วันนี้เป็นวันครบรอบ 13 ปี ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันดีในนาม ‘กลุ่มคนเสื้อแดง’ โดยโศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นใจกลางกรุงเทพฯ ช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทันทีที่ทหารเคลื่อนกำลังพลและรถหุ้มเกราะจากสี่แยกศาลาแดงเข้ากระชับพื้นที่สวนลุมพินี ทั้งฝั่งถนนราชดำริและถนนวิทยุ ท่ามกลางการปะทะกับผู้ชุมนุมเป็นระยะ จนรุกคืบเข้าใกล้เวทีใหญ่บริเวณแยกราชประสงค์

กระทั่งเวลาราว 13.15 น. แกนนำ นปช. นำโดย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, จตุพร พรหมพันธุ์ และวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ได้ประกาศ ‘ยุติการชุมนุม’ เพื่อเตรียมเข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังก่อนหน้านี้ พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา พยายามเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดการสลายการชุมนุม แต่สุดท้ายกลายเป็นการบังคับให้ยุติการชุมนุมทันทีด้วยการใช้อำนาจกระสุนปืน

ด้านศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการ ให้เหตุผลในการปฏิบัติการกระชับวงล้อมว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่หลบซ่อนของกองกำลังติดอาวุธ​ ที่มี เสธ.แดง-พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกที่เสียชีวิตจากกระสุนสไนเปอร์ปริศนา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 เป็นผู้นำ

สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การสลายการชุมนุมรุดหน้าต่อไป จนถึงเวลา 15.00 น. มีรายงานว่า เห็นเปลวไฟกำลังลุกไหม้บริเวณโรงภาพยนตร์สยามและห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งในรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ระบุว่า เป็นฝีมือของชายฉกรรจ์ 20 คน ที่ใช้หนังสติ๊ก ระเบิดขวด และถังแก๊ส วางเพลิงในห้างสรรพสินค้า ขณะเดียวกัน รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) ระบุว่า ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีกลุ่มคนแต่งตัวคล้ายทหารพร้อมอาวุธครบมือบุกรุกเข้าไปวางเพลิงห้างสรรพสินค้าเซน ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลตำรวจ 

บริเวณพื้นที่การชุมนุมเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีทหารถืออาวุธครบมือใช้กำลังสลายการชุมนุม จนทำให้ประชาชนต่างหลบหนีชุลมุน โดยมีส่วนหนึ่งหนีเข้าไปในวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เพราะคาดว่าเป็นเขตศาสนสถานอันปลอดภัย โชคร้ายที่ไม่เป็นเช่นนั้น มีบุคคลนิรนามใช้อาวุธปืนยิงลงมาจากบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสใส่ประชาชน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย โดย 3 ใน 6 ราย เป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ได้แก่ กมลเกด อัคฮาด, อัครเดช ขันแก้ว พยาบาลอาสา และมงคล เข็มทอง เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

ต่อมา ในรายงานของ คอป. ยังระบุข้อมูลชัดเจนว่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติการกระชับวงล้อม มีการปรากฏตัวของ ‘ชายชุดดำ’ ที่ลงมือยิงถล่มอาวุธสงครามเข้าใส่เจ้าหน้าที่ในบริเวณสวนลุมพินี อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีการจับกุมชายชุดดำได้ในวันนั้น และรายงานอีกฉบับของ ศปช. รายงานในทางตรงกันข้ามว่า ผู้ที่ยิงออกมาจากสวนลุมพินีเป็นทหารด้วยกันเอง

ข้อมูลของ ศปช. ยังระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง มีการลงมือใช้กระสุนจริงไป 117,923 นัด และมีการใช้กระสุนสำหรับซุ่มยิงไป 2,120 นัด รวมถึงมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ราย แต่ไม่สามารถเอาผิดใครได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถืออาวุธยิงใส่ประชาชน หรือเจ้าของคนให้คำสั่งยิง ‘คนเสื้อแดง’

เวลาล่วงเลยผ่านไป กระทั่งมีการไต่สวนของศาลอาญาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ที่ระบุชัดเจนว่า ‘เหตุการณ์ 6 ศพ วัดปทุมฯ’ เป็นการยิงจากเจ้าหน้าที่ทหารเข้าใส่ประชาชนภายในวัด ไม่ปรากฏร่องรอยการต่อสู้ ทั้งยังไม่ปรากฏว่ามีอาวุธภายในวัด ศาลจึงวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คน เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ทว่าหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีการนำสำนวนดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งภายใต้ศาลทหาร และผลการไต่สวนจบลงด้วยการยกฟ้องผู้ที่ถือปืนยิงประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตในวัด

 ต่อมา ในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการ ศอฉ.ในขณะนั้น ในคดีร่วมกันก่อให้เกิดการฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นจากการสลายการชุมนุม โดยเห็นว่าทั้งคู่ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้อำนวยการ ศอฉ.ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว จึงต้องผ่านให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน สุดท้าย ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องทั้งอภิสิทธิ์ สุเทพ และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น เนื่องจากในช่วงเวลานั้นมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง อีกทั้งศาลเคยระบุว่า การชุมนุมของ นปช.เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย และมีบุคคลที่ใช้อาวุธปืนในที่ชุมนุม

โดยในปีก่อน (2565) นปช.นัดรวมตัวที่สี่แยกราชประสงค์อีกครั้งในรอบ 12 ปี เพื่อจัดกิจกรรมจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมและไว้อาลัยเหล่ามิตรสหายเสื้อแดงที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม โดย สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงและหนึ่งในคนเสื้อแดงที่รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมดังกล่าว ประกาศจะนัดรวมกลุ่มคนเสื้อแดงที่นี่ทุกปี เพื่อเรียกร้องให้ผู้สั่งการสังหารหมู่กลางกรุงทุกราย โดยเฉพาะอภิสิทธิ์และสุเทพ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“พวกเราในฐานะประจักษ์พยานและเหยื่อ จะมารวมตัวที่นี่ทุกปีเพื่อย้ำเตือนว่าเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แม้กระบวนการยุติธรรมจะไม่สามารถรับรองสิทธิคนที่ถูกกระทำได้ แต่เราจะไม่หยุดพูดถึงการจดจำต่อเหตุการณ์เหล่านั้น มาบอกเล่ากัน ว่าเราเจออะไร จะมาที่นี่ทุกปี จนกว่าความยุติธรรมจะมาถึง ถ้าคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพคิดว่าตัวเองบริสุทธิ์ ก็ต้องเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ปัญหาตอนนี้ ยังไม่มีกระบวนการยุติธรรมให้เราเข้าเลย ขอให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราในการออกมาฟ้องสังคมว่า พวกเราไม่ลืม และยังหวังกันต่อไปว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ควรกล่าวคำขอโทษก็ยังดี อย่างน้อยที่สุดคุณอภิสิทธิ์ควรจะขอโทษเสียที”

ภาพ: ประชาไท

Tags: , , , ,