เดือนตุลาคมที่ผ่านมา นอกจากจะมีปาร์ตี้ฮัลโลวีนแล้ว เด็กๆ (และผู้ใหญ่) ในมากกว่า 26 ประเทศทั่วโลกยังมีอีกเทศกาลที่พวกเขารอคอย นั่นคือ “The Big Draw” เทศกาลการวาดรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก!
The Big Draw เริ่มจัดขึ้นเมื่อปี 2000 ที่ประเทศอังกฤษโดยองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร (ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อว่า The Campaign for Drawing) มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการวาดรูปในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ สร้างเสริมทักษะการทำความเข้าใจด้วยภาพ (visual literacy) ให้กับเด็กๆและผู้ใหญ่ในชุมชน อีกทั้งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในชีวิต ตามสโลแกนที่ว่า #Drawingchangeslives ซึ่งแคมเปญนี้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหล่าโรงเรียน, ห้องสมุดชุมชน, โรงพยาบาล, สวนสาธารณะ และรวมไปถึง พิพิธภัณฑ์ทั้งเล็กใหญ่อีกจำนวนมาก
แน่นอนว่าการวาดรูปถูกใช้ในบริบทของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์มานานนม การวาดรูปโบราณวัตถุหรือก็อปปี้ภาพจากมาสเตอร์ถือเป็นสิ่งพึงปฏิบัติของนักเรียนศิลปะมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 จวนจบปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยวิธีการใช้การวาดรูปในฐานะสื่อการเรียนรู้สากลมากขึ้นเรื่อยๆ (Hope 2008, Adams 2001) เราจึงได้เห็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆหันมาสร้างกิจกรรมด้วยดินสอและกระดาษ (และเครื่องมือการวาดแบบดิจิตอล) ให้กับผู้มาเข้าชมได้เข้าถึงคอลเล็คชั่นของพวกเขาได้มากขึ้น ให้ความใส่ใจกับกระบวนการความคิดและความสุขขณะที่วาด มากกว่าผลลัพธ์ ความสมบูรณ์ หรือความสวยงามของภาพเสียด้วย (Orbach 2001)
“แรงบันดาลใจมีอยู่รอบตัวคุณไปหมด แต่คุณจะทำอะไรกับมันล่ะ?…ฉันเห็นว่าการวาดรูปถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่จะนำผู้ชมให้มีปฏิสัมพันธ์กับชิ้นงานที่จัดแสดงอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ…อย่างง่ายที่สุดก็คือ การวาดช่วยให้พวกเขามองสิ่งต่างๆ นานขึ้น” ซู เกรย์สัน ฟอร์ด (Sue Greyson Ford) อดีตผู้ก่อตั้ง The Big Draw กล่าว
ซูเล่าว่า องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปีมรณภาพของนักวิจารณ์ศิลปะชาวอังกฤษจอห์น รัสกิน (John Ruskin) ผู้เชื่อมั่นว่าการวาดรูปคือวิธีที่ดีที่สุดในการหาความรู้และทำความเข้าใจโลกรอบตัวเรา และแม้ว่าเดิมทีเป้าหมายผู้เข้าร่วมนั้นเปิดกว้างให้กับทุกๆ หน่วยงาน แต่เนื่องจากเธอเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งแกลเลอรี่ The Serpentine เครือข่ายแรกที่เข้าร่วมโปรเจกต์ของเธอ จึงเป็นเหล่าเพื่อนๆ พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ทั้งหลาย ทั้ง V&A Museum, Science Museum, Natural History Museum ฯลฯ
ผ่านมา 18 ปี พิพิธภัณฑ์ก็ยังคงเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่เข้าร่วมกับ The Big Draw ตลอดมาทุกๆ ปี ซูสังเกตว่า การวาดภาพนั้นสามารถทำได้ในทุกกลุ่มผู้เข้าชม (แม้กระทั่งกลุ่มคนตาบอดที่สามารถวาดด้วยเส้นไหมพรม) กระตุ้นการตกผลึกทางความคิด และทำความเข้าใจประสบการณ์ในมิวเซียม ผ่านการสร้างภาพที่จับต้องได้ อีกทั้งยังสร้างความเป็นส่วนตัวหรือความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม (personalisation and ownership) ในพื้นที่ และที่สำคัญยังสามารถนำกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึกได้ด้วย
แล้วถ้าจะเข้าร่วม ต้องทำอย่างไรบ้าง?
