หนึ่ง-จักรวาร เสาธงยุติธรรม เป็นนักดนตรีที่อยู่ในวงการดนตรีมาเกือบเทียบเท่าอายุของเขา หากเราเริ่มนับหนึ่งที่ครั้งแรกเมื่อเขามีวงดนตรีตอนอายุ 7 ขวบ ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักในหมู่ของคนดนตรีมาเนิ่นนานอีกเช่นกัน ในฐานะบุคคลเบื้องหลัง จากตำแหน่งที่ยืนของเขาบนเวทีการแสดงท่ามกลางเครื่องดนตรี และเป็นคนเบื้องหลังบทเพลงของศิลปินอีกหลายๆ คน ซึ่งหากคนสนใจแต่เพียง ‘ฟรอนต์แมน’ ก็อาจมองข้ามเขาไปได้

ในระดับมหาชน หนึ่ง จักรวาร เพิ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เมื่อเขามีบทบาทเป็นคนดนตรีเบื้องหน้า ในรายการดังอย่าง I Can See Your Voice Thailand และรายการ The Mask Singer Thailand โดยเฉพาะรายการหลัง ที่ฝีมือการร่ายนิ้วบนเปียโนของเขาเป็นที่ประจักษ์ว่า ไม่ว่าโจทย์ของดนตรีจะมาแนวทางไหน เขาก็สามารถพลิกแพลงตัวโน้ตไปตามอารมณ์ของเพลงอย่างไม่ยึดติดกับต้นฉบับ และสร้างเสียงดนตรีที่ไพเราะส่งกลับมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

นี่ไม่ใช่การกล่าวเกินเลย เพราะหากคุณได้ฟังดนตรีสดๆ ที่เขาบรรเลงขึ้นจากเปียโนคู่กาย ในงาน Passion to Profit ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ GMM Live House เช่นเดียวกับเรา คุณก็จะเชื่อเช่นนั้น

“ผมเกิดจากสลัมคลองเตย”

นับครั้งไม่ถ้วนที่เขาประกาศตัวด้วยประโยคนี้ ไม่ว่าจะให้สัมภาษณ์กับสื่อไหน หรือเมื่อมีใครถามถึงที่มาของเขา

หนึ่ง จักรวาร เล่าบนเวทีวันนั้นว่า นี่เป็นประโยคที่เขาพูดอย่างภาคภูมิใจมาโดยตลอด แล้วเขาก็พาเราย้อนคืนวันไปสู่วัยเยาว์ที่เรียกได้ว่าต้นทุนนั้นติดลบ หากจะโชคดีหน่อยก็ตรงที่ ใครสักคนมอบความอดทนและไม่ย่อท้อติดตัวเขามาด้วย จนทำให้เขามีวันนี้

“ผมเกิดจากสลัมคลองเตย สิ่งแวดล้อมในตอนนั้นที่ผมอยู่คือยุคมืดสุดๆ ทุกวันที่ออกมาหน้าบ้าน สภาพคือจะเห็นคนนอนอยู่หน้าบ้านเรา อย่าคิดว่านอนเล่น เขานอนตายครับ ตายคาเข็มฉีดยา เขาติดผงขาว เพื่อนรุ่นเดียวกันกับผมทุกคนที่ติดยาตอนนี้เสียชีวิตหมดแล้ว แต่ว่าผมโชคดีตรงที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนดุมาก และพ่อเป็นชอบร้องเพลง จะสอนลูกศิษย์ที่บ้าน ลูกศิษย์ของพ่อผมคือคุณอาไวพจน์ เพชรสุพรรณ คุณอารุ่งเพชร แหลมสิงห์ อาจารย์ชินกร ไกรลาส จนหลังๆ ก็มีสายัณห์ สัญญา มีพุ่มพวง ดวงจันทร์เข้ามา เป็นนักร้องระดับซูเปอร์สตาร์มาก แต่ตอนที่เห็นพวกเขา เรายังเด็กมากๆ เราเห็นคุณพ่อสอนเขามา คุณพ่อผมขับรถรับจ้าง ขับรถลากจูงอยู่ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่เขาขาพิการนะครับ พิการและไม่ได้เป็นครูเพลง ไม่ได้เป็นคนแต่งเพลง แต่เป็นคนชอบร้องเพลง แล้วรู้วิธีการว่าควรจะร้องยังไง เหมือนดึงศักยภาพของนักร้องออกมา

