเช็กบิลย้อนหลังตั้งแต่ปี 1945 ปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด จนถึงปี 1992 หลัง หลี เติงฮุย (Lee Teng-hui) ประธานาธิบดีคนที่ 4 ของไต้หวัน ยุตินโยบายต้านภัยคอมมิวนิสม์ของเจียง ด้วยการประกาศยกเลิกบทบัญญัติชั่วคราวปราบปรามคอมมิวนิสต์ ที่อนุญาตให้รัฐบาลใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ
หนึ่งในเรื่องเล็กๆ ที่สร้างความฮือฮาให้กับสาธารณชนคือ การที่คณะกรรมาธิการฯ แนะนำให้กวาดล้าง ‘รูปปั้น’ ในฐานะมรดกของจอมเผด็จการ ออกจากสถานที่สำคัญออกให้หมด โดยเฉพาะรูปปั้นที่ใหญ่ที่สุดในอนุสรณ์สถานเจียง ไคเช็ก (Chiang Kai-Shek Memorial Hall) กลางกรุงไทเป ซึ่งหากพูดตรงไปตรงมา การมีอยู่ไม่ต่างจาก ‘ตบหน้า’ คนไต้หวันรุ่นใหม่ทั้งหมด ที่กล้ารำลึกจอมเผด็จการผู้บุกรุกดินแดนและเข่นฆ่าผู้คนในประเทศ
ถึงจะเผชิญแรงต่อต้านบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มก้อนนักการเมืองจากพรรค KMT ในปัจจุบัน แต่สุดท้ายฉันทมติลบล้างมรดกเจียงเป็นเอกฉันท์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาลไต้หวันพยายามรื้อถอนรูปปั้นจอมเผด็จการตามสถานที่ราชการออก จนถึงกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ให้ความชอบธรรมต่อระบอบอำนาจนิยม เช่นการยกเลิกพิธีเปลี่ยนเวรทหารเฝ้ารูปปั้นเจียงที่อนุสรณ์สถาน
จากเรื่องราวที่ได้รับรู้สู่ประสบการณ์จริง ในฐานะผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อมีโอกาสบินลัดฟ้าไปถึงไต้หวัน จุดหมายปลายทางที่เราเฝ้ารอไม่ใช่ที่เที่ยวยอดฮิต แต่กลับเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความสำคัญกับทั้งเจียงและคนไต้หวัน นั่นก็คือสุสานฉือหู (Cihu Mausoleum) บ้านหลังสุดท้ายและสถานที่ ‘ทิ้ง’ รูปปั้นจอมเผด็จการ นับเป็นภาพส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่เบ่งบาน และก้าวสำคัญของการชำระประวัติศาสตร์ของชาติ
1
ก่อนจะเข้าเรื่อง ต้องขออารัมภบทเพื่อทำความเข้าใจก่อนว่า แม้เราจะจินตนาการออกว่า คนไต้หวันจดจำเจียงในรูปแบบไหน ทั้งจากได้ยินเรื่องราวมากมายหรืออ่านข้อมูลในช่วงร่ำเรียนและทำงาน แต่บางอย่างก็ไม่อาจทำให้เราเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เทียบเท่ากับการมีประสบการณ์ด้วยตนเอง
เมื่อได้มาเยือนดินแดนที่เปรียบดังหัวใจแห่งเอเชีย (Heart of Asia) นอกจากทริปหลักอย่างการไปชมเทศกาลโคมไฟไต้หวันที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-23 กุมภาพันธ์ 2025 ในเมืองเถาหยวน (Taoyuan) หนึ่งในแพลนทริปที่เราจับตามองเป็นพิเศษคือ การไปเยือนสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเจียงในอดีต โดยหนึ่งในนั้นคือ หมู่บ้านมาจู่ซินชุนและสุสานซือหู
