ปัญหาการติดกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) และความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนาได้เสียที รัฐบาล คสช. จึงประกาศนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ ‘Thailand 4.0’ มุ่งใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก
ขณะเดียวกัน ฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศก็หนีไม่พ้นผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายเล็ก และสตาร์ตอัพที่เกิดขึ้นมากในระยะหลัง หากมีความเข้าใจและปรับตัวได้ทันการ ก็น่าเชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้ฝัน 4.0 ของไทยเป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้
ด้วยเหตุนี้ งานสัมมนา ‘วางแผนทางการเงิน 4.0’ โดย ‘กรุงศรีไพรม์’ จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเตรียมความพร้อมในการวางแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ วางแผนทางการเงินได้อย่างถูกต้อง และปรับตัวได้ทันท่วงที สอดรับกับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล
ความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
ก่อนจะไปถึงตรงนั้น กรณ์ จาติกวณิช ประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย ได้ฉายภาพกว้างความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่เกิดขึ้น 4 ด้าน ได้แก่
1. Technology มีผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรมและพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป
“ข้อมูลจากแบงก์ชาติระบุว่าปีที่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบขออนุญาตเปิดสาขาใหม่น้อยกว่าการขอปิดสาขาเก่า พูดง่ายๆ ว่าจำนวนสาขาโดยรวมลดลงเป็นครั้งแรก จากเดิมที่คนไปทำธุรกรรมทางการเงินที่สาขาของธนาคาร แต่ตอนนี้และในอนาคต เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดผ่านสมาร์ทโฟนแค่เครื่องเดียว
“หลายประเทศในยุโรปประกาศแล้วว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า เขาจะเลิกใช้รถยนต์ที่วิ่งด้วยน้ำมัน และหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทน ขณะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก คำถามคือนักลงทุนกลุ่มใหม่ที่จะสร้างโรงผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมาสร้างโรงงานผลิตในประเทศไทยอยู่ไหม แล้วเราต้องปรับตัวอย่างไร”
2. Sharing Economy (เศรษฐกิจแบ่งปัน) ยุคนี้เป็นยุคของการแชร์ทรัพยากร ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ไม่นิยมเช่าออฟฟิศ แต่นิยมใช้ co-working space ในการทำงาน นั่งคุยกัน กินกาแฟ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน วัฒนธรรมการทำธุรกิจแบบใหม่นี้ กรณ์กล่าวว่าหากมองจากมุมนักเศรษฐศาสตร์ ถือว่ามีการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ามากขึ้น
3. Urbanization (การขยายตัวของความเป็นเมือง) เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มีผลกระทบกับสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างมากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา และจะต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 10 ปี เนื่องจากการเคลื่อนย้ายคนจากชนบทมาสู่เมืองมากขึ้น กลายเป็นชนชั้นกลางที่มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น
“ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวเมืองไทย 8.7 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวจีนทั่วโลก 120-130 ล้านคน ถามว่าทำไมมีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวบ้านเราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เพราะเรื่อง urbanization คนจีนกลายเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น มีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ใช้ชีวิตในเมือง ส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป หันมาซื้อความสุขให้กับตัวเอง และหนึ่งในนั้นคือการเดินทางท่องเที่ยว”
4. Aging Society (สังคมผู้สูงอายุ) เป็นความเปลี่ยนแปลงภายในของประเทศไทย เมื่อเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสัดส่วนคนวัยทำงานกับคนเกษียณอยู่ที่ 4:1 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีสัดส่วนอยู่ที่ 8:1 และมีการพยากรณ์ว่าภายใน 25 ปีข้างหน้า สัดส่วนคนวัยทำงานกับคนวัยเกษียณของประเทศไทยจะอยู่ที่ 2:1
“วันนี้คนวัยทำงานของเราอยู่ที่ 35 ล้านคน มีหลักประกันชีวิตในวัยชรา เช่น บำเหน็จ บำนาญ กองทุนประกันสังคม เพียงแค่ 12 ล้านคน แต่อีก 20 กว่าล้านคน ไม่มีหลักประกันแบบนี้ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คนขับแท็กซี่ พ่อค้าแม่ขาย และถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุด แน่นอน เรารู้สึกว่าคนไทยทำงานหนัก มีการจ่ายภาษีให้รัฐเยอะ เลี้ยงดูพ่อแม่กันอยู่เยอะ รัฐก็มีเงินพอที่จะดูแลผู้สูงอายุ แต่ในอนาคต เมื่อคนวัยชราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คนวัยทำงานน้อยลง จ่ายภาษีได้น้อยลง แล้วจะมีผลกระทบกับเราอย่างไร”
ไทยแลนด์ 4.0 ในมุมมองของผู้ประกอบการไทย
รวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด เจ้าของแป้งหอม ‘ศรีจันทร์’ บอกว่ายุคนี้ ข้อมูล (data) คือสิ่งสำคัญ
“ในอดีต เราเวลาจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เรามักใช้ความรู้สึก ไม่ได้มีข้อมูลอะไร เมื่อสิบปีที่แล้ว วันแรกที่ผมทำงานที่ศรีจันทร์ บริษัทไม่มีคอมพิวเตอร์สักเครื่อง ยังใช้เครื่องพิมพ์ดีดอยู่เลย ระบบหลังบ้านก็ยังไม่มี แต่ทุกวันนี้มีระบบเก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดียแล้ว มันมีประโยชน์มาก ฝรั่งบอกว่า ‘What gets measured gets managed.’ สิ่งที่ถูกวัดเท่านั้น ที่จะสามารถจัดการได้ มันจริงมากๆ ถ้าคุณจะออกผลิตภัณฑ์สักตัว โดยอยากรู้ว่าลูกค้าของคุณชอบหรืออยากได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้รู้ได้โดยการใช้ข้อมูล”
สอดคล้องกับความเห็นของ ชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่บอกว่าอะไรก็ตามที่เป็น 4.0 จะประกอบด้วย 3 คำ ได้แก่ ความเร็ว (speed) ความคล่องตัว (agility) และความฉลาด (intelligence)
“ปัจจุบัน ใครมีข้อมูล ถือว่ามี asset ใครที่มีข้อมูล ถือว่ามี power แต่จะใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร เพื่อมาปรับกลยุทธ์ในองค์กรและวิสัยทัศน์ของคุณ แต่ละองค์กรต้องมีความคล่องตัวมากขึ้น พร้อมจะปรับตัวตลอดเวลา และกระตุ้นให้คนในองค์กรเรียนรู้เวลาประสบความล้มเหลว ล้มได้ แต่ต้องลุกให้เร็ว”
