นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2020 พิพิธภัณฑ์ชื่อดังระดับโลกต่างทยอยปิด เพื่อตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการรับมือโรคระบาดในประเทศของตน พิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan Museum of Art (The MET) แห่งนิวยอร์ก ประกาศปิดแบบไม่มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม เมื่อพบเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ 2 ราย ที่กลับจากต่างประเทศ มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ตามมาด้วยการปิดตัวของ Museum of Modern Art (MOMA), Whitney Museum of American Art และ Guggenheim ในเวลาไล่เลี่ยกัน 

ในขณะที่ทางลอนดอน The Tate เป็นพิพิธภัณฑ์รายใหญ่เจ้าแรกที่ประกาศปิดตัวในวันที่ 17 มีนาคม ตามมาติดๆ ด้วย Royal Academy of Arts (RA) การปิดพิพิธภัณฑ์เช่นนี้ ส่งผลต่อรายรับของพิพิธภัณฑ์อย่างจัง ไม่ต่างอะไรจากภาคธุรกิจอื่นๆ ซึ่งชวนให้คิดต่อว่าต่อจากนี้แล้วสถาบันเหล่านี้ที่เป็นรากฐานทางศิลปะวัฒนธรรมของทั้งโลกจะดำเนินไปต่อกันอย่างไร

แม้พิพิธภัณฑ์รายใหญ่ในหลายประเทศทางยุโรปและอเมริกาจะได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากทางรัฐบาล แต่รายได้ส่วนนี้อาจครอบคลุมเพียงราว 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ส่วนมากต้องหารายได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยการสนับสนุนของผู้บริจาค หรือจากตั๋วเข้าชมและร้านค้า ทำให้เวลานี้ ศูนย์รวมนักท่องเที่ยวอย่าง The MET ซึ่งปกติมีจำนวนผู้เข้าชมมากถึงราว 7.4 ล้านคนต่อปี ได้ประมาณการความเสียหายไว้ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หากต้องปิดพิพิธภัณฑ์ยาวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 

ส่วนเครือพิพิธภัณฑ์ Smithsonian ก็ประเมินความเสียหายไว้ที่หลักร้อยล้านเช่นกัน รวมไปถึงบางสถาบันที่อาศัยรายได้หลักจากค่าเข้าชมและรายได้เบ็ดเตล็ด (จากร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร การให้เช่าสถานที่ ฯลฯ) เช่น RA ในอังกฤษ หรือ Louisiana Museum of Modern Art ในเดนมาร์ก นับว่าโดนผลกระทบอย่างสาหัส

“เรากำลังเผชิญความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สงครามโลก” ฮาร์ตวิก ฟิสเชอร์ (Hartwig Fischer) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศอังกฤษ British Museum กล่าว เมื่อพูดถึงภาพรวมของวงการพิพิธภัณฑ์ในวิกฤตินี้

พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่บางแห่ง วางแผนจะจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่ไปอีกสักระยะและเลี่ยงการปลดคนออก เช่น The MET, Walker Art Center และ Tate เป็นต้น แต่บางแห่ง เช่น Museum of Contemporary Art ในเมืองลอสแองเจลิส ได้ปลดพนักงานพาร์ทไทม์ไปแล้วเกือบ 100 คน ซึ่งพนักงานรายวันนั้น ส่วนหนึ่งคือพนักงานต้อนรับที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้มาเยี่ยมชมโดยตรง และนำความมีชีวิตชีวามาสู่มิวเซียม คนเหล่านี้มักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะโดนปลดออก ในขณะเดียวกัน ทางสมาคมพิพิธภัณฑ์แห่งอเมริกา (American Alliance of Museums) คาดว่าอาจมีพิพิธภัณฑ์มากถึง 30% ที่ต้องปิดตัวไปอย่างถาวร โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ตามชุมชนเล็กๆ หรือในชนบท

