เวที Mr Gay Word ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2008 โดยอีริก บัตเลอร์ (Eric Butler) และดีน เนลสัน (Dean Nelson) ประเทศที่ก่อตั้งคือออสเตรเลีย แคนาดา และนอร์เวย์ ด้วยเป้าหมายการสร้างพื้นที่เวทีประกวดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจและสร้างพลังให้คนที่กล้าเปิดเผยเพศวิถีว่าเป็นเกย์ ได้มาประกวดทั้งในด้านความงาม และการเป็น ‘ผู้นำเกย์’ เพื่อสร้างสรรค์สังคม รณรงค์เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับปัญหา LGBT ทั่วโลก สร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ แก้ปัญหาที่ LGBT ต้องประสบ
ความเปิดกว้างของเวที Mr Gay World คือการยอมรับอัตลักษณ์ที่หลากหลายของเกย์ ไม่ยึดขนบความงามแบบการประกวดเวทีผู้ชายทั่วไป จะเกย์ตัวผอม เกย์ล่ำ เกย์หมี เกย์สาว เกย์แมน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้หมด เปิดกว้างไปถึงผู้ติดเชื้อ HIV สามารถประกวดได้ (ในปีค.ศ. 2017 ตัวแทนจากประเทศนิวซีแลนด์ เป็นผู้อยู่กับเชื้อ HIV และในการประกวดรอบปี 2019 ผู้เข้าประกวดในประเทศไทยรายหนึ่งก็เป็นผู้อยู่กับเชื้อ HIV) และยังเปิดกว้างช่วงอายุมากกว่าเวทีอื่นๆ ตั้งแต่อายุ 18 ปีจนถึง 45 ปี (ในปี ค.ศ. 2018 ผู้เข้าประกวดจากสหรัฐอเมริกาอายุถึง 52 ปี) ความหลากหลายของอัตลักษณ์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เปิดกว้างสำหรับการนำไปปรับใช้รณรงค์ทางสังคม ตามเป้าหมายของผู้ก่อตั้งคือ ‘Mr gay world isn’t who you are, but what you do.”
สำหรับในประเทศไทย องค์กรบางกอกเรนโบว์เป็นผู้จัด Mr Gay World Thailand ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2016 (แต่เป็นตัวแทนประกวดเวทีโลกในปี 2017) โดยผู้ชนะที่ผ่านเวทีประกวดคนแรกคืพัฒนจัก วิภาดากุล แพทย์ด้านความงาม ในปีต่อมาผู้ชนะคือ ภัครพงษ์ ขวยเขิน ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักศึกษา และในปีที่สาม ผู้ชนะคือ ชโยดม สามิบัติ ผู้จัดการฝ่ายขายในบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง ซึ่งชโยดมสามารถทำผลงานเข้ารอบห้าคนสุดท้ายและได้รางวัล Best Interview จากกองประกวดโลก ในปีนี้ก็กำลังมีการจัดการประกวด Mr Gay World Thailand เพื่อหาตัวแทนจากไทยไปประกวด Mr Gay World 2020 ราวกลางปีหน้า โดยยังไม่ระบุประเทศเจ้าภาพ
ในแต่ละปี Mr Gay World Thailand จะมีธีมของเวที อย่างในการประกวดครั้งแรก คือ ‘Power of Equality’ ปีที่สองคือ ‘Proud to Be’ ปีที่สามคือ ‘Dare to Shine’ และปีนี้คือ ‘We are Family’ ซึ่งความหมายของธีมในปีนี้ต่อเนื่องมาจากปีสาม Dare to Shine หรือ ‘เกย์กล้าก้าว’ ที่กล้าเปิดตัวอย่างภูมิใจในเพศวิถีของตัวเอง และออกมายืนกลางสปอตไลท์เพื่อพูดถึงปัญหาที่ LGBT ต้องประสบและต้องหาทางแก้ไข มาปีนี้ We are Family คือไม่ใช่แค่คนๆ เดียวที่จะออกมายืนรณรงค์ แต่จะต้องจับมือกันเป็นครอบครัวหรือมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อเสียงของ LGBT จะดังขึ้นในการเรียกร้อง
