เสียงคัดค้านที่ดังขึ้นจากทางฝั่งยุโรปไม่เป็นผล ความกังวลของคนที่รักในเกมลูกหนังไม่ช่วยให้อะไรเปลี่ยนแปลงได้
‘ฟุตบอลโลก’ มหกรรมเกมลูกหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดถูกปรับโฉมอีกครั้งตามประกาศิตของ จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่าคนปัจจุบัน ผ่านคณะกรรมการใหม่ 36 คน ลงมติเพิ่มจำนวนจากเดิม 32 เป็น 48 ทีม โดยจะเริ่มครั้งแรกในฟุตบอลโลกปี 2026 ที่ยังไม่มีการเลือกชาติเจ้าภาพในเวลานี้
อินฟานติโนให้เหตุผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญว่า เพื่อให้ฟุตบอลโลกนั้น ‘เปิดกว้าง’ มากขึ้น
“เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 และเราจำเป็นที่จะต้องทำให้ฟุตบอลโลกนั้นเหมาะสำหรับศตวรรษที่ 21” ประมุขลูกหนังกล่าวในการแถลงข่าว
“นี่คืออนาคต เกมฟุตบอลนั้นมันมากกว่าแค่ยุโรปและอเมริกาใต้แล้ว ฟุตบอลคือเกมของคนทั้งโลก”
คำพูดนั้นสวยหรูและดูหอมหวานครับ
แต่ใต้เปลือกนั้นมีอะไรที่แอบซ่อนอยู่
ฟุตบอลโลกโฉมใหม่ สวยขึ้น หรือโทรมลง?
ด้วยจำนวนทีมที่เพิ่มเข้ามา ทำให้ฟุตบอลโลกโฉมใหม่ 48 ทีมจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันจากเดิมอย่างมาก
โดยนับตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นต้นมา ฟุตบอลโลกใช้ระบบแข่งขันรอบแรกแบบพบกันหมด 8 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม โดยทีมอันดับ 1 และ 2 ของแต่ละกลุ่มจะได้ผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออก (น็อกเอาต์) ซึ่งจะเริ่มที่รอบ 16 ทีมสุดท้าย และจบลงในนัดชิงชนะเลิศ
เราคุ้นเคยกับฟุตบอลโลกแบบนี้มา 5 สมัย ตั้งแต่ ฝรั่งเศส 1998, เกาหลี-ญี่ปุ่น 2002, เยอรมนี 2006, แอฟริกาใต้ 2010 และบราซิล 2014 ซึ่งฟุตบอลโลกในรูปแบบเดิมนี้จะใช้ต่อเนื่องไปอีก 2 สมัย คือ รัสเซีย 2018 และกาตาร์ 2022
สำหรับฟุตบอลโลกโฉมใหม่ในปี 2026 จะเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันใหม่ โดยรอบแรกจะแบ่งออกเป็น 16 กลุ่ม (อนุญาตให้ตกใจได้) กลุ่มละ 3 ทีม – ในความหมายคือแต่ละทีมจะได้เล่น 2 นัดเท่านั้นในรอบแรก โดยทีมอันดับ 1 และ 2 ของกลุ่ม จะได้ผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออก
โดยเกมน็อกเอาต์จะเริ่มตั้งแต่รอบ 32 ทีมเป็นต้นไป และจบลงในเกมชิงชนะเลิศ ซึ่งทีมที่ได้แชมป์จะลงเล่นไม่เกิน 7 นัด เป็นจำนวนเกมที่เท่ากับในปัจจุบัน
ฟีฟ่าเชื่อว่ารูปแบบการแข่งขันนี้จะทำให้ฟุตบอลโลกสนุกขึ้น โดยเฉพาะในรอบแรกที่มักจะมีปัญหา ‘ล็อกผล’ การแข่งขันที่เป็นประโยชน์ต่อทีมในเกมสุดท้าย ในรูปโฉมใหม่นี้ หากมีกรณีที่เสมอกัน ก็จะใช้การดวลจุดโทษตัดสินทันที
อย่างไรก็ดีรายละเอียดของรูปแบบการแข่งขันอย่างเป็นทางการนั้น อินฟานติโนย้ำว่าเป็นเรื่องที่ว่ากันทีหลังได้
สิ่งสำคัญคือการ ‘เปิดประตู’ ให้บรรดาชาติต่างๆ ในทวีปที่ไม่ค่อยได้รับโอกาส เช่น แอฟริกา หรือเอเชีย ได้มีโอกาสมากขึ้นในการเข้าร่วมมหกรรมลูกหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
