คำว่า ‘Judas’ กลายเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ในวงการฟุตบอลอังกฤษสัปดาห์นี้อย่างไม่น่าเชื่อครับ

เรื่องของเรื่องนั้นเกิดจากการที่แฟนบอลเชลซีกลุ่มหนึ่ง (ตามรายงานจากต่างประเทศระบุว่าจำนวนไม่เยอะเท่าไร) ตะโกนด่า โจเซ มูรินโญ อดีตผู้จัดการทีมที่วันนี้กลายเป็นคู่แข่งในฐานะนายใหญ่ของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในระหว่างเกมเอฟเอ คัพ เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา

ท่ามกลางพายุของถ้อยคำที่ทำร้ายจิตใจ ไม่มีอะไรเจ็บมากไปกว่าการที่มูรินโญถูกด่าว่าเขาคือ “ยูดาส” (Judas)

คำคำนี้เป็นหนึ่งในคำด่าที่แรงและเจ็บที่สุด และไม่ใช่ทุกคนที่จะถูกตราหน้าเช่นนี้ โดยเฉพาะในยุคที่คุณค่าของ ‘ความภักดี’ ลดน้อยลงไปจนกลายเป็นของหายากในวงการฟุตบอล

อย่างไรก็ดี ผม – และเชื่อว่าคนอีกจำนวนไม่น้อย – น่าจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของแฟนบอลเชลซีในครั้งนี้

มันเกินไปหรือเปล่า?

ผมยังนึกถึงอีกหลายกรณีที่นักฟุตบอลโดนด่าด้วยคำนี้ แม้แต่ในบ้านเราอย่างกรณีของ อุ้ม-ธีราทร บุญมาทัน ที่ย้ายจากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไปเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด

คำคำนี้ควรจะใช้หรือไม่ ใช้เวลาใด และหากอดรนทนไม่ไหวจริงๆ คนแบบไหนที่สมควรจะโดนด่าว่า ยูดาส?

ลองทบทวนกันดูสักนิดครับ

มีนักฟุตบอลจำนวนไม่มากครับที่ถูก ‘ตราหน้า’ ว่าเป็นยูดาส
โดยส่วนมากแล้วจะเป็นกรณีการย้ายสโมสรออกไปร่วมทีมคู่แข่ง ไปจนถึงทีมคู่อริ หรือทีมคู่แค้น
โดยไม่มีเหตุผลที่ดีพอที่แฟนบอลจะรับรู้และเข้าใจได้

Judas กับความหมายใต้น้ำตา

คำว่า Judas นั้นมาจากชื่อของนักบุญ ยูดาส อิสคาริโอท (Judas Iscariot) หนึ่งใน 12 อัครทูตของพระเยซู ที่เป็นผู้ทรยศต่อพระเยซู ทำให้พระเยซูถูกจับแขวนตรึงกางเขนก่อนสิ้นพระชนม์ชีพในที่สุด

Photo: start2finish.org

นับแต่นั้นมาชื่อของยูดาส จึงกลายเป็นชื่อของคนทรยศ คนเนรคุณ เป็นชื่อที่ไม่มีใครอยากจะเอ่ยถึงอีก

ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งชื่อนี้เคยเป็นนามมงคล เป็นชื่อที่คนในสมัยคริสตกาลนิยมตั้งชื่อบุตรชาย

คำว่ายูดาสจึงกลายเป็นคำอัปมงคล

และคำคำนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในคำด่าที่ ‘คลาสสิก’ ที่สุดด้วย

ผมพยายามสืบค้นที่มาที่ไปของการด่าว่ายูดาส แต่ก็ไม่ได้พบที่มาที่ไปที่ชัดเจนนักครับ

เท่าที่ทราบการด่าด้วยคำนี้น่าจะมีแค่เฉพาะในประเทศอังกฤษ ยังไม่เคยเห็นข่าวแฟนฟุตบอลชาติอื่นด่าด้วยคำนี้

แต่ก็มีนักฟุตบอลจำนวนไม่มากครับที่ถูก ‘ตราหน้า’ ว่าเป็นยูดาส

โดยส่วนมากแล้วจะเป็นกรณีการย้ายสโมสรออกไปร่วมทีมคู่แข่ง ไปจนถึงทีมคู่อริ หรือทีมคู่แค้น โดยไม่มีเหตุผลที่ดีพอที่แฟนบอลจะรับรู้และเข้าใจได้

พูดง่ายๆ คือไม่รักษาน้ำใจกัน

สำหรับเกมลูกหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับ เพราะสายสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอลกับนักฟุตบอลนั้นแน่นแฟ้น หากแฟนบอลรักหรือสนับสนุนใครแล้ว พวกเขาพร้อมจะสนับสนุนตลอดไป ไม่ว่าจะยามตื่นหรือยามหลับ ไม่ว่าจะร้ายหรือดี

