มีอะไรมาให้อ่านกันเล่นๆ ครับ

อันแรกเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในงานวิจัยตำราสุขศึกษา (ซึ่งมีเรื่องเพศศึกษาอยู่ด้วย) ส่วนที่คัดมาให้อ่านมาจากคู่มือครู คือคู่มือที่ ‘สอนครู’ ให้นำไปใช้ ‘สอนเด็ก’ อีกต่อหนึ่ง

 

ห้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นโดยครูใช้คำถาม ดังนี้

เพศชายที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ทั้งกับเพศหญิงและเพศชายด้วยกันเอง นักเรียนคิดว่าเป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะเบี่ยงเบนทางเพศหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ตัวอย่างคำตอบ เป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะเบี่ยงเบนทางเพศ เพราะมีประสบการณ์ทางเพศ ภาวะอารมณ์ ความรักกับทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม ซึ่งถือเป็นความผิดปกติทางจิตใจอย่างยิ่ง)

จาก ‘คู่มือครู สุขศึกษาและพลศึกษา ม.1 (พว.), หน้า 36
อ้างจากงานวิจัยเรื่อง ‘ความหลากหลายทางเพศในแบบเรียนไทย :
บทวิเคราะห์แบบเรียนสุขศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น’
โดย วิจิตร ว่องวารีทิพย์ (หน้า 58)

ข้อความข้างต้นนี้น่าสนใจมากนะครับ เพราะมันคือการบอกว่า คนที่เข้าข่าย ‘ไบเซ็กชวล’ (bisexual) นั้น คือคนที่มี ‘ความผิดปกติทางจิตใจ’ ในระดับ ‘อย่างยิ่ง’

คือจริงๆ ครูอาจไม่จำเป็นต้องสอนอย่างนี้ก็ได้นะครับ เพราะนี่เป็นแค่ ‘ไกด์’ อย่างหนึ่งเท่านั้น แต่คำถามที่ตามมาก็คือ การที่เราอยู่ในสังคม ‘อำนาจนิยม’ ผู้น้อยต้องก้มประนมกร และในระบบการศึกษานั้น ครูก็ต้องถูก ‘ตัดสิน’ ไม่ว่าจะขั้นเงินเดือนหรือการประเมินต่างๆ จาก ‘ผู้ใหญ่’ (และผู้ใหญ่ที่ว่าก็จะต้องถูกประเมินจาก ‘ผู้ใหญ่’ อื่นๆ อีกต่อหนึ่งเป็นขั้นๆ ไป) มันจะทำให้ครูผู้น้อยกล้าสอนอะไรที่ ‘ต่าง’ ไปจากสิ่งที่เป็น norm ได้เชียวหรือ

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ norm ที่ว่านี้ ไม่ใช่ norm ที่ใครคนใดคนหนึ่งคิดตั้งขึ้นมาเล่นๆ ง่ายๆ นะครับ แต่เป็น norm ที่เกิดกระจายฝังลึกอยู่ทั่วไปในหัวของผู้คนแทบจะทั้งสังคมมาตั้งแต่บรมสมกัปป์

norm ที่ว่านี้ ไมเคิล วอร์เนอร์ (Michael Warner) นักทฤษฎีสังคมจากมหาวิทยาลัยเยล เรียกว่า Heteronormativity ซึ่งพอจะกล้อมแกล้มแปลเป็นไทยได้ว่าเป็น ‘ความปกติ’ แบบรักต่างเพศ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ต้องเป็นรักต่างเพศเท่านั้นถึงจะถือว่าเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องของสังคมได้ อย่างอื่นผิดหมด

และอย่างที่เขียนไว้ในตอนที่แล้วนะครับว่า เรามักจะแบ่งออกเป็นสองแบบ คือเป็นระบบ binary ดังนั้นพอโลกเริ่มซับซ้อนขึ้น คนก็เริ่มเห็นว่าการกระโดดจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นเรื่อง ‘พอทำเนา’ คือก็ ‘ผิดปกติ’ (ไปจาก Heteronormativity) นั่นแหละ แต่ยังไม่ประหลาดเท่าคนที่ ‘คาดเดาไม่ได้’ อย่างไบเซ็กชวล ซึ่งไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่จะรักผู้ชายหรือรักผู้หญิง และดังนั้นเอง คนเหล่านี้จึงมี ‘ความผิดปกติทางจิตใจ’ ในระดับ ‘อย่างยิ่ง’