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ โรงแรม Mestyle Museum ย่านห้วยขวาง ได้มีการประกวดรอบที่น่าจะเรียกได้ว่า Preliminary ของเวที Mr Gay World Thailand แต่ไม่ใช่การเปิดตัวเดินชุดว่ายน้ำ ชุดราตรี หรือการโชว์ตัวรอบแรกตามขนบของหลายๆ เวที แต่เป็นการประกวดการนำเสนอ Social Campaign หรือแผนการรณรงค์ทางสังคม ที่ผู้เข้าประกวดต้องคิดวิธีการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาของ LGBT ในรูปแบบที่มีที่มาและความสำคัญของปัญหาชัดเจน มีแผนปฏิบัติการที่ผู้เข้าประกวดสามารถทำเองได้จริง โดยมีโจทย์กำกับข้อหนึ่งว่า ‘ต้องเป็นปัญหาระดับสากลที่นำไปพูดในเวทีโลกได้’
แผนปฏิบัติการที่เวทีคาดหวัง อาจทำได้ทั้งการเปิดพื้นที่สื่อสารในโซเชี่ยลมีเดีย เพื่อให้เกิดการถกเถียงหรือแก้ปัญหา การเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับ LGBT ในเรื่องต่างๆ การลงพื้นที่ในการแก้ปัญหา การรณรงค์ให้มีการรวมตัวรูปแบบต่างๆ และแสดงสัญลักษณ์ว่าเรากำลังร่วมกันพูดถึงปัญหานี้ หรือการสร้างโมเดลบางอย่างที่สามารถให้หน่วยงานอื่นๆ นำไปใช้รณรงค์เพื่อแก้ปัญหาให้ LGBT ซึ่งความหลากหลายของผู้เข้าประกวดก็เป็นความท้าทายในปีนี้ คือมีทั้งคนพิการทางการได้ยิน คือนายสุกฤษฏิ์ สุขสัมพันธ์ หมายเลข 11 และนายปวัน ลีวัจนกุล หมายเลข 29 ผู้ที่กล้าประกาศตัวว่าเป็นตัวแทน Sex Worker มาตีแผ่ปัญหาในด้านมืดที่ถูกซุกไว้ใต้พรมแดงชื่อศีลธรรมให้สังคมรับรู้
Bullying
โดยภาพรวมของการนำเสนอแผนการรณรงค์ทางสังคม มีประเด็นที่น่าวิพากษ์อยู่ไม่น้อยทีเดียว การทำแผนการรณรงค์ทางสังคม ผู้เข้าประกวดในปีนี้ (รวมถึงปีที่สาม) หลายคนมุ่งเน้นไปที่เรื่องการแก้ไขปัญหาการที่กลุ่ม LGBT ถูกรังแก ซึ่งปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกหรือ bullying กลุ่ม LGBT ในไทยยังมีอยู่มาก กรณีการประทุษร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิตอาจน้อยกว่าในต่างประเทศเช่นบราซิล หรือเม็กซิโก ที่มีข่าวการทำร้ายเกย์ หรือฆ่ากลุ่มข้ามเพศเพราะความเกลียดชังอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในประเทศไทย การรังแกมักจะออกมาในลักษณะคำพูด (บ่อยครั้งที่อ้างว่าเป็นการล้อเล่น) หรือข้อเขียนที่มีการเหยียด การตีตรากลุ่ม LGBT ซึ่งก็ส่งผลถึงสภาพจิตใจ ทำให้ LGBT ไม่มีความภูมิใจในการเป็นตัวเอง เลือกจะอยู่ร่วมแต่ในกลุ่มที่ตนเองได้รับการยอมรับ
แผนกฏิบัติการในการป้องกันการรังแกของผู้เข้าประกวดหลายคน คือการใช้โซเชี่ยลมีเดียต่างๆ เพื่อสร้างกำลังใจหรือการสร้างความเข้มแข็งให้ LGBT เห็นคุณค่าของตัวเอง มองข้ามคำพูดเหยียดหยาม โดยจะทำทั้งเป็นพื้นที่พูดคุยให้กำลังใจ หรือการสร้างไวรัลให้กระจายต่อเพื่อให้กำลังใจ การรวมกลุ่มกันเพื่อส่งเสริมพลังบวกให้แก่กัน ซึ่งข้อวิพากษ์ที่เกิดขึ้นคือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับ LGBT ก้าวข้ามการข่มเหงรังแกจากคำพูดนั้น เพียงพอหรือไม่ในการแก้ปัญหา ?
