แอนน์ แฟรงค์ เริ่มเขียนบันทึกความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2
อันเนอลีส มารี อันเนอ ฟรังค์ หรือแอนน์ แฟรงค์ (Anne Frank) เด็กหญิงชาวเยอรมันเชื้อสายยิว อาศัยอยู่ในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เธอเป็นเด็กหญิงที่ร่าเริงสดใสและมีความฝันว่าสักวันหนึ่งอยากจะเป็นนักเขียนและนักแสดงบนจอแก้ว
ทว่าความฝันของเธอก็ดับลงเมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำทัพนาซีเยอรมัน เริ่มเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 และออกกฎหมายริดรอนเสรีภาพของชาวยิว เพราะเชื่อว่าในอดีต ชาวยิวคือกลุ่มคนที่เอารัดเอาเปรียบชนชาติอื่น
สถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น มีการกวาดไล่ต้อนชาวยิวทุกคน เพื่อนำไปอยู่ในสถานกักกันและใช้แรงงานอย่างหนัก จึงทำให้ครอบครัวของแอนน์ตัดสินใจหนีและอพยพไปยังสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากอุปสรรคด้านการติดต่อ จึงทำให้ต้องเปลี่ยนจุดหมายเป็นประเทศเนเธอร์แลนด์อย่างกระทันหัน
แอนน์และครอบครัวอาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทว่าก็ไม่อาจหลีกหนีภัยสงครามได้ ในช่วงต้นปี 1942 กองทัพนาซีเยอรมันขยายอำนาจเข้ามาถึงเนเธอร์แลนด์ และออกหมายเรียกชาวยิวทุกคนให้ไปยังสถานที่กักกันอีกครั้ง ซึ่งหมายดังกล่าวได้ส่งมาถึงครอบครัวของแอนน์เช่นกัน
พ่อของแอนน์จึงตัดสินใจเขียนจดหมายทำทีว่าพาครอบครัว ‘หนี’ ไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ในความเป็นจริงพวกเขาอาศัยอยู่ในห้องลับที่พ่อของแอนน์แอบสร้างเตรียมเอาไว้ ห้องดังกล่าวอยู่ด้านหลังของตึกบริษัทแห่งหนึ่งบนถนนปรินเซินครัคต์ ซึ่งมีทางเข้าลับหลังตู้หนังสือ เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัยบริเวณด้านล่างของตึกคือบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งยังคงดำเนินกิจการปกติในช่วงเวลากลางวัน
ในห้วงเวลาที่แอนน์และครอบครัวอาศัยอยู่ในห้องลับ ในวันที่ 12 มิถุนายน 1942 แอนน์ตัดสินใจเริ่มเขียนบันทึกเรื่องราวชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงเขียนจดหมายที่เต็มไปด้วย ‘ความหวัง’ และ ‘ความคิดถึง’ ไปยังเพื่อนๆ ของเธอ แต่จดหมายดังกล่าวก็ส่งไปได้เพียงจินตนาการเท่านั้น
กระทั่งในปี 1944 แอนน์ได้ฟังประกาศทางวิทยุ ซึ่งกำลังเปิดถ้อยแถลงของ ฟริตซ์ โบลเคสแตง (Frits Bolkestein) รัฐมนตรีชาวดัตช์ที่หลบหนีภัยสงครามไปอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเขาขอให้ประชาชนชาวดัตช์เขียนบันทึกเรื่องราวและเก็บเอกสารดังกล่าวเอาไว้ เมื่อสิ้นสุดสงคราม สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยบอกเล่าให้ชาวโลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาเวลาดังกล่าวและพวกเขาต้องเผชิญกับความโหดร้ายอย่างไร
จากวิทยุดังกล่าว กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้แอนน์ เริ่มเขียนบันทึกชีวิตของเธอใหม่อีกครั้ง โดยในครั้งนี้นำสิ่งที่ไม่จำเป็นในหนังสือออกทั้งหมด เหลือเพียงสิ่งที่สำคัญ และหนังสือ ‘The Secret Annex’ หรือห้องลับส่วนต่อเติม จึงถือกำเนิดขึ้น แต่ไม่ทันที่หนังสือเล่มนี้จะจบลง แอนน์และครอบครัวถูกจับกุมตัวจากตำรวจเยอรมัน ทำให้ทั้งหมดต้องนั่งรถไฟไปยังค่ายที่กักกัน
เมื่อถึงค่ายกักกัน แอนน์และครอบครัวโดนจับแยกย้ายไปคนละทิศละทาง การใช้ชีวิตในสถานกักกันที่และสุขอนามัยที่ย่ำแย่ รวมถึงโรคระบาดทำให้แอนน์อ่อนแรงลงเป็นอย่างมาก ในเวลาต่อมาเธอก็เสียชีวิตลงภายในค่ายกักกัน ส่วนครอบครัวของเธอมีเพียงพ่อเท่านั้นที่รอดชีวิต และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง พ่อของแอนน์รวบรวมบันทึกและเอกสารของแอนน์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เพื่อทำ ‘ความฝัน’ สุดท้ายของแอนน์ให้เป็นจริง โดยในปี 1947 ตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า ‘บันทึกของแอนน์’ และแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 70 ภาษาทั่วโลก
ในท้ายที่สุด หนังสือดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเป็น นักสือที่ทรงคุณค่าแก่คนรุ่นหลังเป็นอย่างมาก มีการนำไปดัดแปลงเป็นทั้งภาพยนตร์ ละครเวที เพื่อบอกเล่าเรื่องราวอันโหดร้ายของสงคราม การกดขี่ชาวยิว การเหยียดเชื้อชาติและความเกลียดชัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีใครต้องเผชิญ
Tags: บันทึกลับของแอนน์, แอนน์ แฟรงค์, หนังสือ, สงครามโลกครั้งที่ 2, ชาวยิว