ปี 2022 มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะประเด็นเชิงสังคมและการเมือง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สร้างปรากฏการณ์ให้สังคมได้พูดถึงมาตลอดทั้งปี
The Momentum ในฐานะสื่อมวลชน ได้ติดตามข่าวสารต่างๆ พร้อมทั้งนำเสนอในหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ ‘ภาพถ่าย’ จากสถานที่และสถานการณ์จริง ซึ่งเราให้ความสำคัญไม่แพ้เนื้อหา ด้วยเชื่อว่า ‘ภาพถ่าย’ ที่ดีนั้นมีพลัง สามารถส่งความรู้สึกให้ผู้ที่เห็นเกิดความรู้สึกร่วมได้ และทำให้ข่าวน่าสนใจยิ่งขึ้น
ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อสังคมโดยตรง เราจึงได้เลือก 5 ภาพข่าวจากช่างภาพของ The Momentum เพื่อย้อนดูกันว่าในปีนี้มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นในประเทศไทยบ้าง
การเคารพอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ควรจำกัดไว้แค่มิถุนายน
โลกของเราเพิ่งจะยอมรับว่ามนุษย์อาจมีได้มากกว่าสองเพศเมื่อไม่นานมานี้
หลายสิบปีหรือหลายร้อยปีก่อน บุคคลที่มีความรู้สึกรักใคร่ชอบพอเพศเดียวกัน บุคคลที่รู้สึกอยากเป็นเพศชายแม้เพศกำเนิดจะเป็นหญิง หรือบุคคลที่อยากเป็นเพศหญิงแม้เพศกำเนิดจะเป็นชาย พวกเขาล้วนถูกมองว่าเป็นบุคคลวิกลจริต บ้างก็ถูกมองว่าเป็นบาป เป็นพวกนอกรีต เป็นคนไม่ดีที่ควรจะต้องรักษาหรือขับไล่ออกไปจากชุมชน
วันเวลาผ่านไป กลุ่มคนที่มีความคิด รสนิยม และอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างเริ่มรวมตัวกันเป็นชุมชนเล็กๆ พวกเขาหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง พร้อมกับสร้างสรรค์วัฒนธรรมของตัวเองขึ้นมาใหม่ และใช้ชีวิตตามปกติเมื่อออกไปพบปะกับคนอื่นๆ ในสังคม
“โลกอาจเดินไปไกล แต่ไทยยังไม่ไปไหน”
สิ่งที่จะยืนยันประโยคข้างต้นเห็นได้จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2564 เผยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่ระบุว่าการสมรสจะทำได้ระหว่างชายและหญิงที่อายุ 17 ปีบริบูรณ์ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังมีประชาชนเรียกร้องว่ากฎหมายมาตรา 1448 ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ที่กำหนดว่า บุคคลย่อมเสมอกัน และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน แต่การระบุว่ากฎหมายไม่ขัดรัฐธรรมนูญคงไม่สร้างความสะเทือนใจแก่สังคมไทยได้เท่ากับรายละเอียดยาวเหยียดถึงเหตุผลที่ว่า LGBTQ+ ไม่สมควรสร้างครอบครัวและได้สวัสดิการต่างๆ เหมือนกับคู่แต่งงานชาย-หญิง
ดังนั้น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 กับงาน ‘นฤมิตไพรด์’ หรือการเดินพาเหรดเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เฉลิมฉลอง Pride Month หรือเดือนแห่งความเท่าเทียมทางเพศ โดยคณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์ และเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ จากบริเวณวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) จนถึงบริเวณสีลม ซอย 2 ใกล้กับแยกศาลาแดง จึงนับเป็นเหตุการณ์สำคัญของไทยในปี 2565 ที่มอบพื้นที่เล็กๆ ให้กับคนที่มักถูกมองว่าเป็นคนชายขอบ
“ประเทศไทยถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนเสรี เป็นสวรรค์ของเพศหลากหลาย แต่เอาเข้าจริง ไทยยังไม่มีกฎหมายใดที่รองรับสิทธิ หรือแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลายปีที่ผ่านมาเกิดการเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายโดยภาคประชาชน ประชาสังคม องค์กร และพรรคการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเท่าเทียม อาทิ กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ การทำแท้งปลอดภัย ผ้าอนามัยฟรี สิทธิของ LGBTQ+ ในสถานศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอนที่ออกจากการตีกรอบว่าโลกนี้มีเพียงแค่สองเพศ การขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ ฯลฯ
“พวกเราเห็นความสำคัญของประวัติการต่อสู้ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เดือนนี้จึงมีความสำคัญกับพวกเราเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้ในประเทศไทย คณะทำงานจึงจัดขบวนเฉลิมฉลองขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร
“งานนี้ไม่ใช่งานของเกย์ กะเทย และ LGBTQ+ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงความภาคภูมิใจในทุกๆ อย่างที่เป็นเรา ไม่ว่าจะมีเพศใด เชื้อชาติไหน มีความเชื่อทางศาสนาแบบใด และมีอาชีพอะไร เราไม่จำกัดความ”
ย้อนกลับไป ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ในช่วงเวลาเย็น พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่อาคารรักษ์กรุงเทพ ปิ่นเกล้า
โดยในเวลาดังกล่าวผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการยังไม่เสร็จสิ้น และนับคะแนนไปได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งจากผลคะแนนในขณะนั้น ปรากฏว่าคะแนนของพลตำรวจเอกอัศวินอยู่ในลำดับที่ 5 ได้คะแนนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ส่วน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คว้าคะแนนไปมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์จากคน กทม.
