เราจำ Nuh Peace (นุ-พีซ) ได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น และเชื่อว่าหลายคนก็น่าจะเหมือนกัน เขาคือบุคคลที่มักไปปรากฏกายในปาร์ตี้ แฟชั่นวีค หรืออีเวนท์อันเดอร์กราวด์ ถ้าไม่ในฐานะดีเจก็ในฐานะศิลปินที่พกพาประเด็นต่างๆ ซึ่งเขาสนใจ เข้าไปนัวปนกับรูปลักษณ์ ความเมามาย และเสียงดนตรี ประเด็นเหล่านั้นก็อย่างเช่นเรื่องของเควียร์ ศาสนา หรือการบูชาความขาว-คนขาว (white-washing / white supremacy) ฯลฯ
ผลงานล่าสุดในปลายปีที่ผ่านมาของนุพีซก็เช่นการแสดงในงาน ShapeShifter ที่เล่นกับการก่อร่างให้กับสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างอารมณ์ต่างๆ หรือ ‘เสียง’ อีกงานอย่างปาร์ตี้ในซีรี่ย์ Cyber Babtism ของเหล่าศิลปินเควียร์ ที่นุพีซเปลี่ยนพื้นที่ในปาร์ตี้ให้กลายเป็นโบสถ์ และเพลงที่เล่นเป็นคล้ายบทสวด ฯลฯ เหล่านี้แม้ไม่ใช่งานที่เข้าถึงผู้คนในวงกว้าง แต่ถ้าใครได้หลงเข้าไปแล้วคงกลายเป็นอีกคืนที่ต้องจดจำ
อาจพูดได้ว่า นุพีซก็เป็นเด็กไทยอีกคนหนึ่งที่ได้ไปสัมผัสวัฒนธรรมตะวันตกจากดินแดนแห่งความหลากหลายอย่างอเมริกา แต่เวลาสามปีนั้นไม่ได้มีแต่พลังวัยรุ่นอันพลุ่งพล่าน ความเจ็บปวดจากการกดทับอย่างใหญ่หลวงก็ได้เกิดขึ้นกับเขาที่นั่น นิวยอร์กเปลี่ยนแปลงบางอย่างในตัวเขา พร้อมกับผลักดันให้นุพีซเริ่มสร้างคาแรกเตอร์ที่ใช้พูดคุยกับเราในวันนี้ขึ้นมา
และก็อาจพูดได้อีกว่าการแต่งหน้าแต่งตัวของเขานั้นเป็นการเรียกร้องให้คนสนใจ ซึ่งนั่น นุพีซไม่ปฏิเสธ มันเป็นความตั้งใจของเขา และ art form ของนุพีซก็เป็นอย่างนั้นเอง
คุณนิยามตัวเองอย่างไร
เราเป็นศิลปิน แฟชั่นดีไซเนอร์ แดรกควีน คลับคิด (club kid) และเป็นดีเจ คือที่จริงเราไม่อยากนิยามตัวเองให้เป็นสิ่งสิ่งเดียวในเวลาเดียว เรามองว่าการทำงานของเรามันสามารถไปได้ในหลายๆ มีเดียม ไม่ใช่แค่กรอบๆ เดียว
ตัวตน ‘Nuh Peace’ ที่เราสร้างขึ้นมามันเป็นเหมือน self-creation ที่เราสร้างขึ้นเพื่อสื่อสาร นุพีซเป็นได้ตั้งแต่ป๊อปสตาร์ยันบาทหลวง เราสร้างขึ้นมาเพื่อให้เรากระโดดเข้าไปเป็นอะไรก็ได้ที่ในชีวิตจริงเราไม่สามารถเป็น เราอยู่ทั้งในโลกไซเบอร์พังก์ โพสต์อินเทอร์เน็ต โพสต์อะโพคาลิปส์ โพสต์เจนเดอร์ ฯลฯ
เราเพิ่งใช้คำว่า ‘แดรก’ เมื่อปีที่แล้ว ก่อนนั้นเรามองตัวเองเป็นพังก์มากกว่า ตอนแรกเราไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเป็นแดรกเท่าไหร่ แต่พอทำไปทำมามันก็เข้าไปอยู่ในหมวดแดรกไปโดยปริยาย แล้วบางทีไปงานพังก์ เขาก็ยังมองว่าเราเป็นแดรก พอเราไปงานแดรก เราก็ไม่ได้แต่งตัวแบบแดรกขนาดนั้น ไม่ได้ใส่วิก เขาก็มองเราเป็นพังก์ เราเลยรู้สึกว่าเราอยู่กลางๆ ระหว่างทุกสิ่งมาตลอด