วิธีการเล่นดนตรีหรือร้องเพลง มันคือจินตนาการ บ้านเราไม่มีเงินซื้อคีย์บอร์ด
พ่อบอกให้เราจินตนาการ เรามีหู เราใช้หูสังเกต ฟังเอา

“ทุกวันที่คุณพ่อสอนคุณอาแต่ละคนร้องเพลง ผมจะนั่งฟัง คุณพ่อก็จะบอกเราว่า วิธีการเล่นดนตรีหรือร้องเพลง มันคือจินตนาการ บ้านเราไม่มีเงินซื้อคีย์บอร์ด ไม่มีเงินซื้อเครื่องดนตรี ไม่มีเงินส่งเสียเราเรียนดนตรี พ่อบอกให้เราจินตนาการ เรามีหู เราใช้หูสังเกต ฟังเอา แต่ในช่วงชีวิตหนึ่งของผมก็เคยมีคีย์บอร์ดอันเล็กๆ ที่ไม่สามารถเล่นเป็นคอร์ดได้ เล่นได้ทีละตัว เวลาสอนคุณอาร้องเพลง คุณพ่อจะให้เรากดโน้ตตาม เสียงไปทางไหนให้เราหาจากคีย์บอร์ดให้เจอ แล้วด้วยเพลงลูกทุ่ง มันจะบ่งบอกจินตนาการของเพลงได้อย่างดี เช่น พูดถึงป่าเขา ลำน้ำ ทะเล หรือความรักความเกลียด ให้สังเกตเอา เวลาพ่อพาไปป่า ไปน้ำตก ก็พยายามจำบรรยากาศแบบนั้น แล้วเวลาครูเพลงเขาเขียนเนื้อเพลง เขาจะบรรยายบรรยากาศให้เรานึกตาม แล้วดึงเสียงเหล่านั้นมาเป็นจินตนาการของเรา ให้กลับไปเป็นเสียงดนตรี โดยที่ไม่รู้เลยว่าโน้ตเขียนยังไง คอร์ดอะไร ไม่รู้เรื่องเลย”

เด็กชายจักรวารทำหน้าที่ตามที่คุณพ่อบอกไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งพ่อก็บอก “ทำวงมั้ยลูก”

“เจ็ดขวบ พ่อทำวงลูกทุ่งให้ ให้ไปเล่นตามบ้านเพื่อนพ่อ งานโกนจุก งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช ก็ไปเล่น ไปเล่นเสร็จแล้วก็มีคุณอาแต่ละท่านมาร้องให้ ระดับรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นความผูกพันแบบอาหลาน ตอนนั้นผมเล่นออร์แกน ไม่รู้จักคำว่าคีย์บอร์ด ไม่รู้จักคำว่าเปียโน เราเรียกออร์แกนตามที่ภาษาลูกทุ่งเขาเรียกกัน ทุกวันเราเล่นกันก็จะได้เห็นผู้คนมากมายเข้ามาร้องเพลงกับผม ร้องโดยที่ไม่ถามผมสักคำว่าผมเล่นได้หรือเปล่า (หัวเราะ)

“เขาขึ้นมาก็บอกจะร้องเพลงนี้ เราก็บอกคุณอา คุณอาร้องเลยครับ ประมาณนี้ก็เล่นไป เล่นไม่ได้ก็ต้องเล่นให้ได้ บางเพลงก็มั่วไป เล่นไปทุกวันจนรู้สึกว่าเราผูกพันกับคน ทุกๆ วันที่เล่นก็คิดแค่ว่าเอาตัวรอดให้ได้ ผมคิดว่ามันเป็นเกมหนึ่งของผม ที่ว่าเวลาเขาจับไมค์ คนนี้จะร้องเพี้ยนหรือเปล่า หลังๆ ทายตั้งแต่ท่าทางการเดินขึ้นเวทีเลย และส่วนใหญ่ถูกครับ”

นักเปียโนที่ไม่รู้จักคำว่าเปียโน

หนึ่ง จักรวาร ได้เรียนดนตรีเสียทีเมื่อเข้าเรียนชั้นมัธยมหนึ่งที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ความไม่ประสาเพราะรู้จักแต่คีย์บอร์ดหรือออร์แกน เมื่อครูถามว่ามีใครจะเรียนเปียโนบ้าง เด็กทั้งห้องยกมือกันหมด ยกเว้นเขา

