แทนที่สารซีเอฟซี 11 ที่ถูกห้ามผลิตทั่วโลกเมื่อปี 2010 จะต้องลดจำนวนลง แต่นักวิทยาศาสตร์ กลับพบการปล่อยสารเคมีตัวร้าย ที่ทำลายโอโซนมาจากบางพื้นที่แถบเอเชียตะวันออก

ตั้งแต่ปี 1987 มีพิธีสารมอนทรีอัล ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances That Deplete the Ozone Layer) เพื่อลดสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยเฉพาะการผลิตและการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFC) มีประเทศร่วมลงนามกว่า 200 ประเทศ

เมื่อวันพุธที่ 16 พ.ค. นักวิทยาศาสตร์จาก สำนักงานมหาสมุทร และชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (The National Oceanic and Atmospheric Administration-NOAA) เปิดเผยผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ว่า มีการปล่อยสารเคมีซึ่งทำลายโอโซนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สารซีเอฟซี 11 เพิ่มขึ้น 25% ตั้งแต่ปี 2012 ทั้งที่เป็นสารเคมีที่ทำลายโอโซนและมีการห้ามผลิตตั้งแต่ปี 2010

การผลิตสารซีเอฟซี 11 ซึ่งเป็นสารทำความเย็น ใช้ทำโฟม และมีอานุภาพทำลายโอโซนมากที่สุดเป็นอันดับสอง ควรจะเป็นศูนย์หรือใกล้เคียงกับศูนย์ เนื่องจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ตกลงกับหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ และการปฏิบัติตามพิธีสารมอนทริอัล 1987  แต่เหตุใดจึงมีการปล่อยสารเคมีเพิ่มขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีผู้ที่ผลิตสารเคมีนี้อย่างลับๆ และละเมิดข้อตกลงนานาชาติ

สตีเฟน มอนท์ซกา (Stephen Montzka) หัวหน้าคณะวิจัยติดตามสารเคมีในชั้นบรรยากาศ “ผมทำงานนี้มา 27 ปีแล้ว นี่เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น ผมช็อก เราพยายามเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และทำไม”

คณะวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยจาก NOAA และนักวิทยาศาสตร์ในเนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร เริ่มวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศจากทั่วโลกตั้งแต่ปี 2013 ขณะที่ความเข้มข้นของซีเอฟซี 11 ลดลง แต่ก็ลดลงในอัตราที่ช้ากว่าที่ควรจะเป็น คาดว่ามีซีเอฟซี 11 จากแหล่งใหม่

พวกเขากล่าวว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะบอกว่าการเพิ่มขึ้นของซีเอฟซี 11 มาจากความไม่ตั้งใจ และได้พิจารณาคำอธิบายที่เป็นไปได้ ก็สรุปว่าไม่สามารถอธิบายได้ เมื่อคำนวณได้ว่ามีการปล่อยซีเอฟซีปีละ 13,000 ล้านกรัมต่อปีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้หลักฐานยังแสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีแหล่งที่ปล่อยสารเคมี นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ผลิต หรือเกิดขึ้นตรงไหน ศูนย์สังเกตการณ์ของสหรัฐอเมริกาในฮาวายพบว่า ซีเอฟซี 11 ซึ่งผสมกับก๊าซชนิดอื่นๆ มีที่มาจากบางพื้นที่ในเอเชียตะวันออก ทั้งนี้ไม่มีรายงานต่อหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติก่อนหน้านี้ว่าสารซีเอฟซี 11 ที่ถูกปล่อยออกมาเพิ่มขึ้นจากการผลิตใหม่

“น่าวิตกมากที่มีคนโกง” เดอร์วูด ซาเอลเค (Durwood Zaelke) ผู้ก่อตั้งสถาบันธรรมาภิบาลและพัฒนาที่ยั่งยืน และผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีสารมอนทรีอัลแสดงความเห็น “มันอาจจะเป็นไปได้บ้างที่มีการปล่อยสารเคมีออกมาโดยไม่ตั้งใจ แต่นี่ชัดเจนว่ามันถูกผลิตขึ้นอย่างตั้งใจ” และเขายังสงสัยว่าตลาดของซีเอฟซี 11 เป็นอย่างไร เพราะไม่เพียงแต่การห้ามใช้เท่านั้น ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีก

เอริค โซเลม (Erik Solheim) หัวหน้า UN Environment องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า “ถ้าการปล่อยสารเคมีนี้ยังไม่ลดลง มันสามารถทำให้การฟื้นฟูชั้นโอโซนช้าลงได้ ดังนั้นเราต้องหาให้ได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการปล่อยสารเคมีออกมา และดำเนินการตามความจำเป็น”

“หากการปล่อยซีเอฟซีที่เพิ่มขึ้นมายังไม่หายไปจะส่งผลต่อการฟื้นฟูชั้นบรรยากาศให้ล่าช้าไปอีกอย่างน้อย 10 ปี” มอนท์ซกากล่าว

 

ที่มา:

Tags: , , ,