“เลิกเรียนแล้วเย็นนี้ไปไหนต่อดี”
“ไปหาอะไรกินกันต่อดีกว่า”
เชื่อว่าบทสนทนาข้างต้นคงเป็นสิ่งที่ใครหลายคนคงคุ้นหู หรือเคยผ่านมาในสมัยที่ยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยมกันบ้าง ที่เมื่อถึงเวลาเลิกเรียนแล้ว จะต้องมองหาของหวานหรือขนมไว้รองท้องก่อนกลับบ้านหรือเรียนพิเศษต่อ
โดยหนึ่งในเมนูที่มักจะมีขายอยู่หน้าโรงเรียน คงหนีไม่พ้น ‘ไอศครีม’ เพราะเป็นขนมหวานที่เหมาะเจาะกับสภาพอากาศของเมืองไทย ให้ความรู้สึกหวานเย็น ช่วยดับร้อนให้กับทุกคนทันทีที่ได้กิน โดยไอศครีมประเภทหนึ่งที่เชื่อว่าอยู่ในใจของใครหลายคน นั่นคือ ‘ไอศครีมทอด’ เมนูของหวานที่ถูกห่อหุ้มด้วยขนมปังกรอบๆ ด้านในเป็นไอศครีม ถูกราดช็อกโกแลต พร้อมด้วยท็อปปิงต่างๆ ชวนให้น่าลิ้มรส
แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป เด็กนักเรียนหลายคนในวันนั้นก็เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ออกมาทำงานและใช้ชีวิตในชนิดที่ว่า ห่างหายไปจากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยรสชาติของวัยเยาว์อย่างบริเวณหน้าโรงเรียน
เรื่องราวเช่นนี้ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับ ระริน ธรรมวัฒนะ หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านไอศครีมชื่อดังอย่าง Guss Damn Good ที่บอกกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่า ไอศครีมทอดเป็นของหวานที่เธอโหยหา และเป็นสิ่งที่ Guss Damn Good ไม่สามารถมอบรสชาติและเนื้อสัมผัสเช่นนั้นให้เธอได้
จึงเป็นที่มาของการเปิดร้านแห่งใหม่ด้วยแนวคิดการทำไอศครีมแบบเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และออกมาในชื่อว่า ‘ไอศครีมจรัส’ (Charuss Ice Cream) ที่ถนนบรรทัดทอง ย่านสามย่าน กรุงเทพฯ โดยเธอเล่าให้เราฟังว่า ที่มาของชื่อนี้ มีด้วยกัน 2 เหตุผลคือ 1. มาจากนามสกุลของผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนอย่าง นที จรัสสุริยงค์ และ 2. ต้องการให้ความทรงจำในวัยเด็กกลับมาเจิดจรัสอีกครั้งหนึ่ง
“เราอยากทำไอศครีมที่แบบจริงใจ เข้าใจง่าย เป็นเหมือนโมเมนต์ตอนเด็กที่เรานึกถึง เราเลยคราฟต์ไอศครีมในครัว Guss Damn Good ให้ออกมาเป็นไอศครีมเนียนๆ นุ่มๆ เวอร์ชันที่ชอบกินเป็นเหมือนการที่หยิบเอาโมเมนต์ที่คิดถึงมาโลดแล่นเจิดจรัสอีกครั้ง”
ระรินอธิบายถึงเมนู ‘ไอศกรีมทอด’ หนึ่งในเมนูโปรดของเธอด้วยสายตาเป็นประกายว่า ไอศครีมทอดที่เธอคุ้นเคยก็ให้รสชาติหวานๆ เย็นๆ กรอบๆ เพียงแต่มีจุดขัดใจอยู่หนึ่งอย่างคือ ไอศครีมด้านในละลายและไหลออกมานอกขนมปัง นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไม ‘ไอศครีมทอดของจรัส’ ถึงเลือกใช้ ‘โชกุปังโฮมเมด’ (Homemade Shokupan) มาห่อตัวเนื้อไอศครีม เพื่อให้ความรู้สึกหนาและนุ่มมากกว่าขนมปังโดยทั่วไป
“เราทำไอศครีมมา 10 ปี เรารู้ว่าต้องปรับสูตรหรือทำสูตรแบบใด รวมถึงทำรสชาติอย่างไรให้กินเข้ากัน เราจึงตั้งใจให้ลูกค้าที่กินพบว่า ไอศครีมข้างในไม่ละลาย เมื่อผ่ากลางไอศครีมไม่ปริออกมา ดังนั้นไอศครีมทอดของจรัสจะต่างกับไอศครีมทอดที่เราคุ้นเคยมาอย่างหนึ่งก็คือ เป็นแป้งหนานุ่ม ไม่ใช่แป้งบางกรอบ”
ทำให้เมื่อลูกค้ากินไอศครีมทอดของจรัสได้รสชาติขนมปังที่กรอบนอก นุ่มใน และเนื้อไอศครีมยังคงเป็นเนื้อไอศครีม ขณะที่รสชาติของไอศครีม ระรินเล่าว่า เธอโตมากับร้านไอศครีมรถเข็นที่ให้รสชาติเรียบง่าย ไอศครีมของจรัสจึงถูกทำออกมาให้เรียบง่าย