“ผมไม่รู้จักคำว่าเปียโน ผมไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง ที่บ้านเราไม่มี รู้แต่ว่าที่เราเล่นอยู่มันคือคีย์บอร์ดหรือออร์แกน ไม่ใช่เปียโน ผลสุดท้ายเมื่อจับลงเรียนวิชาเอก ผมจึงได้เรียนไวโอลิน ผมจบไวโอลินมา

ขอบคุณภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ

“พอไม่ได้เรียนเปียโน วิธีการของผมคือไปแอบดูคุณครูซ้อม ผมจับเปียโนไม่ได้ เพราะกฎเหล็กของวิทยาลัยนาฏศิลป์คือห้ามจับเครื่องมือที่ไม่ใช่เครื่องมือของวิชาเอกเรา วันที่สองผมไปโรงเรียนเช้ามาก ได้ยินเสียงเปียโนลอยมาจากห้องห้องหนึ่ง ในใจคิดอย่างเดียวว่าวิทยาลัยนาฏศิลป์เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และน่ากลัวมาก ข้างหน้าเป็นวังหน้า ข่าวที่ได้ยินมาคือทุกคนจะได้ยินเสียงเครื่องดนตรีไทย ปี่พาทย์มอญดังตอนกลางคืนกับตอนเช้า เป็นเสียงที่เขาลือกัน

“แต่ตอนนั้นผมไปถึงโรงเรียนตีห้าครึ่ง ได้ยินเสียงเปียโน ก็เดินตามเสียงเปียโนไป ถึงห้องซ้อมเปียโน มีครูท่านหนึ่งเล่นเปียโนอยู่ ข้างหน้ามีหนังสือวาง ผมอยากเข้าไปดู อยากเล่นได้ แต่เข้าไปไม่ได้ ต้องแอบดูอยู่หลังห้อง จังหวะที่ครูไปเข้าห้องน้ำ ผมวิ่งจากหลังห้องไปดูหนังสือเล่มนี้ว่าคืออะไร แล้วจดไป ตอนเย็นก็ไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้ เข้าใจว่าร้านเปียโนที่ไหนก็ต้องมี เงินที่เก็บได้จากการเก็บขวดเก็บเศษเหล็ก กระดาษลัง หนังสือพิมพ์ที่โกดังที่พ่อทำงานไปชั่งกิโลขาย เราเอาไปซื้อหนังสือเปียโน

ผมจับเปียโนไม่ได้
เพราะกฎเหล็กของวิทยาลัยนาฏศิลป์คือห้ามจับเครื่องมือที่ไม่ใช่เครื่องมือของวิชาเอกเรา

“วันต่อมาผมมาที่โรงเรียนตีห้าครึ่ง เสียงเปียโนยังดังเหมือนเดิม ผมไปแอบฟังแล้วเปิดหนังสือหน้าเดียวกันกับคุณครูแล้วยืนมอง แล้วแอบมาเล่นในอีกห้องหนึ่งที่อยู่ไกลจากห้องนั้นออกไป กะว่าถ้าครูได้ยินครูด่าก็ไม่เป็นไร เชื่อไหมครับว่า ครั้งแรกที่นั่งบนเก้าอี้เปียโน แล้วเอาหนังสือเล่มนี้วาง พอจะเล่นปุ๊บ มึงหยุด กูอ่านโน้ตไม่ออก (หัวเราะ) ไม่รู้ว่าตัวพวกนี้มันโน้ตอะไร

“คำสอนของพ่อแวบเข้ามาว่า ลูก เวลาจะเล่นดนตรีอะไรก็แล้วแต่ ฟัง เรามีหูไว้ฟัง ผมกลับไปที่เดิม แอบดูว่าครูเปิดหน้าอะไร แล้วสังเกตโน้ตตามเสียงว่าเสียงเป็นแบบนี้ โน้ตเป็นแบบนี้ สักพักลองกลับมาเล่น ก็เล่นได้ แล้วก็กลับไปดูครูใหม่ วิ่งไปวิ่งมาแบบนี้สามเดือน ผมทำแบบนี้ทุกวัน ยกเว้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จนมีความรู้สึกว่า ครูเปิดอะไร เล่นอะไร เราเล่นได้ แต่ก็รู้ว่าเราจะทำแบบนี้ตลอดชีวิตมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องเข้าถึงสิ่งพวกนี้ให้ได้รวดเร็วที่สุด อยากจะหาเงินช่วยพ่อแม่ด้วย”