จริงๆ แล้วคุณชื่ออะไร
ชื่อนุ แล้วทีนี้ตอนเรียนคลาสศิลปะที่อเมริกามันต้องเซ็นชื่อ เราก็ไม่รู้จะเซ็นอะไร ก็เลยเขียนคำว่า Nuh แล้วอยู่ๆ ก็ไปใส่เครื่องหมาย peace ลงไป เพราะตอนนั้นฟังเลนนอนเยอะมาก พอใส่ไปแล้วมันก็กลายเป็นความหมายซ้อน เพราะบางทีฝรั่งก็ออกเสียงชื่อเราเป็น no บ้าง new บ้าง มันอาจจะเป็น no peace หรือ new peace ก็ได้
ตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่คุณรู้สึกว่าแฟชั่นหรือการแต่งตัวมีความสำคัญในการสื่อสารประเด็นบางอย่างออกไป
ที่จริงเราก็ไม่อยากใช้คำว่าแฟชั่นเพราะเราไม่ได้เป็นคนเก๋ ไม่ได้ fashionable เราแค่อยากแต่งตัวเพื่อสื่อสารอะไรสักอย่างออกไป ทีนี้ก็ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ตอนนั้นเราก็ตั้งคำถามว่าทำไมโรงเรียนต้องมียูนิฟอร์ม ทำไมต้องตัดผมตลอดเวลา แล้วพอดีมีโอกาสได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกาประมาณ 3 ปี ในปีสุดท้ายเราได้ไปอยู่นิวยอร์ก ซึ่งมันเป็นเมืองที่ถ้าเป็นศิลปินแล้วไปอยู่ที่นั่น จะต้องมีอะไรสักอย่างในชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง เพราะคนที่นั่นมีพลังบางอย่างที่ไม่เหมือนที่อื่นเลย เป็นพลังที่ขับเคลื่อนเราตลอดเวลา
อย่างหนึ่งที่นิวยอร์กสอนให้เรารู้จักคือคำว่า ‘inner fame’ เด็กที่นั่นสามารถเดินไปตามถนนเหมือนตัวเองเป็นซูเปอร์สตาร์โดยที่ไม่ต้องมียอดผู้ติดตามมากมายอะไร แค่เขาเชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อ สิ่งที่เขาอ่าน หรือสิ่งที่เขาฟัง แล้วก็มีอินเนอร์แบบนั้นได้ตลอดเวลา สิ่งนี้ก็ได้หล่อหลอมเราขึ้นมา ว่าฉันไม่จำเป็นต้องดังขนาดนั้นหรือเป็นอะไรสักอย่างขึ้นมาเพื่อจะเริ่มแต่งตัว เราเป็นใครหรืออะไรก็ได้
จากตรงนั้นทำให้เราเริ่มค้นหาสไตล์และสร้าง identity ของตัวเองขึ้นมา ว่าเราอยากเป็นอะไรกันแน่ หรือเราทำมันไปเพื่ออะไร ก็คงต้องบอกว่าเริ่มจากตรงนั้น ที่เราเริ่มแต่งตัวจริงๆ ตอนนั้นเราก็ฟังเพลงพังก์เยอะมาก แล้วก็ได้เจอนิทรรศการพังก์ต่างๆ มันก็ได้หล่อหลอมเราขึ้นมา และทำให้เราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ด้วยการแต่งตัวแบบนี้ เจอช่วงที่คนไม่เข้าใจบ้างไหม
