สิทธิมนุษยชน = สิทธิสตรี

เป็นเวลามากกว่า 1 ศตวรรษ ที่ ‘วันสตรีสากล’ (International Women’s Day: IWD หรือ Happy women’s day) ได้ย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงการกดขี่ทางเพศ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และการเลือกปฏิบัติ พร้อมกับระลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ของผู้ใช้แรงงานหญิงที่ร่วมกันออกมาต่อสู้ ต่อต้านการกดขี่ที่ประกาศก้องว่า ‘นับแต่นี้ผู้หญิงจะไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป’

วันสตรีสากลเกิดขึ้นได้อย่างไร?

วันแห่งประวัติศาสตร์นี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของแรงงานหญิงกว่า 1.5 หมื่นคนที่ออกมาเดินขบวนประท้วงไปทั่วนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาในปี 1908 เพื่อเรียกร้องให้ลดเวลาการทำงานของผู้หญิงลง เพราะก่อนหน้านั้นผู้หญิงต้องทำงานมากถึง 15-17 ชั่วโมงต่อวัน แต่กลับได้ค่าแรงน้อยกว่าแรงงานเพศชาย ทั้งยังต้องทำงานโดยไม่มีวันหยุด และไม่มีสวัสดิการในการทำงานใดๆ ส่งผลให้แรงงานหญิงจำนวนมากต้องป่วยล้มตาย และหากแรงงานหญิงตั้งครรภ์ก็จะถูกไล่ออกจากที่ทำงานในทันที แต่เช่นคำกล่าวที่ว่า ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ เหล่าสตรีทั้งหลายจึงมารวมตัวและเรียกร้องสิทธิที่พึงมี

เหล่าสตรีทั้งหลายจึงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียม แต่การประท้วงดังกล่าวได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 119 คน เพราะมีการลอบวางเพลิงในโรงงานเย็บผ้า และมีการใช้กำลังสลายการชุมนุมในที่ที่พวกเธอประท้วงอยู่

ในปี 1910 มีการจัดประชุมสมัชชาแรงงานสตรีขึ้น ณ ประเทศเดนมาร์ก ถือเป็นครั้งแรกที่แรงงานหญิงจำนวน 100 คนจาก 17 ประเทศทั่วโลกมาประชุมร่วมกัน โดยมี คลารา เซตคิน (Clara Zetkin) นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม (พรรคสังคมประชาธิปไตยในเยอรมนี) ได้เสนอแนวคิด 3 ส่วน คือ 8 ชั่วโมงในการทำงาน 8 ชั่วโมงในการแสวงหาความรู้ และ 8 ชั่วโมงในการพักผ่อน เพราะก่อนหน้านั้นผู้หญิงใช้เวลามากกว่า 2 ใน 3 ของแต่ละวันหมดไปกับการทำงาน พร้อมกันนั้น เธอยังเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเหมือนเพศชาย (ในยุคนั้นผู้หญิงไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง) โดยในปี 1975 วันสตรีสากลจึงได้รับรองอย่างเป็นทางการจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ต่อมาในปี 1996 UN จึงได้กำหนดคำขวัญประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรกว่า ‘เฉลิมฉลองอดีตและวางแผนเพื่ออนาคต’ (CELEBRATING THE PAST, PLANNING THE FUTURE)

ในการประชุมดังกล่าวได้มีมติเป็นเอกฉันท์ กำหนดให้ทุกวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล โดยการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1911 ที่ประเทศเดนมาร์ก ออสเตรีย เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ และกำหนดเป็นวันหยุดราชการในอีกหลายประเทศ

วันสตรีสากลจึงเป็นวันที่ย้ำเตือนถึงความโหดร้ายของความไม่เสมอภาคทางเพศ การกดขี่ทางเพศ พร้อมกันนั้น ยังเป็นวันที่ควรแก่การเฉลิมฉลอง เพื่อร่วมระลึกถึงการต่อสู้ที่ผ่านมาของเหล่าสตรี รวมถึงการร่วมกันออกแบบและวางแผนสร้างโลกที่เปิดกว้างและเท่าเทียมสำหรับทุกคน

ภาพ: internationalwomensday.com

Tags: , ,