โรงเรียนใน ‘คาเฟ่’ กับคำด่าที่ทำให้เติบโต

สามเดือนที่แอบลักจำมาจากการซ้อมเปียโนของครูที่โรงเรียน คือความรู้พื้นฐานที่พาเขาไปสู่การได้เล่นเปียโนจริงๆ เด็กชายจักรวารเรียนไวโอลินที่โรงเรียน แล้วขอพ่อแม่ไปเล่นดนตรีกลางคืนในคาเฟ่ซึ่งเป็นสถานบันเทิงที่เฟื่องฟูในอดีต แลกกับข้าวไข่เจียวและคำด่า ที่จะทำให้เขาฝึกฝนตนเองให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ

“คาเฟ่สมัยนั้นโหดมาก เล่นทุ่มหนึ่งหรือทุ่มครึ่ง เลิกตีสาม ตีสามครึ่ง แล้วเล่นแบบไม่มีพัก นักดนตรีต้องสลับกันเข้าห้องน้ำ ช่วงเดือนแรกผมเล่นโดยไม่เอาเงิน ไปดูพี่ที่เขาเล่นคีย์บอร์ด นั่งถามเขา เพลงไหนที่เล่นได้ก็ขอเขาเล่น เพลงนี้เป็นยังไง คอร์ดนี้เป็นยังไง แลกข้าวไข่เจียวหนึ่งจาน เที่ยงคืนเป๊ง ข้าวไข่เจียวจะมา เดือนที่สองวิชาความรู้เริ่มมี ก็เริ่มลงสนามจริง ไปเล่นอีกคาเฟ่หนึ่ง ทำใจว่าโดนด่าแน่นอน เพราะจะให้เอาตัวรอดได้ทั้งคืนนี่ไม่น่ารอด ผลสุดท้ายเป็นไปตามที่คิด นักร้องสิบคน ผมโดนด่าหมด เด็กมอหนึ่งน่ะครับ ตัวผอมๆ ดำๆ ตัวนิดเดียว เล่นได้มั่งไม่ได้มั่ง แล้วเขาก็เริ่มรู้แล้วว่าเราอ่านโน้ตไม่ได้ เพราะเล่นคาเฟ่เขาต้องวางโน้ต นักร้องสมัยก่อน มาถึงปั๊บเขาจะมีโน้ตประจำตัวมาเสียบ แล้วนักดนตรีก็เล่นตาม

พอสามเดือน เสียงด่าเงียบ เลยต้องไปอีกที่ที่หนักกว่านี้ ไปให้เขาด่า สนุกมาก

“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนั้นคือ วันนี้เราเล่นไม่ได้ แต่อีกวันทำไมเล่นได้ นักร้องเลยเริ่มรู้ทางว่า อ๋อ มันเอาไปแกะ เดี๋ยวพรุ่งนี้มันเล่นได้ เพลงลูกทุ่งเสียงจะชัดเจน จะเอาทรัมเป็ตโซโล ออร์แกนโซโล หรือแอคคอร์เดียนโซโล มันมีดีเทลเยอะ ขนาดเล่นถูกแล้วก็ยังไม่ถูก เราเลยเรียนรู้ว่าสิ่งที่ถูกมันไม่ถูกเสมอไป สามเดือนครับ เสียงด่าเงียบ แล้วกลายเป็นพี่น้องกันแล้ว วันนี้เล่นไม่ได้ไม่เป็นไรหนึ่ง พรุ่งนี้ค่อยเล่น ความรู้สึกเรามันไม่ได้ มันเหงา ไม่มีใครด่า

“พอสามเดือน เสียงด่าเงียบ เลยต้องไปอีกที่ที่หนักกว่านี้ ไปให้เขาด่า สนุกมาก เที่ยงคืนปุ๊บ นักร้องยี่สิบคนยืนถือโน้ตเรียงกันช่วงเมดเลย์ โอ้โห ร้องต่อกันยี่สิบเพลงโดยไม่หยุดเลย จะเล่นไหวเหรอ โดนด่าสิ แต่ก็เหมือนเดิมครับ สามเดือน เสียงด่าเริ่มเงียบ ก็ต้องไปหาที่อื่นอีก เพราะพอได้เล่นกับนักร้องเยอะๆ เพลงเริ่มหลากหลาย มีสตริง เพลงสากลยุค 60s-70s มีเพลงจีน เราเริ่มคิดว่าเพลงจีนที่คนไทยร้องกันฮิตๆ อย่างเถียนมีมี ถ้านักร้องร้องแล้วคนจีนชอบ เขาให้ทิปเรา สิ่งไหนที่เล่นแล้วได้ทิป แสดงว่าใช่”