เจอนะ ช่วงแรกที่เราแต่งเราก็รู้สึกว่าเราเป็น freak เป็นคนนอกของสังคม แต่ที่จริงเรารู้สึกว่าเราเป็นตัวประหลาดมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมที่สุราษฎร์ธานี เราไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ในโรงเรียนเรารู้สึกเป็นอื่นมากๆ มันอธิบายไม่ถูก หาที่ระบายไม่ได้ ไม่รู้จะคุยกับใคร เหมือนคนอื่นก็มองว่าเราแปลกๆ การมองโลกของเรามันก็เริ่มพัฒนามาจากตรงนั้น ว่าควรจะต้องเอามันออกมายังไง ถึงจุดหนึ่งมันก็ระเบิดออกมาเป็นหน้าแบบนี้ ทาลิปสติกแบบนี้ เป็นเสื้อแบบนี้
แต่ครอบครัวเข้าใจเรานะ เพียงแต่ในบางพื้นที่ เราก็รู้สึกว่าเราไม่สามารถเชื่อมกับใครได้ มันก็พูดยาก เราก็พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกตรงนั้น แต่ถามว่าพยายามจะให้เขาเข้าใจเราไหม เราเลิกพยายามไปตั้งนานแล้ว
ถามว่าเราเองมีคอมฟอร์ตโซนไหม เราก็มี เราไม่ได้เป็นคนกล้า 100% ที่ออกจากบ้านแล้วไม่กลัวอะไรเลย เราก็ยังเป็นคนปกติทั่วไป เป็นคนที่ยังใช้ชีวิต มันก็ยังมีความรู้สึกที่ว่าออกจากบ้านแล้วคนจะรู้สึกกับกูยังไง มันก็คือคนน่ะ คงไม่สามารถลบความรู้สึกแบบนั้นออกไปได้ เพียงแต่ความกล้ามันก็เยอะขึ้นมากๆ แล้วจากเมื่อก่อน เราได้เรียนรู้ว่าคนเขาก็ไม่ได้รับได้ทุกคนนะ เราก็ต้องเข้าใจและยอมรับมัน ก็ต้องอยู่ให้ได้
การแต่งหน้าออกจากบ้านกับไม่แต่งเลย ความรู้สึกแตกต่างกันไหม
เราก็ยังรู้สึกว่าตัวเอง freak เหมือนเดิมถึงแม้จะไม่มีเมคอัพอยู่บนหน้าก็ตาม เราไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นคนปกติอยู่แล้ว และเราก็ไม่อยากโกหกความรู้สึกตัวเองว่าเราเป็นคนปกติ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็แบ่งแยกตัวตนมากๆ เราอาจจะเป็น Nuh Peace หรือใครที่เป็น freak สำหรับคนอื่น แต่เราก็เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ได้ เป็นเพื่อนที่ดีได้
ประเด็นที่คุณอยากเล่าผ่านคาแรกเตอร์ Nuh Peace มีอะไรบ้าง
เมสเสจของเรามันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาในชีวิต ถ้าเป็นตอนนี้ เรื่องที่เราจะพูดหลักๆ เลยก็คือเรื่องเควียร์ เรารู้สึกว่าคนไทยยังมองว่าเควียร์คือสีลมซอยสอง หรือทุกวันนี้ก็อาจจะมีแดรกควีนขึ้นมา แต่สำหรับเรา เควียร์มันเป็นมากกว่านั้นในทางวัฒนธรรม
อีกเรื่องหนึ่งคือศาสนา ล่าสุดเราได้ทำคอนเซปต์ชวลปาร์ตี้ขึ้นมา ชื่อ Cyber Babtism ที่มีหลายซีรีย์ คือศาสนามันมีผลเกี่ยวกับเพศใช่ไหม แล้วเราก็เคยไปเรียนโรงเรียนคริสเตียนที่อเมริกา ซึ่งมันทำให้มุมหนึ่งเรารู้สึกว่าเราไร้ค่า เพราะศาสนามันกดความเป็นเพศของเราเอาไว้ จนถึงจุดหนึ่งเราเลยอยากพูดว่าทำไมเราไม่สามารถสร้างโบสถ์ของเราขึ้นมาเอง โบสถ์ที่มันไม่สอนให้คนเกลียดกัน แต่สอนให้คนเข้าใจกัน