การเข้าร่วมกับ The Big Draw นั้นสามารถทำได้ในหลายแพคเกจแล้วแต่ขนาดขององค์กร มีราคาการเข้าร่วมตั้งแต่ 50 ปอนด์สำหรับองค์กรไม่หวังผลกำไร, ชุมชนขนาดเล็กหรือโรงเรียนรัฐบาล ไปจนถึง 700 ปอนด์ สำหรับองค์กรขนาดใหญ่อย่างพิพิธภัณฑ์ ซึ่งในแต่ละราคาก็จะได้รับการสนับสนุนต่างกันไป ตั้งแต่โปสเตอร์, สติกเกอร์, วีดีโอการสอนวาดรูป, แบบแผนการจัดงานที่ออกแบบให้พิพิธภัณฑ์นั้นๆ โดยเฉพาะ, ประกาศนียบัตร, มีการส่งศิลปินในเครือเข้าร่วมกิจกรรม, ให้ส่วนลดสำหรับการซื้อหนังสือและอุปกรณ์สำหรับการวาด, มีทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ผ่านทางเว็บไซต์และจดหมายข่าว เป็นต้น
ซึ่งการเข้าร่วมโครงการในลักษณะนี้ให้ผลดีกับหน่วยการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับนานาชาติ พวกเขาสามารถต่อยอดกิจกรรมเฉพาะทางของตนเอง และสามารถใช้โอกาสนี้ในการต่อยอดขอทุนเพื่อโปรเจกต์อื่นๆ ด้วย
ในอังกฤษเราสามารถเห็น ‘เทรนด์’ กิจกรรมการวาดรูปที่แทรกซึมเข้าไปในมิวเซียมต่างๆ หลังจากที่พวกเขาเข้าร่วมกับ The Big Draw ตลอดหลายๆ ปีที่ผ่านมา เช่น Wallace Collection ที่ไม่รอจัดงานแค่เดือนตุลาคม แต่มีการจัด ‘Little Draw’ ทุกๆ เดือน เดือนละครั้ง, The National Gallery มีการจัดกิจกรรม ‘Draw and Talk’ เป็นทัวร์นำชมบวกกับการวาดภาพตามจุดต่างๆ ในแกลเลอรี่ ส่วน The V&A ก็มีการจัดทำเอกสารประกอบการชมเป็นเซ็ต ‘Drawing in Museums’ สำหรับอาจารย์ที่ต้องการพาเด็กๆ มาวาดรูปในแกลลอรี่ โดยให้โจทย์ที่น่าสนใจหลายๆอย่าง อาทิ วาดเพื่อบันทึก (Drawing to record), วาดเพื่อวิเคราะห์ (Drawing to Analyse), หรือ วาดเพื่อออกแบบ (Drawing to Design) เป็นต้น
ในปี 2018 นี้ กิจกรรม Big Draw มีธีมที่ชื่อว่า “Play!” เป็นการวาดเล่นเพื่อความสนุกเป็นหลัก ไม่เคร่งเครียดกับผลลัพท์ ไม่จำกัดอุปกรณ์หรือสไตล์ที่ใช้วาด และ เน้นความสุนทรีย์ของการวาดและใช้เวลาร่วมกัน
หนึ่งในแกลเลอรี่ที่เข้าร่วมโครงการและมีความน่าสนใจไม่น้อยในปีนี้คือ The National Portrait Gallery ในลอนดอน ที่จัดแสดงภาพเหมือนของบุคคลในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ศตวรรษที่16 ยาวมาถึงศตวรรษที่ 21 แถมตอนนี้มีนิทรรศการร่วมสมัยอย่าง Black is the new Black และ Rebel Women ที่พูดถึงพลังและการต่อสู้ของกลุ่มคนที่เคยเป็นอยู่ในชายขอบสังคม อย่างกลุ่มคนดำและผู้หญิง ผ่านภาพของพวกเขาที่ค่อยๆ มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในวัฒนธรรมอังกฤษ
