‘การปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789’ เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของประวัติศาตร์โลก ที่แสดงให้เห็นถึงจุดหักเหของระบบการปกครองในฝั่งทวีปยุโรปจาก ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ของกษัตริย์ และขุนนางชนชั้นสูง สู่รุ่งอรุณของ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ ที่อำนาจในการปกครองประเทศถูกกระจายให้แก่ประชาชนฝรั่งเศสทุกคน ทันทีที่ ‘พระเจ้าหลุยส์ที่ 16’ (King Louis XVI) ผู้ปกครองประเทศถูกตัดสินโทษประหารด้วย ‘เครื่องตัดหัวกิโยติน’ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 1793 ในข้อหาเป็นกบฏต่อประเทศฝรั่งเศส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ในปี 1774 ด้วยวัยเพียง 20 ปี พร้อมภาวะวิกฤติด้านการเงินของประเทศที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พระอัยกาของเขา ได้ทิ้งไว้ให้ ทำให้ในช่วงแรกเริ่มของการขึ้นครองราชย์ ‘ปัญหาเรื่องปากท้องประชาชน’ เป็นสิ่งแรกที่พระองค์ต้องแก้ไขให้ได้ เนื่องด้วยการเพิ่มขึ้นของประชากรฝรั่งเศสที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 18 ล้านคน เป็น 26 ล้านคน ในระหว่างปี 1700 ถึง 1789 นำไปสู่อัตราว่างงานที่สูง พร้อมกับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความอดอยากและความทุกข์ยากของประชาชนกระจายไปในวงกว้าง

เว็บไซต์ Britania ได้ระบุไว้ว่า การขึ้นสู่อำนาจตั้งแต่เยาว์วัย และปราศจากความมั่นใจในการนั่งบนบัลลังก์ เจตนารมณ์ของพระองค์คือการปกครองประเทศฝรั่งเศสโดยธรรม แต่ปัญหาหนี้สินของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากการจับจ่ายใช้สอยของชนชั้นสูงและราชวงศ์ ซึ่งสวนทางกับความเป็นอยู่ของประชาชน บวกกับชื่อเสียงการจับจ่ายใช้สอยอย่างสุรุ่ยสุร่ายของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) มเหสีของพระองค์ ก็ยิ่งทวีความโกรธแค้นให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก

ด้วยความเยาว์วัยและความโลเลในการปกครอง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ปฏิเสธนโยบายการขึ้นภาษีในกลุ่มชนชั้นสูง แต่กลับทำการอนุมัติการปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศอื่นๆ มิหนำซ้ำยังให้การสนับสนุน ‘สงครามประกาศอิสรภาพ’ (American Revolution) ที่สหรัฐอเมริกาต้องการจะปลดแอกตัวเองออกจากอาณานิคมของอังกฤษ ทั้งๆ ที่เงินแทบจะหมดท้องพระคลังแล้ว ในเวลาเพียงแค่ 6 ปีของการขึ้นครองราชย์ ประเทศฝรั่งเศสเกือบเข้าสู่ภาวะล้มละลายในปี 1780 จนเป็นชนวนก่อให้เกิดเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติฝรั่งเศส’ ในภายหลัง

จากสถานการณ์ของประเทศที่เข้าสู่ภาวะวิกฤตทั้งในด้านการเงินและการปกครอง ความไม่พอใจของประชาชนค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่พระองค์กลับเก็บตัวเงียบ และเมินเฉยต่อปัญหารุมเร้าต่างๆ แม้ว่าในเดือนพฤษภาคม 1789 พระองค์จะเรียกประชุมตัวแทนจากชนชั้นต่างๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาทางด้านการเงินของประเทศได้แก่ คณะสงฆ์ ขุนนางชนชั้นสูง และสามัญชน แต่ยังคงไม่สามารถที่จะหาทางออกร่วมกันได้ จนกลุ่มสามัญชนได้รวมตัวกันกับกลุ่มนายทุนประกาศตนเป็น ‘สมัชชาแห่งชาติ’ โดยมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูประเทศฝรั่งเศส

เพื่อปกป้องอำนาจของตน พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประกาศให้มติของการประชุมเป็นโมฆะ พร้อมกับจัดตั้งกองทหารรักษาความปลอดภัยแห่งชาติในการจัดการกับกลุ่มสมัชชา ท่ามกลางเสียงต่อต้านของสาธารณะ จนในที่สุดกองทหารได้ตัดสินใจที่จะปฏิเสธคำสั่งดังกล่าว บังคับให้พระงอค์ต้องยอมรับอำนาจของรัฐสภาที่จัดตั้งโดยประชาชน นำไปสู่จุดเริ่มต้นของ ‘ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ’ และเกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของประเทศฝรั่งเศส

แต่พระเจ้าหลุยส์ยังคงต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอยู่ โดยได้เปิดให้ชาติมหาอำนาจอื่นเข้าแทรกแซงฝรั่งเศส ด้วยหวังที่จะทวงคืนอำนาจกลับมาอยู่กับสถาบันฯ อีกครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมา พระองค์พยายามหลบหนีออกนอกประเทศ แต่ก็ถูกจับได้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และราชวงศ์ถูกจองจำไว้ที่ป้อมปราการแห่งหนึ่ง และเมื่อสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 จัดตั้งขึ้นอย่างสมบูรณ์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ถูกตัดสินโทษเป็น ‘กบฏ’ ต่อประเทศชาติ นำไปสู่การประหารชีวิตด้วยเครื่องตัดหัวกิโยติน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 1793 โดยก่อนที่จะเสียชีวิต พระองค์ได้กล่าวประโยคสุดท้ายไว้ว่า

“ประชาชนทุกคน ข้าพเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์จากทุกสิ่งที่ถูกกล่าวหา และหวังว่าเลือดของข้าพเจ้าจะทำให้ความสุขของประชาชนชาวฝรั่งเศสทุกคนหวนคืนกลับมาได้ดังเดิม” (Gentlemen, I am innocent of everything of which I am accused. I wish that my blood may be able to cement the happiness of the French.)

ที่มา

https://www.history.com/this-day…/king-louis-xvi-executed

https://revolution.chnm.org/d/327

https://www.sarakadeelite.com/faces/louis-xvi/

https://www.britannica.com/biography/Louis-XVI

https://www.biography.com/royalty/louis-xvi

Tags: , , , , , , ,