เกิดและเติบโตในจังหวัดระนอง เมื่อโตเป็นหนุ่ม ประเกียรติ ขุนพล เดินทางเข้ามาเรียนมัธยมฯ จนจบมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ เขาอยู่ไม่ติดบ้าน ชอบเดินทางและทำงานชุมชน โดยเริ่มเรียนรู้วิธีคิดจากชุมชนหนุ่มสาวแสวงหา ครุ่นคิดถึงทางเลือกของชีวิต ในโครงการอาศรมสนิทวงศ์ ใต้ร่มเงาของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่จังหวัดนครนายก ที่นี่เขาเริ่มย่างก้าวเข้าสู่โลกของการเขียน และศิลปะ จากนั้นลงพื้นที่ทำงานด้านประมงชายฝั่งกับสมาคมหยาดฝน (ปัจจุบันคือมูลนิธิหยาดฝน) จังหวัดตรัง ตั้งแต่ปี 2535 จากนั้นเขาผันตัวขึ้นบกเป็นเอ็นจีโอทำงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพืชผักคุณภาพดีใกล้กรุงเทพฯ โดยส่งเสริมชาวบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น เขาพยายามชี้ให้เห็นว่า ตลาดของพืชผักปลอดสารพิษกำลังขยายตัว นอกจากนั้น เขายังทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ซื้อเข้าหากัน

ผมพบพี่ประเกียรติ หรือ พี่ติ่ง ในค่ำคืนหนึ่งที่ร้านเฮมล็อค ถนนพระอาทิตย์ หลังจากเขาขับรถขึ้นมาจากราชบุรี อาหารเย็นของเขาถูกเก็บไปแล้ว บนโต๊ะหลงเหลือหลักฐานของความเหนื่อยล้า คือข้าวเหนียวมะม่วงจานที่สอง เขาชอบกินมะม่วงเป็นชีวิตจิตใจ

ผมเคยรู้จักเขาผ่านการอ่านบทกวีในนามปากกา ‘ปราชญ์ อันดามัน’ แต่เพิ่งได้พบตัวจริงผ่านการแนะนำจากเจ้าของร้าน เมื่อได้นั่งร่วมโต๊ะกันและรู้ว่าเขาเป็นมุสลิม ผมจึงขออนุญาตก่อนที่จะสั่งเบียร์มาดื่มและพูดคุยกับเขา พี่ติ่งเป็นคนเสียงเบาและมีรอยยิ้มเสมอ ค่ำวันนั้น ผมได้รับรู้ว่านอกจากพี่ติ่งเป็นกวีแล้ว เขายังทำงานศิลปะซึ่งกำลังแสดงงานผลงานอยู่ที่ร้านโดยใช้ชื่อปราชญ์ อันดามัน เช่นเดียวกับงานเขียนบทกวี ภาพทิวทัศน์สีน้ำมันอันสดใสของเขาติดตาผมหลายวัน

เราคุยกันถูกคอ ผลัดกันถามผลัดกันเล่า จากเรื่องนั้นกระโดดไปเรื่องนี้ราวกับว่ารู้จักกันมานาน ผมเริ่มอยากรู้เรื่องราวของเขามากกว่าที่ได้ฟัง ผมอยากเห็นชีวิต อยากเห็นที่ที่เขาอยู่ มันน่าจะช่วยให้ผมรู้จักเขามากขึ้น ผมนัดหมายกับเขาว่า จะหาโอกาสไปพบเขาอีกที่ระนอง บ้านเกิดของเขา

หลายเดือนต่อมา ผมกระเตงลูกชายซึ่งกำลังปิดเทอมมานั่งคุยกับพี่ติ่งบนชายหาดประภาส (ชายหาดที่จอมพลประภาส จารุเสถียรกว้านซื้อเป็นสมบัติส่วนตัว ก่อนจะถูกรัฐบาลพลเรือนทวงกลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน) แสงแดดยามเย็นทำให้แสงสะท้อนบนคลื่นระยิบระยับ ลมโชยอ่อนๆ พี่ติ่งเริ่มเล่าให้ฟังว่า เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในหมู่บ้านชาวประมงบ้านทับเหนือ อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง แล้วชี้ไปทางขวาที่เคยเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน

