การทูตนิวเคลียร์ของคิมจองอึนนับว่าน่าติดตาม สัปดาห์ที่ผ่านมาคิมจองอึนยื่นข้อเสนอใหม่ หวังดึงดูดใจให้โดนัลด์ ทรัมป์กลับมาคุยกันอีกรอบ แต่ยังคงเก็บ ‘กล่องดวงใจ’ ไว้ต่อรอง เพื่อให้ได้ ‘ราคาดีที่สุด’

ในจุดยืนของเกาหลีเหนือ ราคาที่ดีที่สุดสำหรับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ คือ การสถาปนาความสัมพันธ์ขั้น ‘ปกติ’ กับสหรัฐ และการพัฒนาเศรษฐกิจ

พูดอีกอย่างก็คือ ยุติความเป็นปรปักษ์กับมหาอำนาจโลก เดินหน้าสร้างความกินดีอยู่ดีตามแบบอย่างของอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายรวมทั้งประเทศร่วมเชื้อชาติอย่างเกาหลีใต้

เป้าหมายนี้จะสำเร็จได้ก็ต้องข้ามผ่านปมนิวเคลียร์ ที่ผู้นำในช่วงวัย 30 ต้องแก้สมการอย่างสมดุล ทั้งมิติความมั่นคงและเศรษฐกิจ

การเจรจาว่าด้วยการถอดถอนนิวเคลียร์ในความหมายของเกาหลีเหนือ จึงไม่อาจละทิ้งด้านใดด้านหนึ่งได้ และโจทย์ยากในข้อนี้ปรากฏให้เห็นในการแถลงผลการพูดคุยระหว่างคิมจองอึนกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุนแจอินที่กรุงเปียงยางเมื่อวันพุธที่ 19 กันยายน 2018

แก้สมการ

เกาหลีเหนือพัฒนาขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์จนถึงระดับที่เชื่อกันว่า สามารถยิงจรวดติดหัวรบปรมาณูไปถึงสหรัฐอเมริกาได้ นี่คืออำนาจต่อรองสำคัญที่ทำให้ผู้นำสหรัฐฯ ยอมขึ้นโต๊ะพูดจากับคิม

อำนาจต่อรองนี้สร้างขึ้นได้ด้วยของ 2 อย่าง คือ ‘ความรู้หรือเทคโนโลยี’ กับ ‘ฮาร์ดแวร์’

ซึ่งรูปธรรมของฮาร์ดแวร์ก็คือ โรงงานหรือฐานที่ใช้ในการพัฒนา ประกอบสร้าง และทดสอบขีปนาวุธและระเบิดนิวเคลียร์

เกาหลีเหนือมีเทคโนโลยีถึงจุดที่กลายเป็นประเทศนิวเคลียร์แล้ว แต่การนำมาใช้หรือไม่อย่างไรนั้นขึ้นกับสภาพแวดล้อมด้านการเมืองและความมั่นคงของเอเชียตะวันออก ซึ่งสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการก็คือ เกาหลีเหนือต้องไม่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกาและต่อภูมิภาคที่สหรัฐฯ มีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์เกี่ยวข้องอยู่อย่างมาก

ในจุดยืนของฝ่ายสหรัฐฯ ภัยคุกคามนี้จะลดน้อยลงหรือสลายหายไป ก็ต่อเมื่อเปียงยางทำลายฮาร์ดแวร์เหล่านั้นให้หมดสิ้น จนไม่อาจรื้อฟื้นกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยเปิดให้กลไกภายนอกเข้าไปตรวจพิสูจน์

ด้วยความต้องการมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เปียงยางจึงต้องยอมลดทอนขีดความสามารถด้านความมั่นคงของตนลงในระดับหนึ่ง จึงเป็นที่มาของข้อเสนอใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ยื่นข้อเสนอใหม่

ฮาร์ดแวร์นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือประกอบด้วยแหล่งที่ตั้งสามแหล่ง คือ โรงงานผลิตวัสดุนิวเคลียร์ซึ่งสามารถใช้ทำระเบิดได้ที่เมืองยองเบียน (Yong-byon) แหล่งทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินที่เมืองปุงเกรี (Punggye-ri) และฐานทดสอบเครื่องยนต์ขับดันขีปนาวุธและฐานปล่อยขีปนาวุธที่เมืองดงชางรี (Dongchang-ri)

