ในยุคที่พิพิธภัณฑ์ควรต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น เปิดกว้างให้คนเข้าถึงคอลเลคชั่นและพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์มากขึ้น เราจึงได้เห็นตัวอย่างความพยายามของพิพิธภัณฑ์ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility) และตอบโจทย์ของผู้คนในสังคมหลากหลายรูปแบบ

ตั้งแต่การไม่เก็บค่าเข้าชมเพื่อลดกำแพงความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ การ digitize คอลเลคชั่นเพื่อให้วัตถุของพิพิธภัณฑ์เข้าถึงได้ทางออนไลน์ ทำให้ถึงแม้จะเอาตัวมาพิพิธภัณฑ์ไม่ได้ก็ยังชมงานศิลปะได้ หรือแม้แต่การสร้างความร่วมมือกับชุมชน โดยเชิญคนในชุมชนมาร่วมออกแบบงานนิทรรศการ เช่นที่ Field Museum ในเมืองชิคาโก ที่มีการเชิญชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์มาร่วมคิวเรทนิทรรศการว่าด้วยคอลเลคชั่นจากเกาะฟิลิปปินส์ที่พิพิธภัณฑ์มีอยู่ถึง 10,000 ชิ้น ซึ่งทำให้การนำเสนอภาพของชาวฟิลิปปินส์มีอคติน้อยลง ทั้งยังสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกับชุมชนชาวฟิลิปปินส์ในเมือง เป็นต้น

ในบรรดาโครงการเพื่อสังคมเหล่านั้น เราจะเห็นได้ทั้งกิจกรรมที่เป็นการบริการสังคมแบบทางอ้อม เช่น การพยายามกระจายความรู้ออกไปสู่นอกรั้วพิพิธภัณฑ์ และทางตรง (direct service) ซึ่งเป็นการทำงานแบบแอคทีฟในตัวมิวเซียมเอง เพื่อสนับสนุนคนในชุมชนในอย่างตรงไปตรงมา โดย Elaine Heumann Gurian ได้เขียนไว้ในหนังสือ Civilizing the Museum ว่ากิจกรรมบริการสังคมทางตรงเหล่านี้ มีตั้งแต่การสนับสนุนการจ้างงาน ด้วยการจัดโปรแกรมฝึกสอนวิชาชีพ สนับสนุนการศึกษาด้วยการเปิดสอนเป็นโรงเรียนทางเลือก หรือสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ด้วยการจัดให้มีเนอสเซอรี่สำหรับผู้ที่ต้องเลี้ยงลูกวัยทารก เป็นต้น

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมผัสอีกหนึ่งเคสที่จัดว่าเป็น ‘direct service’ ของพิพิธภัณฑ์ต่อสังคม โดยวางแนวคิดเพื่อผู้มาใช้บริการกันตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบก่อสร้างเลยทีเดียว เคสที่ว่านี้อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเรานัก เป็นพิพิธภัณฑ์ไร้กำแพงที่ชื่อว่า Hakone Open-Air Museum ณ ประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

อย่างที่ชื่อบอก พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ในเมืองฮาโกเน่ จังหวัดชินางาวะ ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวไปราวๆ 2 ชั่วโมงเท่านั้น เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องน้ำพุร้อน และธรรมชาติท่ามกลางขุนเขาที่สวยงาม ทั้งยังเป็นจุดชมวิวภูเขาไฟฟูจิที่น่ารื่นรมย์อีกด้วย จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ตั้งแต่ตอนที่เริ่มพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์งานประติมากรรม ผู้ก่อตั้งไม่เพียงวางคอนเซปต์ในการจัดแสดงงานศิลปะให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังออกแบบมาเพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับครอบครัวอีกด้วย

ย้อนกลับไปช่วงปลายยุค 60 ที่กำลังเริ่มจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในทางความสัมพันธ์แล้ว ผู้คนกลับมีเวลาให้ครอบครัวน้อยลง จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจของ บุคิจิ อิโนอุเอะ ประติมากรผู้ได้รับมอบหมายให้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ Hakone Open-Air Museum ที่จะสร้างพื้นที่ให้กับครอบครัว และเป็น ‘ของขวัญ’ ชิ้นหนึ่งที่ผนวกเอาความประทับใจและการใช้เวลาอยู่ด้วยกันไว้ในสถานที่แห่งเดียว เขาต้องการให้ผู้คน งานประติมากรรม และธรรมชาติ สามารถจะปะทะสังสรรค์กันได้ ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามของเมืองฮาโกเน่

เมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดตัวในปี 1969 ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในญี่ปุ่นที่สร้างเพื่อจัดแสดงประติมากรรมกลางแจ้ง เมื่อผู้เข้าชมเดินเข้าสู่บริเวณภายในพิพิธภัณฑ์ จะต้องผ่านทางเดินในอุโมงค์ทอดยาว สุดปลายอุโมงค์เปิดออกสู่ทิวทิศน์ทุ่งสีเขียวโล่งกว้าง มองเห็นภูเขาของฮาโกเน่เป็นฉากหลังทอดยาวไปไกลสุดลูกหูลูกตา เป็นพื้นหลังให้กับงานประติมากรรมร่วมสมัยของหลากหลายศิลปิน ทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างประเทศ ตอนที่ผู้เขียนไปถึงเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง จึงเห็นใบไม้สีสันเหลืองแดงสลับปนกับสีเขียวชอุ่มของไม้ไม่ผลัดใบ แต่ที่จริงแล้วธรรมชาติของที่นี่มีความงดงามในทั้ง 4 ฤดู ลองคิดภาพดูว่างานประติมากรรมเหล่านี้ เมื่ออยู่ท่ามกลางหิมะขาวโพลนในฤดูหนาวก็คงจะสวยจับจิตไม่แพ้กัน (แต่นึกถึงอุณหภูมิแล้ว ก็ขอดูแค่รูปถ่ายไปก่อนดีกว่า) พอมาอยู่กลางแจ้งในแสงและสภาพแวดล้อมธรรมชาติแล้ว ประติมากรรมเหล่านี้ดูโดดเด่นเป็นสง่า ผิดจากสภาพในห้องสี่เหลี่ยมของหอศิลป์อย่างบอกไม่ถูก

นอกจากนี้บรรยากาศความเป็นกันเองในสวน ทำให้ผู้ชมไม่ต้องรู้สึกเกร็งว่าต้องตีความงานชิ้นนั้นๆ อย่างไร เพียงแต่เข้ามาสัมผัสและใช้เวลากับมันก็เพียงพอแล้ว

ประติมากรรมบางชิ้นยังออกแบบมาเพื่อให้คนเข้าไปเล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วยโดยเฉพาะ เช่น Sunny side up ที่เป็นม้านั่งรูปไข่ดาว วางอยู่ในมุมใต้ร่ม เพื่อให้คนได้นั่งพักผ่อน หรือ Knitted Wonder Space 2 (ชื่อภาษาญี่ปุ่นเรียก ‘ป่าแห่งตาข่าย’ ) ที่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ทำจากเส้นไหมพรมที่ถักทอเป็นเหมือนถุงตาข่ายสีสันฉูดฉาด ขึงอยู่ในโครงทำจากท่อนไม้ที่พาดไปมาเป็นทรงโดมที่ดูคล้ายรังของสิ่งมีชีวิต เด็กๆ จำนวนมากปีนป่ายห้อยโหนจากตาข่ายนี้อย่างสนุกสนาน โดยมีพ่อแม่ช่วยอุ้มบ้าง นั่งดูอยู่บนคานไม้ที่ทำไว้เป็นที่นั่งบ้าง

ส่วนตัวแล้ว การจัดแสดงที่เราชอบมากๆ คือ Man and Pegasus ซึ่งเป็นรูปปั้นคนกำลังโบยบินอยู่ข้างม้ามีปีกในตำนานอย่างเปกาซัส งานชิ้นนี้จัดวางอยู่บนแท่งเสาหินสูงตระหง่านอยู่กลางลาน เด่นกว่าใครเพื่อน แต่ถ้าสังเกตรอบๆให้ดี เราจะเห็นงานอีกชิ้น คือ Hercules the Archer ซึ่งเป็นรูปปั้นเฮอร์คิวลิสกำลังน้าวสายธนู เล็งขึ้นไปในอากาศ เหมือนตั้งท่าจะยิงชายหนุ่มและเปกาซัส! ซึ่งถ้าไม่ได้อยู่ในมุมที่ถูกต้อง จะพลาดช็อตนี้ไปได้ง่ายๆ ทีเดียว

ถัดมาอีกหน่อยมีอีกโครงสร้างรูปร่างหน้าตาคล้ายฟองสบู่ ชื่อ Curved Space Diamond Structure (ชื่อภาษาญี่ปุ่นเรียก ‘ปราสาทฟองสบู่’) ซึ่งศิลปินผู้สร้างได้แรงบันดาลใจมาจากเพชรและโมเลกุล เด็กๆ สามารถเข้าไปเล่นภายในโครงสร้างนี้ได้เช่นกัน ผู้ใหญ่ที่ผ่านไปมาก็อดอมยิ้มไม่ได้เมื่อเห็นเจ้าตัวเล็กค่อยๆ ไต่ขึ้นไปถึงยอด บ้างก็ไถลตัวลงมาอย่างสนุกสนาน ที่สำคัญ ทั้งป่าตาข่ายและปราสาทฟองสบู่นี้ มีลักษณะโปร่ง ทำให้ผู้ใหญ่สามารถมองเห็นเด็กๆ ได้ทั่วถึงขณะกำลังเล่น ส่วนเด็กๆ เองก็เห็นพ่อแม่ยืนดูอยู่ตลอดเวลา จึงรู้สึกปลอดภัยที่จะเล่นสนุกได้อย่างสบายใจ แถมถ้าเดินตามเจ้าตัวเล็กไม่ทันจนเมื่อยขา ที่นี่ยังมีออนเซ็นให้แช่เท้าในน้ำพุร้อนธรรมชาติอีกด้วย นับว่าไม่เสียชื่อที่เป็นพิพิธภัณธ์แห่งเมืองน้ำพุร้อนยอดนิยม