พลตำรวจเอกอัศวินกล่าวขอบคุณประชาชนบางส่วนที่ไว้วางใจในตัวเขา และยอมรับสิ่งที่คนกรุงเทพฯ เลือก โดยตอบคำถามผู้สื่อข่าวภาคสนามว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้ ‘อกหัก’ เพราะตนเองเป็นนักสู้มาทั้งชีวิต และการเลือกตั้งจะชนะหรือแพ้ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่
“แพ้ก็ไม่เป็นไร ถ้าชนะก็ดี ก็แค่นั้น มันไม่มีทางชนะทั้ง 3-4 คน มีคนชนะแค่คนเดียว ยอมรับคำตัดสินของพี่น้องประชาชน ประชาชนว่าอย่างไรก็ต้องตามนั้น”
วันที่ 20 เมษายน 2560 สมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน, EXOTIC QUIXOTIC, High Land, Mishacheap และ Tropical Galaxy จัดงาน ‘420 ปาร์ตี้เรารักกัญ’ เพื่อเฉลิมฉลองให้กับชัยชนะในการผลักดันกฎหมายเสรีกัญชาในสหรัฐอเมริกาในวันที่ 20 เมษายน ซึ่งถือเป็นวันกัญชาโลก และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการส่งเสริมการปลดแอกกัญชาในประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า
โดยเวลา 16.00 น. ได้มีการจัดขบวนพาเหรด #เราพวกกัญ เดินตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนไปสิ้นสุดที่ถนนข้าวสาร เพื่อให้ผู้คนในแวดวงกัญชาได้ออกมาแสดงตัวตนและจุดยืน พร้อมกระชับความสัมพันธ์ของผู้คนในแวดวงกัญชาทั้งเก่าและใหม่ให้ได้รู้จักกันมากขึ้น
หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มกิจกรรม ‘420 ปาร์ตี้เรารักกัญ’ ที่ร้าน Mischa Cheap โดยไฮไลต์คือการฉาย Free Weed สารคดีกัญชาที่เล่าถึงผู้คนที่คลุกคลีกับกัญชาในประเทศไทย เพื่อรวบรวมและบันทึกให้อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์กัญชา จากนั้นมีการเสวนา แลกเปลี่ยน พูดคุยกับเหล่าพี่น้องจากสมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชนตลอดทั้งคืน
ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ภายหลังราชกิจจานุเบกษาประกาศปลดล็อกกัญชาและกัญชงออกจากสารเสพติดประเภทที่ 5 เว้นไว้แต่สารสกัดจากกัญชาที่มีค่า THC เกิน 0.2% ที่ยังเป็นสารเสพติดอยู่ จึงทำให้กัญชาในส่วนของกิ่ง ก้านใบ ลำต้น ราก เมล็ด และช่อดอกจึงไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป
เรื่องราวของชายที่ชื่อ ‘คเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา’ หรือที่รู้จักกันดีในนาม ‘เค ร้อยล้าน’ เรียกได้ว่าแทบจะออกมาตามหน้าฟีดโซเชียลมีเดียไม่เว้นแต่ละเดือนในปี 2565 ในฐานะฝ่ายขวาและรอยัลลิสต์พฤติกรรมหัวรุนแรง ดังเช่นกรณีของวันที่ 12 มิถุนายน 2565 ที่เคร้อยล้านปรากฏตัวท่ามกลางวงล้อมการชุมนุมประท้วงของกลุ่มมวลชนอิสระและกลุ่มทะลุแก๊ส ณ บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาช่วงเย็น ที่สถานการณ์กำลังตึงเครียดและใกล้จวนเจียนถึงจุดแตกหักระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) หลังก่อนหน้านั้นหนึ่งวันได้เกิดเหตุปะทะกันมาแล้ว
และสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อเค ร้อยล้านในชุดเสื้อโปโลสีเหลือง ได้ถือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พร้อมตรงเข้ามากลุ่มผู้ชุมนุม พลางตะโกนด่าด้วยคำหยาบคาย โดยหลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวเคร้อยล้านขึ้นรถตำรวจ เพื่อนำตัวออกนอกพื้นที่ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้ามือของวันที่ 11 มิถุนายน 2565 เค ร้อยล้านได้โพสต์ภาพกลุ่มผู้ชุมนุมและเหตุวุ่นวายที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมข้อความว่า
“พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่เคารพรัก จะดูพวกมันเผาสยามประเทศไทยกันอีกรอบต่อไปได้ลงคอหรือไง! และนี้คือผลงาน เผาบ้านเผาเมือง เผาทรัพย์สินทางราชการ ยิงระเบิดใส่ตำรวจ และการเรียกร้อง ประชาธิปไตย” พร้อมกับระบุชื่อ ทักษิณ ชินวัตร, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, เพจสื่อต่างๆ ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม
ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง เพราะที่ผ่านมาเค ร้อยล้านได้ก่อวีรกรรมสุดวายป่วงไว้นับไม่ถ้วน อาทิ ปาขวดน้ำแดงกลางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน, เชือดงูกลางสี่แยกราชประสงค์เพื่อแสดงความจงรักภักดี, ชูพระบรมฉายาลักษณ์ ในวันปล่อยตัวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บริเวณหน้าทัณฑสถานหญิงกลาง ก่อนจะถูกกลุ่มผู้ชุมนุมโห่ไล่ ปาขวดน้ำและรองเท้าใส่, ถูกจับข้อหาก่อความวุ่นวายในมหานครมุมไบ ประเทศอินเดีย, ตบหน้าวรรณนา แซ่อั้ง (ป้าเป้า) ขณะกำลังทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์กับแนวร่วมกลุ่ม DemHope และล่าสุดในงานงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ที่ก่อเหตุทำร้ายร่างกายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ขณะกำลังนั่งแจกลายเซ็นที่บูธของคณะก้าวหน้า
เค ร้อยล้าน เคยเป็นอดีตนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของร้านตัดชุดสูท และผ่านการเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายครั้ง อาทิ กันตฐพงศ์, ณัฐศักดิ์ญาณ, พงศ์พิษณุเทพ, กฤษณธมิเลย์ และแม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเคยพยายามนำตัวเค ร้อยล้าน ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อประเมินสภาพอาการทางจิตและดำเนินรับการรักษาต่อไป ทว่ากลับถูกลูกชายผู้ก่อเหตุติดต่อขอรับตัวกลับไปรักษาเองที่บ้าน
ภายหลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ทั่วโลกต่างแสดงความไว้อาลัย เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มีการจัดให้ประชาชนและข้าราชการชาวไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมถวายความอาลัยต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณประตูมณีนพรัตน์ ด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และทรงรับสั่งให้หน่วยงานราชการในพระองค์ทำพิธีถวายความอาลัยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2565 เพื่อเป็นการแสดงความอาลัยและแสดงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ หลังจากเมื่อปี 2560 ราชวงศ์วินด์เซอร์แห่งสหราชอาณาจักรได้ส่งเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก มาในฐานะผู้แทนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อเสด็จเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้จัดพานให้วางดอกไม้หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ใกล้กับประตูวิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวัง เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม 2559
ทั้งนี้ พระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใจกลางกรุงลอนดอน ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงสายของวันที่ 19 กันยายน 2565 (ตามเวลาท้องถิ่น) ทางสำนักพระราชวังอังกฤษได้ส่งหนังสือทูลเชิญและบัตรเชิญแด่ประมุขและผู้นำจากทั่วโลกเพื่อตอบรับเข้าร่วมพระราชพิธีฯ โดยประเทศไทยได้ส่ง พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนเป็นผู้แทนประเทศเข้าร่วมพระราชิธีดังกล่าว
Tags: ภาพข่าวแห่งปี, News Of The Year2022, News Picture 2022, Drive THEMOMENTUM