ก่อนหน้าไปเยี่ยมเยียนสุสานซือหู ผู้เขียนมีโอกาสไปหมู่บ้านมาจู่ซินชุน หรือหมู่บ้านทหารผ่านศึกที่รองรับทหารของเจียงที่ประจำการบนเกาะมัตสึ (Matsu) ซึ่งหากย้อนความเป็นมาจะพบว่า ซ่ง เหม่ยหลิง (Song Meiling) หรือ ‘มาดามเจียง’ ภรรยาของจอมเผด็จการ ได้แนะนำให้สร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นมา โดยปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดชิก มีกิจกรรมมากมายให้ทำเรียบร้อย
ในระหว่างการสำรวจหมู่บ้าน นอกจากตามรอยอดีตว่า ชีวิตของทหารและครอบครัวที่นี่เป็นอย่างไร เราสะดุดตากับห้องเรียนจำลองหลังหนึ่ง เพราะมีรูปของบุคคลสำคัญติดอยู่บนกลางผนังของกระดาน นั่นก็คือ ซุน ยัตเซ็น ซึ่งคุณไกด์เรียกเขาว่า ซุน จงซาน (Sun Zhongshan) ชายผู้ได้รับการขนานนามว่า บิดาแห่งสาธารณรัฐจีนและนักประชาธิปไตยผู้ปฏิวัติ
แม้ ‘เชอรี’ ไกด์หญิงชาวไต้หวันผู้เปี่ยมไปด้วยพลังทั้งทริป จะตั้งใจบรรยายชีวิตและวีรกรรมว่า ทำไมซุน ยัตเซ็นจึงเปรียบดังบิดาของคนในชาติ แต่แล้วสมองอันซอกแซกของเราก็ถามเธอออกไปว่า แล้วเจียง ไคเช็กเป็นอย่างไรบ้าง
“บทบาทของเจียงเป็นที่ถกเถียงในไต้หวันมาก” เชอรีอธิบายพร้อมขยายความถึง วีรกรรมที่เรารู้กันดีคือ การประกาศกฎอัยการศึกในอดีต นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมคนไต้หวันจึงไม่ได้ยกย่องเจียงเทียบเท่ากับซุน
นั่นถือเป็นความทรงจำแรกของเราที่มีโอกาสรับรู้ ต่อจอมเผด็จการผ่านมุมมองของชาวไต้หวัน นอกเหนือจากการอ่านหรือสัมผัสในหน้าข่าว
2
ในวันที่ 2 ของทริป การเดินทางมายังสถานที่ที่เรารอคอยก็มาถึง แม้สภาพอากาศฝนจะตกตลอดทั้งวัน ตามดินแดนแห่ง ‘ฝน 8 แดด 4’ (หรืออาจจะฝน 12 เลยก็ได้) แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เราย่อท้อต่อการเดินสำรวจบ้านหลังสุดท้ายของจอมเผด็จการ
ต้องขอเล่าว่า สุสานแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างเขตต้าซี (Daxi) กับเขตฟู่ซิง (Fuxing) ทิศตะวันออกของเมืองเถาหยวน โดยมีพื้นที่ราว 190 ไร่ แบ่งออกคร่าวๆ ได้ 4 ส่วนคือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว สุสานอดีตประธานาธิบดี ทะเลสาบฉือหู และสวนประติมากรรมรูปปั้นเจียง
หากย้อนกลับไป สุสานฉือหู มีชื่อเดิมว่า ปีเหว่ย เคยเป็นที่ดินของตระกูลหลินแห่งปั้นเฉียว (Banqiao) ซึ่งบริจาคให้กับทางการในปี 1950 ต่อมากลายเป็นที่พำนักอีกแห่งของเจียง เพราะวิวทิวทัศน์และบรรยากาศคล้ายคลึงบ้านเกิดของเขาอย่างเฟิ่งหวง (Fenghuang) และมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ในจีนแผ่นดินใหญ่
เจียงได้เปลี่ยนชื่อที่พำนักแห่งนี้ว่า ฉือหู แปลว่า ‘ทะเลสาบแห่งความเมตตา’ โดยที่มาของชื่ออิงกับทะเลสาบ หนึ่งในไฮไลต์อันสวยงามของสถานที่ และระลึกถึงแด่มารดาผู้ให้กำเนิดคือ หวัง ไฉ่หยู (Wang Tsai-yu)
อย่างไรก็ตามเมื่อจอมเผด็จการเสียชีวิตในปี 1975 ฉือหูในฐานะบ้านหลังสุดท้าย ได้กลายเป็นสุสานที่เก็บโลงศพของเขา โดยมีจุดเด่นคืออาคารเรือนสี่ประสานสีฟ้า สถาปัตยกรรมสไตล์ฝูเจี้ยนและเจ้อเจียง ตั้งอยู่ในจุดที่ดีที่สุดคือ โอบล้อมด้วยภูเขาและทะเลสาบด้านหน้า โดยที่อาคารหันไปทางทิศใต้ของพื้นที่
