ลองคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ ในอีก 100 ปีข้างหน้าจะมีความหมายอย่างไร? สิ่งของที่เราเห็นๆ กันอยู่ อาจกลายเป็นของหายาก ที่บอกเล่าเรื่องราวบางอย่างที่คนลืมเลือนไปแล้วในอีก 3-4 ชั่วอายุคนก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ การเก็บของที่เป็นสิ่งที่เห็นได้ในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า Contemporary Collecting เพื่อที่ว่าในวันหนึ่งมันจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า ก็เป็นภารกิจที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์สมัยนี้ ไม่ด้อยไปกว่าการเก็บอนุรักษ์โบราณวัตถุเก่าแก่เลยทีเดียว และหลายๆ มิวเซียมก็เอาจริงเอาจังกับงานนี้เสียด้วย เราลองข้ามฝั่งไปดูตัวอย่างที่น่าสนใจในประเทศอังกฤษกัน
ไวกว่า เก็บได้ก่อน
ที่ The Victoria and Albert Museum (V&A) พิพิธภัณฑ์อันมีชื่อเสียงของลอนดอนที่รวบรวมและจัดแสดงวัตถุว่าด้วยเรื่องของ ‘ดีไซน์’ โดยมองว่าการตอบสนองได้อย่างรวดเร็วต่อดีไซน์และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้นสำคัญมาก ถึงขนาดออกกลยุทธ์ด้านคอลเลคชั่น ที่ชื่อว่า rapid response collecting (การเก็บสะสมแบบตอบสนองอย่างรวดเร็ว) ซึ่งทำให้การเก็บของที่อาจจะหายไปในไม่ช้าทำได้ทันท่วงที ตัวอย่างเช่น V&A เก็บกางเกงยีนส์รุ่นหนึ่งที่ขายที่ห้าง Primark ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องแต่งกายที่เน้นตลาดเสื้อผ้าราคาถูก แต่คุณภาพดีพอประมาณ ดีไซน์สวยงามตามแฟชั่น ซึ่งตามปกติแล้ว ของที่ขายตามร้านค้าทั่วไปเช่นนี้ไม่น่าจะได้ตบเท้าเข้าพิพิธภัณฑ์ระดับ V&A แต่ความพิเศษของเจ้ากางเกงยีนส์ตัวนี้ก็คือ มันถูกผลิตที่โรงงานผลิตเสื้อผ้าที่เมืองธากา ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเกิดเหตุการณ์ตึกถล่มเมื่อปี 2013 มีผู้เสียชีวิตพันกว่าราย และบาดเจ็บอีกกว่า 2,500 ยีนส์ตัวนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงสินค้าแฟชั่นทั่วไป แต่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สะท้อนปัญหาแรงงานในธุรกิจการผลิตเสื้อผ้าในยุคปัจจุบัน และปัญหาสังคมอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องมาตรฐานอาคารในบังคลาเทศ กระแสบริโภคนิยมในโลกตะวันตก เป็นต้น
หลังจากเหตุการณ์อุบัติเหตุนี้กลายเป็นข่าวปุ๊บ ทาง V&A ก็จัดหากางเกงยีนส์ตัวนี้มาไว้ในคอลเลคชั่นทันที ซึ่งคิวเรเตอร์อาวุโส Kieran Long ได้กล่าวไว้ว่า การที่พิพิธภัณฑ์สามารถตอบสนองอย่างรวดเร็วได้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเนื่องจากคนส่วนมากมักเก็บแต่ของที่มีมูลค่า สิ่งของที่เปลี่ยนไปตามกระแสความนิยมเพียงชั่วครู่ เพียงปีสองปีผ่านไปก็อาจจะหาไม่ได้แล้วก็เป็นได้
อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ช่วงที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางเยือนสหราชอาณาจักร ผู้ประท้วงจำนวนมากร่วมกันลงขันเงินถึง 18,000 ปอนด์ (ราว 7 แสนกว่าบาท) เพื่อสร้างบอลลูนขนาดใหญ่ สูง 6 เมตร เป็นหน้าของทรัมป์ในรูปร่างเด็กทารก สีหน้าเกรี้ยวกราด ในมือถือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน สื่อถึงการใช้ทวิตเตอร์อย่างไม่ค่อยยั้งคิดของทรัมป์ เพื่อนำมาใช้ประท้วงการเยือนอังกฤษของประธานาธิบดีสหรัฐผู้นี้ และเมื่อต้นเดือนมิถุนายนปีนี้เอง ทรัมป์ก็ได้มาเยือนสหราชอาณาจักรอีกครั้ง เจ้าบอลลูนทารกทรัมป์นี่ก็ไม่วาย ตามมาลอยอยู่บริเวณรัฐสภาอังกฤษอีกเป็นครั้งที่สองอีกด้วย
เมื่อบอลลูนนี้กลายเป็นข่าวดังปุ๊บ มิวเซียมตาไวหลายแห่งก็แสดงความสนใจในการจับจองมาไว้ในคอลเลคชั่นทันที ไม่ว่าจะเป็น Science Museum แห่งลอนดอน, Bishopsgate Institute, Museum of London (MOL) แม้กระทั่ง British Museum ในขณะที่ British Museum สนใจจะยืมมาเพื่อจัดแสดงในนิทรรศว่าด้วยเรื่องของการต่อต้าน ทาง MOL นั้นสนใจจะเก็บเข้าคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์เลย โดยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Sharon Ament กล่าวว่าบอลลูนนี้สะท้อนวิธีการที่ผู้คนในลอนดอนประท้วงได้เป็นอย่างดี เธอยังสนใจในบอลลูนรูปนายกเทศมนตรีลอนดอน Sadiq Khan ในชุดบิกินีสีเหลือง ที่กลุ่มสนับสนุนทรัมป์ทำขึ้นเพื่อต่อต้านการที่ Khan อนุญาตให้ผู้ประท้วงลอยบอลลูนทารกทรัมป์ถึงสองครั้งอีกด้วย (คือต้องการจะสื่อว่า ฟังความทั้งสองข้าง ว่างั้นเถอะ)
อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่พิพิธภัณฑ์ไล่สะสมสิ่งของที่เป็น ‘พาดหัวข่าว’ เช่นนี้ เพราะอาจมองได้ว่าเป็นการทำเพื่อสร้างกระแสเพียงชั่วครู่ แทนที่จะมองภาพการทำงานในระยะยาว หรือแม้แต่การ ‘เลือก’ เก็บสิ่งของที่มีนัยทางการเมือง ก็อาจกลายเป็นการสนับสนุนความคิดทางการเมืองด้านใดด้านหนึ่งมากเกินงามก็ได้?
