‘หนังทำเงิน’ หรือ ‘หนังได้รางวัล’ บรรทัดฐานความสำเร็จของโลกภาพยนตร์อยู่ตรงไหน?

ช่วงปลายไตรมาสแรกของทุกปี เวทีประกวดรางวัลในวงการภาพยนตร์ต่างๆ ทั้งงานประกวดลูกโลกทองคำ (Golden Globe Award) ช่วงต้นเดือนมีนาคม งานคมชัดลึกอวอร์ด (Kom Chad Luek Awards) เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และงานประกวดรางวัลออสการ์ (Academy Awards) ที่เตรียมประกาศผู้ชนะในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ จะเริ่มทยอยมอบรางวัลให้กับหนังที่เวทีเหล่านั้นมองว่า ‘ดี’ ในสายตาของคณะกรรมการ 

หากพูดถึงคำว่า ‘หนัง’ (Film) เพียงอย่างเดียว อาจกล่าวโดยรวมได้ว่ามันคือศิลปะของการเล่าเรื่องโดยใช้ภาพเคลื่อนไหว แน่นอนว่าเนื้อหา (Content) และวิธีการเล่า (Context) คือองค์ประกอบสำคัญที่ผู้กำกับต้องใช้กึ๋นและความสามารถในการหยิบทั้งสองสิ่ง (ในกรณีผู้กำกับที่มีวิสัยทัศน์อาจใช้เพียงสิ่งเดียว) มาร้อยเรียง พลิกแพลง จนสามารถส่งสารสำคัญและถ่ายทอดอารมณ์ให้ผู้ชมได้เพลิดเพลินกับศิลปะที่พวกเขานำเสนอ 

แต่คำว่า ‘หนังที่ดี’ (Good Film) มีมากกว่านั้น สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ผู้กำกับมากความสามารถเจ้าของผลงานอวกาศสุดล้ำ 2001: A Space Odyssey (1968) และหนังสยองขวัญอย่าง The Shining (1980) เคยอธิบายถึงคำว่าหนังที่ดีคือ ‘ความก้าวหน้าของอารมณ์และความรู้สึก’ กล่าวคือหนังควรจะเป็นการนำเสนอเรื่องที่ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป ผู้ชมก็จะยังคงพูดถึงความล้ำสมัยในช่วงเวลานั้นอยู่ตลอด 

หรือกรณีของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) เจ้าของผลงานสุดล้ำมากมายทั้ง Inception (2010), Interstellar (2014) และ Tenet (2020) ก็พูดถึงความดีงามของหนัง อันหมายถึงความก้าวหน้าของอารมณ์และความรู้สึกด้วยเช่นกัน เขาอธิบายว่า ความแตกต่างของหนังที่ดีจะต้องกล้าที่จะเดิมพันกับ ‘สิ่งใหม่’ ที่จะเกิดขึ้นในโลกภาพยนตร์ แต่มีจุดที่ต้องพึงระวังคือ หนังยังคงต้องมีขนบและทิศทางในแบบเดิมหลงเหลืออยู่บ้าง เพื่อเทียบเคียงให้เห็นว่า ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นได้สร้างความแตกต่างให้กับโลกภาพยนตร์อย่างไร

แต่กรณีของ เควนติน ทาแรนติโน (Quentin Tarantino) ผู้กำกับที่สร้างผลงานแหวกขนบมากมายทั้ง Pulp Fiction (1994), Inglourious Basterds (2009) และหนังที่เป็นเหมือนจดหมายส่วนตัวของเขาอย่าง Once Upon a Time In Hollywood (2019) มองว่าหนังเป็น ‘เรื่องส่วนตัว’ มากกว่าเพื่อความก้าวหน้าในวงการ ดังนั้นคำว่าหนังที่ดีตามมุมมองของเควนติน จึงหมายถึงการถ่ายทอดตัวตนออกมา ที่สำคัญต้องช่วยปลดปล่อยหรือให้คำตอบบางสิ่งแก่ผู้สร้างอย่างตัวเขาได้ 

