เมื่อไม่ต้องขับรถเองแล้ว สิ่งที่เราจะทำระหว่างอยู่ในรถก็คงหนีไม่พ้นการหยิบโทรศัพท์หรือแก็ดเจ็ตต่างๆ ขึ้นมาใช้แทน เวิร์กอะฮอลิกอาจจะทำงานตั้งแต่ก่อนถึงออฟฟิศ นักชม นักแชท ก็คงจดจ่อกับหน้าจอไประหว่างทาง ซึ่งสิ่งที่อาจจะตามมาคืออาการวิงเวียน เพราะการขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติในระยะแรกอาจไม่ได้นุ่มนวลขนาดนั้น และนักวิจัยกำลังหาหนทางแก้ปัญหานี้

โมนิก้า โจนส์ นักวิจัยด้านการคมนาคม จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับอาการเมารถในรถยนต์ไร้คนขับ โดยการวิจัยนี้เริ่มต้นในปี 2017 ศึกษาคนกว่า 150 คน ที่นั่งเบาะหน้าของรถยนต์ฮอนด้าแอคคอร์ด รุ่นปี 2007 ซึ่งมีเซนเซอร์และตั้งค่าให้เลี้ยวซ้าย 50 ครั้ง และวิ่งแบบคดเคี้ยว โดยคนที่นั่งในรถถูกขอให้ทำงานง่ายๆ 13 อย่างบนไอแพดมินิ การศึกษาพบว่าพวกเขาทั้งหมดมีอาการกระสับกระส่ายเมื่อผ่านทางคดเคี้ยวครั้งที่สอง กว่า 11% รู้สึกพะอืดพะอมและขอให้หยุดรถ ส่วนอีก 4% อาเจียน

ทุกเคสในการศึกษาของโมนิกาล้วนมีอาการเมารถ คือ มีอาการวิงเวียน หายใจเร็วกว่าปกติ จนถึงอาเจียนเอามื้อกลางวันออกมา ซึ่งตลอดชีวิตของเธอเองก็ทรมานจากอาการเมารถจากการนั่งเบาะหลังเช่นกัน และยิ่งเมื่ออายุมากขึ้นอาการก็ยิ่งหนักขึ้น

การศึกษาอาการเมารถนี้ไม่ได้ศึกษาแต่คนที่มีประวัติเมารถเท่านั้น มหาวิทยาลัยมิชิแกนยังได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างชายและหญิงในจำนวนเท่ากัน โดยการทดสอบนั่งรถ 20 นาทีแรกในเมืองจำลองที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกนสร้างขึ้นมา และนั่งรถในการจราจรจริงข้างนอก 1 ชั่วโมง ผู้ทดสอบยังได้ย้ายไปนั่งเบาะหลังด้วย ซึ่งเป็นที่ที่คนมักมีอาการ

กลุ่มตัวอย่างได้บรรยายระดับของอาการพะอืดพะอมคลื่นไส้ กล้องวิดีโอและเซนเซอร์ได้จับภาพการแสดงออกทางสีหน้า อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิที่ผิวหนัง และความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและตำแหน่งของศีรษะ ซึ่งขึ้นอยู่กับความฉวัดเฉวียนของยวดยาน

ขณะที่ ฟลอเรียน ดอท วิศวกรด้านยานยนต์อัตโนมัติจาก ZF Group ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายระบบอัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากประเทศเยอรมนี ได้ทำงานด้านการพัฒนากลยุทธ์ที่ช่วยลดอาการเมารถในยวดยานไร้คนขับมากว่า 2 ปี กล่าวว่า 

“เรากำลังพัฒนาอัลกอริทึ่มที่สามารถเรียนรู้ปฏิกิริยาของร่างกายได้ด้วยตนเอง” ฟลอเรียนอ้างถึงโค้ดที่ถูกสร้างด้วยระบบโดยอาศัยเส้นทางการขับขี่ของพาหนะ เพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างปลอดภัย พาหนะไร้คนขับจะรับและรวบรวมข้อมูลจากเรดาร์ เลเซอร์ วีดิโอ และ เซนเซอร์ความไวสูง และ ZF ระบุว่า ควรมีการเพิ่มสภาพความเป็นอยู่ของผู้โดยสารเข้าไปในอัลกอริทึ่มด้วย

ฟลอเรียนกำลังรวบรวมข้อมูลด้านชีวภาพของผู้โดยสาร เช่น กิจกรรมในสมอง และ การทำงานของหัวใจ ผ่านอุปกรณ์ตรวจวัดที่ติดกับร่างกาย เมื่อนำระบบนี้ใส่เข้าไปในการผลิตรถยนต์ ระบบขับขี่อัตโนมัติที่ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพจะอยู่ในรูปแบบกล้องที่ทำงานกับซอฟท์แวร์ตรวจจับใบหน้า หรือ อาจจะเป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้

“ลองนึกถึงรถที่เลี้ยวซ้ายอย่างรุนแรง และเบรกอย่างกะทันหันเมื่อเจอไฟแดง เรากำลังรวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของรถ ควบคู่กับปฏิกิริยาของผู้โดยสาร ถ้าการเคลื่อนที่ของรถทำให้คุณรู้สึกไม่สบาย ในอนาคต เราจะทำให้รถหลีกเลี่ยงการเคลื่อนที่ในรูปแบบนั้น” กล่าวอย่างสรุปก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ของรถยนต์ไร้คนขับจะสามารถเรียนรู้วิธีการขับขี่เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ผู้โดยสารรู้สึกไม่สบาย

แต่ก่อนที่รถยนต์ไร้คนขับจะฉลาดได้แบบนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่าสามารถหลีกเลี่ยงอาการวิงเวียนขณะนั่งรถก็คือ ไม่ควรอ่านหนังสือ  หรือ ไถหน้าจอมือถือขณะนั่งรถนั่นเอง

ที่มา:

https://www.nytimes.com/2020/01/17/business/motion-sickness-self-driving-cars.html?fbclid=IwAR0kJNoTk3GCKNQidpu7gtsyPl5kNq7cdB09mx_jQ6dpF8o3k2oGnuIvEas 

https://mcity.umich.edu/measuring-motion-sickness-in-driverless-cars/