ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2510 ถือเป็นวันแรกที่มีการเปิดใช้งาน ‘สะพานสารสิน’ ซึ่งเป็นสะพานแห่งแรกที่ใช้ข้ามผ่านจากจังหวัดพังงาไปยังจังหวัดภูเก็ต โดยมีจุดเชื่อมต่อระหว่างบ้านท่านุ่นและบ้านท่าฉัตรไชย บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402

สำหรับสะพานสารสิน เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2494 และวางแผนตั้งชื่อตามนามสกุลของ พจน์ สารสิน ที่ ณ เวลานั้น ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลของกระทรวงคมนาคม ทว่าช่วงแรกการก่อสร้างเต็มไปด้วยความทุลักทุเล เนื่องจากบริษัทผู้รับเหมาไม่ชำนาญการ จนสุดท้ายต้องหยุดพักไปชั่วคราว ก่อนที่ปี 2508 จะกลับมาก่อสร้างต่ออีกครั้งโดยบริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และสำเร็จเสร็จสิ้นในอีก 2 ปีต่อมา ด้วยงบประมาณเบ็ดเสร็จ 28,770,000 บาท ทั้งนี้ สะพานดังกล่าวมีความยาวรวม 660 เมตร แบ่งเป็นทางผิวคอนกรีต 360 เมตร และสะพานคอนกรีตอัดแรงยาว 300 เมตร มีความกว้าง 11 เมตร เป็นทางรถวิ่งกว้าง 8 เมตร และทางเท้าข้างละ 1.5 เมตร

นอกจากจะเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ ณ เวลานั้น สะพานสารสินยังเป็นจุดเล่าขานตำนานโศกนาฏกรรมความรักของโกดำ (ดำ แซ่ตัน) กับกิ๊ว (กาญจนา แซ่หงอ) หนุ่มสาวสองคนที่มีความแตกต่างด้านฐานะ โดยฝ่ายชายทำอาชีพเป็นคนขับรถสองแถวรับจ้างและรับจ้างกรีดยาง ขณะที่ฝ่ายหญิงเป็นนักศึกษาในวิทยาลัยครู จึงทำให้ครอบครัวฝ่ายหญิงกีดกันความรักของทั้งสอง และด้วยความรักที่ไม่สมหวัง ส่งผลให้พวกเขาตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองด้วยการใช้ผ้าขาวม้ามัดร่างติดกัน ก่อนจะกระโดดน้ำตายกลางสะพานสารสิน ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516

โศกนาฏกรรมความรักของโกดำกับกิ๊วถูกเล่าต่อกันปากสู่ปากและกลายเป็นที่รู้จักไปทั่ว จนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง สะพานรักสารสิน ปี 2530 ที่นำแสดงโดย รอน บรรจงสร้าง และจินตหรา สุขพัฒน์ตามด้วยละครโทรทัศน์ปี 2541 ในชื่อเรื่องเดียวกัน นำแสดงโดย นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล และคทรีน่า กลอส รวมถึงยังถูกนำไปใช้เป็นชื่อเพลงของวงสิมิลัน ในปี 2537

ถึงกระนั้น ด้วยความเจริญของบ้านเมืองจังหวัดภูเก็ต ทำให้สะพานสารสินไม่สามารถรองรับการจราจรขาเข้าได้เพียงพอ ในปี 2535 จึงมีการสร้าง ‘สะพานท้าวเทพกระษัตรี’ ขึ้นมาเป็นสะพานคู่ขนานเพื่อระบายการจราจร และต่อมาในปี 2552 ในรัฐบาลยุคนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 377 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง ‘สะพานท้าวศรีสุนทร’ หรือ ‘สะพานสารสิน 2’ ทดแทนสารสินดั้งเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม และเปิดใช้งานในวันที่ 1 สิงหาคม 2554

ภายหลังการเปิดใช้สะพานสารสิน 2 ทำให้สะพานสารสินดั้งเดิมถูกปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็นสะพานคนเดิน ขณะเดียวกันยังสร้างแลนด์มาร์กท่องเที่ยวสำคัญอย่าง ‘หอชมวิวทรง 8 เหลี่ยม’ สไตล์สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส (Chinois Postugess) ขึ้นมา ส่วนปลายสะพานทั้งสองด้านถูกปรับปรุงเป็นลานจอดรถ พร้อมยกช่วงกลางสะพานให้มีขนาดความสูงเทียบเท่าสะพานท้าวเทพกระษัตรีและสะพานสารสิน 2

นอกจากจะกลายเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกแสนสวยงามยามเย็น หาดบริเวณรอบสะพานสารสินยังเป็นแหล่งปะการังขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาพันธุ์ อย่างเช่นเต่าทะเล ที่จะขึ้นมาวางไข่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน และด้วยความหลากหลายที่กล่าวมา ส่งผลให้ปัจจุบันสะพานแห่งนี้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ที่คิดจะมาเยี่ยมเยียนจังหวัดเจ้าของฉายาไข่มุกแห่งอันดามัน

Tags: ,