หากใครผ่านไปทางถนนนาคราช ไม่ไกลจากโบ๊เบ๊ จะพบอาคารรูปทรงแปลกตา มีหอคอยสูง ออกแบบอย่างประณีตด้วยรูปทรงแบบ Brutalism 

ครั้งหนึ่งอาคารแห่งนี้เคยเป็น ‘อัศวินภาพยนตร์’ ออฟฟิศของ ‘พระองค์ชายใหญ่’ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ผู้ก่อตั้ง ‘คณะอัศวินการละคอน’ และ ‘อัศวินภาพยนตร์’ Cinephile ผู้รักในโลกภาพยนตร์ และอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์-เพลงประกอบภาพยนตร์หลายเรื่อง อีกทั้งยังเป็นโปรดักชันเฮาส์ ที่ใครหลายคนต่างก็มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ณ ที่แห่งนี้ 

วันนี้อาคารอัศวินภาพยนตร์ที่เคยทิ้งร้างมานานเกือบ 40 ปี ได้พลิกฟื้นกลับมามีลมหายใจอีกครั้ง ภายใต้การดูแลของ ท่านชายปีใหม่-หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล ทายาทของท่านชายใหญ่ โดยวาดหวังให้สเปซแห่งนี้เป็นพื้นที่ให้ชวนกลับไปให้หวนรำลึกถึงยุครุ่งเรืองของหนังไทย ยุครุ่งเรืองของอัศวินภาพยนตร์ และเป็นสเปซสำหรับคนทำงานศิลปะ-ศิลปินยุคใหม่

The Momentum ขอชวนคุณไปสัมผัสกับ Asvin พลิกเรื่องเก่าๆ เติมเต็มประวัติศาสตร์ ยุครุ่งเรืองของหนังไทยขึ้นมาอีกครั้ง 

(1)

พื้นที่ของ Asvin เป็นพื้นที่ 1 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางย่านโบ๊เบ๊ ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็น ‘โรงเลี้ยงเด็ก’ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่ในเวลาต่อมาพระองค์ชายใหญ่จะสร้างอาคารนี้ขึ้น 

ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า อาคารนี้สร้างขึ้นในปีไหน สันนิษฐานว่า น่าจะราวปี 2500 ต้นๆ ทว่าสิ่งของในอาคารล้วนบ่งบอกยุครุ่งโรจน์ของหนังไทยอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็นม้วนฟิล์ม เครื่องตัดต่อ เครื่องอัดเสียง มิกเซอร์ ซินธิไซเซอร์ แผ่นเสียง รวมถึงอุปกรณ์สำนักงานจำพวก โต๊ะ ตู้ ตั้งตระหง่านอยู่บนชั้นสองของอาคาร

และทั้งหมดคืออุปกรณ์ที่หลงเหลืออยู่ หลังจากอาคารแห่งนี้ทิ้งร้างไปนานกว่า 30 ปี ลองนึกภาพดูว่า ณ ยุครุ่งเรือง อาคารแห่งนี้จะคึกคักมากเพียงใด 

สุประวัติ จิตรกร เจ้าหน้าที่ของอัศวิน ให้ข้อมูลว่า อาจแบ่ง ‘อัศวินภาพยนตร์’ และช่วงชีวิตของ ‘พระองค์ชายใหญ่’ ออกเป็น 2 ยุค ยุคแรกคือยุคของ ‘ไทยฟิล์ม’ คือช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคของ ‘อัศวินภาพยนตร์’ 

สรุปรวบรัดตัดความ ก่อนสงครามโลก หนังไทยเป็นยุค 35 มิลลิเมตรแบบ ‘ขาวดำ’ ใช้เสียงพากย์ ไม่มีเสียงในฟิล์ม ทว่าหลังสงครามโลก หนังไทยกลับไปเป็นแบบ 16 มิลลิเมตรอีกครั้ง จากเศรษฐกิจโลกตกต่ำและผู้สร้างนิยม ‘ประหยัดต้นทุน’

จากนั้นก็เป็นอัศวินภาพยนตร์ที่บุกเบิกเริ่มเอาหนัง 35 มิลลิเมตรเข้ามา พร้อมกับแนะนำหนัง ‘เสียงในฟิล์ม’ คืออัดเสียงนักแสดงเข้าไปเลย ไม่มีการพากย์สด ซึ่งในช่วงแรกคนไทยก็ยังไม่ค่อยยอมรับเท่าไรนัก เพราะนิยมฟังเสียงพากย์สดมากกว่า