ภายใต้ความกดดันทางด้านการเงิน พิพิธภัณฑ์ที่ยังมีกำลังประคองค่าใช้จ่าย ได้งัดกลวิธีต่างๆในการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ชมทางบ้านผ่านเทคโนโลยีและช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะในรูปแบบทัวร์พิพิธภัณฑ์เสมือน (virtual tour), รายการพอดแคสต์บอกเล่างานหลังบ้านของมิวเซียม, รวมฮิตนิทรรศการย้อนหลัง, การแสดง, คอร์สออนไลน์ กระทั่งการให้ดาวน์โหลดภาพงานศิลปะจากคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์ชื่อดัง เช่น The MET หรือเครือพิพิธภัณฑ์ Paris Musée ทั้ง 14 แห่งในปารีส เป็นต้น ซึ่งอันที่จริง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมิวเซียมทางตะวันตก เพียงแต่สถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้พื้นที่เสมือนมีความสำคัญขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และกลายมาเป็นช่องทางหลักของพิพิธภัณฑ์ไปอย่างไม่มีกำหนด  

“ทีมดิจิทัลและภัณฑารักษ์ของเราทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ” มาเรีย บัลชอว์ (Maria Balshaw) ผู้อำนวยการ Tate พูดถึงความพยายามของทางพิพิธภัณฑ์ ที่จะเชื่อมโยงกับผู้คนทางบ้าน และหล่อเลี้ยงจิตใจของประเทศชาติในช่วงเวลาที่กดดันเช่นนี้

พิพิธภัณฑ์ในเอเชีย ณ เวลานี้

ในขณะที่สถานการณ์มิวเซียมในยุโรปและอเมริกาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน น่าสนใจว่าการตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID19 ของประเทศต่างๆ ในเอเชียนั้นแตกต่างกันออกไปค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและความรุนแรงของการระบาด นอกจากนี้ การใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้ชมทางบ้านนั้น ถือว่ายังน้อยและมีรูปแบบจำกัดว่าทางตะวันตกอยู่พอสมควร

ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตัวเลข ณ วันที่ 7 เมษายน มีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 3,654 คน ทางกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) ได้ออกมาขอความร่วมมือให้พิพิธภัณฑ์ปิดโดยสมัครใจตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสถาบันขนาดใหญ่ที่รัฐบาลสนับสนุน อาทิ The National Museum of Modern Art Tokyo และ The National Art Center Tokyo ปิดไม่กี่วันหลังจากนั้น แต่ในทางกลับกัน พิพิธภัณฑ์เอกชนและหอศิลป์เชิงพาณิชย์ เช่น Mori Art Museum, Mitsubishi Ichigokan Museum Tokyo, Artizon Museum, ShugoArts, Taro Nasu และ Watari Museum of Contemporary Art ยังคงเปิดตลอดเดือนมีนาคม โดยมีการปิดชั่วคราวบ้าง ลดเวลาทำการบ้าง ซึ่งถูกมองว่าเป็นความย้อนแย้งที่เกิดจากนโยบายที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาล และมีเสียงสะท้อนจากภัณฑารักษ์ว่า MEXT น่าจะไม่ต้องการรับผิดชอบการสั่งปิดพิพิธภัณฑ์ 

อย่างไรก็ดี เมื่อข้ามเกาะไปสำรวจสถานการณ์ที่ไต้หวัน ณ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอย่าง National Palace Museum จะเห็นว่ามีเพียงการปรับลดช่วงเวลาให้เข้าชม ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน และปิดทุกวันจันทร์ (จากที่เดิมเปิดทุกวัน) และไม่มีการปิดแบบระยะยาว แต่ถึงแม้ไต้หวันจะมีอัตราการติดเชื้อน้อยมาก และได้รับการยกย่องจากทั่วโลกในการจัดการกับสถานการณ์การระบาดครั้งนี้ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอผลกระทบทางเศรษฐกิจเพราะขาดนักท่องเที่ยว โดยจำนวนผู้เข้าชมของ National Palace Museum ลดลงถึง 85% จาก 407,593 เหลือเพียง 62,144 คนในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

ส่วนวงการพิพิธภัณฑ์ในบ้านเรานั้น หลายๆ คนคงทราบว่านอกจากทางกทม.จะประกาศปิดห้างสรรพสินค้าและบรรดาสถานที่เสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมแล้ว ทางกรมศิลป์ฯ ยังได้สั่งปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 41 แห่ง หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และอุทยานประวัติศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม – 25 เมษายน 2563 

