ความดีคืออะไร?
ถ้าค้นหาคำว่า ‘ดี’ ในเว็ปไซต์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 จะพบว่า คำนี้มีสองความหมาย ความหมายแรกที่เป็นรูปธรรมคือ “อวัยวะภายในของคนและสัตว์ที่บรรจุนํ้าข้นสีเขียว มีรสขม ซึ่งออกจากตับ สำหรับช่วยย่อยอาหาร, เรียกนํ้าข้นสีเขียว มีรสขม ออกจากตับ สำหรับช่วยย่อยอาหารว่า นํ้าดี”
และความหมายที่สองในเชิงนามธรรมคือ “มีลักษณะที่เป็นไปในทางที่ต้องการ น่าปรารถนา น่าพอใจ ใช้ในความหมายที่ตรงข้ามกับลักษณะบางอย่างแล้วแต่กรณี คือ ตรงข้ามกับชั่ว เช่น คนดี ความดี, ตรงข้ามกับร้าย เช่น โชคดี เคราะห์ดี”
น่าสนใจไม่น้อยที่ความหมายในเชิงนามธรรมของคำว่า ‘ดี’ ในส่วนที่บอกว่า “มีลักษณะที่เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ น่าปรารถนา น่าพอใจ”
อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามต่อความดีในความหมายที่สองนี้ว่า ใครต้องการ? ใครปรารถนา? ใครพอใจ?
ถ้าย้อนหลังไปหาต้นกำเนิดของคำว่า ดี (good) ในวัฒนธรรมตะวันตก โป๊ปจอห์นที่ 23 นิยามคำนี้ในหนังสือ Mater Et Magistra ไว้ว่า “ผลรวมของสภาพสังคมที่ทำให้ผู้คนหรือกลุ่มคนสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายของตัวเองได้อย่างเต็มที่และง่ายดายยิ่งขึ้น”
นิยามดังกล่าวทำให้อดตั้งคำถามต่อไม่ได้เช่นกันว่า ความดีที่ถูกผูกเข้ากับความรับผิดชอบหรือประโยชน์ส่วนรวมของสังคมนั้นๆ ต้องได้รับจากการกระทำของผู้ที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้นเพียงเท่านั้นจริงหรือ?
ครั้งหนึ่ง อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีกเคยกล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จากวิธีการอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นหมวดหมู่ ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างลำพัง มีกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำร่วมกันเพื่อความอยู่รอด มนุษย์เสริมสร้างความมั่นใจ ความสุข และความรู้สึกปลอดภัยจากการสังคมที่ตัวเองกำลังอาศัยอยู่” เพราะฉะนั้น สิ่งที่โป๊ปจอห์นที่ 23 เคยนิยามไว้นั้น คงจะมีหลักการที่น่าเชื่อถือได้บางอย่างยึดถือเป็นรากฐานอยู่
แคส อาร์ ซันสไทน์ (Cass R. Sunstein) อดีตศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยพูดถึงเรื่องนี้หนังสือ Conformity ของตัวเองว่า จิตวิทยาของการเป็นคนดีตามครรลองของสังคมนั้นสามารถช่วยเหลือสังคมได้จริงๆ ในหลายกรณี เขายกตัวอย่างกรณีศึกษาของรัฐแคลิฟอร์เนียเรื่องการแบนการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก โดยพบว่าสาเหตุที่คนไม่กล้าฝ่าฝืนกฎห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะนี้ ไม่ใช่เพราะว่ากลัวบทลงโทษ หากเพราะกลัวถูกต่อว่าและรังเกียจจากสังคมรอบข้างต่างหาก
หรือตัวอย่างจากภาพยนตร์เรื่อง The Purge ว่าด้วยการยกเลิกกฎหมายทั้งหมดทุกอย่างเป็นเวลา 12 ชั่วโมง โดยที่ประชาชนทุกคนสามารถทำอะไรก็ได้อย่างไม่มีกฎหมาย ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ มาห้าม หากเป็นเช่นนั้นแล้ว สถานะของการ ‘เป็นคนดี’ ในกรณีนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าหากเราเลือกที่จะต่อต้านไม่ยอมคล้อยตามสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป แล้วตราหน้าพฤติกรรมใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่คุ้นเคยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี
ในสังคมที่มีพลวัต เคลื่อนไปข้างหน้าอยู่เสมอ ไม่หยุดนิ่ง เหตุใด ‘ความดี’ จึงมีทัศนะความหมายไม่ไหวติงหยุดอยู่ที่เดิม?
ดูเหมือนว่า ค่านิยมของ ความดี ดูจะเป็นเรี่องที่ไม่มีใครสามารถนิยามได้อย่างครอบคลุมโดยแท้จริง ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ค่านิยมสังคมก็เปลี่ยนตาม พัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้มนุษย์สามารถเป็นสมาชิกสังคมย่อยมากมายบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ ‘ไกลกะลา’ จากที่ตนอาศัยอยู่ โลกไกลกะลานั้น ดูเหมือนว่านิยามความดีมีความหมายที่แตกต่างหลากหลาย ความดีที่คนๆ หนึ่งยึดถืออาจไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่อีกต่อไป แต่อาจเป็นทัศนะว่าด้วยความดีในสังคมที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง หรือแม้แต่ในโลกเสมือนจริงก็ย่อมได้
แล้วคุณล่ะ นิยามความดีไว้ว่าอย่างไร?
แล้วคุณจำกัดความดีของผู้อื่นด้วยนิยามความดีที่คุณยึดถือไว้หรือไม่?