แน่นอนว่าเมื่อให้ไปหมดใจ พวกเขาก็คาดหวังจะได้สิ่งเดียวกลับมา

โดยเฉพาะเรื่องของ ‘ความภักดี’ (Loyalty)

อย่างไรก็ดีแฟนฟุตบอลไม่ใช่ชนเผ่าที่ไร้เหตุผลครับ คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจวิถีของการเล่นฟุตบอลอาชีพ เรื่องของการย้ายทีมเป็นเรื่องที่ยากจะปฏิเสธ คนที่จะได้อยู่กับสโมสรเดียวไปจนตายจากในชีวิตลูกหนังนั้นหาได้ยากยิ่ง และนั่นถือเป็นเกียรติอันสูงสุด

สำคัญที่ว่าปฏิบัติต่อกันด้วยดีแค่ไหน บางคนตัวย้ายออกไปแต่ใจยังอยู่ เมื่อกลับมาก็ยังได้รับการต้อนรับที่ดีเสมอ เหมือนเช่น ชาบี อลอนโซ (Xabi Alonso) กับ ลิเวอร์พูล หรือเธียร์รี อองรี (Thierry Henry) กับอาร์เซนอล

แต่หากเป็นการย้ายไปเล่นทีมฝั่งตรงข้าม หรือพยายามเหลือเกินเพื่อจะให้ได้ย้ายออกจากทีมที่สร้างเขาขึ้นมา เหมือนกรณีของ โซล แคมป์เบลล์ (Sol Campbell) ที่ย้ายจากท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ไปอาร์เซนอลแบบไม่มีค่าตัว หรือกรณีของ ราฮีม สเตอร์ลิง (Raheem Sterling) ที่ดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อย้ายออกจากลิเวอร์พูลไปทีมไหนก็ได้

แบบนั้นจะประทับตราตรงหน้าผากว่า ‘ยูดาส’ ก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ครับ

เหตุผลของคนทรยศ

อย่างไรก็ตามบางครั้งในการย้ายทีมที่ชวนให้ตราหน้าว่าเป็นยูดาสนั้น บางครั้งก็อาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดเสมอไป

เหมือนอย่างที่บอกครับว่า บางครั้งด้วยวิถีลูกหนัง ด้วยความทะเยอทะยาน ด้วยจังหวะชีวิต การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ และบางครามันโชคร้ายที่การเดินทางนั้นเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าแฟนบอลที่เคยให้การสนับสนุน ตบบ่า ตีไหล่ สวมกอดกันมาจะเข้าใจ

ผมมี 2 กรณีอยากเล่าให้ฟัง

กรณีแรกเป็นการย้ายทีมของ เอริค คันโตนา (Eric Cantona) ราชาแห่งทีม ‘ปีศาจแดง’ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกล่าวไว้ครับว่า “คุณสามารถเปลี่ยนภรรยาของคุณได้ คุณนับถือศาสนาใหม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณไม่มีวันจะทำได้คือการเปลี่ยนทีมเชียร์ของคุณ”

แต่นั่นคือมุมของแฟนฟุตบอล ไม่ใช่ในมุมของนักฟุตบอลครับ

เพราะคันโตนาก็เป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่ทำร้ายจิตใจแฟนบอลอย่างรุนแรงครับ เมื่อย้ายจากลีดส์ ยูไนเต็ด มาอยู่กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมคู่อริร่วมแคว้นแลงคาเชียร์ (Lancashire) จนถึงขั้นมีการตั้งชื่อการพบกันของทั้งสองทีมว่า ‘สงครามกุหลาบ’ (War of Roses)

อย่างไรก็ดีการย้ายทีมครั้งนั้นมี ‘หลังฉาก’ ที่น่าสนใจ เพราะลีดส์ ยูไนเต็ด นั้นเป็นฝ่ายที่ยอม ‘ขายต่อ’ คันโตนาให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพราะไม่อยากจ่ายเงิน 500,000 ปอนด์ ให้กับ นีม สโมสรเดิมของคันโตนา จึงตัดสินใจโละให้กับแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ต้องการศูนย์หน้าที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการฝืดเคืองในแดนหน้า

มันเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดครั้งหนึ่งของลีดส์​ ยูไนเต็ด และเป็นการเซ็นสัญญาที่ยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่งของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

กรณีของคันโตนาเป็นตัวอย่างเบาๆ ที่น่าจะพอทำให้เห็นครับว่าในการย้ายทีมนั้นบางครั้งมันช่วยไม่ได้จริงๆ

อีกกรณีคลาสสิกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดตำนาน ‘ผู้ทรยศ’ แห่งเกมลูกหนังคือการย้ายทีมของ หลุยส์ ฟิโก (Luis Figo) ตำนานปีกจอมเลื้อยชาวโปรตุเกส