และถึงแม้เราจะยังไม่ได้ข่าวการปลดเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ออกเป็นจำนวนมาก แต่ก็พอคาดการณ์ได้ว่าพิพิธภัณฑ์เอกชนซึ่งไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากทางภาครัฐ จะถูกกระทบอย่างหนักที่สุด โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่อาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ สยามเซอร์เพนทาเรียม พิพิธภัณฑ์งูที่มีการจัดแสดงนิทรรศการและการแสดงเกี่ยวกับงู ที่มีกลุ่มลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยวจีนและชาวตะวันตก ซึ่งตอนนี้ต้องแบกรับค่าดูแลงูและเงินเดือนของพนักงานจำนวนมาก และแม้จะหมดการระบาดแล้วก็ยังน่าเป็นห่วงว่าอีกนานแค่ไหนกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาพลุกพล่านดังเดิม 

ในขณะเดียวกัน บางพิพิธภัณฑ์พยายามหาหนทางอื่นๆ เช่นมิวเซียมสยามที่ตอนนี้ให้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก work from home ก็ลุกมานำเทรนด์ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมออนไลน์โดยให้ชมนิทรรศการทั้งปัจจุบันและย้อนหลังแบบ virtual tour ทั้งยังเตรียมสร้างบอร์ดเกมออนไลน์เพื่อให้ความรู้เรื่องสถานการณ์การระบาดและผลกระทบของ COVID-19 ด้วย  

PostCOVIDism พิพิธภัณฑ์ในยุคหลังโควิด19

หากพ้นวิกฤติในครั้งนี้ พิพิธภัณฑ์จะกลับมาเปิดใหม่ได้ไหม? อย่างไร? หลายมิวเซียมก็คิดต่างกันไป ทาง The MET นั้น เตรียมปรับการใช้งบประมาณขนานใหญ่ ตัดค่าใช้จ่าย และทำโครงการที่เล็กลง ในขณะที่ Tate มองว่าประสบการณ์จากช่วงเวลานี้ จะทำให้พิพิธภัณฑ์ขยายศักยภาพในการสื่อสารกับผู้ชมมากขึ้นเมื่อกลับมาเปิดอีกครั้ง ส่วนทาง Smithsonian ได้คาดการณ์สถานการณ์ไว้หลายรูปแบบ รวมถึงกรณีที่ยังต้องใช้มาตรการ social distancing กันยาวๆ ไปอีกกว่า 18 เดือนด้วย

อนาคตยุคหลัง COVID-19 ยังคงไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่เราอาจดูตัวอย่างจากประเทศจีน ที่ในเวลานี้เปรียบเสมือนผู้ผ่านสงครามและกำลังพยายามกลับคืนสู่สภาวะปกติอีกครั้ง จีนเริ่มเปิดประตูพิพิธภัณฑ์และสถานทางวัฒนธรรมเพื่อต้อนรับผู้เข้าชมตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม โดยใช้มาตรการเฝ้าระวังการระบาดเพิ่มเติมอย่างเข้มงวด เช่น บังคับให้สวมหน้ากากอนามัย จำกัดจำนวนผู้เข้าชมเหลือเพียง 50% ของจำนวนสูงสุดตามปกติ และให้ผู้เข้าชมจองเวลา และแจ้งสถานะสุขภาพของตัวเองล่วงหน้า โดยรัฐบาลจีนมีการติดตามข้อมูลสุขภาพและการเดินทางของประชาชนผ่านแอปพลิเคชั่น หากสถานะเป็นสีเขียว จึงจะอนุญาตให้เดินทางโดยเสรี และผู้จองจะต้องยืนยันว่าไม่ได้ไปในพื้นที่เสี่ยง หรือใกล้ชิดผู้ที่ติดโรคในช่วง 14 วัน เรียกได้ว่ารัดกุมและชัดเจน ในช่วงที่การระบาดในต่างประเทศยังไม่สิ้นสุดและยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเช่นนี้ 

สุดท้ายนี้ เราก็หวังว่าในระยะยาว ‘สงครามโรค’ นี้ จะคลี่คลายและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ จะกลับมาเป็นส่วนสำคัญของสังคมอีกครั้ง ทั้งในพื้นที่เสมือน และพื้นที่ทางกายภาพ

อ้างอิง:

https://news.artnet.com/artworld/museumscoronaviruscrisis1815993

https://news.artnet.com/artworld/nmuseumdirectorsartinstitutiononlockdown1818333

https://www.artforum.com/news/museumsacrosstheuslayoffworkersascovid19casesrise82588

https://www.japantimes.co.jp/culture/2020/04/01/arts/artmuseumscoronavirus/#.XogogYgzbIV

https://focustaiwan.tw/culture/202003060012

https://jingtravel.com/howchinesemuseumsreopenpostcovidvisitors/

Tags: , ,