“ตำนานกล่าวไว้ว่า ในวันที่อากาศอบอุ่นช่วงฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1978 ขณะดูเบสบอลอยู่ ฮารูกิ มูราคามิก็เกิดแรงบันดาลใจในงานเขียนนิยายเล่มแรกที่ต่อมาชื่อได้ว่า สดับลมขับขาน (Hear the Wind Sing) …”
ย่อหน้าข้างต้นคือข้อมูล ‘เกี่ยวกับผู้เขียน’ ที่ถูกระบุไว้ในหนังสือของฮารูกิ มูราคามิ ทุกเล่มที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่ ทุกครั้งที่อ่านหนังสือของเขาจบเล่มแล้วเล่มเล่า ผมมักจะพลิกมาอ่านข้อความนี้เสมอ จนข้อความดังกล่าวกลายเป็นภาพจำเกี่ยวกับมูราคามิที่ฝังแน่นอยู่ในหัว แต่ก็เป็นเพียงก้อนความจำเดี่ยวๆ ที่ยังขาดการเชื่อมต่อกับก้อนเรื่องราวอื่นๆ เกี่ยวกับตัวเขา
จนกระทั่งเมื่อผมได้มาอ่านความเรียงอัตชีวประวัติเกี่ยวกับตัวตนและเส้นทางการเขียนของเขาที่ชื่อ นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ (Novelist as a Profession) ภาพจำดังกล่าวที่แต่เดิมเป็นเพียงก้อนความจำเดี่ยวๆ ก็โลดแล่นมีชีวิตชีวาขึ้นด้วยเรื่องราวอื่นๆ ที่แวดล้อมตัวมัน หากเปรียบเป็นฉากในนวนิยาย ภาพจำดังกล่าวที่แต่เดิมเป็นเพียงฉากเดี่ยวๆ ก็ขยับขยายพื้นที่ของมันขึ้นเมื่อถูกร้อยเรียงเข้ากับฉากอื่นๆ ที่แสดงถึงที่มาที่ไปของมัน
นอนดูการแข่งขันเบสบอลอยู่ แล้วจู่ๆ ก็เกิดความคิดว่าอยากเขียนนวนิยาย ฟังดูเหมือนเป็นแรงบันดาลใจที่หล่นลงมาจากฟากฟ้า แต่หากคิดถึงความหมายในเชิงเปรียบเปรย ผมคิดว่า ‘ตำนาน’ ดังกล่าวทำหน้าที่เป็นภาพแทนเส้นทางการเขียนนวนิยายของมูราคามิได้เป็นอย่างดี มันเกิดขึ้นอย่างเรียบง่าย อยู่นอกขนบการบ่มเพาะตัวเองอย่างนักเขียนนวนิยายทั่วไป นัยยะของตำนานดังกล่าวคือการบอกว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนไม่จำเป็นว่าต้องเข้าไปขวนขวายคลุกคลีกับผู้คนในวิหารอันโอ่อ่าแห่งวรรณกรรม หรือเคี่ยวกรำตัวเองผ่านความทุกข์ระทมแล้วกลั่นออกมาเป็นวัตถุดิบในการเขียน แต่มันอาจเกิดขึ้นอย่างธรรมดาสามัญในวันฟ้าใสวันหนึ่งที่คุณกำลังนั่งดูเบสบอลอยู่
มูราคามิเริ่มต้นบทแรกใน นักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ ด้วยการตั้งคำถามว่า “นักเขียนนวนิยายเป็นกลุ่มคนใจกว้างหรือไม่”เป็นหัวข้อที่ออกจะเขย่าความคุ้นเคยของคนอ่านอยู่ไม่น้อยเมื่อคิดว่าโดยมากงานเขียนในลักษณะนี้มักจะเริ่มต้นด้วยคำถามสุดคลาสสิกอย่าง นักเขียนคืออะไร นวนิยายคืออะไร ฯลฯ แล้วจากนั้นจึงค่อยๆ ตะล่อมเข้าสู่เส้นทางการเขียนของตัวเองตามขนบที่มักเห็นโดยทั่วไป
