วันนี้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว (17 เมษายน 2557) พอละจี รักจงเจริญ หรือ ‘บิลลี่’ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวปกาเกอะญอ ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวเขา ด้วยข้อหาลักของป่า โดยมีของกลางเป็นน้ำผึ้งป่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่แล้ว อย่างไรก็ตาม บิลลี่ไม่ได้กลับบ้านไปหาภรรยาของเขา แต่กลับหายตัวไปอย่างลึกลับ

ย้อนไปก่อนหน้านั้น ครอบครัวของบิลลี่ต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ถูกบังคับไล่รื้อและทำลายทรัพย์สินในปี 2553 และ 2554 และเมื่อบิลลี่ลุกขึ้นมาเรียกร้องการเยียวยาต่อความเสียหายเหล่านั้น เขาก็เริ่มได้รับคำขู่ฆ่า จนสุดท้ายในปี 2557 บิลลี่ถูกลอบฆาตกรรมอำพรางศพ โดยไม่มีใครรู้ชะตากรรมอยู่นานหลายปี

คดีของบิลลี่ถูกทิ้งให้ค้างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม โดยแทบจะไม่มีความคืบหน้าเลยอยู่เป็นเวลา 5 ปี กระทั่งเดือนกันยายน ปี 2562 เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พบหลักฐานชิ้นสำคัญเป็นถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น และชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ 2 ชิ้น ซึ่งตรวจแล้วว่ามีดีเอ็นเอตรงกับแม่ของบิลลี่ โดยหลักฐานทั้งหมดถูกพบใกล้กับจุดที่มีการแจ้งว่าบิลลี่หายตัวไป และนั่นก็ได้กลายเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ได้ยืนยันว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว

แรกเริ่ม อัยการชั้นต้นมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน รวมถึงพรรคพวกทั้ง 4 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าโดยมีการวางแผนไตร่ตรอง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอฟ้อง แต่จะฟ้องเพียงข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้น แต่ดีเอสไอยืนยันข้อหาร่วมกันฆ่า จนสุดท้ายมีคำสั่งให้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด โดยจะเข้าสู่ขั้นตอนสืบพยานครั้งแรกในวันที่ 24 เมษายน 2566 หรือในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้า

ปัจจุบัน พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ ‘มึนอ’ ภรรยาของบิลลี่ ยังคงยืนหยัดต่อสู้และเฝ้ารอด้วยความหวัง ว่าวันที่ฆาตกรที่พรากสามีไปจากเธอ รวมถึงทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับโทษตามกฎหมายจะมาถึง

ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา มึนอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาไท ถึงความกังวลของครอบครัวและคนใกล้ชิด ที่มีต่อการต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับคดีของบิลลี่ ตลอดจนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบางกลอย ว่าหากเธอยังไม่ยอมแพ้ สักวันเธออาจจะต้องหายตัวไปเหมือนบิลลี่

การบังคับบุคคลให้สูญหายถือเป็นเครื่องมือของรัฐที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ในการสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในสังคมเป็นวงกว้าง แน่นอนว่าบิลลี่ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวเพียงคนเดียวที่ถูกอุ้มหายไปจากสังคมภายใต้การปกครองของรัฐไทย

คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติเปิดเผยสถิติว่า นับตั้งแต่การก่อรัฐประหารของคณะทหารแห่งชาติเมื่อปี 2490 จนถึงวันนี้ มีผู้ถูกบังคับให้สูญหายมากถึง 86 ราย โดยมีผู้สูญหายจำนวนมากที่เป็นนักกิจกรรมขัดแย้งกับรัฐ เช่น เตียง สิริขันธ์ (2495) ทนายสมชาย นีละไพจิตร (2547) สุรชัย แซ่ด่าน (2561) และวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (2563) เป็นต้น

Tags: , ,