ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย กลายเป็นชนวนเหตุทางการเมืองครั้งสำคัญที่นำไปสู่กระแสต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนต้องประกาศยุบสภาลงในที่สุด

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกอบด้วย 7 มาตรา แต่มาตรา 3 และมาตรา 4 ถือเป็นหัวใจหลักที่ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย เพราะมีผลนิรโทษกรรมครอบคลุมทั้ง ฝ่ายพันธมิตรฯ และฝ่าย นปช. ที่รวมถึง ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 

หนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวครั้งนั้นคือ ‘เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม’ โดยเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 2556 ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกว่าหมื่นคนได้รวมตัวกันบริเวณตึกมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เวลา 16.00 น. เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก่อนเคลื่อนขบวนไปตามคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ไปรวมกันที่พระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล เพื่ออ่านแถลงการณ์ และเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัย มุ่งหน้าไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่ออ่านแถลงการณ์อีก 1 ฉบับ และยุติกิจกรรมลงในเวลา 18.30 น. เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม ได้ประกาศจุดยืน 5 ข้อ ดังนี้ 

  1. คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างถึงที่สุด และจะร่วมมือสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยสันติวิธี  
  2. เรียกร้องให้วุฒิสภา พิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ด้วยความรอบคอบและเป็นอิสระอย่างถึงที่สุด ไม่ให้ร่างกฎหมาย ซึ่งมีที่มาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและขัดแย้งต่อหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยผ่านมือไปได้ 
  3. เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลภายใต้การนำของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ทันที
  4. เรียกร้องและสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยแสดงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของตนเองเกี่ยวกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ให้บรรดา ส.ส. ส.ว. และพรรคการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนทางการเมืองของท่านได้อย่างเปิดเผย อีกทั้งตรวจสอบการลงมติของ ส.ส. ของท่านอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่า ส.ส. ส.ว. ลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ตรงตามเจตนารมณ์ของระชาชนอย่างแท้จริง
  5. คัดค้านการใช้กฎหมายความมั่นคง ใช้อำนาจรัฐและอิทธิพลทางการเมืองจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของประชาชน และต่อต้านการใช้ความรุนแรงในการเข้าควบคุม สลายมวลชนที่ชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยสันติวิธี

อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล แกนนำเครือข่ายฯ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมมีขึ้นเพื่อต่อต้านคนโกง เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้ ไม่ใช่ พ.ร.บ.ปรองดอง แต่เป็นการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ขณะที่ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านวาระที่ 1-3 อย่างเร่งรีบ ซึ่งถือเป็นความผิดปกติ และเอื้อประโยชน์ในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะการทุจริต ทั้งนี้ ในฐานะที่จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษาที่สอนคนให้ออกไปเป็นคนดี คนเก่งของสังคม มองว่าเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่เสี่ยงต่อจริยธรรม คุณธรรมในการสอนคนที่จะเป็นบัณฑิต ทางศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน อาจารย์ นิสิต จึงอยากแสดงออกว่า ชาวจุฬาฯไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้ และเสนอทางออกไว้ในแถลงการณ์ของคณะผู้บริหารว่า ส.ว. ก็ควรจะคว่ำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกจากกิจกรรมเดินขบวนต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทางเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม ยังมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ  1 คนต่อไปรษณียบัตร 1 ใบ เพื่อส่งไปยัง ส.ว. เพื่อให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกครั้ง 

การชุมนุมในหลายมหาวิทยาลัย และหลากคณะบุคคล เพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ นำไปสู่การถือกำเนิดขึ้นของกลุ่ม กปปส. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 แม้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะถูกถอนออกจากรัฐสภาไปแล้ว

กลุ่ม กปปส. ยังชุมนุมต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2557 จนนำไปสู่การรัฐประหาร โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 

ที่มา: 

https://ilaw.or.th/node/2980

https://www.tcijthai.com/news/2013/11/watch/3349

https://www.bangkokbiznews.com/news/541022

https://www.posttoday.com/social/general/257197

Tags: ,