ฟิโกเป็นกัปตันทีมบาร์เซโลนา เป็นแกนนำคนสำคัญที่ขาดไม่ได้ แต่จู่ๆ ก็ย้ายไปร่วมทีม ‘ราชันชุดขาว’ เรอัล มาดริด คู่แค้นตลอดกาลเมื่อปี 2000 ชนิดที่อย่าว่าแต่แฟนบาร์เซโลนิสต้าเลย แฟนบอลทั้งโลกเองยังต้องหยิกแก้มตัวเองเมื่อเห็นข่าวการย้ายทีม

เพราะมันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ พอๆ กับการที่จะมีหิมะตกในกรุงเทพฯ

แต่การย้ายทีมนั้นเกิดขึ้นจริง และเป็นการแจ้งเกิดทีมเรอัล มาดริด ในยุคใหม่ ‘กาลาคติกอส’ (Galacticos) หรือยุคของเหล่า ‘นักรบดวงดาว’ ภายใต้การนำของ ฟลอเรนติโน เปเรซ ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานสโมสรคนใหม่ในเวลานั้น

เบื้องหลังการย้ายทีมในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากความชาญฉลาดของเปเรซ

ตามบันทึกในหนังสือ The Real Madrid Way มีการเปิดเผยว่าในเวลานั้นเปเรซ อยู่ระหว่างลงสมัครชิงตำแหน่งประธานสโมสร และชูนโยบายที่ยากจะเชื่อว่าหากเขาได้รับการเลือกตั้ง เขาจะดึงตัวหลุยส์ ฟิโก มาร่วมทีมได้อย่างแน่นอน

ที่เปเรซสนใจในตัวฟิโกนั้น เป็นเพราะเวลานั้นฟิโกเป็นหนึ่งในนักเตะที่เก่งที่สุดในโลก และน่าจะช่วยสนับสนุน ราอูล กอนซาเลซ ฮีโร่ขวัญใจชาวมาดริดิสต้าได้เป็นอย่างดี

ไม่นับเรื่องของความ ‘สะใจ’ ที่สามารถกระชากตัวซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งของทีมคู่แข่งมาได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้

ส่วนสำคัญของเรื่องอยู่ที่เบื้องหลังการเจรจา โดยเปเรซรู้ดีว่าหากยื่นข้อเสนอไปตามธรรมเนียมแล้วไม่มีทางที่บาร์ซาจะยอมปล่อยฟิโกมาได้ แต่เขาทราบว่าฟิโกยังมีปัญหาเรื่องการเจรจาต่อสัญญาฉบับใหม่กับทีมไม่ลงตัว และในสัญญาของเขามีเงื่อนไขการ ‘ซื้อสัญญา’ (buyout clause) ที่ 10,000,000 ล้านเปเซตา หรือประมาณ 60 ล้านยูโร ซึ่งจะเป็นค่าตัวสถิติโลกทันที

ตัวเลขนั้นดูมากมายมหาศาลในเวลานั้นครับ แต่เปเรซดีดลูกคิดแล้วเชื่อว่าการย้ายทีมบรรลือโลกนี้ ‘เป็นไปได้’ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงนิดหน่อยในการใช้สมบัติส่วนตัวเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ตาม

สิ่งที่เขาทำเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นใจคือการเจรจาจ่ายเงิน ‘มัดจำ’ ให้จำนวน 400 ล้านเปเซตา หรือประมาณ 2.4 ล้านยูโร และมีเงื่อนไขว่าฟิโกจะต้องย้ายมา เรอัล มาดริด หากว่าเขาชนะการเลือกตั้ง

ถ้าสตาร์ชาวโปรตุกีสผิดข้อตกลง เขาต้องจ่ายเงินชดใช้ให้เปเรซจำนวน 5 พันล้านเปเซตา หรือราว 30 ล้านยูโร แต่ถ้าเปเรซแพ้การเลือกตั้งเขาก็อยู่กับบาร์เซโลนาต่อไป

สำหรับฟิโกและเอเยนต์ของเขา ข้อตกลงนี้ง่ายเหมือนได้เงินมาฟรีๆ

แต่สุดท้ายเปเรซชนะการเลือกตั้งจริง

ทำให้ฟิโกไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการยอมเป็น ‘คนทรยศ’

Judas ในวงการฟุตบอลสมัยใหม่

ผมนึกย้อนกลับไปถึงกรณีของมูรินโญที่ถูกด่าว่าเป็นยูดาสอีกครั้งและพยายามไต่สวนความรู้สึก ลองคิดแทนแฟนเชลซีว่าทำไมจึงต้องตราหน้าคนเคยรักกันแบบนั้น