“หลังเกิดสึนามิ หมู่บ้านทับเหนือราบเป็นหน้ากลอง ชาวบ้านตั้งชุมชนใหม่โดยย้ายลึกเข้ามา ส่วนที่เคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเดิมปัจจุบันกลายเป็นสถานีวิจัยทรัพยากรชายฝั่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”

ผมมองออกไปที่ทะเลเปิด กว้างใหญ่ เวิ้งว้าง ลูกชายของผมกำลังวิ่งเล่นกับคลื่น พลางนึกถึงคลื่นสึนามิที่ลบหมู่บ้านทับเหนือออกไปจากที่ที่มันเคยตั้งอยู่ด้วยความรู้สึกเกรงๆ… แม้รู้ว่าเวลานี้มันจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น

พี่ติ่งทำงานกับชาวบ้านและกรมประมงเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ป่าชายเลน พยูน และหญ้าทะเล รวมไปถึงการประมงชายฝั่งขนาดเล็กของชาวบ้าน เขาทำงานในชุมชนชาวประมงต่างๆ เลาะเลียบมาตามชายฝั่งอันดามัน ไล่เรียงมาตั้งแต่จังหวัดตรัง พังงา กระบี่ ระนอง รวมเวลาแล้วเกือบ 20 ปี ในช่วงที่การอนุรักษ์ธรรมชาติตื่นตัว ความขัดแย้งของการช่วงชิงทรัพยากรระหว่างเรือใหญ่ของประมงพาณิชย์และประมงชายฝั่งของชาวบ้านในช่วงเวลานั้นค่อนข้างตึงเครียด

“เรือใหญ่มา 1 วัน จนไป 1 เดือน” พี่ติ่งอธิบายว่า หากเรืออวนลากเข้ามาทำประมงในระยะ 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง อันเป็นพื้นที่ของประมงขนาดเล็กเพียงคืนเดียว พวกชาวบ้านมุสลิมที่หาปลาตามชายฝั่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดจะยากจนไปอีกหนึ่งเดือน เพราะนอกจากปลาแล้ว อุปกรณ์หาปลาของพวกเขาก็จะถูกเรืออวนลากไปด้วย

นอกจากนั้นหลังวิกฤตการเมืองเดือนพฤษภาฯ ปี 2535 พี่ติ่งยังขยับมาทำงานการเมือง เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรกลาง ต่อเนื่องด้วยการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อให้ชาวบ้านมีสิทธิ์มีเสียง และมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น แทนที่จะเป็นเพียงฝ่ายรัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม เขาร่วมประท้วงกับสมัชชาคนจนยืดเยื้อหลายเดือนจนกระทั่งร่วมกันตั้งหมู่บ้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

ก่อนวันที่ 26 ธันวาคม 2547 พี่ติ่งทำงานที่หมู่บ้านทับเหนือและนอนบ้านชาวบ้านเป็นปกติ ในคืนวันที่ 25 ด้วยอะไรดลใจไม่รู้ได้ เขาอยากกลับไปนอนที่สำนักงานฯ ในตัวอำเภอสุขสำราญ ซึ่งห่างจากชายหาดขึ้นไปในแผ่นดินราว 3 กิโลเมตร กิจวัตรประจำวันของเขาคือไปกินข้าวเช้าที่ตลาดหน้ามัสยิดพร้อมกับน้องฝึกงาน จากนั้นจึงกลับเข้าไปที่สำนักงานส่วนน้องฝึกงานลงไปที่หมู่บ้าน เช้าวันที่ 26 ธันวาคม เขานั่งดูข่าวจากโทรทัศน์รายงานว่าเกิดแผ่นดินไหวจนรู้สึกได้ที่หาดใหญ่ตั้งแต่ 7 โมงเช้า จากนั้นราว 8 โมง ชาวบ้านในตลาดเริ่มพูดกันว่าน้ำทะเลที่ภูเก็ตขึ้นลงแปลกๆ ขณะที่บ้านทับเหนือ ไม่มีความวิตกกังวลอะไร ทะเลเรียบ อากาศดี แดดกำลังสวยงาม