นั่นจึงทำให้ความรู้สึกของลูกค้าแตกต่างไปจากไอศครีมของ Guss Damn Good ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและรสชาติที่ซับซ้อนมากกว่า แต่สำหรับจรัสไม่เป็นเช่นนั้น ระรินยืนยันกับเราว่า ที่นี่รสชาติวานิลลาช็อกชิปต้องเป็นรสชาติวานิลลาช็อกชิป หรือรสชาติคุกกี้แอนด์ครีมต้องเป็นรสชาติคุกกี้แอนด์ครีม
ระหว่างการลิ้มลองรสชาติที่ชวนให้หวนถึงชีวิตวัยมัธยม เรายังได้ชวนระรินคุยถึงเหตุผลที่ ‘จรัส’ เลือกเปิดร้านที่บรรทัดทอง ซึ่งหนึ่งในพื้นที่ที่มีการแข่งขันด้านร้านอาหารสูง โดยเธอให้คำตอบว่า บรรทัดทองเป็นย่านที่มีบรรยากาศความหนุ่มสาวสูง จึงอยากนำร้านที่มีบรรยากาศสมัยก่อนมาชวนให้หนุ่มสาวสมัยนี้รู้ว่า Vibe ของการเติบโตมาของชีวิตเธอนั้นเป็นอย่างไร
“ร้านนี้มีความตั้งใจอย่างหนึ่งคือ เราอยากให้เป็นร้านไอศครีมที่เข้าใจง่าย จริงใจ เป็นเหมือนเวลาเราไปกินไอศครีมหรือขนมที่บ้านเพื่อน แล้วครอบครัวทำของหวานสูตรลับเฉพาะมาให้กิน เรารู้สึกว่าร้านนี้จะพากลับไปถึงยุคที่รุ่นพ่อรุ่นแม่ทำร้านขนมให้เรากิน”
ขณะที่ ตูน-โชติกา คำวงศ์ปิน ผู้ร่วมก่อตั้งร้านไอศครีมจรัสที่เข้ามาร่วมบทสนทนาในครั้งนี้ บอกกับเราว่า ในฐานะที่เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้กับ Guss Damn Good มา 2 ปี รู้สึกว่าพื้นที่บรรทัดทองเป็นพื้นที่ของฮิปสเตอร์ที่ให้ความรู้สึกตรงไปตรงมา ซึ่งความตรงไปตรงมาดังกล่าวนั้น มันเชื่อมโยงได้ดีกับความคิดของระรินและนที ที่อยากเปิดร้านไอศครีมที่เรียบง่าย จึงเป็นที่มาของสาเหตุที่ ‘จรัส’ เลือกเปิดธุรกิจที่ถนนแห่งนี้
นอกจากไอศครีมทอดแล้ว ที่จรัสยังมีเมนูอื่นๆ ให้ลูกค้าได้เลือกกิน โดยเราได้เลือกเมนูเครื่องดื่มอย่าง ‘เบญจรัสสลัชชี่’ ตามคำแนะนำของระริน โดยเบญจรัสสลัชชี่นั้นจะให้รสชาติของหวานมันของกะทิ ขณะที่ด้านล่างจะมีเนื้อทับทิมกรอบให้เคี้ยวเพลินๆ ด้วย นับว่าเป็นอีกหนึ่งเมนูที่ให้ความสดชื่น ดับร้อนได้เป็นอย่างดี
ในฟากของตูน เธอได้เลือกแนะนำเมนูที่เธอชอบอย่าง ‘ข้าวโพดอบเนยชีส’ ซึ่งต้องบอกว่า แม้จะฟังดูเรียบง่าย แต่ที่จรัสนั้นได้เลือกใช้เนยจากประเทศฝรั่งเศสมาเป็นส่วนประกอบ จึงทำให้ได้รสชาติที่หอม มัน มากกว่าข้าวโพดอบเนยโดยทั่วไป
ระหว่างการเอนจอยบรรยากาศ เราได้เลือกถามทั้งสองคนเป็นคำถามสุดท้าย ถึงความคาดหวังถึงความสำเร็จหลังจากนี้ของจรัสไว้อย่างไร ระรินยิ้มและคิดไปชั่วครู่ก่อนจะตอบกลับว่า โปรเจกต์ครั้งนี้เราอยากให้คนได้ลิ้มลองไอศครีมรสชาติอร่อย ที่หวนคืนความทรงจำในวัยเด็กให้กลับมาเท่านั้น
ขณะที่ตูนกล่าวว่า เธอตั้งเป้าหมายความสำเร็จของจรัสไว้เป็นความรู้สึกโชคดีของลูกค้าที่ได้กินไอศครีมของร้าน ก่อนจะขยายความว่า เธออยากให้ลูกค้าที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าพวกเขาเจอกับเรื่องอะไรมาก็ตาม เมื่อมาเจอร้านที่มีไอศครีมดีเช่นนี้จะทำให้เขามีความสุข ราวกับจรัสเป็นเหมือน Instant Dopamine
“เรารู้สึกว่า ไอศครีมที่ดี คนก็ควรจะต้องรับรู้ถึงความงดงาม มาถึงจุดนี้เราอยากให้คนที่มาเจอจรัส มาเจอกับความโชคดี ซึ่งมันเป็นความโชคดีที่เรียบง่าย” ตูนทิ้งท้ายกับเรา
Fact Box
สำหรับใครที่สนใจอยากลิ้มลองรสชาติของไอศกรีมจรัส ร้านจะตั้งอยู่บนถนนบรรทัดทอง ในช่วงก่อนถึงสี่แยกซอยจุฬาลงกรณ์ 16 โดยร้านจะเปิดตั้งแต่เวลา 16.30-23.30 น. ของทุกวัน