การเหยียด การตีตรา การใช้ความรุนแรงกับ LGBT ปัญหาอยู่ที่สังคมหรืออยู่ที่ตัว LGBT เอง ? การที่ LGBT ยอมรับสภาพว่าเป็นกลุ่ม ‘อัตลักษณ์ที่แตกต่าง’ ในสังคมที่ยึดแนวคิดแบบทวิลักษณ์ (binary) หรือการยอมรับเพศแค่ในกรอบของเพศสภาพตามเพศกำเนิด (cisgender) และการที่ LGBT เลือกให้กำลังใจกันเอง มันเป็นการแก้ไขปัญหาหรือมันเป็นการ ‘โทษเหยื่อ’ (victim blaming) ว่าเป็นความผิดของเราเองที่แตกต่าง เราต้องให้กำลังใจกัน สิ่งที่ต้องรณรงค์เพื่อป้องกันการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง คือการให้สังคมเคารพในอัตลักษณ์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ชนชั้น ศาสนา ความทุพพลภาพ เพศวิถี ไม่ใช่หรือ เราต้องพูดให้สังคมเลิกแบ่งแยกกันด้วยเรื่องเหล่านี้และเคารพในความเป็นมนุษย์ มองคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ มันเป็นสาระสำคัญที่ต้องรณรงค์ในระยะยาวต่อสังคม
จึงน่าตั้งคำถามว่า การรณรงค์ให้ LGBT เลิกสนใจการข่มเหงรังแกทางคำพูดเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือไม่ ? อีกทั้งความละเอียดอ่อนของปัญหาที่ LGBT แต่ละคนประสบมามีความแตกต่างกัน การรับมือปัญหาก็แตกต่างกัน การทำพื้นที่ให้พลังบวก มันจะสามารถแก้ปัญหาทางใจของ LGBT ได้แบบเหมารวมหรือไม่ อีกทั้งการทำแผนรณรงค์ทางสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งไม่ใช่การทำที่สามารถกำหนดระยะเวลาของการรณรงค์ได้ ต้องอาศัยคนที่มีความตั้งใจจริงที่ทำต่อเนื่อง และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือการเปิดพื้นที่สื่อสารในโลกโซเชียลมีเดีย มันเป็นการแก้ปัญหาที่เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายหรือไม่
การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กเพียงประการเดียว มันดูเหมือนกลายเป็นแคมเปญเพื่อ LGBT ชนชั้นกลางไปถึงระดับสูงที่สามารถเข้าถึงสื่อตรงนี้ได้ แต่ในความเป็นจริง แม้จะอ้างว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่อัตราการใช้โซเชียลมีเดียสูงเป็นระดับต้นๆ ของโลก ก็ยังมีกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึง เช่น กลุ่มผู้มีอายุที่ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี กลุ่มเด็กที่ถูกล้อเลียนแต่ยังไม่รู้ช่องทางในการเข้าถึง ไปจนถึงกลุ่มในเขตนอกเมืองไกลๆ ที่ก็ประสบปัญหานี้ได้เช่นกัน เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่ยังแบ่งแยก LGBT ออกจาก ‘ความปกติ’ ก็ยังมีทั้งเลือกจะไม่เข้าถึงสาร และเข้าถึงสารตรงนี้ไม่ได้ การแก้ไขการข่มเหงรังแกจึงดูยังเป็นปัญหาที่ท้าทายที่ทำอย่างไรให้สังคมเปลี่ยนวิธีคิดต่อ LGBT มากกว่าการสร้างความเข้มแข็งให้ LGBT เท่านั้น
HIV+
อีกปัญหาหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาทำเป็นแผนการรณรงค์ทางสังคมอย่างมาก ก็คือเรื่องการติดเชื้อ HIV ซึ่งกลุ่มเกย์ยังถูกตีตรา คือถูกจัดให้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะติดเชื้อและแพร่กระจายได้ง่าย จากการสำรวจของ กทม. ในปี 2562 ผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ยังเพิ่มขึ้นถึง 1,190 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนอายุน้อยกว่า 25 ปีถึง 628 คน ผู้เข้าประกวดหลายคนจึงทำแผนการรณรงค์ทางสังคม เพื่อการสร้างความตระหนักในเรื่องการรู้ผลเลือด การดึงคนเข้าระบบตรวจ การป้องกันการติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งการใช้แอปฯ นัดเดท ของกลุ่มเกย์เพื่อรณรงค์ ไม่ใช่มีเป้าหมายเพื่อการนัดพบอย่างเดียว