ด้วยพื้นที่ราว 70,000 ตารางเมตร และฟังก์ชั่นที่ตอบสนองกิจกรรมเอาท์ดอร์ ต่างๆ เหล่านี้ ที่นี่อาจให้ความรู้สึกเหมือนสวนสาธารณะมากกว่าพิพิธภัณฑ์ แต่อันที่จริงแล้ว คอลเลคชั่นที่วางอยู่บนพื้นหญ้าเขียวสดเหล่านี้ หลายชิ้นเป็นผลงานของศิลปินชื่อดังระดับโลกที่ใช่ว่าจะพบเห็นได้ง่ายๆ ในเอเชีย อาทิ งานประติมากรรมของ August Rodin, Henry Moore, Alberto Giacometti, Noguchi Isamu และศิลปินอื่นๆ อีกมากมาย ภายในบริเวณของพิพิธภัณฑ์ยังมีอาคารที่ชื่อว่า Picasso Pavillion ที่ไว้เก็บและจัดแสดงผลงานของ Picasso กว่า 300 ชิ้น ซึ่งเป็นคอลเลคชั่นของ Picasso ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอีกด้วย

ความเลอค่าของสิ่งของที่นี่ไม่ได้ด้อยไปกว่าพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกเลย แต่ด้วยแนวคิดที่ต่างออกไป ทำให้ Hakone Open-Air Museum ออกแบบสถานที่แห่งนี้ให้เป็นเหมือนที่มาพักผ่อนหย่อนใจ และที่ที่ให้ครอบครัวมาใช้เวลาร่วมกัน มากกว่าจะเน้นความวิชาการ กระทั่งชื่อของพิพิธภัณฑ์เองก็สื่อถึงการวางตัวเองให้รู้สึกเป็นมิตรมากกว่าจะดูขึงขังเป็นทางการ ชื่อภาษาญี่ปุ่นของที่นี่ ไม่ได้ใช้ชื่อเดียวกับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีชื่อว่า ‘โจโคคุโนโมริ บิจุทสึกัง’ ซึ่งแปลได้ว่า ‘พิพิธภัณฑ์ป่าแห่งประติมากรรม’ ซึ่งโดยเซนส์ของภาษาแล้วให้ความรู้สึกที่ไม่เป็นทางการนัก และอาจจะฟังดูแฟนตาซีหน่อยๆ ด้วยซ้ำ จึงเป็นมิตรโดยเฉพาะกับเด็กๆ เป็นอย่างมาก ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเรียกที่นี่ว่า ‘พิพิธภัณฑสถานประติมากรรมแห่งชาติ’ คงได้คนละอารมณ์แน่นอน

อย่างนี้แล้ว พิพิธภัณฑ์ Hakone Open-Air Museum จึงเป็นกรณีหนึ่งของการตอบสนองความต้องการของสังคมแบบ direct service ตั้งแต่การวางจุดยืนของพิพิธภัณฑ์ ไปจนการสร้างประติมากรรมและโปรแกรมการเรียนรู้จำนวนมากเพื่อเด็กๆ และครอบครัว ทีนี้หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไมพิพิธภัณฑ์ต้องพยายามเป็นสวนสาธารณะหรือสนามเด็กเล่นด้วย ประเด็นนี้แต่ละคนคงมีมุมมองที่ต่างกันออกไป

เรื่องที่ว่าพิพิธภัณฑ์สามารถที่จะหรือควรที่จะทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง เป็นสิ่งที่ไม่มีคำตอบถูกผิด แต่เราขอทิ้งท้ายไว้ด้วยการตั้งคำถามจากอีกมุมหนึ่งโดย Edwina Taborsky ในบทความเนื่องด้วยบทบาททางสังคมของพิพิธภัณฑ์ว่า “ทำไมจึงกลายเป็นว่า—การนำวัตถุและภาพต่างๆ ไปเก็บไว้ให้ห่างจากชีวิตประจำวัน ในอาคารต่างหาก ที่ซึ่งคนบางกลุ่มคอยอนุรักษ์และวิเคราะห์ และคนอีกกลุ่มมาเยี่ยมชม—ถึงได้จำเป็นสำหรับการมีอยู่และพัฒนาการของวัฒนธรรม ความรู้ และความก้าวหน้าทางสังคมเล่า” การจะตอบคำถามนี้เราอาจจะต้องรื้อถอนความเข้าใจต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘พิพิธภัณฑ์’ กันตั้งแต่รากเลยก็ได้

 

อ้างอิง:

Gurian, E. (2006). Civilizing the museum. London: Routledge.

Richard, S. (2014). The art lover’s guide to Japanese museums. London: Japan Society.

Welcome to The Hakone Open Air Museum. (2015). Tōkyō: Eishuppansha.

Tags: ,