เมื่อเดินทางมาถึง สิ่งแรกที่มองเห็นเด่นชัดตั้งแต่อยู่บนรถคือ รูปปั้นขนาดใหญ่ของเจียงคอยยิ้มต้อนรับผู้มาเยือนอยู่ โดยไกด์ตัดสินใจพาเราไปเยี่ยมชมจุดแรกคือ อาคารสุสานสีฟ้า ที่เก็บโลงศพของอดีตผู้นำสาธารณรัฐจีน ซึ่งต้องเดินผ่านป่าที่รายล้อมด้วยต้นไม้เขียวขจีและทะเลสาบชื่อดัง แต่น่าเสียดายที่ทางการไต้หวันไม่เปิดให้เข้าชม และเป็นพื้นที่อยู่ในการควบคุมของทหาร
เราด้อมๆ มองๆ พื้นที่ต้องห้ามจากฝั่งตรงข้าม โดยพบเห็นทหารในเครื่องแบบ 4 รายที่ยืนเฝ้า ได้แก่ หน่วยรักษาความปลอดภัยทั่วไป 2 คน และองครักษ์อีก 2 คน ซึ่งปกติแล้ว จะมีพิธีเปลี่ยนเวรยามจากทหารสามเหล่าทัพทุก 1 ชั่วโมง รวมถึงมีการแสดงเด่นอย่างการหมุนปืนให้นักท่องเที่ยวได้ชม
น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสอยู่ดู เนื่องจากมีเวลาจำกัด แต่ก็มีเรื่องเล่าอันน่าสนใจว่า ก่อนปลายทศวรรษ 1990 นักท่องเที่ยวและนักเรียนที่มาเยือนต้องยืนคำนับ เพื่อแสดงความเคารพต่ออดีตผู้นำ และคนสำคัญในพรรคก๊กมินตั๋งมักนิยมมาเยือนสถานที่แห่งนี้ในทุกวันที่ 5 เมษายน เนื่องจากเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของเจียง
แต่แล้วความนิยมของสถานที่แห่งนี้ก็ตายไปตามความรุ่งโรจน์ของประชาธิปไตยในไต้หวัน หลังเจียงไม่ใช่สัญลักษณ์อันน่าเลื่อมใสของชาติอีกต่อไป ทว่าพื้นที่ที่ได้รับความสนใจแทนคือ สวนประติมากรรมรูปปั้นเจียง ซึ่งถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘สวนรูปปั้นทองแดง’ ในฐานะพื้นที่ทวงคืนความยุติธรรมจากคนรุ่นใหม่ในไต้หวัน
3
ทะเลรูปปั้น เจียง ไคเช็ก
นั่นคือความรู้สึกแรกของผู้เขียน เมื่อเดินมาถึงสวนประติมากรรม พื้นที่ที่เต็มไปด้วยรูปปั้นจอมเผด็จการราว 226 ชิ้น ซึ่งรื้อถอนจากทั่วไต้หวัน และตั้งเรียงรายแบ่งโซนกันตรงหน้าอย่างเป็นระเบียบ ทำให้แอบจินตนาการว่า หากได้เดินเล่นตอนกลางคืน คงจะทำให้รู้สึกขนลุกไม่เบา
นั่ง ยืน และขี่ม้า คืออิริยาบถอันแตกต่างสุดขั้วจากรูปปั้นของเจียงที่เรามองเห็น ผสมผสานบทบาทสุดหลากหลายเท่าที่คุณจะจินตนาการออก เจียงผู้เป็นทั้งพ่อผู้ใจดี นักปราชญ์ผู้ชาญฉลาด และนักรบผู้กล้าหาญ โดยรูปปั้นที่ใหญ่และสะดุดตาที่สุดคือ รูปปั้นสีแดงของอดีตผู้นำไต้หวันนั่งยิ้มบนเก้าอี้ สูงราว 8 เมตร สวมใส่ชุดทิวนิกจีนสมัยใหม่ ที่เชอรีเรียกว่า ‘ชุดสูทเหมา’ (Mao Suit) ยิ้มคอยต้อนรับผู้มาเยือนท่ามกลางสายฝนที่ทวีความแรงขึ้น
ไกด์เล่าให้เราฟังว่า รูปปั้นนี้มาจากเกาสง มีสตอรีที่น่าสนใจและแตกต่างจากที่อื่น เพราะมันถูกทำลายมาก่อน หลังมีความพยายามรื้อถอนและเคลื่อนย้ายรูปปั้นในปี 2007 จนเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับคนท้องถิ่นที่ยังอยากให้รูปปั้นยังอยู่จนทำให้รูปปั้นทำลาย เมื่อต้องนำมาตั้งไว้สถานที่แห่งนี้จึงต้องประกอบใหม่ และเป็นที่รู้จักในคอลเลกชัน ‘Wounds and Regeneration’ (บาดแผลและการสร้างใหม่) ขณะที่ชาวไต้หวันผู้ร่วมทริปคนอื่นๆ ก็เล่าให้เราฟังว่า รูปปั้นบางส่วนมาจากสถานที่ศึกษา ซึ่งนักเรียนสมัยก่อนต้องยืนคำนับทำความเคารพ