เราใช้พื้นที่ของปาร์ตี้มาเปรียบเทียบการเป็นพื้นที่ของโบสถ์ แล้วก็ทำตัวเป็นบาทหลวงในนั้น เป็นบาทหลวงที่สวดผ่านเพลงที่เราเล่น เรามองว่าศาสนาเป็นเรื่องไฮเปอร์เรียลหรือยิ่งกว่าเหนือจริง ไม่ได้พยายามต่อต้าน เราพยายามจะเป็นส่วนหนึ่งของมัน เพราะรู้สึกว่าถ้าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมันคุณคงไม่สามารถเปลี่ยนความคิดในกรอบตรงนั้นได้ เราก็เลยพยายามสร้างภาพที่ใกล้เคียงกับศาสนาขึ้นมาเพื่อให้เชื่อมโยงกัน
ซึ่งเรื่องที่เราจะพูดมันก็เปลี่ยนไปตลอด ก่อนหน้าเราก็พยายามพูดเรื่องศิลปะ หลังจากนี้ก็อาจจะเปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่นๆ
สำหรับคุณแล้ว ซีนอันเดอร์กราวด์ในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร
ตั้งแต่เราอยู่ในซีนคลับ หรือซีนใต้ดินของกรุงเทพ เรารู้สึกว่ากรุงเทพมีความหลากหลายสูงมาก แต่เป็นความหลากหลายที่อยู่กันเป็นกลุ่มๆ แต่ละคนก็จะมีบับเบิ้ลของตัวเอง เป็นความหลากหลายที่มีคอมฟอร์ตโซนสูงมาก บางคนที่ผ่านไปเจอแล้วไม่เก็ตก็จะไม่เก็ตไปเลย แล้วคือใครจะไปรู้ว่าในกรุงเทพยังมีซีนพังก์ดีๆ หรือเฮฟวี่เมทัลดีๆ อยู่ มีเพื่อนเราที่พยายามจะทำซีนดนตรีเทคโนให้มันเกิดขึ้น ทุลักทุเลมากแต่ก็พยายามทำให้มันเกิด หรือซีนกราฟิตีที่เด็กพยายามสร้างศิลปะข้างถนน ซึ่งเราได้รับแรงบันดาลใจจากคนเหล่านี้เยอะมาก
แต่ในความรู้สึกของเราตอนนี้มันคือ Social media killed the underground stars เมื่อก่อนมันจะมีเพลง Video killed the radio stars ใช่มั้ย ที่พูดถึงคนดนตรีที่เคยปล่อยเพลงทางวิทยุแล้วก็ต้องเจอกับความลำบากของยุคทีวี เหมือนจากที่คนเสพแค่เพลงของพวกเขาก็ต้องพากันไปออกทีวี ต้องมีหน้ามีตา มีเรื่องของวิชวลเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกัน เราว่าโซเชียลมีเดียที่ทุกอย่างต้องถูกแสดงออกมามันได้ฆ่าความเป็นอันเดอร์กราวด์ไปแล้ว
เราอยากให้ช่วงเวลาที่คนเรา enjoy the moment จริงๆ มันกลับมา ไม่ต้องคอยคิดว่าเดี๋ยวอันนี้เราต้องเอาไปลงสตอรี่ เราจะถ่ายรูปนี้ อยากให้คนได้ใช้เวลาคุยกันจริงๆ พอมีพื้นที่ทางโซเชียลมีเดียมาเกี่ยว เรารู้สึกว่าบางทีคนพร้อมจะหาผลประโยชน์จากกันตลอดเวลาในทางใดทางหนึ่ง และมันก็ทำให้เรา lost ไปช่วงหนึ่ง เรารู้สึกว่าโซเชียลมีเดียทำให้เด็กรุ่นเราบางคนเป็นเหมือนคลิกเบท เป็นแค่ภาพฟิลเตอร์บางอย่างเคลือบไว้ แต่ถามว่าข้างในมีอะไรมั้ย? หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ของคนเราทุกวันนี้บางทีมันก็ผิวเผินจนน่ากลัว
ดูเป็นคำพูดของคนที่อายุมากกว่า 23 แฮะ เข้าใจว่าคนวัยๆ นี้น่าจะชินและเติบโตมากับโซเชียลมีเดีย?