แต่นั่นยังพอเข้าใจได้นะครับ ว่าถ้ามองจากฐานของ Heteronormativity แล้ว มันอาจประหลาดไม่น้อย ทว่านอกจากงานวิจัยข้างต้นแล้ว ผมยังไปอ่านเจอในเฟซบุ๊กของ ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’  ซึ่งเขาแชร์ภาพหนังสือเรียนของนักเรียนประถมสอง ว่าด้วยความเป็นหญิงเป็นชายให้ดูนะครับ ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ แต่ผมลองแปลเป็นไทยคร่าวๆ มาให้อ่านกัน เนื้อหาตอนหนึ่งเล่าถึงความเป็นหญิงกับความเป็นชายและความภาคภูมิใจในการเป็นหญิงหรือชายเอาไว้ดังนี้

ความภาคภูมิใจในการเป็นหญิง

1. เป็นผู้ให้กำเนิดทารก

2. เป็นผู้รักษาบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

3. เป็นผู้ที่ปรุงอาหารให้กับสมาชิกในบ้าน

4. สามารถดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถเป็นผู้นำครอบครัวได้

5. สามารถเป็นผู้ช่วยผู้ชายได้

ความภาคภูมิใจในการเป็นชาย

1. แข็งแรงและสามารถปกป้องคนที่อ่อนแอกว่าได้

2. เป็นผู้นำและเป็นหัวหน้าครอบครัว

3. สามารถทำงานหนักที่ต้องใช้พละกำลังมากๆ ได้

4. มีความแข็งแกร่งและจิตใจที่มั่นคง

5. กล้าหาญและอดทน

 

ทั้งหมดนี้ฟังดูดีอย่างยิ่งใช่ไหมครับ ถ้าเรานึกถึงภาพครอบครัวในอุดมคติที่มีพ่อแม่กับลูกชายลูกสาว เราก็ควรต้องสอนลูกตามคำสอนอย่างที่ว่ามาข้างต้นแน่ๆ เพราะไม่เห็นมีอะไรผิดเลย หลายคนอาจจะบอกว่าเป็นการ ‘ปลูกฝัง’ เด็กๆ ให้รู้และเข้าใจบทบาททางเพศของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก (คือประถมสอง) แล้วทั้งหมดนี้ก็เป็นค่านิยมที่ดีเสียด้วย จะไปมีปัญหาอะไรเล่า

ก็ผู้หญิงน่ะ ต้องเป็นเพศแม่ เป็นผู้ให้กำเนิดลูก แล้วก็ต้องเป็น ‘แม่บ้าน’ คอยดูแลบ้าน แถมยังเป็น ‘แม่ครัว’ ทำอาหารให้คนในบ้านกิน แล้วยุคใหม่นี่ ผู้หญิงก็ต้องช่วยเหลือตัวเองเป็นผู้นำครอบครัวได้ด้วย แถมการที่ผู้หญิงจะเป็น ‘ผู้ช่วย’ ของ ‘ผู้ชาย’ ก็น่าจะเหมาะสมแล้วนี่นา เพราะผู้หญิงก็ควรเป็นช้างเท้าหลังอยู่เสมอไม่ใช่หรือ

ในเวลาเดียวกัน ผู้ชายจะภาคภูมิใจที่เป็นชายได้ก็ต้องแข็งแกร่ง ปกป้องคนอ่อนแอกว่า (ซึ่งในบริบทนี้คงไม่ได้หมายถึงผู้ชายอีกคนหนึ่งแน่ๆ!) รวมทั้งเป็นผู้นำและเป็น ‘หัวหน้า’ ของครอบครัว (ของผู้หญิงไม่มีคำว่า ‘หัวหน้า’ นะครับ) ได้ แล้วก็เน้นย้ำไปที่การใช้พละกำลัง ความแข็งแกร่งทั้งทางกายและใจ รวมไปถึงคุณสมบัติที่สุดแสนจะแมนบึกบึน คือต้องกล้าหาญและอดทน

