เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 เวลา 18.00 น. ที่รัฐสภา สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ฉายา ‘ขุนค้อน’ ต้องเจอกับเหตุการณ์ ‘สั่นคลอน’ บัลลังก์ประธานสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาว่าร้าย หรือเกือบโดนทำร้ายระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ (พ.ร.บ.ความปรองดอง) จำนวน 4 ฉบับ เสนอโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ จนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภาต้องเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณบัลลังก์ประธานสภา

ร่างกฎหมายดังกล่าว นำมาสู่ความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการปะทะคารม เป่าปากโห่ร้องตลอดการอภิปรายหลายชั่วโมง จนกระทั่งสมศักดิ์ได้วินิจฉัยประเด็นนี้ว่าใช้เวลาพิจารณาหลายชั่วโมงแล้ว ซึ่งเขาได้วินิจฉัยไปประมาณ 4-5 ครั้ง และยืนยันคำวินิจฉัยเดิม หากใครไม่มีข้อเสนออื่นจะขอยึดเป็นมติ และขอเลื่อนเรื่องนี้มาพิจารณาเป็น ‘เรื่องด่วน’

จากนั้น ธนา ชีรวินิจ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกจากเก้าอี้และเดินไปหน้าบัลลังก์พร้อมกับชี้หน้าด่าสมศักดิ์ว่า “เผด็จการรัฐสภาหรือ ทำแบบนี้ ค้อนปลอมตราดูไบ ลูกจ้างใครหรือเปล่า ประชุมมาสองชั่วโมง รีบไปไหน ใครรอไม่ได้ พวกผมเป็น ส.ส. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่ได้เป็นขี้ข้าใคร มีสิทธิ์ทำหน้าที่ในรัฐสภา ท่านมีสิทธิ์อะไรจะมาตัดการทำหน้าที่ผู้แทนของปวงชนชาวไทย”

เมื่อเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ลุกมาสมทบเพิ่มเติม จึงส่งผลให้มีคนบุกขึ้นไปบนบังลังก์ของสมศักดิ์จนเหตุการณ์บานปลาย ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ หลังจากนั้นสมศักดิ์ได้พยายามปิดการอภิปรายและให้ทุกคนกดโหวตลงคะแนนญัตติเลื่อนวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรองดองฯ ขึ้นมา แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กลุ่มหนึ่งนำโดย อภิชาติ สุภาแพ่ง ได้ขึ้นไปบนบัลลังก์และดึงสมศักดิ์ออกจากเก้าอี้ประธาน ส่งผลให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยขึ้นบัลลังก์ไปปกป้องสมศักดิ์

หลังจากเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้น สมศักดิ์ได้สั่งพักประชุมเป็นเวลา 15 นาที แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ฟังและตะโกนตอบว่า “กูไม่ฟังมึงแล้ว สมุนรับใช้ทักษิณ” จนภายหลังเจ้าหน้าที่ต้องนำตัวสมศักดิ์ออกจากบัลลังก์ ความวุ่นวายหลังการสั่งพักประชุมยังดำเนินต่อ รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นไปบนบัลลังก์ของประธาน และพยายามจะดึงเก้าอี้ออก แต่ เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เข้าไปแย่งเก้าอี้ประธานคืน ส่งผลให้ ส.ส.หญิงแต่ละพรรคเข้ายื้อแย่งเก้าอี้ประธานสภาไปเป็นฝ่ายของตัวเอง จนสุดท้ายลากเก้าอี้หายไปที่หลังบัลลังก์

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของภาพประวัติศาสตร์ ที่ตำรวจรัฐสภาต้องนำกำลังไปล้อมประธานรัฐสภาไว้ เพื่อไม่ให้ใครขึ้นไปก่อเหตุชุลมุนบนที่นั่งประธานรัฐสภาได้อีก

จากความชุลมุนวุ่นว่ายที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สื่อมวลชนรัฐสภายกความวุ่นวายครั้งนี้ให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี 2555 พร้อมกับแนบเหตุผลว่า “ได้สร้างความเสื่อมเสียให้รัฐสภาเป็นอย่างมาก จนเป็นข่าวไปทั่วโลก”

Tags: ,