“10 โมงเช้า เกิดสึนามิ หมู่บ้านทับเหนือราบเป็นหน้ากลอง ชาวบ้านเสียชีวิตและหายไป 150 กว่าคน ส่วนใหญ่นอนอยู่ในบ้าน คนที่ออกเรือบางคนก็รอด บางคนก็ไม่รอด อย่างบังราหมาน (ฮัจญีราหมาน) กับจ๊ะกีดา (ฮัจญะกีดา) ที่เราไปกินข้าวบ้านเขาเมื่อคืน รอดตายเพราะออกไปหาปลา” พี่ติ่งเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

“ช่วงบ่าย หลังสึนามิสงบ ผมกับชาวบ้านลงไปช่วยคนที่รอด ช่วยเก็บศพคนที่ตาย ศพแรกที่ผมช่วย คือน้องนักศึกษาฝึกงานคนนั้น…เขาติดอยู่ในป่าโกงกาง”

ผมรู้สึกถึงความสะเทือนใจที่ก่อตัวเหมือนคลื่นจากอดีตถาโถมเข้าใส่ …ระลอกแล้ว…ระลอกเล่า

“เราช่วยกันเก็บศพราวๆ 1 เดือน รู้สึกหดหู่ เจอศพเด็ก ศพชาวบ้านที่รู้จักกันเกือบทุกคน ผมเก็บศพเด็กที่เราเคยเล่นกับเขาทุกวัน ตอนแรกนึกว่าตุ๊กตา พ่อบางคนจำลูกตัวเองไม่ได้ บางคนลูกชายหายไป บ้างตายทั้งครอบครัว ผมเก็บศพด้วยมือเปล่า กลิ่นศพติดมืออยู่นาน”

มันล่วงเลยเวลาละหมาดตอนเย็น (ละหมาดมัฆริบ) มาเล็กน้อย กว่าที่ผมจะถ่ายภาพของ พี่ติ่ง หรือ ‘มูฮัมหมัด ฟารุก’ (ญีฟารุก) ที่บ้านสวนของเขาเสร็จสิ้น อากาศวันนั้นร้อนชื้น เหงื่อชุ่มแผ่นหลัง ญีฟารุกขอเวลาทำละหมาดก่อนที่เราจะเดินทางไปกินข้าวเย็นที่บ้านของบังราหมานในตัวอำเภอ

หมึกย่าง หมึกทอดกระเทียมพริกไทย ปลากะมงทอด ปลาเสียดย่าง แกงส้มปลา ผักเหลียงผัดไข่ ฝีมือของจ๊ะกีดา เรียงรายอยู่บนเสื่อ เรานั่งล้อมวงกินพร้อมกัน ญีฟารุกกินข้าวด้วยมือ ผมกินข้าวได้มากกว่าปกติสองเท่า แต่เจ้าของบ้านยังคะยั้นคะยอ “กินเยอะๆ” พลางตักข้าวมาให้อีกทัพพีใหญ่

“สำนักงานฯ ของผมเคยตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านบังหมานนี่เอง” ญีฟารุกชี้ให้ดูในคืนวันที่เขามานอนก่อนเกิดสึนามิ

“แล้วบังหมานทำอะไรอยู่ วันที่เกิดสึนามิ” ผมหันไปถามเจ้าของบ้านที่นุ่งโสร่ง ใส่หมวกกะปิเยาะห์สีขาวนวลนั่งอยู่ข้างๆ

“ผมอยู่กลางทะเล พาลูกค้าออกไปตกปลา” ชายผิวสีทองแดง รอยยิ้มสะอาด เล่าให้ฟัง

“อยู่ทะเลลึกกว่าสิบเมตรไม่เป็นไร เรือมันอยู่บนยอดคลื่น” บังหมานอธิบายต่อ

เช้ารุ่งขึ้นหลังกินอาหารเช้าหน้ามัสยิดเตาฟีกียะฮ์ เรากลับเข้าไปที่บ้านสวน ปูเสื่อนั่งคุยกันใต้ต้นจำปา แสงเช้าสีเหลืองอ่อนส่องลอดใบไผ่กอใหญ่ริมลำธาร อากาศตอนเช้าสดชื่นละมุน