จะเห็นว่านิยามของหนังดีของผู้กำกับระดับโลกแต่ละคนล้วนมีแนวคิดและมุมมองที่แตกต่างกันออกไป แม้กระทั่งแนวคิดเรื่องความก้าวหน้าของหนังเอง สแตนลีย์ คูบริก, คริสโตเฟอร์ โนแลน และ เควนติน แทแรนติโน ก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันเท่าไหร่นัก 

Noir Area สัปดาห์นี้จึงขอพาผู้อ่านไปสำรวจแง่มุมอันหลากหลายของคำว่าหนังที่ดี โดยเปรียบเทียบระหว่าง ‘หนังทำเงิน’ และ ‘หนังได้รางวัล’ ว่ามีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร

คำว่าหนังรายได้ดีในที่นี้ ไม่ใช่แค่การที่หนังได้กำไร ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสำเร็จมหาศาลจากทั้งรายได้และเสียงวิจารณ์ ผ่านการที่ผู้คนยอมจ่ายเงินเข้ามาดูความดีงามของหนังที่ผู้กับสร้างเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น Avatar (2009) ของผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ที่นำเสนอความแปลกใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยี Motion Capture มาต่อยอดสร้างเป็นภาพในระบบ 3D และ 4D ที่สวยงามและสมจริงมากที่สุดในเวลานั้น จนสามารถกอบโกยทั้งคำชม ด้วยคะแนน 7.8 เต็ม 10 ในเว็บไซต์ IMDb และคะแนน 82% จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes รวมถึงรายได้ที่ทะลุกว่า 2.841 พันล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท) ขึ้นแท่นเป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้ Avatar จะแสดงให้เห็นถึงหนังรายได้มหาศาลที่แปรผันตามความนิยมของคนหมู่มาก แต่เราจะบอกว่าหนังประเภทนี้คือหนังดีที่สุดได้จริงๆ หรือ?

ลินดา ออบส์ (lynda obst) ผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่อง Interstellar (2014) กล่าวถึงปัญหาของธุรกิจหนังแฟรนไชส์ที่แสวงหาการทำกำไรเป็นสำคัญว่า ‘หนังประเภทนี้ขาดการนำเสนอที่แปลกใหม่’ เพราะส่วนใหญ่มักยึดติดกับการเล่น ‘สูตรสำเร็จ’ ด้วยบทสนทนาไม่ซับซ้อนและเนื้อหาจรรโลงใจ เพื่อตอบสนองคนหมู่มาก สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิด ‘การผลิตซ้ำ’ ในวงการภาพยนตร์ และยังเป็นการปิดโอกาสหนังประเภทอื่นๆ ไม่ให้ก้าวขึ้นมาเป็นหนังกระแสหลัก เช่นเดียวกับ เดวิด ทอมสัน (David Thomson) นักวิจารณ์หนังชาวอังกฤษ ที่โจมตีหนังทำเงินประเภทนี้ว่า ทำให้คำว่า ‘ดี’ ในโลกภาพยนตร์หายากมากยิ่งขึ้น

ส่วนกรณีของ ‘หนังได้รางวัล’ ย่อมหมายถึงคุณภาพที่คนส่วนมากให้การยอมรับ การคว้ารางวัลของหนังยุคเก่าอย่าง Forrest Gump (1994) ของผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเม็กคิส (Robert Zemeckis) ที่สะท้อนชีวิตอันเลื่อนลอยเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงแนวคิดของอเมริกันชนในขณะนั้น ทั้งการล่มสลายของเสรีภาพผ่านวิถีชีวิตแบบฮิปปี้ และการกำเนิดของกรอบในรูปแบบพลเมืองผ่านการผลักดันให้ประชาชนต้องเป็นทหารรับใช้ประเทศชาติ หรือหนังยุคใหม่ Parasite (2019) ของผู้กำกับ บง จุนโฮ (Bong Joon-ho) ที่พูดถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา ภาพยนตร์เหล่านี้คงเป็น ‘หนังรางวัลน้ำดี’ ที่ผู้คนจำนวนมากยกย่องอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่หากจะบอกว่าหนังที่ดีนั้นต้องมีรางวัลแปะป้ายหน้าโลโก้เพียงเท่านั้น คำว่า ‘กฎเกณฑ์’ ในการตัดสินแต่ละรางวัลก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ควรต้องพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