เรื่องการติดเชื้อ HIV เป็นปัญหาสากลที่รณรงค์กันทั่วโลก ประเด็นที่น่าสนใจคือยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ต้องการรับรู้ผลเลือด เพราะเกรงว่า รู้ไปแล้วหากติดเชื้อ HIV จะใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้ตามปกติ ทำให้การสื่อสารสร้างภาพจำใหม่เกี่ยวกับเรื่อง HIV ต้องแสดงให้เห็นว่า ‘ยิ่งรู้เร็ว รักษาเร็ว ยิ่งปลอดภัย’ โดยการที่หากรู้ว่าติดเชื้อ รีบรับยาต้านจนร่างกายเข้าสู่ภาวะ Undetectable = Untransmittable (U=U) คือกดค่า viral load ให้ต่ำจนไม่สำแดงอาการของโรคเอดส์ และมีเพศสัมพันธ์ได้ต่อโดยไม่แพร่ ก็จะใช้ชีวิตอย่างเกือบเป็นปกติได้ และต้องทำให้ทราบว่า นอกจากการใช้ถุงยางอนามัย มียาที่ช่วยลดการติดเชื้อคือยา PrEP ที่กินก่อนภาวะเสี่ยง และยา PEP ที่ถ้าเกิดภาวะเสี่ยง เช่น ถุงยางอนามัยแตก ต้องรีบกินใน 72 ชั่วโมง ซึ่งถ้าเปรียบไป ถุงยางอนามัยคือกำแพงเมืองกั้นข้าศึก ยาสองตัวนี้เหมือนกองทหารที่รอรับข้าศึกหลังกำแพงอีกที
แคมเปญที่ผู้ประกวด Mr Gay world Thailand นำเสนอเน้นไปในเรื่องของการป้องกัน ซึ่งบางอย่างก็ยังมีมุมวิพากษ์ได้ว่าเป็นดาบสองคม เช่น เรื่องการหา พาร์ทเนอร์ในการจัดซื้อและแจกจ่ายชุดตรวจ HIV ด้วยตัวเองฟรีแบบส่งถึงบ้าน เพื่อไม่ต้องอายหรือรู้สึกถูกตีตราเวลาไปตรวจที่ศูนย์บริการสาธารณสุข แต่ปัญหาคือ การสร้างความรู้ในเรื่องการใช้ชุดตรวจอย่างถูกต้องเป็นอย่างไร และหากตรวจพบ ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เข้าระบบรักษา อาจเพราะความยากจนและไม่รู้สิทธิ หรือมีความคุมแค้นสังคม ทำให้ไม่เข้าเป้าหมายรณรงค์ 90 90 90 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คือ 90 แรก หมายถึง 90% ที่มีผู้เข้าระบบตรวจและรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ 90 ตัวที่สอง คือ 90% ของผู้ติดเชื้อที่รับยาต้าน และ 90 ที่สาม คือ ผู้ที่รับยาต้านจนกดค่า viral load เป็น U=U สำเร็จ การตรวจตามสถานบริการสุขภาพที่มีการเฝ้าติดตามการรับยาจะดีกว่าหรือไม่ ?
แคมเปญเกี่ยวกับ HIV ที่ท้าทายความคิดของสังคม คือ แคมเปญของปวัน ลีวัจนกุล หมายเลข 29 ที่เห็นภาพใน ‘วงการกลางคืน’ มาระยะหนึ่ง ปวันชี้ให้เห็นว่า กลุ่ม Sex Worker ยังมีจำนวนหนึ่งที่ขาดความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพราะปัญหาทางการศึกษา หรือไม่ยอมรู้ผลเลือดเพราะเกรงว่าจะทำงานต่อไปไม่ได้ สิ่งที่ปวันโยนคำถามไปยังสังคม คือ ถ้า Sex Worker ติดเชื้อ รับยาต้านจน U=U สังคมจะยอมรับพวกเขาได้หรือไม่ หรือหาทางออกให้พวกเขาอย่างไร
เขาอ้างถึงรายงานขององค์กรอนามัยโลกชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า Sex Worker ที่รู้ว่าติดเชื้อ ก็ยังไม่สามารถหยุดทำงานนี้ได้เพราะความจำเป็นทางการเงิน และขาดโอกาสหรือทักษะอื่น ไปจนถึงถ้าต้องกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด สังคมรอบตัวที่นั่นก็รังเกียจ การต้องทำงานนี้ต่อ จะผลักกลุ่มติดเชื้อนี้ไปในจุดที่บริการสาธารณสุขเข้าถึงไม่ได้ เช่น ค้าประเวณีตามข้างถนน หรือค้าประเวณีในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กในแอปพลิเคชั่นต่างๆ ดังนั้น ทางออกของ Sex Worker ที่ติดเชื้อคืออะไรเป็นสิ่งที่สังคมยังต้องขบคิด