เก็บของเสีย?
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเก็บของในยุคปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ของที่เป็นกระแส ที่มนุษย์สร้างขึ้นในสังคมร่วมสมัยเท่านั้น ของที่คนไม่ได้ตั้งใจสร้าง แต่เกิดขึ้นมาจากการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบัน ก็เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้!
เรากลับไปที่ Museum of London อีกครั้ง บางคนอาจจะได้เห็นข่าวเมื่อช่วงปลายปี 2018 ที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้เก็บภูเขาไขมัน (Fatberg) ที่อุดตันท่อน้ำทิ้งใต้ดินบริเวณ Whitechapel เข้าสู่คอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์อย่างถาวร แต่แค่เก็บยังไม่พอ พิพิธภัณฑ์ยังนำเจ้าก้อนที่เต็มไปด้วยไขมัน สิ่งปฏิกูล ผลิตภัณฑ์อนามัย และเปลือกขนม ที่ถูกทิ้งจนแข็งตัวรวมกันนี้ มาจัดแสดงในตู้กระจก แถมถ่ายทอดแบบสตรีมออนไลน์กันสดๆ อีกด้วย กลายเป็นวัตถุยอดฮิตของพิพิธภัณฑ์ในบัดดล มันทั้งดึงดูดความสนใจและสร้างความคลื่นไส้ให้กับผู้ชมไปในเวลาเดียวกัน
Vyki Sparkes คิวเรเตอร์ด้านประวัติศาสตร์สังคมกล่าวว่า ภูเขาไขมันนี้เป็นวัตถุที่มีอิทธิพลมาก ที่สร้างความรู้สึกประหลาดใจและขยะแขยงอย่างรุนแรง ทั้งยังทำให้คนสะท้อนคิดเรื่องปัญหาสังคมที่เมืองลอนดอนกำลังเผชิญอยู่อีกด้วย เพราะนี่คือผลลัพธ์จากที่ผู้คนและธุรกิจต่างๆ ทิ้งไขมันและขยะลงในระบบท่อน้ำทิ้งอันเก่าแก่ การที่เราเก็บของชิ้นนี้เข้าสู่คอลเลคชั่นพิพิธภัณฑ์ ทำให้เรามีหลักฐานที่บ่งบอกถึงการใช้ชีวิตของเรา ณ วันนี้ และเมื่อการใช้ชีวิตและทัศนคติของเราเปลี่ยนไป ก้อนไขมันนี้อาจกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปเลยก็ได้! แต่การอนุรักษ์ก้อนไขมันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ตั้งแต่นำมาจัดแสดง มันได้เปลี่ยนสี มีแมลงวันฟักตัวออกมา และมีราขึ้น แม้นำออกจากตู้ดิสเพลย์แล้ว การควบคุมของที่มีสภาพเป็นพิษเช่นนี้ในคลังของพิพิธภัณฑ์ก็ต้องมีการจัดการอย่างรัดกุม
ภูเขาไขมันของ MOL นี้ ยังย้ำเตือนถึงอีกประเด็นของ contemporary collecting ที่ต้องคำนึงถึง กล่าวคือ นอกจากการเก็บประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่สำคัญของสังคมแล้ว การนำวัตถุเข้าสู่คอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์ ย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบระยะยาวในการอนุรักษ์ของสิ่งนั้นๆ เพราะการเอาสิ่งของเข้าคอลเลคชั่นนั้น ง่ายกว่าการกำจัดออกมากนัก (ซึ่งจะไปเกี่ยวโยงกับข้อจำกัดด้านหลักจริยศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์อีกยาวเหยียด) ดังนั้น การตัดสินใจเลือกของมาเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ ย่อมต้องมาพร้อมๆกับวิจารณญาณและวิสัยทัศน์ที่เฉียบคม ว่าอะไรที่ควรค่าแก่การเก็บ และจะเป็นตัวแทนบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญในหลายๆแง่มุมเมื่อเวลาผ่านพ้นไป
แล้วท่านผู้อ่านล่ะ คิดว่าวันนี้มีอะไรที่เราควรเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ไหม?
อ้างอิง:
https://www.businessinsider.com/trump-baby-blimp-state-visit-flies-2019-6
https://www.bbc.com/news/uk-england-london-48494926
https://www.dezeen.com/2013/12/18/rapid-response-collecting-victoria-and-albert-museum-kieran-long/
ภาพ: MykReeve