ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ในช่วงเช้ามืดมีการสลายการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎร ที่มี อานนท์ นำภา เป็นผู้นำ ด้วยเหตุว่า ฝ่าฝืนการประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัยเหตุที่ ‘ขบวนเสด็จฯ’ แล่นฝ่าเข้ามาในที่ชุมนุมเป็นเหตุ ทำให้แกนนำหลักของกลุ่มราษฎรถูกจับกุมทั้งหมด
ข้ออ้างดังกล่าวเพิ่มความไม่พอใจให้กับผู้ชุมนุมโกรธแค้นมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีข้อเรียกร้องเพียง 3 ข้อ ได้แก่
1. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และองคาพยพต้องลาออกจากตำแหน่ง
2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาใหม่
3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย
ในช่วงเย็นของวันดังกล่าวจึงเกิดการชุมนุมแบบ ‘แฟลชม็อบ’ โดยมีผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อท้าทายคำสั่งห้ามของรัฐบาลที่ห้ามมิให้มีการชุมนุมโดยเด็ดขาด เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมทั้งหมด รวมถึงประกาศนัดหมายและยกระดับการชุมนุมในวันต่อมา
ในเวลานั้น พลเอกประยุทธ์แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังทำร้ายใคร และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายที่ถูกทำร้ายและขัดขวางการปฏิบัติงาน จึงต้องประกาศคำสั่งดังกล่าวออกมาเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ประเทศอยู่ในความสงบ
ถัดมาในช่วงบ่ายของวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ตำรวจหลายกองร้อยเข้าสู่พื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ตั้งแนวสกัดไม่ให้ประชาชนชุมนุม พร้อมปิดการจราจรบริเวณถนนพญาไท ตั้งแต่แยกปทุมวัน แยกราชเทวี และแยกสามย่าน ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) มีการปิด 5 สถานีหลักประกอบด้วยชิดลม ราชดำริ สยาม สนามกีฬา และราชเทวี ทว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่มารอเริ่มเคลื่อนตัวจากบริเวณแยกราชประสงค์มารวมตัวที่แยกปทุมวัน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่
กระทั่งในช่วงเวลาราว 17.10 น. แกนนำคณะราษฎร 2563 ปรากฏตัวบริเวณสกายวอล์กแยกปทุมวัน และผลัดกันขึ้นปราศรัย พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งโดยมากเป็นเยาวชนและนักเรียนมารวมตัวกันอย่างแน่นขนัด ทั้งบนสกายวอร์กและบริเวณพื้นถนนแยกปทุมวัน
ต่อมาเวลาประมาณ 18.20 น. สายฝนเริ่มโปรยหนัก เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศข้อบังคับตามสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งผ่านลำโพงขยายเสียง พร้อมนำรถควบคุมฝูงชนติดตั้งเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงหรือที่หลายคนเรียกว่ารถ ‘จีโน่’ เข้าประชิดแนวผู้ชุมนุมจากด้านถนนพญาไท และประกาศยกระดับการกระชับพื้นที่เตือนให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ภายใน 3 นาที ไม่เช่นนั้นจะใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นตามลำดับ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ใช้รถจีโน่เพื่อเข้าระงับเหตุการณ์การชุมนุม
ในเวลาราว 18.40 น. กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณแยกปทุมวันเริ่มลุกขึ้น และตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่แนวหน้าเริ่มฉีดน้ำแรงดันสูงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมฝั่งถนนพญาไท จนเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่มากขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนกางร่มต้านแรงดันน้ำพร้อมขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจ และนำสิ่งของต่างๆ มาตั้งกีดขวางการเดินกระชับพื้นที่
ต่อมาเวลา 19.15 น. เจ้าหน้าที่เริ่มใช้น้ำผสมสารสีน้ำเงิน ฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งสารดังกล่าว มีฤทธิ์ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเกิดอาการแสบตาและแสบร้อนบริเวณผิวหนัง ทำให้มวลชนเริ่มถอยร่น ขณะที่ตำรวจเริ่มรุกคืบได้มากขึ้น จนใกล้ถึงแยกปทุมวัน ทำให้แกนนำการชุมนุมจึงต้องประกาศยุติการชุมนุม และให้ผู้ชุมนุมถอยร่นไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ
ขณะเดียวกัน พลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในเวลานั้น ระบุว่า มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมไปแล้วกว่า 100 คน พร้อมออกหมายจับแกนนำคณะราษฎร 2563 ทั้ง 12 คนในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีจัดการชุมนุมต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 14-16 ตุลาคม 2563
การชุมนุมดังกล่าวสร้างความไม่พอใจต่อเนื่อง จนกลายเป็น ‘แฟลชม็อบ’ รายวัน ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ห้าแยกลาดพร้าว แยกบางนา ฯลฯ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจทำอะไรพลเอกประยุทธ์ได้
อาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 นับเป็นหมุดหมายการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงของรัฐ และยกระดับด้วยการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการชุมนุมในปี 2563 เป็นต้นมา
นอกจากนั้น รัฐยังยกระดับความรุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี แก๊สน้ำตา รวมถึงกระสุนยาง เพื่อสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น ทำให้สื่อมวลชนและนักวิชาการต่างเริ่มตั้งคำถามถึงแนวทางการจัดการว่า รัฐกระทำโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะในเวลานั้น ไม่มีสัญญาณใดๆ ที่ปรากฏถึงความรุนแรงจากฟากฝั่งผู้ชุม
Tags: คณะราษฎร, On This Day, The Momentum On This Day