นอกจากพระองค์ชายใหญ่จะเป็นเลิศด้านการทำหนังแล้ว เรื่องที่หลายคนไม่ค่อยรู้คือ พระองค์ชายใหญ่ยังทำเพลงประกอบหนังเอง แต่งทำนองเพลงหลายๆ เพลงเอง ร่วมกับ ‘ครูเพลง’ หลายคนที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังในเวลาต่อมา

ไม่ว่าจะเป็น ครูแจ๋ว-สง่า อารัมภีร, ชาลี อินทรวิจิตร, ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งสุนทราภรณ์ 

“จริงๆ ที่นี่ ภาพยนตร์ที่ดังที่สุดคือเรือนแพ ส่วนเพลงที่ดังที่สุดคือบัวขาว 

“แต่ที่หลายคนไม่รู้ก็คือ หากรู้สักนิด (หากฉันรู้สักนิดว่าเธอรักฉัน… – เพลงประกอบบ้านทรายทอง) ก็มาจากอัศวิน ตั้งแต่ทำเป็นละครเวที ประพันธ์คำร้องโดย หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์” 

ในเวลาต่อมา หากรู้สักนิดได้นำมาใช้ประกอบภาพยนตร์บ้านทรายทอง และยังเป็นเพลงอมตะต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

(2)

ไล่เรียงประวัติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ุยุคล เป็นพระโอรสองค์โตใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัฆพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล

ทั้งนี้ บิดาของพระองค์ชายใหญ่คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัฆพรฯ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 44 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พระองค์ชายใหญ่มีศักดิ์เป็น ‘ลูกพี่ลูกน้อง’ กับในหลวงรัชกาลที่ 9

พระองค์ชายใหญ่สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก รับราชการเป็นทหารม้าอยู่ระยะหนึ่ง ทว่าสนใจด้านภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้ก่อตั้งบริษัท ไทยฟิล์ม ร่วมกับ พจน์ สารสิน และประสาท สุขุม โดยเริ่มจากหนัง 35 มิลลิเมตร ขาวดำ มีภาพยนตร์เรื่องแรกคือ ถ่านไฟเก่า

ทว่าประวัติศาสตร์ของไทยฟิล์มตัดจบไม่นานหลังจากนั้น ด้วยสถานการณ์สงครามที่ทำให้ภาพยนตร์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลังสงครามพระองค์ชายใหญ่ต้องผันตัวไปทำละครเวทีแทน แต่ในเวลาเดียวกัน ละครเวทีในนามอัศวินการละครก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง เป็นต้นว่า บ้านทรายทองที่กล่าวมาข้างต้น

รวมถึงอีกเรื่องที่บทละครเวทีได้รับความนิยมและยังสร้างสืบต่อกันมานานจนถึงวันนี้อย่าง พันท้ายนรสิงห์ สร้างประวัติที่เพิ่งสร้างว่าด้วยความรักของ ‘พันท้ายนรสิงห์ และ ‘นวล’ โดยตัวละครนวลที่อยู่ในเพลงน้ำตาแสงไต้ ที่ประพันธ์โดยสง่า อารัมภีร มาจากบทละครอิงประวัติศาสตร์ของพระองค์ชายใหญ่นั่นเอง 

ขณะเดียวกันสิ่งที่หลงเหลือจากยุคไทยฟิล์มมาถึงยุคนี้ คือหลายบทเพลงอมตะ ตัวอย่างเช่น บัวขาว ลมหวน ในฝัน ดอกไม้ วันเพ็ญ เพลงไทยโบราณล้วนเกิดในยุคไทยฟิล์มทั้งสิ้น

(3)

อันที่จริงพระองค์ชายใหญ่ยังมีน้องชายคนสำคัญ อีกหนึ่งบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยอย่าง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือพระองค์ชายเล็ก แห่ง ‘ละโว้ภาพยนตร์’

ถ้าย้อนกลับไปดูเส้นเวลาจะพบว่า ‘ละโว้ภาพยนตร์’ และ ‘อัศวินภาพยนตร์’ ต่างอยู่ในเส้นเวลาเดียวกัน