มีผู้เข้าประกวดที่เสนอแคมเปญเพื่อการรักษาคือ กฤษฏิ์ เพียรมุ่งสัมพันธ์ หมายเลข 13 ที่มองว่า ‘กลุ่มผู้แสดงอาการแล้วก็ต้องได้รับการดูแล’ ในประเทศไทยจนถึงระดับโลก มีผู้ที่แสดงอาการเอดส์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นอย่างซิฟิลิสออกมาแล้วจำนวนหนึ่ง และมีร่องรอยบนผิวหนัง แม้กระทั่งยา PrEP หรือยา PEP ก็ทำให้ผิวหนังมีปฏิกิริยาไวต่อแสงมากขึ้น ร่องรอยบนร่างกายเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยถูกตีตรา และเกิดความทุกข์ทางใจขึ้นอีก จึงนำเสนอแคมเปญในเชิง CSR ให้บริษัทด้านเวชสำอางผลิตครีมเพื่อรักษาผิวหนังลดการตีตรา นำไปแจกฟรียังศูนย์ผู้ป่วยโรคเอดส์ต่างๆ เพื่อช่วยผู้ป่วยที่ยากจนและไม่มีเงินซื้อเวชสำอางนี้ โดยหวังจะให้เป็นโมเดลที่เสนอให้บริษัทผลิตสารบำรุงผิวต่างๆ ใช้ทำเป็น CSR ในระดับโลกได้ กฤษฏิ์มองว่า การทำแคมเปญไม่ใช่เพียงแค่เพื่อระดับกลุ่มชนชั้นกลางถึงสูงเท่านั้น
การเปิดรับตัวตน
ในชุดความคิดแบบทวิลักษณ์ ยังมองว่าการเป็น LGBT คือสิ่งที่ผิดปกติ แม้ว่าจะมีความพยายามเปลี่ยนความหมายจากองค์กรนานาชาติ ว่า ความเป็น LGBT คืออัตลักษณ์หนึ่ง ไม่ใช่โรคจิตผิดปกติ แต่ยังมีกลุ่มที่ยึดมั่นในชุดความเชื่อเดิมอยู่จำนวนมากบนโลกนี้ เพราะความเป็นพหุวัฒนธรรม (multicultural) อย่างในสังคมคนจีน คนต่างจังหวัด หรือสังคมที่เคร่งศาสนาก็ยังไม่ให้การยอมรับตัวตนของ LGBT
ผู้เข้าประกวดจำนวนหนึ่งจึงทำแคมเปญเพื่อให้เกิดการยอมรับตัวตนตั้งแต่ในพื้นที่เล็กที่สุด คือ สร้างความยอมรับในครอบครัว ไปจนถึงสร้างการยอมรับในรั้วสถานศึกษา โดยเป้าหมายคือการยอมรับตัวตนแบบไร้เงื่อนไข เพราะยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ว่า การยอมรับความเป็น LGBT อยู่บนความคิดว่า ‘เป็นก็ได้แต่ขอให้เป็นคนดี ต้องประสบความสำเร็จ’ ทำให้ LGBT เองต้องพิสูจน์ศักยภาพตัวเองมากกว่า cisgender และบางครั้งการที่ไม่สามารถไปถึงเงื่อนไขได้ ทำให้ LGBT มีความทุกข์และหันเข้าสู่ชีวิตด้านลบเช่น การใช้ยาเสพติด
พิฆเนศ มูลสวัสดิ์ ผู้เข้าประกวดหมายเลข 31 พยายามเสนอปัญหาให้เห็นว่า คนใช้ยาเสพติดเพราะการถูกล่อลวงและความทุกข์ก็ยังมีอีกจำนวนมาก ไม่ได้มีแต่กลุ่มที่ใช้ยาเพื่อความสนุกในการมีเพศสัมพันธ์หรือ Chem Sex เท่านั้น แต่กลุ่มนี้ถูกตีตราเป็นคนเลว ยิ่งเป็น LGBT ด้วยแล้วใช้ยาด้วย ยิ่งถูกกันออกให้เป็น ‘คนนอก’ ซึ่งทางออกที่สำคัญคือการเปลี่ยนวิธีคิด ที่มีต่อทุกเพศที่ใช้ยาเสพติด โดยการเปิดใจรับฟังอย่างเข้าใจ (empathy communication) ว่าแม้กระทั่งคนที่บอกว่าใช้ยาเพื่อความสนุกในการมีเพศสัมพันธ์ เขาอาจซ่อนปัญหาภายในใจอะไรอยู่ เมื่อล้าง ‘ภาพจำ’ ที่เป็นลบ และเปิดใจกอดรับคนกลุ่มนี้ได้ ก็จะแก้ปัญหาดึงเขาออกจากวังวนยาเสพติดได้ ไปถึงการแก้ปัญหาการติดเชื้อ HIV จากการใช้เข็มร่วมได้
การเมืองกับการรณรงค์