ก็ใช่นะ (หัวเราะ) แต่เราเป็นคนที่คุยกับตัวเองเยอะด้วยมั้ง บางทีเราก็ไม่ได้คอนเน็กต์กับคนในโลกความจริงมากขนาดนั้น เราเลยค่อนข้างตั้งคำถามกับฟอร์มของคอนเนกชั่นของคนหรือสิ่งต่างๆ รอบตัว
เราเคยคิดว่าถ้าเราตายไป ใครจะมานั่งแคร์เราเพราะทวีตของเรา หรือข้อความบนเฟซบุ๊กของเรา แต่คนที่เขาแคร์อาจจะเป็นคนที่เราเคยไปนั่งคุยกับเขามากกว่าปะ คนที่ได้นั่งคุยแล้วทำให้บางอย่างในตัวเราหรือเขาเปลี่ยนไป เป็น magical moment มากๆ ซึ่งเราว่าหาได้ยากในยุคนี้
และกลับมาที่เรื่องอันเดอร์กราวด์ เราว่าบางทีอันเดอร์กราวด์จริงๆ อาจจะเป็นเด็กที่นั่งฟังเพลงดีๆ อยู่ในห้องคนเดียวก็ได้ ส่วนความเป็นอันเดอร์กราวด์ในพื้นที่จริงก็ได้ถูกทำให้เป็นเชิงพานิชย์ไปซะเกือบหมด ขนาดงานอันเดอร์กราวด์ก็ต้องมีการพยายามโปรโมตอะไรบางอย่างกันตลอดเวลา ทุกอย่างมันถูกเงินหมุนไปหมดแล้ว
อึดอัดไหม เวลาที่อยากสื่อสารอะไรออกไปแต่บางทีมันกลายเป็นวัตถุดิบในการโปรโมตอะไรบางอย่าง
เรารู้สึกว่าศิลปินยุคนี้ต้องดีลกับเรื่องนี้ให้ได้ เพื่อจะอยู่รอด แล้วมันยากตรงที่การบาลานซ์เมสเสจของตัวเอง อาร์ตฟอร์มของตัวเอง ความเชื่อของตัวเองกับเรื่องเงิน ความเป็นคอมเมอร์เชียลต่างๆ ที่มันจะต้องเข้ามา
แต่ด้วยความที่เราเจอหนังสือ Philosophy of Andy Warhol ที่วอร์ฮอลเขียนเอง มันเป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตเรา มันให้ปรัชญาใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต การมองศิลปะ ป๊อปคัลเจอร์หรืองานคอมเมอร์เชียลไปในทิศทางใหม่แบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อนเลย วอร์ฮอลเองเขาพยายามทำให้งานศิลปะมันขายได้อยู่แล้ว เรารู้สึกว่าเราก็ต้องทำอย่างนั้น เราเลยเลือกจะสร้างอาร์ตฟอร์มของตัวเองบนความผิวเผินของสังคม สำหรับเราเลยไม่อึดอัด ทุกอย่างที่เราสร้างมันคือภาพล้วนๆ แฟชั่นเอย ปาร์ตี้เอย อะไรก็ตามที่มันดูผิวเผินในสังคม หรือแม้แต่การอยู่กับโซเชียลมีเดียต่างๆ เราจะไปสร้างอาร์ตฟอร์มบนนั้น
เราเชื่อว่าหลังจากยุคของดาด้า (Dadaism) หรือยุคของวอร์ฮอล เราว่าศิลปะกับงานคอมเมอร์เชียลมันต้องอยู่ด้วยกันแล้ว เพราะโลกได้เปลี่ยนไปในทางนั้นแล้ว พิพิธภัณธ์หรือแกลเลอรี่ก็กลายเป็นที่ขายของ ซึ่งเราว่าศิลปะสามารถอยู่ในทุกที่ เหมือนที่เราเจองานของแบงก์ซี่ได้ตามถนนซึ่งมันอาจไม่ได้มีค่าในที่ที่มันอยู่ แต่ในกรอบคิดทางศิลปะมันกลับมีค่ามากๆ ดังนั้นศิลปะอาจจะอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้ เราว่ายุคนี้มันคือยุคแห่งการตีความแล้วล่ะ
การแต่งหน้าแต่งตัวในแต่ละวันของคุณขึ้นอยู่กับอะไร
มันสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก ณ เวลานั้น หรือสิ่งที่เราอยากเล่าในเวลานั้นๆ อย่างตอนนี้เราก็อยากเล่นโทนที่มีการอิงกับศาสนามากๆ คือมีอีกเรื่องที่เราลืมเล่าไป นอกจากเรื่องเควียร์กับศาสนาแล้ว เราก็อยากเล่าเรื่องเกี่ยวกับ white-washing หรือเรื่อง white-supremacy ที่คนจะมองว่าความขาวคือความสูงส่ง