คิดแบบธุรกิจ

ในวันที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตจะเลือกฝึกอะไรให้เป็นความชำนาญ หนึ่ง จักรวาร คิดอย่างคนทำธุรกิจ เหตุผลของเขาในตอนนั้นคือทำอย่างไรจึงจะมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว จากความสามารถที่เขาอยู่ตอนนี้

“ทุกอย่างผมคิดเป็นเงินหมด เหมือนตอนได้เรียนไวโอลิน ครูบอกว่าจักรวาร ได้เรียนสีไวโอลินนะ ผมคิดว่าผมไม่มีเงินซื้อไวโอลินมาซ้อมแน่นอน ครูก็พยายามหว่านล้อมว่าไวโอลินดีอย่างนั้นอย่างนี้นะ อยู่ในวงออร์เคสตร้า โห ฮอลล์ใหญ่ๆ อย่างนั้นเราไม่มีปัญญาไปเล่นหรอก ตอนนี้เอาแค่ง่ายๆ เราไม่มีปัญญาซื้อไวโอลินอย่างนี้หรอก ความที่จนกับงก และสิ่งที่คิดตอนนั้นคือ ถ้าเล่นในฮอลล์ใหญ่ๆ นักดนตรีไวโอลินเพียบเลย คำถามกลับมาที่เราคือ เขาแบ่งกันคนละเท่าไร (หัวเราะ) ไวโอลินเยอะมาก หารคนละเท่าไรเหรอ แล้วทำไมเปียโนมีคนเดียว แสดงว่าเปียโนได้น้อยที่สุดสิ หนสุดท้ายก็ไปสืบ เล่นได้ครั้งละเท่าไร เวลามีเล่นคอนแชร์โต มีเปียโนตรงกลาง เขาไม่ต้องไปซ้อมกับเครื่องออร์เคสตร้าข้างหลัง ซ้อมที่บ้าน แล้วเขาบอกว่าได้เงินมากกว่าไวโอลิน แถมไวโอลินต้องมาซ้อมรวมกันกับคอนดักเตอร์ด้วย อ้าว แล้วเราจะเล่นทำไม (หัวเราะ)

ขอบคุณภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ

“แล้ววันข้างหน้า ใครจะจ้างไวโอลินคนเดียวไปเล่นล่ะ แต่ทุกวง วงดนตรี วงสตริง มีเปียโน มีคีย์บอร์ด แสดงว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้ทำเงินสิ มีงานไหนบ้างที่ไม่มีเปียโน ไม่มีคีย์บอร์ด ไม่มีเลย ตรงนี้ได้เงิน เท่านั้นแหละ ทุกอย่างกลายเป็นความคิดเรื่องเงินตลอดเพราะว่าสงสารพ่อ แม่ไม่ได้ทำงาน พ่อต้องหาเงินเลี้ยงลูก เลี้ยงภรรยา”

จากคาเฟ่ จักรวารยกระดับไปเล่นดนตรีในบาร์จีน เมื่อฟังไม่ออก สิ่งที่นักร้องต้องสอนเขา คือความหมายของเพลงว่าต้องเล่นแบบไหน ระหว่างนั้นนิ้วของเขากดลงบนคีย์เพื่อสร้างเสียงขิมและกู่เจิ้งแบบเพลงจีน และเปียโนก็ทำหน้าที่ได้ไม่บกพร่องตามนิ้วสั่ง