แฟนฟุตบอลเองก็จะได้ชมเกมลูกหนังกันแบบ ‘เต็มอิ่ม’ มากที่สุด เพราะจำนวนแมตช์เพิ่มจาก 64 เป็น 80 แมตช์ โดยที่จำนวนวันที่ใช้แข่งขันยังเริ่มต้นและจบลงภายใน 32 วันเหมือนเดิม
แต่หากถามแฟนฟุตบอลจริงๆ สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นไม่ใช่เรื่องของ ‘ปริมาณ’
พวกเขาต้องการเห็น ‘คุณภาพ’ มากกว่า
เสียงส่วนใหญ่มองฟุตบอลโลกรูปโฉมใหม่ว่าเป็นเรื่องตลกร้ายสิ้นดี จำนวนทีมที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าพวกเขาจะได้ดูเกมฟุตบอลที่มีคุณภาพสูงอย่างที่อยากดู ยิ่งการแข่งรอบแรกแบบ 3 ทีมก็ยิ่งดู ‘พิลึก’ เข้าไปใหญ่
แต่มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ครับ
เพราะตัวประมุขลูกหนังเองก็ไม่มีทางเลือกอื่นเหมือนกัน
อำนาจและเงินตราที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง
หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เกมลูกหนัง การเปลี่ยนโฉมฟุตบอลโลกนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอด
จากฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1930 ที่ประเทศอุรุกวัย มีทีมเข้าร่วม 13 ทีม มาสู่ 16 ทีมในปี 1934 (มีไม่ปกติบ้างคือฟุตบอลโลก 1950 ที่บราซิล มีทีมผ่านเข้ารอบ 15 ทีม แต่เข้าร่วมจริงแค่ 13 ทีม) และมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็น 24 ทีมในปี 1982 ก่อนจะเป็น 32 ทีมในปี 1998
โดยเฉพาะในการเปลี่ยนรูปแบบ 2 ครั้งหลัง เป็น 24 และ 32 ทีม เกิดขึ้นบนเหตุผลทางอำนาจและเงินตราล้วนๆ
เป็น ‘คำสัญญาว่าจะให้’
ย้อนกลับไปในปี 1982 โจอัว ฮาเวลานจ์ อดีตประธานฟีฟ่าผู้ล่วงลับ ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้หลังการเข้ารับตำแหน่งประมุขลูกหนังด้วยการเพิ่มจำนวนทีมเป็น 24 ทีม และเพิ่มจำนวนงบประมาณสนับสนุนแก่ชาติสมาชิกในการนำไปใช้พัฒนาเกมฟุตบอลภายใน
ที่ฮาเวลานจ์ต้องทำเช่นนั้น เพราะมีกรณีปัญหาความไม่พอใจจากชาติสมาชิกในทวีปอื่นที่ได้รับสิทธิ์น้อยในการเข้าร่วมแข่งฟุตบอลโลกครับ จนทำให้เกิดการบอยคอตต์จากแอฟริกา ไม่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1966 ที่ประเทศอังกฤษ
การเพิ่มจำนวนทีมหลังปี 1982 ทำให้ชาติจากแอฟริกา รวมถึงทวีปอื่นที่ไม่ใช่ยุโรปและอเมริกาใต้ ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น รวมถึง ‘งบประมาณ’ ที่แจกจ่ายออกไปมากขึ้น และนั่นหมายถึงการ ‘กระชับอำนาจ’ ของประมุขลูกหนังเช่นเขากับกลุ่มชาติสมาชิกที่พร้อมจะเป็นฐานเสียงให้ จนสุดท้ายเขาจึงได้อยู่ในตำแหน่งถึง 24 ปี
เซปป์ แบลตเตอร์ ทายาทของเขาก็ทำในสิ่งเดียวกันด้วยการขยายจำนวนทีมเป็น 32 ทีม ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับฐานเสียงของเขา
และล่าสุด อินฟานติโนก็ทำในสิ่งเดียวกัน ไม่ได้แตกต่าง และไม่มีทางเลือกอื่นด้วย