แต่ในบทแรกของหนังสือเล่มนี้ มูราคามิเริ่มด้วยข้อสังเกตอันแหลมคมว่า ถ้านักเขียนนวนิยายลองหันไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่การเขียนนวนิยายดูบ้าง เช่น ร้องเพลง วาดรูป หรือเขียน ‘ผลงานที่ไม่ใช่ฟิกชั่น’ (มูราคามิจงใจใช้คำนี้แทนคำว่า non-fiction เพื่อหลีกเลี่ยง (หรือต่อต้าน ?) การกะเกณฑ์และกีดกันจากบรรดานักเขียน fiction ทั้งหลายที่พยายามจะโจมตี ‘ผลงานที่ไม่ใช่ฟิกชั่น’ ของเขา) อาจไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีนักจากคนในวงการนั้น และอาจถึงขั้นรังเกียจรังงอนด้วยซ้ำดังเช่นในกรณีของเขา แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าคนในวงการอื่น เช่น ดารา นักร้อง คนดัง ฯลฯ หันมาลองเขียนนวนิยายดูบ้าง กลับได้รับความสนใจขึ้นมาเป็นพิเศษ ประหนึ่งว่าการเขียนนวนิยายดำรงตนอยู่ในสถานะที่เป็นพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งของคนที่ปกติแล้วไม่ได้เขียนนวนิยายเป็นอาชีพ
มูราคามิขยายความว่า ความใจกว้างที่ว่านี้น่าจะมาจากเหตุผลที่ว่า การเขียนนวนิยายโดยตัวมันเองแล้วแตกต่างจากอาชีพอื่นตรงที่ต่อให้มีการแข่งขันในด้านคุณภาพและยอดขายมากเพียงใด กลไกการแข่งขันดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ ‘ส่วนแบ่งทางการตลาด’ ของนักเขียนร่วมวงการลดน้อยลงไปจากเดิม ในทางกลับกัน ยิ่งมีนักเขียนหน้าใหม่เข้ามาในวงการมากเท่าไหร่ พื้นที่ในการสร้างสรรค์ก็ยิ่งขยายเติบโตและคึกคักมากยิ่งขึ้น
ผมคิดว่าเหตุที่มูราคามิเริ่มต้นบทแรกด้วยการตั้งข้อสังเกตดังกล่าวนี้ ความหมายระหว่างบรรทัดของมันน่าจะมาจาก ‘ความในใจ’ ของเขาเมื่อแรกก้าวเข้าสู่เวทีของนักเขียนนวนิยายแล้วถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนในวงการบางกลุ่มที่เคร่งครัดกับขนบการเขียนนวนิยายแบบเดิม แม้เขาจะไม่ได้ลงรายละเอียดในเรื่องนี้มากนัก แต่เราจะสัมผัสได้ถึงความคับข้องใจดังกล่าวที่ถูกระบายออกมาอยู่ประปรายตลอดทั้งเล่ม แม้ความร้อนระอุของมันจะถูกผ่อนลงจนตกผลึกจนกลายเป็นทัศนะทั่วไปต่อวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นแล้วก็ตาม
การได้รับรางวัลนักเขียนหน้าใหม่จากนวนิยายเรื่องแรกอย่าง สดับลมขับขาน (Hear the Wind Sing) ทำให้มูราคามิเป็นนักเขียนดาวรุ่งที่ถูกจับตามอง จนเป็นที่กะเก็งกันว่าต่อไปเขาน่าจะได้รับ ‘รางวัลอาคุตางาวะ’ อันเป็นรางวัลใหญ่ของวงการวรรณกรรมญี่ปุ่น มูราคามิบอกกับเราว่า การถูกเก็งว่าเป็นตัวเต็งที่จะได้รับรางวัลนี้นำความหนักอกหนักใจมาให้เขาไม่น้อย ทั้งจากเหตุที่เขาลงความเห็นกับตัวเองว่าผลงานที่ถูกส่งเข้าชิงอย่าง สดับลมขับขาน และ พินบอล 1973 ยังไม่ ‘เข้าขั้น’ ที่จะได้รับรางวัลดังกล่าว ประกอบกับความรู้สึกไม่สุขสงบเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางสปอตไลท์ในฐานะนักเขียนดาวรุ่ง จนการพลาดรางวัลดังกล่าวกลับกลายเป็นความโล่งอกแทน
