ห้องปฏิบัติการร็อกกี้เมาเทนส์ (RML) ของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) สหรัฐอเมริกา เปิดเผยภาพสแกนจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของโคโรนาไวรัส หรือในชื่ออย่างเป็นทางการ ‘โควิด-19’ จากผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกา
ภาพไวรัสนี้เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของนักวิจัย RML โดย เอมมี่ เดอ วิต (Emmie de Wit) ซึ่งเป็นผู้จัดหาไวรัส และอลิซาเบ็ธ ฟิสเชอร์ (Elizabeth Fischer) ผู้ส่องกล้องจุลทรรศน์และทีมงานที่ช่วยสร้างภาพด้วยการใช้เทคนิคทำสีในแบบสีผสมเท็จ (false color)
จากภาพนี้ ซึ่งเป็นภาพสแกนจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสีผสมเท็จ (false color) แสดงภาพของโคโรนาไวรัสจากผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกา โดยอนุภาคของไวรัสจะมีสีเหลืองเมื่อมันโผล่ออกมาจากพื้นผิวของเซลล์ซึ่งมีสีน้ำเงินและสีชมพู
ภาพนี้ถ่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน แม้จะไม่คมชัด แต่สามารถเห็นหนามแหลมบนพื้นผิวของไวรัสได้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแรกของไวรัสตัวนี้ว่า โคโรนาไวรัส อันมีความหมายว่า ‘มงกุฎ‘
ภาพถ่ายของโคโรนาไวรัสนี้อาจจะดูคุ้นเคย เมื่อเปรียบเทียบกับซาร์สและเมอร์ส เนื่องด้วยเป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกัน จึงดูคล้ายกันจากภายนอก ไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในจีโนมของพวกมัน และมีความแตกต่างเพียงห้านิวคลีโอไทด์ในระหว่างไวรัสสามตัวนี้ อย่างไรก็ตามเราสามารถจะสังเกตเห็นความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดของไวรัสแต่ละตัวก็ต่อเมื่อมันติดเชื้อในมนุษย์
อ้างอิง
https://www.flickr.com/photos/niaid/albums/72157712914621487/with/49531042877/
https://www.sciencealert.com/this-is-what-the-covid-19-virus-looks-like-under-electron-microscopes
https://www.livescience.com/new-coronavirus-images.html
ภาพ : NIAID
Tags: เมอร์ส, โคโรนาไวรัส, โควิด-19, ภาพถ่ายโคโรนาไวรัส, ซาร์ส