“แล้วละโว้ภาพยนตร์กับอัศวินภาพยนตร์แข่งกันกันไหม?” เราถามสุประวัติ

“จริงๆ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะแข่งขันกัน แต่ความจริงก็ช่วยเหลือกันหลายครั้งหลายครา หนังของละโว้ภาพยนตร์ก็ส่งมาทำโพสต์โปรดักชันที่นี่” เจ้าหน้าที่ของ Asvin เล่าให้เราฟัง

ละโว้ภาพยนตร์มีภาพยนตร์ดังหลายเรื่องอย่าง เงิน เงิน เงิน (2508), เกาะสวาท หาดสวรรค์ (2512) และแม่นาคพระนคร (2513) ขณะที่อัศวินภาพยนตร์มีหนังดังได้แก่ เรือนแพ (2504), เป็ดน้อย (2511) และละครเร่ (2512) 

แม้จะทำหนังแข่งกัน แต่ทั้ง 2 องค์ต่างมีโรงหนังที่ ‘ร่วมทุน’ กันสร้าง อย่างโรงหนังเฉลิมเขตร์ บริเวณเชิงสะพานยศเส (ปัจจุบันเป็นครัวดอกไม้ขาว) ไม่ไกลจากอัศวินภาพยนตร์ โดยเคยเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนชั้นหนึ่งนานหลายปี แต่ก็มีอายุไม่ยาวนานนัก แค่ห้วงเวลาปี 2505-2518 เท่านั้นเอง

ผู้ดูแล Asvin เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจหนังไทย เป็นธุรกิจที่ใช้ทุนรอนค่อนข้างมาก จากคำบอกเล่าของคนยุคนั้น ธุรกิจหนัง ถ้าขายดีเรื่องหนึ่งก็ ‘ต่อเงิน’ ไปทำอีกเรื่องหนึ่ง ทว่าหากเรื่องต่อไปไม่ประสบความสำเร็จ ก็กินเงินจากเรื่องเดิมที่ประสบความสำเร็จไปก่อนหน้า

ฉะนั้นคนธรรมดาทำ ‘หนังไทย’ ก็ยากที่จะรอด แม้แต่ ‘เจ้านาย’ ก็ยังลำบากเหมือนกันกับการทำหนังไทย

(4)

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกเรื่อง คือเรื่องของเพลงดังเรือนแพ ของครูชาลี อินทรวิจิตร เพลงประกอบภาพยนตร์ดังเมื่อปี 2504 

อันที่จริงเรือนแพ แต่งขึ้นที่ตึกแถวริมถนนนาคราชแห่งนี้ ครูชาลีแต่งเพลงดึกดื่น แต่ก็ ‘จบไม่ลง’ เสียที มองไปมองมาถึงช่วงเช้าแล้ว ท้องก็เริ่มร้อง เห็นรถเข็นขายของ เลยอุทานตัดพ้อว่า ‘หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน’ 

“หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน ชีวิตกลางน้ำสุขสันต์ โอ้สวรรค์ในเรือนแพ” กลายเป็นท่อนจบของบทเพลงอมตะ ขณะที่ เรือนแพ บทประพันธ์ของท่านชายใหญ่ ยังเป็นบทละครอมตะ สร้างต่อกันอีกหลายรอบจนถึงวันนี้

อีกคนที่วนเวียนแถวตึกอัศวินภาพยนตร์คือ ‘เปี๊ยก โปสเตอร์’ 

สุประวัติเล่าว่า เดิมอาจารย์เปี๊ยกทำหน้าที่วาดภาพประกอบหนังมาจนเป็นที่เลื่องลือถึงฝีมือเอกอุ และสนิทกับพระองค์ชายใหญ่ 

วันหนึ่งพระองค์ชายใหญ่อยากทำหนัง เลยส่งอาจาย์เปี๊ยกไปดูงานที่โรงถ่ายโตเอะ ประเทศญี่ปุ่น และกลับมาทำงานกับพระองค์ชายใหญ่ในภาพยนตร์เงาะป่า เวอร์ชันปี 2523 นำแสดงโดย จตุพล ภูอภิรมย์ และศศิธร ปิยะกาญจน์