การถูกวางตัวไว้คู่กับรางวัลอาคุตางาวะ ทำให้มูราคามิหัวเสียไม่น้อย เขาบอกว่าถ้าเขาได้รางวัล กระแสการโต้กลับจากคนที่ต่อต้านผลงานของเขาก็น่าจะยิ่งรุนแรงขึ้น ในขณะเดียวกันการพลาดรางวัลดังกล่าว ก็อาจกลายเป็นจุดที่ถูกนำมาเย้ยหยันดูแคลนผลงานของเขาอีก จนคล้ายกับว่าไม่ว่าจะอยากได้หรือไม่อยากได้ รางวัลอาคุตางาวะก็กลายเป็นสิ่งหลอกหลอนที่คอยพิพากษาผลงานของเขาไปโดยปริยาย
มูราคามิไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของรางวัลทางวรรณกรรม เขาเห็นว่าความสำคัญของมันคือการมอบโอกาส ให้กำลังใจ เป็นใบเบิกทางเปิดพื้นที่ให้กับนักเขียน รางวัลนักเขียนหน้าใหม่ที่เขาได้รับในตอนแรกก็มอบโอกาสเหล่านี้ให้กับเขาเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันการให้รางวัลเป็นเหมือนดาบสองคมที่ทั้งสามารถสร้างและทำลายนักเขียนได้พอๆ กัน เขาพยายามจะเตือนว่าต้องระวังไม่ให้มันไปขัดขวางหรือทำลายพลังในการสร้างสรรค์ของนักเขียนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด
มูราคามิกล่าวย้ำหลายครั้งว่า เขาไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักเขียนตั้งแต่ต้น ทั้งยังห่างไกลจากการคลุกคลีกับแวดวงวรรณกรรมของญี่ปุ่น ผมคิดว่าการที่เขาไม่ได้บ่มเพาะตัวเองมาตามขนบดังกล่าวตั้งแต่ต้นคือจุดที่ทำให้เขาสามารถ ‘แตกหัก’ กับแนวทางดั้งเดิมได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เมื่อบวกกับกระแสต่อต้านผลงานของเขาและบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรในแวดวงวรรณกรรมญี่ปุ่น ทางเลือกของเขาจึงเหลือเพียงทางเดียวคือ ต้องแสวงหาพื้นที่ใหม่ที่ปลอดพ้นไปจากเงื้อมเงาของแรงกดดันและอิทธิพลเหล่านี้
จากที่ผมเคยอ่านทั้งนวนิยายและเรื่องสั้นของมูราคามิมาหลายต่อหลายเล่ม จุดร่วมที่สำคัญอย่างหนึ่งในเรื่องเล่าและตัวละครของเขาก็คือ การแสวงหาพื้นที่ที่จะวางตัวเองลงไปภายใต้กฎเกณฑ์บางอย่างที่กำหนดขึ้นเอง รักษาท่วงทำนองชีวิตของตัวเองไว้อย่างสม่ำเสมอท่ามกลางความเชี่ยวกราก ความไร้ระเบียบ และความพิลึกพิลั่นของโลกรอบตัว เมื่อผมอ่านความเรียงอัตชีวประวัติเล่มนี้ของเขาจบลง ก็คล้ายได้พบตาน้ำต้นกำเนิดที่แตกแขนงออกไปเป็นสายธารของเรื่องเล่าเหล่านั้น
อย่างที่หลายท่านอาจจะทราบมาแล้ว นอกจากมูราคามิจะเป็นนักเขียนที่ผลิตผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอตลอดสี่สิบปีและมีวินัยในการทำงานเขียนอย่างสูงยิ่งแล้ว เขายังเป็นนักวิ่งที่เอาจริงเอาจังอีกด้วย ทั้งการวิ่งมาราธอนและวิ่งออกกำลังกายเป็นกิจวัตรประจำวัน ในหนังสือเล่มนี้เขาอธิบายไว้อย่างละเอียดว่าทั้งการวิ่งและการเขียนหลอมรวมกลายเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร
มูราคามิบอกกับเราว่า สิ่งสำคัญของการเป็นนักเขียนนวนิยายก็คือ ความสามารถในการยืนระยะสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ การจะทำเช่นนั้นได้ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยพลังสร้างสรรค์และความสามารถในการเขียนเท่านั้น แต่ยังเป็นงานที่เรียกร้องสมรรถนะและความแข็งแกร่งของร่างกายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เขาย้ำว่าต่อให้นักเขียนมีวัตถุดิบและพล็อตเรื่องที่เลอเลิศขนาดไหน แต่ถ้าร่างกายไม่พร้อมสำหรับช่วงเวลาแห่งการเคี่ยวกรำในการทำงานเขียนแล้ว การเขียนจะกลายเป็นความทุกข์ทรมาน และไม่อาจแสดงศักยภาพในการเขียนได้อย่างเต็มที่
บางท่านอาจจะสงสัยว่า การเขียนนวนิยายเป็นงานที่หนักหนาสาหัสขนาดนั้นเชียวหรือ? ในประเด็นนี้ มูราคามิแสดงทัศนะของเขาไว้ว่า
“พื้นฐานของนักเขียนนวนิยายคือการเล่าเรื่อง และการเล่าเรื่องนั้น เรียกได้ว่าเป็นการลงสู่จิตใต้สำนึกของตน ที่ก้นบึ้งอันมืดมิดของจิตใจ ยิ่งพยายามเล่าเรื่องใหญ่นักเขียนก็ยิ่งต้องดำดิ่งให้ลึกยิ่งขึ้น เหมือนเวลาคิดจะสร้างตึกใหญ่ย่อมต้องขุดฐานรากให้ลึกลงไปมากๆ และยิ่งพยายามเล่าให้เข้มข้นเท่าใด ความมืดใต้ดินก็จะยิ่งหนาและหนักมากขึ้นเท่านั้น” (หน้า 171)
ดังนั้น สำหรับมูราคามิแล้ว ทั้งการเขียนและการรักษาสมรรถนะของร่างกายจึงสำคัญไม่แพ้กัน และในกรณีของเขา เขาทำให้มันหลอมรวมกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน วินัยในการวิ่งและการเขียนต่างโอบอุ้มประคับประคองและสร้างสมดุลให้แก่กัน การเขียนนวนิยายเป็นงานที่เรียกร้องทั้งพลังความคิดและพลังกายแบบต่อเนื่องยาวนาน จนบางครั้งเกิดภาวะหมดแรงลงกลางคัน และอย่างที่คนเขียนหนังสือหลายคนรู้ซึ้งดี ไม่มีอะไรจะทุกข์ทรมานไปกว่าการที่ความคิดตีบตันจนเขียนอะไรไม่ออก แต่มันจะสาหัสยิ่งกว่าถ้าต้องประสบกับภาวะ “ร่างกายก็แย่ งานเขียนก็ห่วย” ไปพร้อมๆ กัน
ผมคิดว่านี่คือเรื่องพื้นฐานที่สุดแต่กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงนักเวลาเราพูดถึงการเตรียมตัวสำหรับเป็นนักเขียน แน่ล่ะ การรักษาสมรรถนะของร่างกายให้พร้อมอยู่เสมอเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เครื่องการันตีว่าจะเขียนงานออกมาได้ดีเสมอไป แต่หากต้องการจะ ‘ยืนระยะ’ ในเส้นทางการเขียนไปได้ต่อเนื่องยาวนาน การรักษาสมรรถนะร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงพลังสร้างสรรค์ไว้ก็เป็นสิ่งจำเป็น
ดังที่เขากล่าวไว้ว่า การเขียนนวนิยายคือการขุดลึกลงไปในตัวเอง ยิ่งขุดลึกก็ยิ่งต้องอาศัยเรี่ยวแรงมหาศาล การเหวี่ยงสิ่งที่ขุดได้ขึ้นไปบนปากหลุมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งต้องอาศัยเรี่ยวแรงมหาศาลไม่แพ้กัน คำถามคือจะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองหมดแรงตายคาหลุมไปพร้อมกับวิหารที่ยังสร้างไม่เสร็จ?