เพราะในการเลือกตั้งเมื่อปีกลาย ประธานฟีฟ่าชาวสวิตเซอร์แลนด์ให้ ‘คำมั่น’ ต่อชาติสมาชิกทั้ง 209 ประเทศที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง (ปัจจุบันมีชาติสมาชิกเพิ่มอีก 2 ชาติคือ คอซอวอ และยิบรอลตาร์) ว่า “เงินของฟีฟ่าคือเงินของทุกคน” ในความหมายคือทุกสตางค์ที่ฟีฟ่าหาได้ จะถูกนำไปแบ่งจ่ายให้แก่ทุกชาติ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเกมฟุตบอล (ในวงเล็บว่าพัฒนาจริงหรือไม่ก็แล้วแต่ท่าน) แต่ละชาติจะได้รับงบประมาณอย่างน้อย 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งของฟีฟ่าและอินฟานติโน เขาจำเป็นต้องขยายทีมในฟุตบอลโลก ซึ่งนอกจากจะเป็นการ ‘ซื้อใจ’ ฐานเสียงแล้ว การเพิ่มจำนวนทีมยังเพิ่มรายได้กลับมาให้ฟีฟ่าด้วย
ในงานวิจัยของฟีฟ่าเอง เชื่อว่าฟุตบอลโลกเวอร์ชัน 48 ทีมจะทำรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 5.29 พันล้านปอนด์ และจะเป็นกำไรถึง 521 ล้านปอนด์ โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ค่าสปอนเซอร์ และค่าการตลาด
นั่นเป็นเหตุผลให้กลุ่มรณรงค์ New FIFA Now ที่ต้องการเห็นฟีฟ่าปรับปรุงเพื่อเป็นองค์กรใหม่อย่างแท้จริงหลังการล่มสลาย เพราะเหล่านักการเมืองลูกหนังเมื่อปี 2015 ชี้หน้าใส่ว่าการเพิ่มจำนวนทีมครั้งนี้ทำเพื่อ ‘เงิน’ และ ‘อำนาจ’
ขณะที่ คาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก ประธานของ European Club Association (ECA) หรือกลุ่ม G-14 เดิม ซึ่งรวบรวมเหล่าสโมสรระดับท็อปของยุโรปเพื่อต่อรองคานอำนาจกับยูฟ่า และฟีฟ่า เองก็ออกมาคัดค้านการเพิ่มจำนวนทีมในฟุตบอลโลก
“เราควรจะกลับมาสนใจในเกมกีฬาอีกครั้ง การเมืองและการค้าไม่ควรจะเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกในเกมฟุตบอล”
อย่างไรก็ดีในอีกมุมแล้ว สำหรับชาติที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลประโยชน์เช่นในแอฟริกา เอเชีย หรือแม้แต่ในยุโรปชาติเล็กๆ มีจำนวนไม่น้อยที่ตื่นเต้นและมี ‘ความหวัง’ ขึ้นมา
ว่าความฝันจะได้ไปฟุตบอลโลกสักครั้งหนึ่งอาจจะไม่ไกลเกินเอื้อม
ประเทศไทยก็เช่นกันครับ เรามีโอกาสแล้ว…
FACT BOX:
ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงฟุตบอลโลก
ฟุตบอลโลก จำนวนทีม รูปแบบการแข่งขัน
1930 อุรุกวัย 13 1 กลุ่ม 4 ทีม + 3 กลุ่ม 3 ทีม, แชมป์กลุ่มผ่านเข้ารอบรองฯ
1934 อิตาลี 16 เล่นแบบแพ้คัดออกทันที
1950 บราซิล 15 (เข้าร่วม 13) 3 กลุ่ม 4 ทีม + 1 กลุ่ม 3 ทีม, แชมป์กลุ่มผ่านเข้ารอบรองฯ
1954 สวิตเซอร์แลนด์ 16 4 ทีม 4 กลุ่ม แต่เล่นแค่กลุ่มละ 2 เกม, แชมป์กลุ่มเข้ารอบ 8 ทีม
1958 สวีเดน 16 4 ทีม 4 กลุ่ม พบกันหมด, แชมป์กลุ่มผ่านเข้ารอบ 8 ทีม
1974 เยอรมนีตะวันตก 16 4 ทีม 4 กลุ่ม ทีมอันดับ 1-2 เข้ารอบแบ่งกลุ่มต่อไป 4 ทีม 2 กลุ่ม แชมป์กลุ่มรอบหลังได้ผ่านเข้าชิง
1982 สเปน 24 6 กลุ่ม 4 ทีม ต่อด้วย 3 ทีม 4 กลุ่ม แชมป์กลุ่มผ่านเข้ารอบรองฯ
1986 เม็กซิโก 24 6 กลุ่ม 4 ทีม ทีมอันดับ 1-2 และ 3 ที่ที่สุดผ่านเข้ารอบ 16 ทีม
1998 ฝรั่งเศส 32 8 กลุ่ม 4 ทีม, ทีมอันดับ 1-2 ผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์