บ้านสวนหลังนี้สร้างเมื่อปี 2547 หลังจากที่ญีฟารุกตัดสินใจเปลี่ยนมาเข้าอิสลาม หนึ่งเดือนหลังจากเหตุการณ์สึนามิ เขาตัดสินใจลงหลักปักฐานในสวนเขตอำเภอสุขสำราญ ไม่ไกลจากหมู่บ้านทับเหนือ คล้ายกับว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นแม้ว่าจะพรากเพื่อนและทำลายหลายสิ่งไปจากเขา แต่ในอีกด้านหนึ่ง สึนามิทำให้เขาได้พบ ‘บ้าน’ ของตัวเอง ทั้งบ้านของร่างกายและบ้านของจิตวิญญาณ

“อะไรทำให้พี่เปลี่ยนมาเข้าอิสลาม”

“ผมนี่โชคดี ทุกครั้งผมนอนที่หมู่บ้าน มีวันนั้นวันเดียวที่มานอนสำนักงานฯ ผมขอบังหมานไปตกปลาด้วย บังหมานก็ไม่ให้ไป รู้สึกแปลกๆ ก็ตั้งคำถามกับตัวเองที่หลายครั้งเรารอดชีวิตมาได้ แล้วอีกอย่างผมคุ้นเคยกับวิถีมุสลิมมานาน ตั้งแต่เริ่มทำงานประมงชายฝั่งกับชาวบ้าน ผมเปลี่ยนมาเข้าอิสลาม วันที่ 26 มกราฯ หนึ่งเดือนพอดีหลังเกิดสึนามิ” ญีฟารุกเท้าความให้ฟัง

หลังจากเข้ารับอิสลาม มูฮัมหมัด ฟารุก ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาศาสนา ฝึกฝน และแสวงบุญในนามของดะวะฮฺ (ผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมอยู่ในหลักการของศาสนา) เขาเดินทางเป็นเวลา 40 กว่าวันไปเมืองละฮอร์ (Lahore) ทางเหนือของประเทศปากีสถาน ใกล้เทือกเขากาลาโกลัม และเมืองดีรฺ (Dir ออกเสียงว่าดีท) หลายปีต่อมาเขาใช้เวลา 5 เดือนในอินเดีย และปากีสถาน

“ผมไปเพื่อฝึกฝนตัวเอง ที่เขาเรียกว่าญีฮาด (Jihad) เป็นการรบ ต่อสู้กับกิเลส อำนาจใฝ่ต่ำในจิตใจของตัวเอง ไม่ต้องไปด่าทอใคร การเปลี่ยนแปลงตัวเองสำคัญที่สุด ไม่ต้องคิดไปเปลี่ยนแปลงใคร เราเคยทำงานเอ็นจีโอ อยากเปลี่ยนแปลงสังคม แต่มันไม่เคยเปลี่ยนแปลง” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงเนิบนาบสงบเย็น เหมือนลำธารที่ไหลเอื่อยอยู่ตรงหน้า

ที่นั่นเขาได้ชื่อ มูฮัมหมัด ฟารุก (Muhammad Farouk) จากเพื่อนชาวดูไบซึ่งไปทำหน้าที่ดะวะฮฺเหมือนกัน

“ตอนนั้นเราตั้งชื่อตัวเองว่า ‘อิสรออีล’ ซึ่งแปลว่าเทวทูตแห่งความตาย อาจจะเพราะแบบนี้ก็ได้ ที่ทำให้เจอแต่ความตาย” เขายิ้ม “เพื่อนแนะนำให้เปลี่ยนเป็น ‘มูฮัมหมัด ฟารุก’ ซึ่งแปลว่า ผู้แยกแยะสิ่งดีงามและสิ่งชั่วร้าย”