แม้จะไม่ได้เอ่ยออกมาตรงๆ แต่ผมคิดว่าความหมายระหว่างบรรทัดที่ซ่อนอยู่เวลามูราคามิพูดถึงการเป็นนักเขียนนวนิยายก็คือ จำเป็นต้องมี ‘ความพร้อม’ ในหลายๆ ประการ พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าการเขียนนวนิยายสงวนสิทธิ์ไว้สำหรับคนบางชนชั้นบางจำพวกเท่านั้น แต่ความพร้อมในที่นี้หมายถึงคุณสมบัติเฉพาะบางอย่างที่นักเขียนนวนิยายต้องสร้างมันขึ้นมาและสั่งสมมันไปเรื่อยๆ เป็นเชื้อเพลิงที่คอยหล่อเลี้ยงให้ไฟในการเขียนลุกโชนอยู่เสมอ
ตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้มูราคามิได้นิยามการเป็นนักเขียนนวนิยายไว้ว่า “นักเขียนนวนิยายเป็นมนุษย์จำพวกที่ทำสิ่งไม่จำเป็นให้เป็นสิ่งจำเป็น” (หน้า 21) การทำสิ่งไม่จำเป็นให้กลายเป็นสิ่งจำเป็น จำเป็นต้องอาศัยต้นทุนและพลังในการทำหลายเท่าตัว
ผมคิดว่าหลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการเป็นนักเขียนนวนิยายที่มูราคามิบอกเป็นนัยๆ ไว้ก็คือ การแยก ‘ความรู้สึกว่าอยากเขียน’ กับ ‘การทำงานเขียน’ ออกจากกัน เป็นก้าวแรกของการสร้างวินัยในการเขียน หากไม่แยกก็จะผสมปนเปกันจนเสียสมดุล ความรู้สึกว่าอยากเขียนนั้นบางครั้งพูนล้นพรั่งพรูออกมาจนยากจะต้านทาน บางครั้งก็เหือดแห้งหายไปเหมือนไม่เคยมีอยู่ เป็นภาวะที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ จึงต้องอาศัยการทำงานเขียน (อันเป็นเรื่องของวินัยและเทคนิควิธีที่ได้รับการฝึกฝนมา) เพื่อดีลกับความไม่แน่นอนเหล่านี้ พูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่แค่ต้องรู้วิธีจับปลาในฤดูน้ำหลากเท่านั้น แต่ต้องรู้ด้วยว่าในฤดูน้ำแล้ง ปลาเหล่านั้นไปซ่อนตัวในปลักตมแบบไหน
แล้วเวลาที่ความคิดตีบตัน เขียนไม่ออก มูราคามิทำยังไง? คำตอบก็คือ ‘ไม่เขียน’ ครับ ง่ายๆ แบบนั้นเลย แต่ในเวลาแบบนั้นเขาจะหันไปอย่างอื่น เช่น ทำงานแปล (นอกจากเป็นนักเขียนแล้ว เขายังเป็นนักแปลด้วย แปลงานจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาญี่ปุ่น) เพื่อรักษาสมดุลของวินัยในการทำงานให้คงอยู่ และด้วยความที่เขาไม่รับเขียนตามออร์เดอร์ จึงไม่มีปัจจัยเรื่องเวลามาคอยบีบคั้นเร่งเร้า เมื่อเขียนไม่ออกหรือไม่อยากเขียน ก็จะไม่เขียน ปล่อยให้สั่งสมตัวมันเองไปเรื่อยๆ จนสุกงอม และจะลงมือเขียนก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าพร้อมที่สุดแล้วเท่านั้น
อุดมคติในการเป็นนักเขียนนวนิยายของมูราคามิก็คือ เขียนด้วยความรู้สึกปลอดโปร่งเป็นอิสระ สร้างสภาพแวดล้อมในการเขียนที่เอื้อต่ออุดมคตินี้ให้มากที่สุด ตัดปัจจัยอื่นๆ ที่จะบั่นทอนอุดมคตินี้ออกไปให้หมด เคล็ดลับอย่างหนึ่งของเขาคือ เขียนแล้วต้องรู้สึกสนุกไปกับมัน เขาบอกว่าถ้าเขียนแล้วไม่รู้สึกสนุก แสดงว่าต้องมีบางอย่างผิดพลาด
ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ในหนังสือเล่มนี้มูราคามิไม่ได้ใช้คำว่า ‘การเขียน’ หรือ ‘นักเขียน’ อย่างโดดๆ แต่จะพ่วงท้ายด้วยคำว่า ‘การเขียนนวนิยาย’ หรือ ‘นักเขียนนวนิยาย’ เสมอ (เป็น novelist ไม่ใช่ writer) ผมคิดว่านัยยะของการใช้คำเรียกแบบเฉพาะเจาะจงนี้ คือการตีกรอบให้ชัดเจนว่าเขาต้องการนิยามและเล่าถึงการทำงานของตัวเองในฐานะนักเขียนนวนิยายเท่านั้น และควรย้ำด้วยว่าเป็นการพูดถึงตัวเองในฐานะนักเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ ส่วนคำว่า ‘นักเขียน’ กับ ‘นักเขียนนวนิยาย’ จะแตกต่างกันหรือไม่อย่างไรนั้น ผมขอชวนท่านผู้อ่านร่วมหาคำตอบไปด้วยกัน
Tags: หนังสือ, ฮารูกิ มูราคามิ