คือเราไม่เชื่อในวัฒนธรรมคนขาว แม้เราจะโตมากับงานคนขาว อ่านหนังสือคนขาว เสพงานคนขาวตลอดเวลา เราแทบจะมองคนขาวเป็นไอดอล เป็นทุกอย่าง แต่นั่นทำให้เรามองว่าทำไมเราถึงไม่สามารถผลักดันคน people of color หรือคนผิวสีอื่นๆ ในสังคม ไปอยู่ในจุดนั้นได้บ้าง นี่เป็นเรื่องที่เรากำลังตั้งคำถามทั้งกับตัวเองแล้วก็ในสังคม
ซึ่งสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากมาก เพลงคนขาวก็ยังเปิดอยู่ทุกที่ หรือกระทั่งการที่เราสนใจคนเกาหลี บางทีคนเกาหลีก็กำลังสนใจคนขาวอยู่ มันเป็นสิ่งที่ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ นี่เป็นสิ่งที่เรากำลังพยายามอยู่ให้คนตระหนักหรือระแวดระวังเรื่องนี้กันมากขึ้น
แล้วในช่วงอายุ 18 ของเรา เป็นช่วงที่เรากำลังหาตัวตน แล้วเราดันไปเจอเพื่อนผิวสีที่ไฟต์ทุกวันเพื่อจะมีสิทธิ เราเลยรู้สึกว่าทำไมกูไม่ไฟต์อะไรแบบนี้บ้างวะ เพื่อจะเป็นอะไรซักอย่างแล้วก็มีสิทธิเท่าเทียมกับคนผิวขาว ในบ้านเราเองก็มีความกดทับแบบนี้เหมือนกันแต่คนไม่ได้เห็นภาพชัด เลยไม่ค่อยเกิดความเคลื่อนไหวแบบนี้
สำหรับเรา ในฐานะคนเอเชียนที่เคยไปเรียนอเมริกา เราพบว่าเราเป็นชนชั้นที่แทบจะไม่มีเสียงในพื้นที่ใดๆ เลย แค่เป็นเอเชียนผิวเหลือง หน้าตาเหมือนคนจีน เราไม่ชอบความรู้สึกของคนขาวที่เขามองว่าเขา on top of the world หรือกระทั่งการที่คนดังที่เป็นคนขาวพยายามออกมาเคลมความเป็นไบเซ็กชวลของตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้เขาอาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย เพราะเขาอยู่ในสถานะที่เหนือแล้วไง แต่สำหรับคนอื่นที่ผ่านความเจ็บปวดกันจริงๆ ล่ะ กับคุณที่ดังอยู่แล้วแล้วก็ดึงสิ่งนี้เข้ามานำเสนอเพื่อหาแฟนเบสใหม่ๆ เราว่ามันไม่แฟร์นะ และนั่นก็เป็นสิ่งที่ปาร์ตี้ของเราก็พยายามจะพูดอยู่
มันกลับกลายเป็นการกีดกันคนขาวออกไปไหม เหมือนที่คนขาวเคยกีดกันคนอื่นออกมา
แต่ก็ต้องถามว่าทุกวันนี้สิทธิของคนขาวมันก็เหนือกว่าคนอื่นอยู่แล้วรึเปล่า มันมีเยอะพออยู่แล้ว อันนี้พูดถึงในอเมริกานะ คือในบ้านเราอาจจะเป็นผลกระทบส่วนปลายๆ แต่ทุกวันนี้คนบ้านเราหลายคนก็ยังมองว่าคนผิวขาวพิเศษกว่า คนไทยยังกลัวฝรั่ง ทั้งกำแพงทางภาษาเอย หรือความเชื่อเอย มันได้ทำให้ white-supremacy ที่จริงๆ มันน่าเศร้ามาก กลายเป็นเรื่องปกติแล้วก็กดทับคนในสังคมไปแบบแนบเนียน
แล้วเราก็ไม่ได้โจมตีไปที่ตัวคนขาว แต่เราโจมตีไปที่สิทธิพิเศษของเขา ถ้าคุณเป็นคนขาวที่เชื่อในความเท่าเทียมกันคุณก็เป็นเพื่อนกับเราทุกคนได้อยู่แล้ว
เรื่องเศร้าที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับคุณคืออะไร
ที่เศร้าที่สุดสำหรับเราคือการเป็นตัวเองไม่ได้ตอนอยู่โรงเรียนคริสเตียนที่อเมริกา การที่คุณประกาศตัวว่าเป็นเกย์ เป็นเควียร์ สามารถโดนไล่ออกจากโรงเรียนได้เลย หรือถ้ามีเพื่อนปล่อยข่าว ทุกคนสามารถที่จะมองคุณแปลกไป