“เวลาเล่นเราก็พยายามจินตนาการอย่างที่พ่อสอน ดูเครื่องดนตรีจีน ดูเสียงที่เขาเล่น ใช้จินตนาการตาม พ่อพูดเสมอว่า เสียงเครื่องดนตรีที่โลกสร้าง มาจากการจินตนาการของเรามากกว่า สมมติเสียงแอคคอร์เดียน ถ้าเราเดินตามถนนในปารีส มันจะเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติเขา ที่เราเรียกว่าหีบเพลงน่ะ (นิ้วของเขาเปลี่ยนเสียงเปียโนเป็นแอคคอร์เดียนในสำเนียงฝรั่ง) โคตรเท่เลย ใส่สูทเล่นแอคคอร์เดียน แต่พอมาอยู่บ้านเรา (เสียงแอคคอร์เดียนแบบที่ได้ยินในเพลงลูกทุ่งยุคเก่าเข้ามาแทนที่) โอ้โห สุพรรณมาเลย มันคือเสียงเดียวกันรึเปล่า พอมาอยู่ไทยกลายเป็นลูกทุ่ง อยู่ปารีสทำไมเท่อีกแบบ”

พ่อพูดเสมอว่า เสียงเครื่องดนตรีที่โลกสร้าง มาจากการจินตนาการของเรามากกว่า

ถึงตรงนี้ เปียโนของเขาก็บรรเลงเพลงหลากสัญชาติอย่างสนุกสนาน ทั้งเพลงแอฟริกัน ละติน กระทั่งเพลงไทยเดิมอย่างค้างคาวกินกล้วย ที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงด้วยเครื่องดนตรีชิ้นเดียว และความเชี่ยวชาญจากการบ่มตัวเองของเขานี่เอง ที่เป็นบันไดพาเขาขึ้นมาสู่ความมีชื่อเสียงดนตรี ทั้งในฐานะโปรดิวเซอร์ และมิวสิกไดเร็กเตอร์

ฮีโร่หลังปกเทป

การตั้งเป้าหมาย ใช้ได้กับทุกกรณี หากใครสักคนหนึ่งต้องการดันตัวเองไปสู่สิ่งที่เหนือชั้นกว่าเดิม หนึ่ง จักรวาร เองก็มีเป้าหมายให้ไล่ล่า

“มันมาจากความซนของผม สมัยก่อนมีวงมีศิลปินเยอะแยะมากมาย แล้วผมก็อยากจะไปดูคนที่แต่งเพลงได้หรือคนที่ทำดนตรีได้ ตามความฝันของพ่อที่พ่ออยากให้เราทำเพลง ก็อาศัยประสบการณ์จากสิ่งที่เราได้โอกาส สมมติผมเล่นเพลงให้ศิลปินท่านหนึ่ง เวลาขึ้นคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง ต้องแกะเพลงตามแผ่น เล่นตามนี้นะ แต่เล่นทุกวันมันเบื่อครับ ถามว่าได้เงินไหม ก็ได้เงิน ทุกคนชอบมาก สมมติอัลบั้มหนึ่งมีสิบเพลง แกะสิบเพลงแล้วก็เล่นในคอนเสิร์ตยาวๆ แต่ความรู้สึกเรา ถ้าเป็นแบบนี้ ตัวนักร้องรอดเพราะเขาได้เงินเยอะกว่าเรา แต่พอวันหนึ่งที่เราแก่แล้ว ใครจะจ้างเราต่อ เราจึงคิดว่า เอาเวลาวันหนึ่งที่เรามีอยู่ทำให้มีค่าที่สุด

“ด้วยความซน ผมเอาเพลงแต่ละเพลงที่เขาร้องมานั่งทำที่บ้าน แล้วซ้อมกับเพื่อนๆ โดนเพื่อนๆ ด่าครับ ทำทำไมวะ ทำไปก็เหนื่อยเปล่า ทำไปแทนที่เพื่อนจะได้แกะตามแผ่น ต้องมาเล่นคอร์ดตามผม และสิ่งที่สำคัญคือก็ได้เงินเท่ากัน ผมบอกไม่เป็นไร ทำฟรี แต่หน้าผมไม่ฟรีหรอก (หัวเราะ)”

นิ้วของเขาประจำอยู่บนคีย์อีกครั้ง เพลงหมอกและควัน ของธงไชย แม็คอินไตย์ ดังก้องตามแบบต้นฉบับที่เราได้ยิน จากนั้นเขาปรับอารมณ์ให้เราได้ฟังเพลงเดียวกันนี้ ทั้งในแบบบอสซ่า เร็กเก้ กระทั่งธีมเพลงแบบวอลต์ดิสนีย์