เหตุผลนั้นน่าจะมีเหตุผลเดียวครับคือ การที่พวกเขาเจ็บและผิดหวังที่มูรินโญตกลงรับงานคุมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด โดยที่ก่อนหน้าจะรับงานนั้นค่อนข้าง ‘ออกนอกหน้า’ ว่าอยากได้งานนี้

ไม่น่ามีเหตุผลอื่นที่ดีกว่านี้

เมื่อรักมากก็ชังมากตามประสาแฟนบอลครับ และตัวของมูรินโญเองก็แสบไม่แพ้กันทั้งการตอบโต้ด้วยภาษากายในสนามด้วยการชู 3 นิ้ว ซึ่งหมายถึงแชมป์พรีเมียร์ลีก 3 สมัยที่เขาทำได้กับเชลซี ก่อนจะสวนกลับด้วยประโยคเจ็บๆ ในระหว่างการแถลงข่าวว่า “Judas is still number one”

แต่สุดท้ายแล้วการจะตราหน้า The special one ให้เป็นยูดาสแบบนี้ยังดูขาดน้ำหนักไปอีกเยอะครับ เพราะมูรินโญก็ไม่ได้เป็นฝ่ายทิ้งสโมสรเอง หากแต่เขาโดนไล่ออกจากตำแหน่งทั้งที่พาทีมเป็นแชมป์ในฤดูกาลก่อนหน้าด้วยซ้ำ

จากสิ่งที่เกิดขึ้น ผมเองก็เกรงว่าคำว่ายูดาสนั้นจะกลายเป็นคำด่าที่ ‘เฝือ’ ไปในเกมกีฬา

โดยเฉพาะในยุคนี้ที่นักฟุตบอลให้ความสำคัญกับเงินตรามากกว่าความสำเร็จ หรือความภักดีของสโมสร การย้ายทีมแบบ ‘ขัดใจแฟน’ พร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา

เช่นนั้นเราก็จะมียูดาสเต็มวงการไปหมดครับ

มีโอกาสที่คำคำนี้จะกลายเป็นคำธรรมดาๆ

ด่าไปก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไร

DID YOU KNOW?

  • ในสมัยวัยรุ่น เวย์น รูนีย์ (Wayne Rooney) เคยทำประตูได้ในเกมนัดชิงเอฟเอ ยูธ คัพ (ฟุตบอลถ้วยระดับเยาวชน) ให้กับเอฟเวอร์ตัน ก่อนจะโชว์เสื้อที่มีข้อความว่า ‘Once a Blue, Always a Blue’ ซึ่งสื่อถึงความภักดีที่มีต่อสโมสร – แต่หลังจากนั้น 2 ปี รูนีย์ย้ายไปแมนเชสเตอร์​ ยูไนเต็ด และเคยจุมพิตตราสโมสรปีศาจแดงต่อหน้าเอฟเวอร์โตเนียน หลังทำประตูเอฟเวอร์ตัน
  • ไมเคิล โอเวน (Michael Owen) ตำนานดาวยิงทีมชาติอังกฤษ เป็นหนึ่งในนักเตะที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘จอมทรยศ’ เพราะแจ้งเกิดกับลิเวอร์พูลก่อนทิ้งทีมไปอยู่กับเรอัล มาดริด แต่ในช่วงโค้งสุดท้ายของชีวิตการเล่นตกลงรับข้อเสนอจากเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มาเล่นให้แมนเชสเตอร์​ ยูไนเต็ด และกล่าวถึงทีมเก่าอย่างเสียๆ หายๆ – เรื่องที่น่าตลกกว่าคือ ลิเวอร์พูลตั้งโอเวนให้เป็นทูตสโมสรในเวลานี้ และเรื่องตลกมากขึ้นอีกคือ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเผยแพร่คลิปทีมคอมเมนเตเตอร์ของสถานี BT Sport ดีใจสุดชีวิตหลังบาร์เซโลนาพลิกเข้ารอบด้วยการชนะปารีส แซงต์-แชร์กแมง โดยมีโอเวนอดีตกองหน้าเรอัล มาดริด วิ่งดีใจรอบห้อง…
  • โรนัลโด (Ronaldo) อดีตศูนย์หน้าที่ดีที่สุดของโลกชาวบราซิลเป็นจอมทรยศที่ไม่น่าเชื่ออีกคน เขาเคยเล่นให้กับทั้ง บาร์เซโลนา และเรอัล มาดริด รวมถึงเอซี มิลาน และ อินเตอร์ มิลาน แต่ที่ร้ายที่สุดคือในช่วงบั้นปลายชีวิตการเล่น โรนัลโดตอบตกลงย้ายร่วมทีมโครินเธียนส์ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นใช้เวลาหลายเดือนในการเรียกสภาพความฟิตกับฟลาเมงโก สโมสรที่ปั้นเขามา และเกลียดโครินเธียนส์ยิ่งกว่าอะไร
Tags: ,