คุณว่าการสอนอะไรแบบนี้มีปัญหาไหมครับ

ถึงใครไม่มีปัญหา แต่ผมจำเป็นต้องบอกว่าตัวเองมีปัญหากับการสอนแบบนี้แน่ๆ

ปัญหาของการสอนอะไรแบบนี้ มันแสดงให้เราเห็นว่า ฐานคิดในการสอนสุขศึกษาหรือเพศศึกษาในประเทศของเรานั้น วางตัวอยู่บน Heteronormativity อย่างแข็งขันทีเดียวครับ

จริงๆ ใครจะยึดมั่นใน Heteronormativity ผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกนะครับ แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่ ‘บังคับ’ คนอื่นให้คิดหรือยึดมั่นแบบเดียวกันไปด้วย แต่ต่อให้เรายอมรับ Heteronormativity หรือยอมรับว่าโลกต้องมีแค่สองเพศ คือหญิงกับชาย เราก็จะเห็นได้ทันทีเลยนะครับว่า การเรียนการสอนในตัวอย่างข้างต้นนั้นมีปัญหา เพราะมันกำลัง ‘ยัดเยียด’ แนวคิดสำเร็จรูปที่เต็มไปด้วยอคติและมายาคติทางเพศ (บนฐานของสองเพศ) ให้กับเด็ก

อคติและมายาคติที่ว่าก็คือ ผู้หญิง ‘ต้อง’ เป็นเมียเป็นแม่ เป็นเพศอ่อนแอ ต้องรับการปกป้องคุ้มครองจากเพศที่แข็งแรงกว่า-คือผู้ชาย และดังนั้น ผู้ชายจึงต้องเป็นหัวหน้าหรือเป็นช้างเท้าหน้าอยู่ร่ำไป

อ่านแล้วสงสัยว่า เรามีชีวิตอยู่ในศตวรรษไหน!

หลายคนบอกว่า การสอนเด็กที่เล็กขนาดประถมสอง (หรือต่อให้มัธยมต้นด้วยก็ได้) ก็ควรต้องสอนอะไรที่มัน ‘ง่าย’ ไปก่อนไม่ใช่หรือ เหมือนการสอนคณิตศาสตร์ เราก็ต้องสอนบวกลบก่อนคูณหารสิ จะได้ค่อยๆ เป็นพื้นฐานกันไป

แต่นั่นแหละครับคือปัญหา!

ความเข้าใจเรื่องเพศไม่เหมือนความเข้าใจเรื่องบวกลบคูณหาร เพราะถ้าเริ่มต้น ‘ผิด’ คือไปตั้งต้นที่การสอนให้เด็กยึดมั่นในความคับแคบของ Heteronormativity ที่มีลักษณะชายเป็นใหญ่ ก็จะกลายเป็นการ ‘ปลูกฝัง’ หรือ ‘ประกอบสร้าง’ ให้เด็กมีวิธีคิดที่คับแคบแบบนั้นตั้งแต่ต้น และในเวลาเดียวกัน ก็ทำให้เด็กที่ไม่ได้อยู่ในกรอบกรงของ Heteronormativity ต้องเป็นทุกข์ทรมานแสนสาหัส กว่าจะค้นพบและยอมรับตัวเองได้ก็ต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี เพราะความรู้เรื่องเพศไม่เหมือนความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ ที่จะสามารถเริ่มต้นแบบง่ายๆ แล้วค่อยๆ ซับซ้อนขึ้นโดยลำดับ

ครั้งหนึ่งผมเคยอ่านความคิดเห็นของเด็กคนหนึ่งที่มีต่อเพศศึกษาในไทยที่เขาได้ร่ำเรียน เขาบอกว่าวิชาเพศศึกษา (ในสุขศึกษา) ที่เขาได้เรียนนั้นดีงาม เพราะมันสอนให้เขา ‘กลัว’ การมีเพศสัมพันธ์

ตอนอ่านประโยคนั้น ผมตะลึงงัน และไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเด็กคนนั้นถึง ‘กลัว’ การมีเพศสัมพันธ์ และไม่เข้าใจด้วยว่า ทำไมการกลัวการมีเพศสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องที่ดีงาม

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เห็นการเรียนการสอน (Pedagogy) จากตัวอย่างทั้งสองแบบข้างต้นแล้ว,

ผมก็เริ่มเข้าใจ

 

ภาพประกอบ: maya