โรมานอฟ (Romanov) คือราชวงศ์เก่าแก่ที่ปกครองรัสเซียยาวนานถึง 304 ปี โดยมีพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (Tsar Nicholas II) เป็นจักพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ พร้อมสิ้นสุดระบอบราชาธิปไตยและเข้าสู่ระบอบคอมมิวนิสม์ (Communism) ภายใต้ชื่อสหภาพโซเวียต (Soviet Union)

การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ต้องย้อนกลับในปี 1894 หลังรัสเซียสูญเสียพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 (Tsar Alexander III) ส่งผลให้พระโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์อย่างไม่ทันตั้งตัว จนพระองค์รำพึงรำพันกับตนเองว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับตนเองและรัสเซีย เพราะไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่า ตนจะกลายเป็นผู้ปกครองประเทศ

นักประวัติศาสตร์ต่างพูดถึงพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ว่า ทรงเป็นกษัตริย์ที่วางตนไม่ค่อยดีนัก ทั้งขาดความเด็ดขาด ไม่มีความเป็นผู้นำ และตัดสินใจพลาดหลายครั้ง จนนำรัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1

ต่อมา พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงอภิเษกกับจักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโดโอรอฟนา (Alexandra Feodorovna) และให้กำเนิดแกรนด์ดัชเชส 4 พระองค์ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทว่าการกำเนิดของพระธิดาทำให้ราชวงศ์เกิดความเครียดอย่างมาก เนื่องจากไร้บุตรชายในฐานะผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์

แม้ท้ายที่สุด ทั้งสองมีพระโอรสนามว่า อเล็กเซย์ (Alexei) แต่ภายหลังตรวจพบว่า ทรงป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลีย Hemophilia) หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมของราชวงศ์ยุโรป ขณะที่เพศหญิงมักจะเป็นพาหะโรคเท่านั้น

การที่อเล็กเซย์ป่วยเป็นโรคเลือดไหลไม่หยุด ทำให้ครอบครัวตกอยู่ในความทุกข์ระทมอีกครั้ง เนื่องจากแกรนด์ดยุคเกือบเสียชีวิตเพียงเพราะหกล้ม แต่เลือดไหลไม่หยุดมาหลายครั้ง ดังนั้น ราชวงศ์โรมานอฟจึงตัดสินใจเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ โดยขังองค์รัชทายาทอยู่ในพระราชวัง และมีข้ารับใช้คอยดูแลตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ได้รับบาดเจ็บหรือมีรอยฟกช้ำ

ต่อมา จักรพรรดินีอเล็กซานดราได้รู้จักกับ กริกอรี รัสปูติน (Grigori Rasputin) นักบวชผู้แสดงปาฏิหาริย์ด้วยการรักษาอาการป่วยของรัชทายาท ทว่าการเข้ามาของรัสปูตินกลับกลายเป็นหายนะครั้งสำคัญของราชวงศ์ จากอิทธิพลที่มีเหนืออเล็กซานดรา ผ่านการผูกขาดอำนาจตัดสินใจไว้ที่ตัวเองและจักรพรรดินี จนพระเจ้าซาร์แทบไม่สามารถควบคุมหรือตัดสินใจอะไรเองได้ แม้แต่ยามสงคราม

ขณะเดียวกัน รัสเซียยังพ่ายแพ้สงครามต่อญี่ปุ่น ประชาชนต้องอยู่อย่างขัดสน ประกอบกับสภาพอากาศที่ย่ำแย่ จึงเกิดความทุกข์ยากลำบากมาก กระทั่งในปี 1905 เกิดการปฏิวัติของประชาชนที่มารวมตัวในวันอาทิตย์หรือ ‘วันอาทิตย์นองเลือด’ (Bloody Sunday) นำโดย เกอร์กี กาบอน (Georgy Gapon) เพื่อเรียกร้องต่อพระเจ้าซาร์ โดยเชื่อว่า จักรพรรดิรัสเซียถูกปิดหูปิดตาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทว่าทหารกลับยิงปืนใส่ประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 200 ราย

การตัดสินใจผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าของพระเจ้าซาร์ ทั้งพารัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้ประชาชนขาดอาหาร อดอยาก และสภาพอากาศที่เลวร้ายส่งผลต่อการทำเกษตรกรรม ขณะที่คนในราชวงศ์และเจ้าขุนมูลนายต่างสุขสบาย ไม่ขาดอาหารการกิน ยังไม่รวมถึงความไร้อำนาจของพระองค์เอง เพราะคนในราชสำนักยังเชื่อฟังนักบวชอย่างรัสปูตินเป็นอย่างดี จนภายหลังมีผู้อาสากำจัดรัสปูตินให้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เลวร้ายได้

กระทั่งปี 1917 วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) จากพรรคบอลเชวิก (Bolsheviks) เป็นผู้นำการปฏิวัติประเทศ โดยเปลี่ยนจักรวรรดิรัสเซียสู่สหภาพโซเวียต ขณะที่ประชาชนชุมนุมขับไล่ราชวงศ์โรมานอฟ ส่งผลให้พระเจ้าซาร์ประกาศสละราชบัลลังก์ ก่อนถูกนำตัวไปคุมขังที่คฤหาสน์อิปาเตียฟ (Ipatiev House)

กลางดึกของวันที่ 17 กรกฎาคม 1918 มีคำสั่งประหารชีวิตทั้งครอบครัวของพระเจ้าซาร์ที่ห้องใต้ดิน โดยจักรพรรดินีอเล็กซานดราและแกรนด์ดัชเชสล้วนใส่เครื่องเพชรเย็บติดกับชุด ที่คาดหวังว่า จะเป็นเงินใช้จ่ายยามที่หลบหนีได้ แต่เครื่องเพชรเหล่านี้ก็กลายเป็นเกราะสะท้อนกระสุน ดังนั้น จึงเกิดการกระหน่ำกระสุนยิงซ้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนเสียชีวิตจริง และถือเป็นจุดสิ้นสุดระบอบราชาธิปไตยในประเทศรัสเซีย

Tags: , ,