‘เกาหลีใต้’ เป็นประเทศหนึ่งที่มักยกมาเป็นตัวอย่างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ก่อนประชาธิปไตยจะเบ่งบานจนเป็นผลให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองเหมือนในปัจจุบัน เกาหลีใต้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการต่อเนื่องหลายสิบปี

หนึ่งในผู้นำเผด็จการคนสำคัญคือ ‘พัค จองฮี’ (Park Chung hee) ประธานาธิบดีระหว่างปี 1961-1979 ที่เข้ายึดอำนาจและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง พร้อมก่อตั้งสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (KCIA) ขึ้นมาโดยอ้างว่าเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ความจริงได้ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปราบปรามพรรคการเมืองที่ขวางทางอำนาจของตน

พัค จองฮี อาจเป็นผู้นำเผด็จการที่นำพาความเจริญก้าวหน้ามาสู่เกาหลีใต้ยุคใหม่ ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักของกลุ่มแชโบล เปิดรับวิทยาการจากทั้งอเมริกาและญี่ปุ่นที่คนเกาหลีเกลียดเข้าไส้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนุญให้ตัวเองดำรงอยู่ในวาระได้เป็นสมัยที่ 3 ประกอบกับผลการเลือกตั้งที่ค้านสายตา ส่งผลให้เกิดแรงต่อต้านขึ้น ทว่าพัค จองฮีก็แก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารตัวเอง และปกครองประเทศภายใต้ประกาศสภาวะฉุกเฉิน ก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกรอบให้ตัวเองสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ตลอดชีวิต

การครองอำนาจของพัค จองฮีกว่า 18 ปี มาถึงจุดที่บรรดานักศึกษา นักเคลื่อนไหว และประชาชนเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งอดรนทนไม่ไหวออกมาประท้วงทั่วประเทศ แม้จะมีการสลายการชุมนุมและจับกุมประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่ประชาชนก็ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อพัค จองฮีถูกลอบสังหารในวันที่ 26 ตุลาคม 1976 ระหว่างการรับประทานอาหารเย็นที่ทำเนียบประธานาธิบดี (ฺBlue House)

ประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับ คิม แจคยู (Kim Jae Kyu) ผู้อำนวยการ KCIA และ ชา จีชอล (Cha Ji-chul) หัวหน้าบอดี้การ์ดประจำตัว สองคนสนิทของพัค จองฮี

KCIA ถูกลดบทบาทเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อพรรคที่อยู่ตรงข้ามพัค จองฮีได้รับคะแนนเสียงมหาศาลในการเลือกตั้งทั่วไป ขณะชา จีชอลได้รับความไว้วางใจในระดับสามารถสั่งกองทหาร รถถัง เฮลิคอปเตอร์ เพื่อมาคุ้มกันประธานาธิบดีได้ด้วยตัวเอง รวมถึงอำนาจหน้าที่ของคิม แจคยู ทั้งการจัดวาระงานและการวางแผนด้านความมั่นคงถูกโยกมาไว้ที่หัวหน้าบอดี้การ์ดชาทั้งหมด ตลอดเดือนตุลาคมจึงมีข่าวลือทั่วกรุงโซลว่า ชา จีชอลจะขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการ KCIA แทนคิม แจคยู

ภายในงานเลี้ยงวันที่ 26 ตุลาคม 1976 วงสนทนาบนโต๊ะอาหารดุเดือดขึ้นเมื่อประธานาธิบดี พัค จองฮี ตำหนิ KCIA ที่ยอมอ่อนข้อต่อผู้ประท้วงมากเกินไป และเมื่อใดก็ตามที่วงสนทนาเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น ชา จีชอลก็จะยกปัญหาของ KCIA กลับขึ้นมาเสมอ จนคิม แจคยูเดินออกจากห้องไปหยิบปืนมายิงชา จีชอลเป็นแรก ก่อนลั่นไกจบชีวิตพัค จองฮีตามไปติดๆ ปิดฉากประธานาธิบดี พัค จองฮี ผู้นำที่ครองอำนาจนานที่สุดของเกาหลีใต้ รวมแล้วคืนนั้นมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 5 คนด้วยกัน

ตอนแรกคาดว่าเป็นการสังหารมีสาเหตุจากความแค้นส่วนตัว แต่การสอบสวนภายหลังพบว่ามีการวางแผนลอบสังหารไว้อย่างรอบคอบ คิมยืนยันในการพิจารณาคดีว่า ตัดสินใจทำเช่นนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดที่พัค จองฮีวางแผนไว้สำหรับฝ่ายตรงข้ามของเขา และมีเพียงการฆ่าพัค จองฮีเท่านั้นที่จะสามารถฟื้นฟูประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ได้

การสอบสวนนำโดย ชุน ดูฮวาน (Chun Doo Hwan) ผู้บัญชาการในกองบัญชาการรักษาความมั่นคงขณะนั้น คิม แจคยูพร้อมผู้ช่วย KCIA 4 คน ถูกตัดสินประหารชีวิต ขณะที่ชุน ดูฮวานกลับทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1979 ในเวลาต่อมา ทั้งยังเป็นผู้สั่งการให้เกิดการสังหารหมู่ที่กวางจู เมื่อปี 1980 จนมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน

Tags: , ,