ผู้คนจำนวนมากล้มตาย หลายคนได้รับบาดเจ็บ ช่วงเวลาที่ผ่านมา การประท้วงเกิดขึ้นทั่วประเทศนิการากัว ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ประท้วงต่างใช้ความรุนแรงในการเผชิญหน้ากัน ส่วนประธานาธิบดีผู้บริหารประเทศเริ่มส่งสัญญาณพร้อมเจรจา
ภาพของกลุ่มผู้ประท้วงที่พยายามจะปลดแผ่นป้ายซึ่งมีรูปของรองประธานาธิบดีโรซาริโอ มูริโญ (Rosario Murillo) ลงจากบอร์ดเพื่อฉีกทำลาย ดูคล้ายจะสะท้อนภาวะการอยู่รอดของคู่ขวัญในตำแหน่งประธานาธิบดีในการบริหารประเทศนิการากัวในขณะนี้
ประธานาธิบดีดาเนียล ออร์เตกา (Daniel Ortega) และรองประธานาธิบดีเป็นคู่สามี-ภรรยากัน และพยายามสื่อถึงความเป็นคริสตชน ความปรองดอง และความเป็นสังคมนิยมแบบละตินอเมริกา ผ่านรอยยิ้มถึงประชาชนทั่วประเทศ
ปี 1979 ออร์เตกาเคยร่วมกับกลุ่มนักรบ ‘ซานดินิสตา แนวหน้าปลดปล่อยแห่งชาติ’ (Sandinista National Liberation Front) โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของอนาสตาซิโอ โซโมซา เดอบัลญ์ (Anastasio Somoza Debayle) และเข้ามาปกครองประเทศภายหลังมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงปี 1990 และนับตั้งแต่ปี 2007 ออร์เตกาหวนกลับมาครองอำนาจในตำแหน่งสูงสุดของประเทศอีกครั้ง แต่จะโดยสุจริตหรือไม่นั้น กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็ยังแคลงใจ รวมทั้งกล่าวหาเรื่องโกงการเลือกตั้งอยู่บ่อยครั้ง
การชุมนุมประท้วงเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน 2018 เริ่มต้นจากผู้คนจำนวนนับร้อย จนบัดนี้ได้ลุกลามไปแทบทุกเมืองทั่วประเทศ ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วจากกำหนดการเดิมที่จะมีขึ้นในปี 2021 และมีการกล่าวอ้างถึงจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์จลาจลต่างๆ นานา และในจำนวนนั้นมีทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล และตำรวจ รวมถึงผู้สื่อข่าวหลายคนที่ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล
การชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งนี้มีการเคลื่อนไหวเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นนักศึกษาและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่กล่าวหารัฐบาล ว่าจงใจละทิ้งความช่วยเหลือระหว่างประเทศกรณีเกิดไฟป่าในเขตป่าสงวนอินดิโอ ไมซ์ เพื่อหวังจะได้ครอบครองพื้นที่ที่ถูกเผา ส่วนอีกกลุ่มออกมาต่อต้านนโยบายเงินบำนาญของรัฐ
ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน รัฐบาลของออร์เตกาประกาศว่าจะเพิ่มเงินสมทบเงินบำนาญและประกันสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะลดการจ่ายเงินบำนาญลงประมาณร้อยละ 5 ทำให้คนสูงวัยพากันออกมาคัดค้านบนท้องถนนด้วย
ภาพคนสูงวัยเลือดอาบเพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทุบตีทำร้ายจุดชนวนความโกรธแค้นให้กับฝูงชน ทำให้ตอนนี้มีประชาชนถึงสามรุ่นแห่แหนออกมาบนท้องถนน ทั้งนักศึกษา คนวัยทำงาน และคนสูงอายุ