ตอนนั้นเราต้องโกหกบ้านโฮสต์ที่ไปอยู่ด้วย ว่าเราไม่ได้เป็นเกย์ เพราะที่บ้านนั้นเขาก็รับไม่ได้ เขาเป็นคริสเตียนที่ค่อนข้างเคร่งครัด แล้วเราก็ไม่ได้บอกเขาตั้งแต่แรก ซึ่งเขาก็โยนคำถามมาง่ายๆ เลยว่า Are you gay? ตอนนั้นในหัวเราก็แบบ เราควรจะยังไงดี เพราะในชีวิตเราไม่ค่อยโกหกตัวเอง แต่สุดท้ายเราก็ตอบว่า No. นั่นเลยเป็นอีกข้อที่หล่อหลอมให้เราอยากพูดอะไรออกมาตลอดเวลา
เราว่าบางทีหลายคนยังไม่เคยเจอกับความรู้สึกนี้ เลยไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นชายขอบ คือฉันยังสามารถเต้นอยู่กับเพื่อนที่สีลม ทำไมฉันต้องมาแคร์ประเด็นเรื่องเควียร์ขนาดนั้น เพราะสังคมเรามันเปิดในทางวัฒนธรรมประมาณหนึ่ง แต่มันก็กลายเป็นภาพแค่ไม่กี่ภาพ อันที่จริงมันยังมีก้อนอะไรอีกเยอะที่คนต้องทำความเข้าใจกับมัน
Nuh Peace ยอมให้คนเข้ามาทำความรู้จักกับตัวเองมากน้อยแค่ไหน
ก็มีส่วนหนึ่งที่คนจะไม่ค่อยกล้าเข้ามาคุยกับเรา แต่เราว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นเขาตีความหรือมองอย่างไร แต่บางคนที่ได้เข้ามาคุยกับเราจริงๆ เขาก็จะหายไปเร็วมาก เพราะสิ่งที่เขาต้องการมันไม่มี เราเองมีมิติในการคุย บางทีเขาเห็นเราแต่งตัวแบบนี้ก็ไม่ได้คิดว่าเราจะมานั่งคุยเรื่องดีพๆ แต่เราคุยนะ เราชอบคุยเรื่องแบบนี้กับเพื่อน หรือกับคนอื่นๆ ก็ด้วย เพราะฉะนั้นเราไม่อยากให้ใครตัดสินคนแค่จากการแต่งตัว
คนแต่งตัวน้อยบางทีก็กลัวคนแต่งตัวเยอะมาตัดสินตัวเองด้วยหรือเปล่า
เราก็รู้สึกอย่างนั้น เราอยู่ในโลกวัตถุนิยม โลกหมุนด้วยเงิน หมุนด้วยแบรนด์ จนมันหล่อหลอมให้เราเชื่อไปแล้วว่าวัตถุคือการวัดคุณค่าคน แต่สุดท้ายเราก็ชอบคนที่เจอตามบาร์เล็กๆ มากกว่าคนที่เจอตามแฟชั่นโชว์นะ
เคยตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำอยู่ไหม
มันต้องมีโมเมนต์นี้ตลอดเวลา เพราะถ้าไม่ตั้งคำถามเลยมันก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร มันคงต้องสงสัยในตัวเองตลอดเวลา มันถึงจะทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ ถ้าไม่สงสัยก็คงเป็นคนตาย
เราว่าแค่การคิดถึงอะไรบางอย่างก็สำคัญนะ เราประทับใจคำว่า Thought Crime มันคือการที่เรากล้าจะคิดอะไรสักอย่างโดยไม่กลัวกรอบของสังคม มันเป็นคำที่เรารู้จักมาจากหนังสือ 1984 เราอาจจะไม่ได้ทำมันขึ้นมาจริงๆ แต่แค่กล้าที่จะคิดมันก็คือความกล้าแล้วอะ จะบอกว่าการก้าวเข้าไปในดาร์กไซด์ของตัวเองก็ได้ แต่จริงๆ เราไม่ได้อยากใช้คำว่าดาร์กไซด์ขนาดนั้น เพราะดาร์กไซด์ของเราคนอื่นอาจจะไม่ได้มองว่ามันดาร์กก็ได้ แต่เราว่าทุกคนจะมีส่วนนั้น ส่วนที่บอกตัวเองว่าจะไม่ก้าวเข้าไป เราก็พยายามถ่ายทอดความคิดนี้ออกมาในเพอร์ฟอร์มานซ์ล่าสุดของเราเหมือนกัน
ติดตาม Nuh Peace ได้ที่ https://www.instagram.com/nuhpeace/
Tags: Queer, Nuh Peace, Artist, Drag Queen