ไม่นานมานี้ อาจารย์เปี๊ยกในวัย 9 ทศวรรษ กลับมาเยี่ยมอัศวินภาพยนตร์อีกครั้ง และยังจำเรื่องราวเก่าๆ ที่อัศวินภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากอาจารย์เปี๊ยกแล้ว โปสเตอร์ ‘โรงเรียนอัศวินศิลปะการแสดง’ ที่มี หม่อมปริม บุนนาค หม่อมของพระองค์ชายใหญ่เป็นผู้อำนวยการ ยังเผยให้เห็นหน้าตาของ ‘ครู’ หลายๆ คนที่มีชื่อเสียงจนถึงวันนี้

เป็นต้นว่า ป้าจิ๊-อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ เป็น ‘ครูใหญ่’ และภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ (มีชูธน) เป็น ‘ผู้สอน’ 

คำบอกเล่าของสุประวัติบอกว่า ที่นี่ยังมีอีกคนที่อยู่ในรายชื่อผู้สอนอย่าง ครูช่าง-ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง ส่วนนักเรียนที่ประสบความสำเร็จก็เช่น โกวิท วัฒนกุล หรือ นก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช 

(5)

ไม่มีใครทราบว่าอาคารอัศวินภาพยนตร์ใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อใด จากข้อสันนิษฐานคาดว่า จะเป็นช่วงต้นทศวรรษ 2530 ที่ยังมีบรรดาผู้กำกับภาพยนตร์ยุคนั้นอย่าง ‘อังเคิล’ ที่ยังแวะเวียนมาทำโพสต์โปรดักชันที่อัศวินภาพยนตร์แห่งนี้

และนับจากนั้นอาคารอัศวินภาพยนตร์ก็ถูกปิดตาย ไม่มีการย้ายของเดิมออก กระทั่งท่านชายปีใหม่ กลับเข้ามาอีกทีเมื่อ 10 ปีก่อน และค้นพบมรดกล้ำค่าจากยุคอัศวินภาพยนตร์ที่ยังมีลมหายใจ จึงได้บูรณะ-ปรับปรุงขนานใหญ่ โดยผสมผสานประวัติศาสตร์ยุคหนังไทยรุ่งเรืองให้เข้ากับการเป็น ‘สเปซ’ เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้จัดแสดงงานศิลปะ หรือสามารถจัดเป็นโรงละครเล็กๆ ได้ ภายใต้ชื่อ Asvin Cultural and Contemporary Art Space

ปัจจุบัน ชั้นหนึ่งของ Asvin เป็นโชว์รูมของ TANK Store อุปกรณ์เดินป่า ซึ่งทายาทเจ้าของอัศวินภาพยนตร์เป็นผู้แทนจัดจำหน่ายในประเทศไทย ขณะที่ด้านข้างเปิดเป็นร้านกาแฟ มีรถโบราณ-ของเก่าจัดแสดง ทั้งยังมีห้องประชุม สวนหย่อมเล็กๆ และพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ

ส่วนพื้นที่ด้านบน นอกจากเป็นโชว์รูมอุปกรณ์เดินป่าแล้ว ยังมีกลิ่นอายความรุ่งเรืองจากยุคอัศวินภาพยนตร์อยู่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นห้องอัดเสียง เครื่องตัดต่อ Double Head เครื่องมิกซ์เสียง เครื่องทำ Reverb ซึ่งเจ้าหน้าที่ Asvin บอกว่า เหลือเพียงไม่กี่เครื่องในโลกนี้ 

วันที่ 15 พฤษภาคม-31 พฤษภาคม 2568 Asvin Cultural and Contemporary Art Space จะจัดงาน Octave Maze Asvin Collection เป็นงานภาคต่อจาก Octave Maze ที่จัดแสดงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในงาน Bangkok Design Week 2025 โดยเชื่อมโยงผลงานยุคอัศวินภาพยนตร์ดั้งเดิมกับ ‘คนรุ่นใหม่’ ผ่านงานศิลปะ

แน่นอนว่า ภายในงานจะมีเพลงดังอย่าง บัวขาว ในฝัน เพลิน ลมหวน วันเพ็ญ เรือนแพ และหากรู้สักนิด ให้ฟังคลอไปด้วย

สนใจกิจกรรมต่างๆ ของ Asvin สามารถติดตามได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ Asvin 

Tags: , ,