เครื่องแสดงอำนาจอย่างแผ่นป้าย โปสเตอร์ หรือสำนักงานของพรรครัฐบาลกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีของกลุ่มผู้ประท้วงอารมณ์ขุ่นเคือง เช่นเดียวกันกับสัญลักษณ์อื่นๆ ของลัทธิสังคมนิยมละตินอเมริกา เช่น ต้นไม้เทียมที่รองประธานาธิบดีมูริโญดำริให้วางประดับเพื่อรำลึกถึงฮูโก ชาเวซ (Hugo Chavez) ผู้นำประเทศเวเนซูเอลา ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2013
รัฐบาลของเวเนซูเอลาที่รุ่มรวยน้ำมันเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ใกล้ชิดของออร์เตกา เมืองหลวงการากัสเคยให้ความช่วยเหลือเมืองหลวงมานากัวด้านเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ในขณะที่เศรษฐกิจของเวเนซูเอลาตกต่ำ ความช่วยเหลือเหล่านั้นได้หายไป และด้วยเหตุนี้เองความเดือดร้อนทั้งหลายในนิการากัวจึงผุดโผล่ขึ้นเด่นชัด และปัญหายิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ
รัฐบาลของออร์เตกาแก้ปัญหาด้วยการปิดปากสื่อ ทีวีและวิทยุอิสระทั้งหลายถูกตัดสัญญาณ หนังสือพิมพ์ที่ต่อต้านรัฐบาลอย่าง La Prensa รายงานว่า สถานีวิทยุอิสระหลายแห่งถูกกองกำลังซานดินิสตา ซึ่งเป็นนักรบแนวร่วมของฝ่ายรัฐบาลบุกเข้าโจมตี
รองประธานาธิบดีมูริโญปฏิเสธข่าวจากสื่อฝ่ายศัตรูทางการเมือง จนกลุ่มผู้ประท้วงเรียกขานเธอว่า ‘แวมไพร์’ ที่กระหายเลือดเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง ฝ่ายค้านรัฐบาลมีหลักฐานยืนยันเป็นคลิปวิดีโอและภาพถ่าย ซึ่งแสดงให้เห็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลสวมหมวกปิดคลุมใบหน้า และใช้ไม้เบสบอลไล่ทุบตีผู้ประท้วงและช่างภาพ
คืนวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2018 นักศึกษาหลายร้อยคนพากันหลบหนีตำรวจปราบจลาจลเข้าไปในวิหารมานากัว จากคำบอกเล่าของบิชอปประจำวิหาร ตำรวจพยายามที่จะบุกเข้าไปในโบสถ์ แต่โฆษกรัฐบาลปฏิเสธข้อกล่าวหานั้น
แรงกดดันจากการประท้วงบนท้องถนน ส่อเค้าจะได้ผล เมื่อรองประธานาธิบดีออกมากล่าวว่า ประธานาธิบดีออร์เตกาพร้อมแล้วสำหรับการเจรจา อีกทั้งยังแถลงด้วยว่า นโยบายการปฏิรูปเงินบำนาญเป็นเพียงร่างกฎหมายประกอบการพิจารณา และยังไม่ได้ผ่านมติเห็นชอบ
แต่ในวันถัดมา มีการประกาศแจ้งการประท้วงสืบต่อ แรงผลักดันหลังจากการใช้ความรุนแรงของรัฐในช่วงวันที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ได้ ในขณะที่ดูเหมือนว่าการประท้วงครั้งนี้สามารถตัดสินชะตากรรมทางการเมืองของสองสามี-ภรรยาในตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่ยาก
นับตั้งแต่เริ่มการประท้วงตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ความขัดแย้งในนิการากัวทำให้ผู้คนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 280 คน กระทั่งคริสตจักรต้องออกมาปกป้องชีวิตผู้คน พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอกับฝ่ายรัฐบาลเพื่อสันติสุขของประเทศ ไปจนถึงกำหนดการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2019
การเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่ประชาชนแทบทุกคนในนิการากัวเชื่อว่า ดาเนียล ออร์เตกาจะต้องลงสนามอีกครั้ง
อ้างอิง:
Tags: Sandinista National Liberation Front, ดาเนียล ออร์เตกา, Daniel Ortega, โรซาริโอ มูริโญ, Rosario Murillo, นิการากัว, นิคารากัว, ซานดินิสตา