จากผู้หญิงในโรงกลึงที่ทำงานให้กองทัพ กลายเป็นภาพสัญลักษณ์ของเฟมินิสต์ไปโดยไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัว ล่าสุด ‘นาโอมิ ปาร์กเกอร์ เฟรลีย์’ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพวาด โรซี่ เดอะ ริเวเตอร์ (Rosie the Riveter) ที่เป็นสัญลักษณ์ของเฟมินิสต์เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 96 ปี เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

เฟรลีย์เกิดที่โอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1921 ผันตัวจากการเป็นพนักงานเสิร์ฟในแคลิฟอร์เนียระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มาทำงานในกองทัพ เช่นเดียวกับผู้หญิงหลายล้านคนทั่วสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น

เฟรลีย์กลายเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์เมื่อเธอเป็นผู้หญิงคนแรกๆ ที่เข้าทำงานในโรงปฏิบัติงานฐานทัพเรืออัลเมดา เธอทำงานกับน้องสาว เฟรลีย์เจาะและติดตั้งปีกเครื่องบิน และทำงานด้วยเครื่องรีเวท (Rivet machine) และภาพการทำงานในโรงกลึงของเธอซึ่งเป็นต้นแบบนี้ ถูกถ่ายระหว่างที่เฟรลีย์กำลังโพสต์ท่าให้กับช่างภาพสื่อมวลชนที่เยี่ยมชมฐานทัพ โดยโพกผ้าสีแดงลายจุดดังที่เราเห็น

ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki

ภาพดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์มากมาย ในปี 1943 จนกระทั่งศิลปินที่ชื่อ เจ. โฮวาร์ด มิลเลอร์ (J. Howard Miller) ใช้ภาพนี้เป็นต้นแบบของภาพโปสเตอร์ Rosie the Riveter

ก่อนหน้านี้เป็นที่เข้าใจกันมาตลอดว่า ต้นแบบของภาพนี้มาจากเจอรัลดีน ฮอฟฟ์ ดอยล์ (Geraldine Hoff Doyle) ผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ทำงานในโรงงานในช่วงสงคราม และสื่อก็ได้เขียนเรื่องของดอยล์ไปในทางเดียวกัน ก่อนที่จะมีการค้นพบข้อมูลใหม่ว่าไม่น่าจะใช่

ส่วนเฟรลีย์ เธอไม่เคยรู้เลยว่าเป็นภาพของตัวเองจนกระทั่ง 60 ปีต่อมา เฟรลีย์และน้องสาวได้เข้าร่วมงานคืนสู่เหย้าของเหล่าแรงงานหญิงผู้ทำงานในช่วงสงคราม ที่อุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติในริชมอนด์ เธอเห็นรูปประชาสัมพันธ์ที่บอกว่ารูปนี้เป็นเบื้องหลังของภาพโปสเตอร์ “We can do it!” เธอจึงจำได้ว่านี่คือรูปของตัวเอง เมื่อให้สัมภาษณ์กับนิตยสารพีเพิลในปี 2016 เฟรลีย์บอกว่าเธอรู้สึก “ประหลาดใจ”

โปสเตอร์โรซี่เดอะรีเวเตอร์ถูกวาดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้หญิงหลายล้านคนที่ทำงานในโรงงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แรกเริ่มเดิมที โฮวาร์ดวาดภาพนี้ให้กับโรงงานเวสติงเฮาส์เพื่อแปะเป็นป้ายรณรงค์ชั่วคราวไม่ให้ขาดงานหรือประท้วงหยุดงาน แต่ต่อมารูปนี้ก็กลายเป็นไอคอนของผู้หญิงในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ทางการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ และยังสะท้อนภาพของหญิงผู้รักชาติ เฟรลีย์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของเฟมินิสต์โดยไม่ได้ตั้งใจ

อย่างไรก็ตาม ในเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อเมริกันได้ลงท้ายเรื่องราวเกี่ยวกับโปสเตอร์นี้ไว้ว่า เมื่อสงครามจบสิ้น อุตสาหกรรมทั้งหลายก็พากันผลักไส ให้ผู้หญิงเหล่านี้ละทิ้งงานใช้ทักษะกลับคืนไปให้บรรดาทหารผ่านศึกที่กลับจากสงคราม

 

ที่มา:

http://www.independent.co.uk/news/world/americas/naomi-parker-fraley-dead-rosie-the-riveter-dies-died-age-96-tulsa-oklahoma-second-world-war-poster-a8174876.html

https://edition.cnn.com/2018/01/23/us/fraley-rosie-the-riveter-dies/index.html

http://time.com/5113573/real-life-rosie-the-riveter-dies/

http://americanhistory.si.edu/collections/search/object/nmah_538122

https://www.nytimes.com/2018/01/22/obituaries/naomi-parker-fraley-the-real-rosie-the-riveter-dies-at-96.html?smid=tw-nytimes&smtyp=cur