ภาพรวมของการนำเสนอแคมเปญของผู้เข้าประกวด Mr Gay World Thailand ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ปัญหาในระดับย่อย เช่น เรื่องการแก้ปัญหาการรังแก คือการจัดการปัญหาในใจตัวเอง หรือในส่วนที่กว้างขึ้นคือการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาในระดับกลุ่ม รณรงค์ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HIV ซึ่งอาจเป็นเพราะการตั้งโจทย์ที่ระบุว่า ‘ศักยภาพของผู้เสนอแคมเปญเองต้องรณรงค์ได้’ ทำให้ยังไม่มีการแตะไปถึงระดับนโยบายหรือระดับกฎหมายเท่าที่ควร เพราะการทำแคมเปญในระดับนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาเครือข่าย โดยเฉพาะเครือข่ายผู้มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิอย่างเป็นรูปธรรมโดยกฎหมายได้
การขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อ LGBT ไทยในขณะนี้ มีความพยายามจะให้แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1448 เปลี่ยนคำว่า ‘ชายและหญิงสมรสกัน’ เป็น ‘บุคคลสมรสกัน’ เพื่อไม่ให้เกิดกฎหมายคู่ชีวิตที่เป็นสองมาตรฐาน คือไม่ได้รับสิทธิเท่าการสมรสชายหญิง โดยเตรียมจะมีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ปพพ.ม.1448 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ที่ระบุว่า ‘บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย’ หรือไม่
และมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่กลุ่มข้ามเพศพยายามเรียกร้องให้เกิดขึ้นคือ พ.ร.บ.รับรองเพศสภาพ (ชื่อยังไม่เป็นทางการ) ที่ให้คนข้ามเพศสามารถใช้สิทธิตามเพศใหม่ได้ เพราะการที่อัตลักษณ์ภายนอกไม่ตรงกับเพศสภาพในเอกสารราชการ สร้างความทุกข์ให้กลุ่มคนเหล่านี้ เช่น การเข้ารักษาพยาบาล เป็นสาวข้ามเพศแต่ต้องอยู่วอร์ดผู้ป่วยชาย นี่คือระดับกฎหมายที่มีการเรียกร้องอยู่ในปีนี้ โดยมีความหวังว่าการผลักดันจะเข้มแข็งขึ้นจากการที่เรามี ส.ส.ที่กล้าเปิดตัวเป็น LGBT ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว 4 คน จากพรรคอนาคตใหม่ แต่ ส.ส.เหล่านั้นก็ยังต้องสู้กับอคติทางเพศแบบเดิมๆ
คำถามที่น่าสนใจคือ LGBT ไทยสนใจการร่วมกันขับเคลื่อนสังคมในระดับนโยบายแค่ไหน ? และ cisgender มีความตระหนักในเรื่องความเท่าเทียมที่ LGBT จะต้องได้รับแค่ไหน ? กลุ่ม LGBT ไทย หลายคนยังอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ตั้งแต่พื้นที่เล็กที่สุดคือครอบครัว ที่บางครอบครัวมีเงื่อนไขเป็นได้ แต่อย่าสร้างปัญหา หรือการรวมตัวก็อยู่ในกลุ่มที่ยอมรับกันเอง ไปเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกันเองได้ แค่ไม่เผยตัวในพื้นที่ที่มีความอนุรักษ์นิยมจะทำให้เกิดอันตราย เช่น การเป็นทหาร ตำรวจ หรือผู้ที่ทำงานด้านกฎหมาย การเปิดเผยตัวจะทำให้ถูกรังแกหรือถูกตีตราได้
สังคมไทยยอมรับ LGBT ในระดับหนึ่ง คือยอมรับว่ามีตัวตน ไม่ผิดกฎหมาย แต่ยังไม่ได้ยอมรับอย่างไร้เงื่อนไขว่าเป็นตัวตนที่ควรได้รับความเคารพ มีความเท่าเทียม และยังไม่ได้ส่งเสริมบทบาท LGBT พอ การยอมรับตัวตนได้ในระดับนั้น LGBT ไทยก็อาจเรียกได้ว่า ‘ก็ยังอยู่ได้สบาย’ เราไม่เคยผ่านประวัติการต่อสู้เพื่อสิทธิเพราะโดนกระทำด้วยความรุนแรง อย่างเหตุการณ์ Stonewall Riot ที่นิวยอร์กในเดือนมิถุนายนปี 1969 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของ LGBT ทำให้เกิดงาน Gay Pride ในหลายประเทศตามมา การรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิในไทยจึงอาจดูไม่แข็งแรงนัก เมื่อมีการเรียกร้องก็พบแต่กลุ่มหน้าเดิมๆ ยังมีอีกหลายคนที่คิดว่า ‘อยู่แบบนี้ก็ดีอยู่แล้วชีวิตไม่มีปัญหาอะไร ออกไปเปิดหน้าสู้เดี๋ยวมีเรื่อง’ LGBT ไทยยังห่างไกลจากการเมืองหรือไม่เป็นเรื่องน่าคิด
