ก่อนที่จังหวัดภูเก็ตจะกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ เดิมทีภูเก็ตมีรายได้มหาศาลจากแร่ดีบุก จนสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เจ้าเมืองภูเก็ตได้ให้สัมปทานการขุดเหมืองแร่กับเจ้าของเหมือง โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือการทำถนนเป็นค่าตอบแทน ซึ่งเจ้าของเหมืองแร่ก็ขนตะกรันดีบุกที่ถือเป็นของเสียจากการถลุงแร่ดีบุกมาทำถนน บ้างก็เอาไปถมเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยหารู้ไม่ว่าแร่แทนทาลัมที่อยู่ในตะกรันดีบุกจะมีมูลค่าในเวลาต่อมา

ทำไมแร่แทนทาลัมถึงมีราคาแพง?

‘แทนทาลัม’ (Tantalum) เป็นโลหะหายากที่ไม่เกิดขึ้นอย่างอิสระ แต่จะแทรกอยู่ในแร่อื่นๆ และแทรกอยู่ในแร่ดีบุกมากที่สุด แต่เมื่อเกิดการถลุงดีบุก อุณหภูมิหลอมละลายของแร่แทนทาลัมนั้นแตกต่างกับแร่ดีบุก จึงส่งผลให้หลังการถลุงมีตะกรันดีบุกที่มีแร่แทนทาลัมราคาสูงผสมอยู่จำนวนมาก แต่สมัยนั้นแร่แทนทาลัมถูกมองเป็นขยะ จนถูกทิ้งเกลื่อนกราดในจังหวัดภูเก็ต บางครั้งมีการส่งดีบุกไปถลุงที่มาเลเซีย ทำให้นอกจากจะเสียค่าถลุงดีบุกแล้วยังต้องเสียเงินค่ากำจัดของเสียอย่างตะกรันดีบุกอีกด้วย

ภายหลังมีการค้นพบว่าแร่แทนทาลัมมีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อวัยวะเทียม อุปกรณ์ผ่าตัดเครื่องยนต์ไอพ่น ยานอวกาศ เครื่องตัดโลหะ และใช้ประกอบไมโครชิปคอมพิวเตอร์ได้

ราว พ.ศ. 2521 แร่แทนทาลัมที่ผสมในตะกรันดีบุกเริ่มรับรู้โดยทั่วกันว่าเป็นของที่มีราคา นายทุนต่างๆ จึงแย่งกันประมูลขอพัฒนาถนนสายเก่าๆ ในเมืองภูเก็ต โดยจะสร้างถนนใหม่ให้ทดแทน นอกจากนี้ บ้านที่ปลูกอยู่บนแหล่งแร่แทนทาลัมก็จะถูกรื้อหรือทุบเพื่อขุดเอาแร่แทนทาลัมมาขาย ทำให้คนภูเก็ตในตอนนั้นจึงร่ำรวยอย่างมากจากการขุดตะกรันดีบุกขาย

จากมูลค่าและการตื่นตัวในแร่แทนทาลัม ส่งผลให้เกิดแนวคิดที่จะสร้างโรงงานถลุงแร่แทนทาลัมขึ้นมา โดยวันที่ 28 ธันวาคม 2522 บริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทและภายหลังได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างได้ โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดทำการได้ในวันที่ 15 สิงหาคม 2529 แต่โรงงานดังกล่าวไม่สามารถเปิดให้บริการได้ และการที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้กลายเป็นการพลิกโฉมเมืองภูเก็ตจากเมืองแร่ดีบุกสู่เมืองท่องเที่ยวในปัจจุบัน

สาเหตุสำคัญเนื่องจากมีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยเอ็นจีโอและนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวว่าการถลุงแร่แทนทาลัมจะต้องใช้สารเคมีที่อาจส่งผลให้เกิดมลพิษได้ ประกอบกับรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้กำหนดให้ พ.ศ. 2530 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยว จึงมีการปลุกเร้าให้ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

จากการคัดค้านจำนวนน้อยสู่การเดินขบวนคัดค้านของประชาชนหลายหมื่นคน จนพลเอกเปรมได้ส่ง จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น บินด่วนไปคุยกับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อหาวิธีแก้ไขในวันที่ 23 มิถุนายน แต่เมื่อจิรายุมาถึงกลับเจอการโห่ขับไล่จากมวลชน มีผู้ต่อต้านโรงงานแทนทาลัมแบกโลงศพจำลองมาเผาต้อนรับที่สนามบิน และมีการทุบรถที่จิรายุโดยสารมา โดยภาพที่เห็นเป็นรถยนต์โตโยต้าที่ถูกเผาและถูกเขียนข้อความด่าทอ

เมื่อเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทางจังหวัดภูเก็ตจึงตัดสินใจไม่ให้จิรายุไปพบผู้ชุมนุมราว 6 หมื่นคน ส่งผลให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงได้ขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ศาลาประชาคม และตามหาจิรายุที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน เพราะคาดการณ์ว่าจะจัดการประชุมรัฐมนตรีที่นี่ แต่คณะของจิรายุได้ไปประชุมที่สถานีตำรวจท่าฉัตรไชยแทน เมื่อมาถึงแล้วผู้ชุมนุมไม่พบจิรายุ ทางผู้ชุมนุมจึงได้เผารถของโรงแรม และบุกเข้าไปเผาโรงงานแทนทาลัมโดยใช้น้ำมัน และขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเพลิง

ภายหลังเจ้าหน้าที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าควบคุมสถานการณ์ และประกาศให้จังหวัดภูเก็ตอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน มีเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 17.00-06.00 น. และต้องใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์กว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ จนภายหลังมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 1 กรกฎาคม 2529

การเผาโรงงานแทนทาลัมและการต่อต้านครั้งนี้ส่งผลให้มีมติย้าย บริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด ไปที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองแทน

Tags: , , ,