เธอยกตัวอย่างว่าแม้ยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ก็ยังต้องรู้จักปรับตัว “สมัยก่อน เราบอกว่าเราเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก เราหยิ่ง ไม่สนใจใคร แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วินโดวส์ของเรามีอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม เราต้องกระจายและมีพาร์ตเนอร์ เพื่อเติบโตไปด้วยกัน”
ขณะที่ รรินทร์ ทองมา เจ้าของกระเป๋าและรองเท้าแบรนด์ O&B ในฐานะผู้ประกอบการที่เกิดและเติบโตจากโลกออนไลน์ บอกว่ายุคนี้เป็นยุคที่ไร้พรมแดนและไร้รูปแบบ เส้นแบ่งระหว่างออนไลน์กับการค้าปลีกเบาบางลงอย่างมาก
“เรามีหน้าร้านที่เดียวที่อารีย์ซอย 5 เป็นทั้งออฟฟิศและหน้าร้าน เดือนหนึ่งทำยอดขายได้ 5-6 ล้าน โดยที่ไม่ได้อยู่ในห้างฯ แสดงว่าช่องทางการขายไม่มีข้อจำกัดแล้ว ลูกค้าที่อยากรู้จักเราก็มาที่หน้าร้านและสั่งซื้อทางออนไลน์ หรือลูกค้าที่รู้จักเราทางออนไลน์แล้วมาซื้อที่หน้าร้านก็มี ฉะนั้น มันไร้รูปแบบ ตอนนี้ลูกค้าจะมุ่งไปที่จุดหมายปลายทางอย่างเดียว เหมือนกับเวลาเราหาของที่อยากกิน เราจะมุ่งไปที่ร้านเลย แทนที่จะไปห้างฯ เพื่อหาของกินที่ว่า ดังนั้น 4.0 จึงเป็นเรื่องของการไร้ข้อจำกัดในการทำธุรกิจ”
หัวใจของแผนการเงินในยุค 4.0
สำหรับการวางแผนการเงินในยุค 4.0 รวิศบอกว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญมี 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ‘รายได้’ เข้ามาตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ‘มาร์จิน’ หรือผลกำไรเป็นแบบที่คิดไว้หรือเปล่า และ ‘cash flow’ เป็นสิ่งที่ต้องตื่นตัวที่สุด
“ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่ค่อยดู เพราะอ้างว่าไม่ชอบตัวเลข แต่ผมคิดว่านี่เป็นสามเรื่องพื้นฐานที่ต้องเข้าใจและให้ความสำคัญ มันไม่ใช่เรื่องยาก และจะทำให้เราเข้าใจว่าเงินมาจากไหน”
เช่นเดียวกับเจ้าของแบรนด์ O&B อย่างรรินทร์ แม้จะออกตัวว่าอย่าถามเรื่องการวางแผนการเงินจากดีไซเนอร์อย่างเธอ แต่เธอก็มีบทเรียนแล้วว่าเรื่องนี้สำคัญมาก “ตัวเองถนัดการทำการตลาด การทำพีอาร์ เข้าใจว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แต่ไม่มีความรู้เรื่องการเงินเลย ปีแรกที่ทำธุรกิจ เราได้กำไรแค่ 4,000 บาท ทั้งที่เราขายดีมาก ขายดีจนเจ๊งก็ว่าได้”
“ปัญหาของธุรกิจแฟชั่นอย่างหนึ่งคือการบริหารจัดการสต็อก เพราะเงินสดจะอยู่ในสต็อก เราต้องสั่งของล่วงหน้าและสั่งผลิตเพื่อคงสต็อกไว้ 6 เดือน หมายความว่าต้องจ่ายเงินสดออกไปก่อน นี่คือการบริหารจัดการสต็อกหรือเงินหมุน ทำให้เราต้องเรียนรู้ จนเข้าสู่ปีที่ 5 ของธุรกิจ เราจึงเริ่มใช้ระบบจัดการบัญชี ERP เอสเอ็มอีอย่างเราคงไม่ได้รู้ทุกเรื่อง เราทำทีละขั้นตอน ท้ายที่สุด ถ้าวางแผนดีตั้งแต่ต้น ก็จะทำให้เรามีกำไรมากขึ้นได้”
ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟท์ก็สนับสนุนการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานธุรกิจเช่นกัน ชุติมาคาดการณ์ว่าอาชีพที่เสี่ยงตกงานมากที่สุดในอนาคตคือคนทำไฟแนนซ์ เพราะจะมีการนำ software intelligence เข้ามาแทนที่เพื่อการประมวลผลและการคำนวณที่แม่นยำ เธอย้ำเตือนผู้ประกอบการว่าต้องคิดให้ชัดว่าจะจ้างคนมากขึ้นเพื่อขยายธุรกิจ หรือจะใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวช่วยเพื่อลดต้นทุน ควบคู่กับการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญจากพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ
Disrupt ตัวเอง ก่อนจะถูก Disrupt
ทุกวันนี้ digital transformation กลายเป็นคำพูดติดหูที่ทุกองค์กรต้องได้ยิน หากแต่จะเป็นแบบไหนและทำกันอย่างไร ในเรื่องนี้ ชุติมาบอกกับผู้ฟังในห้องสัมมนาว่าอย่าตกใจ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่และน่ากลัว แต่ต้องแยกสองคำนี้ออกจากกัน
“transform คนของคุณก่อน เข้าใจก่อนว่าเป้าหมายขององค์กรที่จะปรับตัวคืออะไร พอคนของคุณพร้อมแล้วก็ใช้ดิจิทัลเข้ามาสนับสนุน แต่ต้องระวังด้วยว่าการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้พนักงานรู้สึกเหมือนกำลังจะตกงาน หรือเอาเทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนคน เพราะจริงๆ แล้วเวลาเราบริหารองค์กร เราคงไม่อยากตัดใครออก
“โจทย์คือทำอย่างไรให้คนในองค์กรมีความคล่องตัวในการเรียนรู้ ถ้ามีคนแบบนี้ในองค์กร มั่นใจได้เลยว่ารอดแน่ๆ สร้างคนที่มีมุมมองแบบผู้ท้าทาย เพิ่มมูลค่าและสร้างอิมแพคให้กับองค์กร ถ้าไม่ปรับตัว แค่คุณยืนอยู่เฉยๆ คุณก็ถอยหลังแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวัน”
ส่วนรวิศบอกว่าการที่อยู่ในธุรกิจเครื่องสำอางมายาวนานหลายสิบปี อาจรู้สึกว่านี่เป็นธุรกิจที่ปลอดภัย แต่ถ้าคิดแบบนั้นจะเป็นอันตรายต่อธุรกิจมาก ธุรกิจจำเป็นต้องตามเทรนด์ของโลก และนำนวัตกรรมมาทดลองใช้กับธุรกิจของตัวเอง
“พฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป คนอเมริกันซื้อเครื่องสำอางที่หน้าร้านน้อยลง เทรนด์ที่มาแรงคือการ customization ผู้บริโภคต้องการใช้เครื่องสำอางที่ไม่เหมือนคนอื่น พวกเขาอยากได้เฉดสีที่มีความเป็นตัวของเขาเองมากกว่า ตรงนี้เราก็เอามาทำแบบ survey ที่เมืองไทย ผลก็คือลูกค้าอยากได้แบบนั้น ตอนนี้เทคโนโลยีการผลิตของเราสามารถผลิตสินค้าเพื่อลูกค้าคนเดียวได้เลย และยังมีแอปพลิเคชันวัดสีผิวบนใบหน้า ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเลือกรองพื้นที่มีเฉดสีตรงกับผิวหน้าได้อย่างสะดวกสบาย”
“ถ้าไม่ disrupt ตัวเอง ก็จะทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ทัน อาจจะมีคนรุ่นใหม่ๆ ลุกขึ้นมาทำแบบที่เราทำก็ได้”
ในฐานะผู้ประกอบการชั่วโมงบิน 5 ปี อย่าง O&B รรินทร์มองอนาคตขององค์กรว่าอยากให้เป็นองค์กรที่เคลื่อนได้เร็ว ไม่เน้นการมีพนักงานมากเกินความจำเป็น
“โดยเฉลี่ย พนักงานมีอายุรุ่นเดียวกันกับเรา แล้วคุณสมบัติต้องเป็นคนที่ชอบเล่นเฟซบุุ๊กกับไลน์ มันเป็นงาน แต่คุ้นเคยอย่างเดียวไม่พอ ต้องปรับตัวให้ทันและเร็วมากๆ นโยบายของเราไม่เน้นการจ้างงานมากขึ้น ไม่ต้องการคนเป็นร้อยเป็นพัน เราต้องการองค์กรที่เคลื่อนที่ได้เร็ว ทุกอย่างเรา outsource ลดปัญหาเรื่องการจัดการคน เพราะการบริหารคนเป็นสิ่งที่ยากที่สุด”
ดีไซเนอร์สาวเล่าเสริมในตอนท้ายว่า “องค์กรของเราเคลื่อนที่เร็วแค่ไหน คิดดูว่าเราวางแผนเดือนต่อเดือน ทำให้พนักงานต้องพร้อมที่จะปรับตัว ไม่ใช่แค่ทันกับเทคโนโลยีเท่านั้น แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งตลอดเวลา เราสนับสนุนให้พนักงานมีความรู้หลายๆ เรื่องพร้อมกัน”
ภาพ: (จากซ้ายไปขวา) ชุติมา สีบำรุงสาสน์, รรินทร์ ทองมา และรวิศ หาญอุตสาหะ
Tags: รรินทร์ ทองมา, O&B, กรณ์ จาติกวณิช, กับดักรายได้ปานกลาง, Middle Income Trap, Thailand 4.0, กรุงศรีไพรม์, Aging Society, สังคมผู้สูงอายุ, รวิศ หาญอุตสาหะ, ชุติมา สีบำรุงสาสน์