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือความสนใจสิทธิ LGBT บางครั้งเป็นแค่ฉากหน้าของผลประโยชน์หรือไม่ ? LGBT เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเพราะไม่มีภาระครอบครัวมากนัก เป็นกลุ่มที่ชอบซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อประกาศรสนิยมหรือความมีตัวตน การแสดง ‘ความตระหนักถึงสิทธิ LGBT’ บ่อยครั้งจึงเป็นไปเพื่อการค้า เช่น ในเดือนมิถุนายน สินค้าหลายตัวออกรุ่นลิมิเต็ดเป็นสีรุ้งมาให้ชาว LGBT เก็บเป็นที่ระลึกมากมาย หรือการออกแคมเปญประกันชีวิตที่ให้สิทธิคู่รัก LGBT รับผลประโยชน์ได้ แต่เรื่องการเป็นตัวอย่างของการเคารพรักษาสิทธิ และการเคลื่อนไหวเพื่อ LGBT ในองค์กรผู้ผลิตนั้นๆ แสดงตัวออกมาแค่ไหน แม้กระทั่งพรรคการเมืองเอง ก่อนเลือกตั้งก็มีหลายพรรคที่ประกาศหรือเชิญชวนให้กลุ่ม LGBT ได้เข้ามามีบทบาทในการเสนอนโยบาย แต่เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ก็คงจะเห็นกันแล้วว่าแต่ละพรรคให้ความสำคัญกับสิทธิ LGBT แค่ไหน ในญัตติขอตั้งกรรมาธิการสามัญเพื่อความหลากหลายทางเพศ ก็ยังเจอพวก ‘หัวโบราณ’ ต่อต้านอยู่
ความงามกับการรณรงค์
ความงามเป็นหนึ่งในอำนาจในทุกยุคสมัย ตั้งแต่ตำนาน Helen Of Troy ความงามของเฮเลนกลายเป็นชนวนของสงครามเมืองทรอย หรือความงามของหญิงผู้มีอำนาจอย่างคลีโอพัตรา ความงามคือสิ่งที่ดึงดูดสร้างความสนใจ ขึ้นอยู่กับว่าจะพลิกมันมาใช้ประโยชน์ได้มากแค่ไหน ในกระแสของการประกวดความงามเวทีใหญ่ๆ ที่มีอายุยาวนาน อย่าง Miss Universe หรือ Miss World เองพยายามล้างภาพลักษณ์ของความงามที่ใช้เพื่อเป็นวัตถุทางเพศเท่านั้น ด้วยการให้ผู้ประกวดโชว์ทัศนคติ จิตสาธารณะ เราเห็นได้จากที่ในช่วงหลังๆ สังคมสนใจกับการตอบคำถามนางงามมากขึ้น ว่าสะท้อนความฉลาด มีทัศนคติที่ดี และมีการส่งพลังบวกให้สังคมได้แค่ไหน โดยกระแสที่การประกวดให้ความสนใจมากคือเรื่องสิทธิมนุษยชน
ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ทูตสันถวไมตรีโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (USAIDS) ก็ใช้ความงามในการรณรงค์ทางสังคม โดยการเชิญ เปีย อลอนโซ วุลซ์บัค มิสยูนิเวิร์ส ปี 2015 เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงการกุศลและระดมทุนเพื่อมอบรางวัล HERO Awards ครั้งที่ 3 ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรด้านเอชไอวี และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เพื่อเชิดชูเกียรติแก่นักกิจกรรม องค์กรเอ็นจีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ที่บ้านพักเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ นี่คือตัวอย่างที่บางเวทีประกวดยกมาตรฐาน ‘ตัวแทนความงาม’ ที่ต้องทำเพื่อสังคมต่อเนื่อง ความงามสร้าง ‘มูลค่าของคน’ ได้อย่างที่เราเห็นว่าแองเจลินา โจลี ดูน่าสนใจเพียงใดเมื่อพวกเธอพูดเพื่อสิทธิเด็ก