ในเวทีออสการ์ การที่จะได้เข้าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลออสการ์นั้น ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา (Academy of Motion Pictures and Sciences: AMPAS) ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่เชื่อได้ว่า ‘ได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์’ ก่อนที่กรรมการเหล่านี้จะทำการโหวตให้คะแนนในสาขาต่างๆ เพื่อคัดเลือกทีมงาน นักแสดง และภาพยนตร์ที่ได้รับการโหวตมากที่สุดมารับรางวัล 

แต่การที่คนบางกลุ่มมีสิทธิ์ตัดสินว่าหนังเรื่องไหนเป็นหนังที่ดีเช่นนี้ก็นำไปสู่ปัญหาเช่นกัน ในปี 2016 เกิดการตั้งคำถามต่อการตัดสินของเวทีออสการ์ว่า เหตุใดจึงไม่มีนักแสดงผิวสีได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมแม้แต่คนเดียว หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุอาจมาจากอัตราส่วนคณะกรรมการที่มีสิทธิลงคะแนน เป็นคนผิวขาวถึง 93 เปอร์เซ็นต์

ปัญหานี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเกณฑ์การให้รางวัลของเวทีออสการ์ โดยตั้งแต่ออสการ์ครั้งที่ 96 หรือในปี 2024 เป็นต้นไป หนังที่จะเข้าชิงรางวัลภาพยนต์ยอดเยี่ยมต้องส่งเสริมให้เกิดหลากหลายและความเท่าเทียมทั้งในจอและนอกจอ โดยครอบคลุมในทุกมิติตั้งแต่รสนิยมทางเพศ เพศสภาพ ร่างกาย ชาติพันธุ์ หรือสีผิว

จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งหนังรางวัลที่หลายคนมองว่าเป็นหนังที่ดีก็ยังมีกฎและกติกาในการกำหนดว่าหนังเรื่องนั้นดีหรือไม่ดีโดยคนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในอนาคตข้างหน้า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากหากจะมาระบุให้ชัดเจนว่า หนังที่ได้รับการคัดเลือกนั้นดีเพราะเหตุใด เพียงเพราะหนังเรื่องนั้นดีในตัวของมัน หรือเพียงแค่เพราะมันดีตามจริตและรสนิยมของคณะกรรมการเพียงเท่านั้น

สุดท้ายคำว่า ‘หนังที่ดี’ หากจะให้มาตัดสินกันเด็ดขาดเลยน่าจะเป็นวิธีการที่ไม่เคารพต่อความอัศจรรย์ของงานศิลปะที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้เข้ากับสังคมในแต่ละยุคสมัยเท่าไหร่นัก หนังที่รายได้ดีและมีรางวัลอย่าง Titanic (1997) เราจะพิจารณาว่าเป็นหนังที่ดีเพราะความสำเร็จทางชื่อเสียงหรือรายได้ หรือในประเภทหนังที่ไม่ได้สร้างความโดดเด่นในเชิงธุรกิจและไม่ได้คว้าความสำเร็จมาได้เท่าที่ควรอย่าง Vertigo (1958) เราจะตัดสินว่าเป็นหนังที่ดีหรือไม่ดีได้หรือไม่ เหล่านี้คงเป็นเรื่องของรสนิยมและความชื่นชอบของแต่ละคนว่าจะเอาเกณฑ์แบบไหนมาคัดกรองคำว่า ‘หนังที่ดี’ ให้ตรงตามใจต้องการ 

ดังนั้น ถ้าพูดกันในเชิงรสนิยมอันเป็นปัจเจกของแต่ละบุคคล นิยามของคำว่า ‘หนังที่ดี’ ของคุณเป็นอย่างไร

Tags: , , , , ,