หลังจากเดินดูรูปปั้นของเจียงสักพักก็ทำให้เข้าใจเลยว่า เหตุใดคณะกรรมาธิการการเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมจึงตัดสินใจรื้อถอนมรดกพวกนี้ นอกเหนือจากการไล่ตามเปลี่ยนชื่อสถานที่สำคัญเช่นท่าอากาศนานาชาติเถาหยวน (Taiwan Taoyuan International Airport : TPE) ที่เคยมีชื่อว่า ท่าอากาศยานนานาชาติเจียงไคเช็ก (Chiang Kai-shek International Airport)
เพราะฝนที่ตกโปรยปรายลงมา ยิ่งทำให้รูปปั้นอดีตจอมเผด็จการดูไร้พิษสง เหมือนคุณลุงผู้น่าสงสารที่ยืนตากฝนอย่างโดดเดี่ยว แทบไม่น่าแปลกใจเลยหากการมีอยู่ของมันจะทำให้คนไต้หวันรุ่นใหม่ลืมว่า ครั้งหนึ่งชายผู้นี้เคยเป็นบ้าอำนาจ สั่งเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพียงเพราะหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสม์มากแค่ไหน
“คนไทยจดจำเจียง ไคเช็กอย่างไรบ้าง”
ไกด์ชาวไต้หวันหันมาถามผู้เขียน ระหว่างที่เดินชมบ้านหลังสุดท้ายของผู้นำเผด็จการ ก่อนที่เราจะตอบไปว่า จริงๆ แล้ว บทบาทของเจียงในมุมมองของคนไทยก็ไม่ต่างจากคนไต้หวัน ทั้งเป็น ‘ฮีโร่’ และ ‘เผด็จการ’ แต่คนรุ่นใหม่มักจะจดจำเขาในฐานะจอมเผด็จการมากกว่า ก่อนที่เธอจะยิ้มและพยักหน้ารับ พร้อมกับเล่าเรื่องเจียงในวัยเด็ก เมื่อครั้งไปเรียนที่จักรวรรดิญี่ปุ่นให้ฟัง
นอกจากมิตรภาพและการเดินทางอันน่าจดจำ จนทำให้เราหลงรักไต้หวันอย่างเต็มตัว สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากดินแดนที่ประชาธิปไตยเบ่งบานที่สุดในเอเชียคือ ความยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่านไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากความกล้าในการหยิบยกประวัติศาสตร์อันน่าเจ็บปวดขึ้นมารื้อฟื้นอย่างเปิดเผย
ทั้งความทรงจำของเหยื่อผู้จากไปอย่างอยุติธรรม เรื่องราวของเผด็จการที่ไม่เคยมองคนเท่ากัน และวัฒนธรรมอันเป็นพิษของลัทธิบูชาตัวบุคคล
ดังที่ลูกหลานชาวไต้หวันออกมาตอกย้ำในปี 2018 หลังประท้วงการมีอยู่ของสุสานแห่งนี้ ด้วยการ ‘โยน’ กระป๋องสีแดงลงไปบนโลงศพของจอมเผด็จการ นับเป็นเหตุการณ์ตอกย้ำประโยคเด็ดที่ว่า สำหรับผู้ถูกกระทำรอแก้แค้นอีก 1,000 ปี ก็ยังไม่สายเกินไป
“ตราบใดก็ตามที่ทรัพยากรไต้หวันยังถูกสังเวยให้กับดวงวิญญาณของเจียงและลูกชายของเขา ตราบใดก็ตามที่ลัทธิบูชาเผด็จการไม่หายไป การเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมจะไม่มีวันเกิดขึ้น”
อ้างอิง
https://eng.taiwan.net.tw/m1.aspx?sNo=0002107&id=R145
Tags: Taiwan, ซุน ยัตเซ็น, จีน, Chiang Kai-shek, สาธารณรัฐจีน, เจียง ไคเช็ก, เถาหยวน, Cihu Mausoleum, White Terror, สุสานฉือหู, ไต้หวัน, หมู่บ้านมาจู่ซินชุน