“การทำแบบนี้ทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้ว่าเพลงเพลงหนึ่งสามารถทำออกมาได้หลากหลายแนว เพลงนี้เราเคยเล่นปกติ บางวันถ้าต้องเล่นตอนเที่ยงคืน หรือเล่นกับแคมปัสทัวร์ ก็เล่นอีกแบบ มันเป็นการเรียนรู้จากคนดูว่าในเพลงเดียวกันเราใช้การเล่นแบบเดิมไม่ได้

ขอบคุณภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ

“การได้ผ่านความลำบากและการเรียนรู้ในอดีต ผมได้อะไรมาเยอะมาก สิ่งแรกคือผมได้โอกาสจากทุกๆ ท่าน ผมนับถือศิลปินทุกท่านตั้งแต่ผมทำดนตรีมาทุกสมัยทุกแนว คิดง่ายๆ ครับ เราแค่นักดนตรีคนหนึ่ง ศิลปินนักร้องที่ออกมาร้องหน้าเวที คนดูปกติเขาไม่สนใจนักดนตรีหรอกครับ แต่ถ้าเราเล่นดี นักร้องก็จะพูดถึงเรา มือเปียโนครับ คุณหนึ่งครับ ทุกคนพูดอย่างนี้หมด เลยกลายเป็นว่าทุกคนได้ยินและคุ้นหูกันหมด ทุกคนให้โอกาสผมตรงนี้ ผมนับถือทุกคนที่พูดถึงเรา

“สมัยก่อนผมซื้อเทปเยอะมาก ซื้อมาแกะเพลง แต่สิ่งที่ผมชอบมากคือผมแกะดูทั้งหมดเลยว่าใครอัดเสียง ใครเป็นมิวสิกไดเร็กเตอร์ ใครเป็นเอ็กเซกคิวทีฟโปรดิวเซอร์ ใครเป็นโปรดิวเซอร์ ใครอัดกีตาร์ให้เพลงนี้ ใครแต่งเพลง แล้วผมจดครับ ผมจดทุกรายชื่อที่ผมเห็นบ่อยๆ ศิลปินนี่ผมจดเป็นปกติ วันหนึ่งผมจะอยากเล่นให้ใคร ผมจด และผมคาดหวังไว้ว่าผมจะออกตามล่าฮีโร่ของผมทุกๆ คนในนี้ ลิสต์ยาวมากครับ

“คนสุดท้ายที่เก็บได้คือพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ผมทราบว่าเขาเป็นนักแต่งเพลง มุมมองการแต่งเพลงของเขาไม่เหมือนคนอื่น แต่ว่าจะเจอพี่จิกยากมาก ผมพยายามเล่นเพลงตามคอนเสิร์ตต่างๆ ที่มีเพลงพี่จิก หวังว่าเขาจะมา แต่เขาก็ไม่มา เขามีคอนเสิร์ต เราก็ไม่มีโอกาสได้เล่น ไม่มีโอกาสได้เจอ จนวันหนึ่งพี่จิกทำคอนเสิร์ตเพลงประภาส แล้วผมมีโอกาสได้เล่น ตอนแรกเขาให้ผมเล่นเพลงเดียว เล่นเพลงพี่ปั่น (ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว) แต่พี่จิกไม่รู้ว่าผมตามล่าเขาอยู่ ผมบอกว่าไม่เป็นไรครับพี่จิก พี่จ้างผมเพลงเดียว ผมเล่นแถมให้ ผมเล่นทั้งคอนเสิร์ตเลยครับ เงินไม่เอา จะได้เอาไปคุยกับลูกหลานได้ว่า คนที่ตามล่าเราได้เล่นด้วยมาครบหมดแล้ว

“ตอนนี้ไม่เหลือใครแล้วครับ (ยิ้ม)”

ความสำเร็จของนักดนตรีคนหนึ่งที่ไล่ล่าความฝันมาเกือบทั้งชีวิต มาจากตำราของความอดทนที่เขาเขียนมันขึ้นมาเอง จากที่เคยเป็นนักดนตรีตัวเล็กๆ ที่มีฝันจะได้เล่นดนตรีกับฮีโร่ในดวงใจ วันนี้ จักรวาร เสาธงยุติธรรม คือนักดนตรีและคนทำดนตรีแถวหน้า ที่กำลังถูกนักดนตรีหรือศิลปินรุ่นน้องไล่ล่า เพื่อจะได้มีโอกาสร่วมงานกับเขาบ้าง

Tags: , , , ,