“นิทรรศการอย่าง Black is the New Black และ Rebel Women ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้แกลลอรี่นำเสนอภาพสังคมอังกฤษวันนี้ที่หลากหลาย และเฉลิมฉลองมัน” จูโน แรย์ (Juno Rae) ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมสำหรับเด็กและครอบครัวประจำ The National Portrait Gallery ให้สัมภาษณ์
“เราสนับสนุนครอบครัวและเยาวชนให้สำรวจ ตรวจสอบ สร้างสรรค์ โต้ตอบ ถกเถียง และทำความเข้าใจโลกและอัตลักษณ์ของพวกเขา รวมถึงที่ทางของพวกเขาในสังคม การเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์นั้นสามารถนำไปสู่การทำความเข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งยังได้แรงบันดาลใจ เชื้อเชิญให้เขาคิดต่าง และเปลี่ยนแปลงอนาคตได้”
ในวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางแกลเลอรี่จึงได้จัดงาน The Big Draw takeover ไปทั่วทั้งบริเวณของพิพิธภัณฑ์ มีกิจกรรมสำหรับครอบครัวอย่าง ‘Trace a face’ ที่ให้มาลองวาดภาพของตัวเองในรูปแบบกระจกสี, วาดภาพเหมือนด้วยไหมพรม, ‘Moving Pictures’ การวาดที่ผสานภาพสองภาพให้เป็นหนึ่ง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพลวงตายุควิคตอเรียน, ‘Take a line for a walk’ ชวนสำรวจวิธีการวาดใบหน้าที่หลากหลาย ในสตูดิโอก็มีบูธให้ลองทำภาพถ่ายโบราณด้วยเทคนิค cyanotype ภายในเวลา 60 นาที เป็นต้น
ส่วนกลุ่มผู้ชมวัยอื่นๆ ก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจไว้รองรับไม่แพ้กัน อาทิ การวาดรูปกับเสียงดีเจ Eddie Otchere, Life Drawing กับศิลปินรับเชิญ Grace Adam ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จัดขึ้นในคืนถัดมาคือวันที่ 26 ตุลาคม
แน่นอนว่ากิจกรรมเหล่านี้ล้วนได้ความสนใจและมีผู้เข้าร่วมมากมาย ทิ้งคำว่า “วาดรูปไม่เป็น” ไว้ที่บ้าน แล้วมาร่วมสนุกกันแน่นห้องจัดแสดง ชวนให้เราคิดไปถึงว่า รูปภาพที่ถูกวาดในวันนี้ อาจจะมีมูลค่าและถูกแขวนบนผนังของพิพิธภัณฑ์ในอนาคตก็ได้ ใครจะรู้? ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงผนังของ The National Portrait Gallery ก็คงมีสีสันฉูดฉาดน่าสนใจไม่น้อย
แอบหวังกันต่อว่า ตุลาคมปีหน้า จะมีพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ที่ไหนในประเทศเรา เข้าร่วมเทศกาลวาดรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้กับเขาด้วยไหมหนอ?
อ้างอิง:
https://thebigdraw.org/play-2018-spotlight-on-the-national-portrait-gallery
Hope, G. (2008) Thinking and Learning Through Drawing: In Primary Classrooms, SAGE Publications Ltd.
Adams, E. (2001) ‘Drawing Power, in Raney, K. (ed.) Engage 10: 35
Orbach, C. (2001) ‘The Role of Drawing in Galleries’ in Raney, K. (ed.) Engage 10: 40-45
Tags: museum, art museum, Museums Now, The Big Draw, England