“ผมเคยไปเปลี่ยนชื่อในบัตรประชาชน แล้วไปทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ที่อำเภอ เขาบอกว่าต้องมีใบรับรองว่าชื่อนี้แปลว่าอะไร ใครจะไปตั้งชื่อตัวเองไม่ดีบ้าง อิหม่ามก็แปลชื่อให้ฟังแล้ว แต่เขายังบอกให้ผมเอาใบรับรองชื่อมา ผมโมโหมาก ตอนนั้นยังอารมณ์ร้อน ทุบโต๊ะปังเลย คนหันมามองกันหมด ผมบอกเขาว่า ผมเป็นคนพุทธมาก่อน เกิดที่ระนอง ยังไม่เห็นต้องขอใบรับรองจากเจ้าอาวาสเลย วิธีคิดแบบนี้แหละเป็นปัญหาของภาคใต้ แต่ช่างมันเถอะ อย่าไปพูดถึงเรื่องนี้เลย…” ญีฟารุกเล่ายิ้มๆ และจนทุกวันนี้ในบัตรประชาชนก็ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อ

“แล้วบ้านหลังนี้ล่ะ ทำไมถึงตัดสินใจสร้าง แล้วได้อยู่บ้างไหม” ผมเปลี่ยนเรื่อง

“ตอนนั้นอายุ 38-39 อยากมีบ้าน อยากปักหลัก เราชอบที่นี่ ผูกพันกับชาวบ้าน ผมเป็นคนอยู่ในเมืองไม่ได้ ทำงานเดินทางตลอด หลังจากเข้ากรุงเทพฯ แต่ก็ยังไปเยี่ยมชาวบ้านทุกปี ไปกินข้าวไปนอนบ้านเขาเป็น 10 ปี บ้านหลังนี้ไม่มีไฟฟ้า ผมซื้อที่จากอิหม่าม มาถึงเห็นลำธารก็ตัดสินใจซื้อเลย สร้างบ้านอยู่ 2 ปี ด้านหลังปลูกยางพารา ปลูกลองกอง” เขาเล่า พลางมองไปรอบๆ

“แต่ก็ไม่ค่อยได้อยู่หรอก เดินทางตลอด” เขาหัวเราะ

ลำธารสายเดิมที่ญีฟารุกเห็นตั้งแต่วันแรกยังคงไหลริน ฟังดีๆ จะได้ยินเสียงกรุ๋งกริ๋งของสายน้ำที่ไหลไปตามซอกหินเล็กๆ

“ปีนี้ว่าจะกลับมาอยู่บ้าน อยากปลูกกาแฟ 4-5 ไร่ เขียนบทกวี วาดรูป สร้างสตูดิโอ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนะ เผื่อเพื่อนๆ ศิลปิน อยากแวะมาเขียนรูปแถวนี้ อาจจะทำงานวิจัยบ้าง ทำงานชุมชนบ้าง ผมอยู่นิ่งไม่ได้หรอก อยู่นิ่งแล้วจะเฉา อยู่บ้านไม่ค่อยติด” ญีฟารุกวางแผนอนาคตไว้อย่างนั้น ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

 

มูฮัมหมัด ฟารุก | กวี

Medium Format Camera 6 x 6 | Black and White Negative Film

Fact Box

ปราชญ์ อันดามัน เป็นนามปากกาของ มูฮัมหมัด ฟารุก ที่ใช้ในการเขียนบทกวีและทำงานศิลปะ

ผลงานรวมเล่มตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ม่านฝนเหนือชายฝั่ง (2544) คลื่นแห่งชะตากรรม (2548) ระหว่างทางที่เสียงอาซานแว่ว (2556) เราต่างแบ่งพรมแดนในบ้านของเราเอง (2556) บ้านที่เราจากมา (2560)

เคยแสดงงานภาพวาดทิวทัศน์ สีน้ำมัน The Silence of Andaman (2558) ที่ร้านเฮมล็อค ถนนพระอาทิตย์

Tags: , , , ,