เมื่อวันพุธ คิมเสนอผ่านมุนไปยังสหรัฐฯ ว่า เกาหลีเหนือจะทำลายฐานขีปนาวุธดงชางรีอย่างถาวร ต่อหน้าต่อตาผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ ข้อเสนอนี้ไม่มีเงื่อนไข

ข้อเสนอที่สอง เปียงยางจะปิดโรงงานผลิตวัสดุนิวเคลียร์ยองเบียน แต่มีเงื่อนไขว่า สหรัฐฯ ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยนตามแต่ที่จะมานั่งเจรจาตกลงกันต่อไป

ส่วนแหล่งทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ปุงเกรีนั้น เกาหลีเหนือได้ทำลายไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม แต่ไม่ได้เปิดให้นานาชาติเข้าตรวจสอบ

ถึงแม้คิมไม่ได้ระบุข้อแลกเปลี่ยนชัดเจนสำหรับการปิดโรงงานนิวเคลียร์ยองเบียน แต่ฝ่ายเกาหลีใต้ขยายความให้ฟังว่า เกาหลีเหนือต้องการให้สหรัฐฯ ทำสิ่งหนึ่งพร้อมๆกัน นั่นคือ ออกคำประกาศยุติสงครามเกาหลี

คำประกาศที่ว่านี้อาจทำในรูปของเอกสารแสดงเจตจำนงก็ได้ ยังไม่ถึงขั้นต้องทำเป็นสนธิสัญญาสันติภาพ ซึ่งมีผลผูกพันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

เหตุที่เกาหลีเหนือขอแค่คำประกาศทางการเมืองนั้น ก็เพราะตระหนักดีถึงข้อวิตกของฝ่ายอเมริกันที่ว่า หากทำเป็นสนธิสัญญา ประเดี๋ยวเปียงยาง รวมถึงปักกิ่งและมอสโก จะเรียกร้องให้ถอนทหารสหประชาชาติ และกองกำลังอเมริกัน 28,500 นาย ออกจากเกาหลีใต้     

รอฟังทำเนียบขาว

อย่างไรก็ดี ในซัมมิตครั้งที่สามของปีนี้ระหว่างคิมกับมุน ทั้งสองฝ่ายยังไม่แตะประเด็นข้อเรียกร้องของฝ่ายอเมริกันข้อหนึ่ง คือ ขอให้เปียงยางเปิดเผยทำเนียบกำลังรบด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธออกมาให้หมดว่ามีอะไรบ้าง

การขอดูความลับทางทหารแต่ฝ่ายเดียวแบบนี้ เป็นข้อเรียกร้องที่สมเหตุสมผลหรือเปล่า ยกเอาไว้ก่อน แต่ถึงแม้ไม่ได้แตะประเด็นที่ว่านี้ ทรัมป์ก็ดูจะพอใจกับผลการหารือของคนทั้งสอง

ส่วนเรื่องที่ว่า ทรัมป์จะรับคำเชื้อเชิญของคิมที่ขอพบพูดจากันอีกครั้งหรือไม่ ทำเนียบขาวยังไม่มีคำตอบ แต่กระบวนการเจรจาอาจจะเริ่มขยับอีกครั้ง หลังจากคิมยื่นข้อเสนอใหม่ดังกล่าว

วอชิงตันจะตอบสนองเงื่อนไขของเปียงยางหรือเปล่านั้น… ยังไม่รู้ เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ 20 กันยายน โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เฮทเธอร์ นาวเวิร์ท ยังคงยืนยันจุดยืนเดิม “ถ้าไม่ปลดอาวุธก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งนั้น การปลดนิวเคลียร์ต้องเกิดขึ้นก่อน”

ระเบิดนิวเคลียร์และจรวดนำส่ง คือ กล่องดวงใจ ช่วยค้ำประกันความอยู่รอด เสริมสร้างดุลอำนาจ เกาหลีเหนือจะยอมยื่นให้ฝ่ายที่ยังคงเป็นปรปักษ์ แล้วค่อยเจรจาในสภาพหมดเขี้ยวเล็บ หรือจะเก็บไว้แลกเปลี่ยนแบบทีละขั้นทีละเปลาะ เพื่อให้ได้รับของสำคัญ นั่นคือ หลักประกันความมั่นคง

ถ้าเราเป็นคิม อย่างไหนคือ ทางเลือกที่สมเหตุสมผล

อ้างอิง:

 

ที่มาภาพ: Pyeongyang Press Corps / AFP

Tags: , , ,