สำหรับเวที Mr Gay World พยายามเปิดตัวด้วยอุดมการณ์ที่ชัดเจนว่า ‘เพื่อสิทธิของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ’ ประกอบกับการประกาศยอมรับอัตลักษณ์เกย์ที่หลากหลาย ทำให้สิ่งที่เป็นบุคลิกสำคัญของเวทีน่าจะเป็นแคมเปญทางสังคม แต่เมื่อมีคำว่า ‘การประกวดความงาม’ เข้ามาเป็นขนบที่ใช้กำกับอยู่ มันก็คงจะยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ‘ก็คือการหาผู้ชนะที่ดูดี’ เพราะมันเป็นภาพแรกของการดึงดูดให้คนสนใจก่อน แล้ว ‘ราคาของมงกุฎ’ จะสร้างตัวตนให้เสียงผู้ชนะการประกวดสื่อสารออกไปดังขึ้นได้
การให้ค่าความงามและการณรงค์เพื่อสังคมของเวที จึงยังเป็นค่าที่มีน้ำหนักอยู่ในระนาบเดียวกัน (อย่างผู้ชนะเลิศ Mr Gay World เวทีโลก 3 ปีที่ผ่านมาก็โดดเด่นเรื่องรูปลักษณ์) เพียงแต่มาตรวัดของความงามบางครั้งก็อาจเปิดกว้างมากขึ้นได้ หากบุคลิกการนำเสนอตัวที่โดดเด่น หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘ถึงไม่ใช่พิมพ์นิยม แต่เด่น เก่ง ก็ยอมรับได้’
ขนบของการประกวดความงาม ไม่ว่าอย่างไรก็ทิ้งเรื่องความดึงดูดใจและการพาณิชย์ไปได้ยาก จะโฟกัสเพียงแค่เรื่องแคมเปญทางสังคม มันก็คือการดำเนินการในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่การประกวดความงาม ซึ่งต้องมีการอรรถาธิบายปัญหา การดำเนินการ ผลที่ได้รับอย่างละเอียด เหมือนการเสนอโครงการต่อภาครัฐหรือเอ็นจีโอเลยก็ว่าได้ แต่เวทีประกวด Mr Gay World อาจยังไม่ใช่เวทีประกวดที่สร้างนักรณรงค์ที่ทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานได้ เพราะช่วงเวลาในการนำเสนอจิตอาสารณรงค์มันเป็นแค่ช่วงสั้นๆ ที่คนจะเห็นในช่วงการประกวด
แต่โจทย์ที่ท้าทายเวทีคือ การที่กลุ่มเกย์ที่มีความหลากหลาย เข้ามาเวที เรียนรู้ปัญหาสังคม คิดทำแคมเปญเพื่อแก้ปัญหาแล้ว ก็ต้องทำให้เป็นโอกาสในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนๆ หนึ่งที่ยังไม่คิดถึงเรื่องนี้ ได้ลุกขึ้นมาอยากทำอะไรจริงจังเพื่อสังคม และทำให้เกิดคนเช่นนี้จำนวนมากขึ้นให้ได้
ย้อนกลับไปที่โจทย์ของผู้ก่อตั้งคือ “Mr gay world isn’t who you are, but what you do.” ถ้าการขับเคลื่อนทางสังคมด้วยแคมเปญของผู้เข้าประกวดไม่เกิดขึ้นจริง ไม่สามารถสร้างความสนใจ หรือไม่มีใครช่วยให้มีพาร์ทเนอร์ที่มาร่วมรณรงค์ให้เป็นจริงได้ สุดท้ายแล้ว แคมเปญก็อาจไม่ใช่อุดมการณ์ แต่กลายเป็นแค่พิธีกรรมหนึ่งเพื่อจะบอกว่า ‘บุคลิกของเวทีเราแตกต่าง’ เวทีจะช่วยผลักดันอุดมการณ์ของผู้เข้าประกวด ให้ความสำคัญคือหัวใจของการเป็นนักรณรงค์ หรือยึดแค่ขนบความงามตามแนวทางของเวทีประกวดทั่วไปกันแน่ เป็นสิ่งที่ท้าทายให้เวทีได้นำไปคิดต่อ
ในช่วงเวลา 4 ปีที่เวทีนี้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย มันยังถือเป็นก้าวเล็กๆ ไม่กี่ก้าว ที่จะต้องพิสูจน์อุดมการณ์ตัวเองต่อไป อาจทำให้วันหนึ่ง นี่จะเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างตัวแทนการรณรงค์เพื่อสิทธิ LGBT ได้จริง มีผู้มีอุดมการณ์มาเข้าร่วมเพื่อหวังให้เวทีเป็นพื้นที่สื่อสารของตัวเอง และเมื่อเวทีพูด สังคมจับตามอง องค์กรอื่นยื่นมือเข้ามาสนับสนุนผลักดันแคมเปญ ซึ่งก็ได้แต่เอาใจช่วยให้พื้นที่นี้คือพื้นที่ที่ ‘เกย์มาเปิดตัวเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง’
สำหรับการประกวด Mr Gay World Thailand จะจัดขึ้นที่แมมโบ้ คาบาเรต์คลับ ย่านพระรามสาม ตั้งแต่เวลา 18.00 น.วันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ โดยสามารถติดตามรายละเอียดเวทีได้ทางแฟนเพจ Mr gay world Thailand.
Tags: มิสเตอร์เกย์เวิลด์, การประกวดความงาม